ขุนนางสมัยอยุธยา

      ในสมัยก่อน เมื่อมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ขึ้นครองราช ขุนนางที่อยู่ในวังจะทำงานกันต่อหรือต้องเปลี่ยนคะ?
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 3
ก็แล้วแต่พระเจ้าแผ่นดินจะโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งครับ ไม่ใช่ว่าทุกองค์ต้องทำเหมือนกันหมด

ถ้าเป็นศึกชิงบัลลังก์ผลัดแผ่นดิน ก็อาจจะมีการเปลี่ยนตัวขุนนางจำนวนมาก เช่นจากสมัยธนบุรีมารัชกาลที่ ๑ ตำแหน่งขุนนางระดับสูงทั้งวังหลวง วังหน้า และหัวเมืองถูกเปลี่ยนเกือบหมดเกือบร้อยคน มีข้าราชการเก่าถูกประหารจำนวนมากในช่วงผลัดแผ่นดิน

ส่วนมากพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ก็มักจะตั้งข้าหลวงเดิมที่เป็นผู้ถวายงานใกล้ชิดเป็นที่ไว้วางพระทัยได้ให้อยู่ในตำแหน่งสำคัญ มากกว่าคนที่ไม่ทรงไว้วางพระทัย ผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ก็อาจจะถูกกำจัด หรือตายไปตั้งแต่ในช่วงศึกชิงอำนาจ

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงรบชนะ เจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศวร์ ก็ตั้งคนของพระองค์มาดำรงตำแหน่งสำคัญ คือตั้งหลวงจ่าแสนยากรที่จักรีวังหน้าเป็น เจ้าพระยาสุรศรีที่สมุหนายก ตั้งขุนชำนาญชาญณรงค์เป็นเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ที่โกษาธิบดี แล้วย้ายพระยาราชสงครามที่สมุหนายกเดิมไปเป็นพระยาราชนายก ให้เป็นสมุหพระกลาโหมแทน (ในสมัยนั้นกลาโหมไม่มีอำนาจว่าการหัวเมือง มีอำนาจน้อยกว่าสมุหนายกและโกษาธิบดี) ขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าฟ้าอภัยที่ถูกกำจัดมี พระยาพิชัยราชา (เสม) พระยายมราช (พูน) ราชาบริบาล (สังข์)


แต่ถ้าเป็นการผลัดแผ่นดินตามปกติที่ไม่ได้มีการชิงอำนาจกัน ก็ไม่ค่อยพบการเปลี่ยนแปลงมากนัก พระเจ้าแผ่นดินมักทรงตั้งข้าหลวงเดิมให้มีตำแหน่งสูงขึ้นจริง แต่ก็ไม่ใช่ว่สจะปลดขุนนางชุดเก่าทุกคนที่รับราชการมานานโดยไม่มีความผิดออก ส่วนมากก็จึงเป็นทั้งเก่าทั้งใหม่ผสมกันไปครับ พอเสนาบดีรุ่นเก่าๆ ถึงแก่กรรม ก็ตั้งคนใหม่ขึ้นมาแทนครับ


มีตัวอย่างคือเมื่อรัชกาลที่ ๓ ขึ้นครองราชย์ ตำแหน่งเสนาบดียังเต็มอยู่ไม่มีว่าง รัชกาลที่ ๓ ก็ไม่ได้ทรงปลดเสนาบดีเก่าออกแต่ประการใด ยังโปรดให้อยู่ในตำแหน่งเดิมเหมือนครั้งรัชกาลที่ ๒ เจ้าพระยาอภัยภูธรสมุหนายกกับเจ้าพระยามหาเสนาสมุหพระกลาโหม ยังได้รับพระราชทานเกียรติยศเพิ่มเติมคือนั่งเสลี่ยงงากั้นกลดเข้ามาในพระราชวังได้

แต่รัชกาลที่ ๓ ก็ทรงตั้งหรือเลื่อนบรรดาศักดิ์ข้าหลวงเดิมคนสนิทของพระองค์ให้มีตำแหน่งสูงหลายคนเมื่อขึ้นครองราชย์ เช่น

- จางวางภู่ ข้าหลวงเดิม เป็น พระยาราชมนตรีจางวางมหาดเล็ก ให้ว่าราชการพระคลังมหาสมบัติด้วย

- พระพิไชยวารี (เจ๊สัวโต) ข้าหลวงเดิม เป็น พระยาพิไชยวารี (ภายหลังได้เป็นพระยาราชสุภาวดี ได้ว่าที่สมุหนายก และได้เลื่อนเป็น เจ้าพระยานิกรบดินทร์ที่สมุหนายกในรัชกาลที่ ๔)

- เจ๊สัวบุญมา ข้าหลวงเดิม เป็น พระวิเศษวารี (ภายหลังได้เป็น พระยาโชฎึกราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าซ้าย ถึงรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นพระยาไกรโกษา กรมท่าวังหน้า)

- พระยาจันทบุรี (ฉิม) บิดาเจ้าจอมน้อย ให้เข้ามารับราชการในกรุงเป็น พระยาศรีสรไกร (ต่อมาได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาพลเทพ เสนาบดีกรมนา)

- พระยาเกษตรรักษา (สิงห์) นอกราชการ เป็น พระยาราชสุภาวดี (ภายหลังได้เป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่สมุหนายก)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่