เมื่อกัญชา คือ ยา แต่ความหมาย ยา ของภาครัฐกับชาวบ้าน ต่างกัน

(แหล่งที่มาท้ายกระทู้)

เมื่อกัญชา คือ ยา แต่ความหมาย ยา ของภาครัฐกับชาวบ้าน ต่างกัน



กัญชา เป็นพืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการรักษาโรคต่างๆได้ ตามรายงานการศึกษาวิจัย นั่นทำให้พืชสมุนไพรตัวนี้ ถูกยกระดับขึ้นมาในความหมายคำว่า ยา

แต่คำว่า ยา ในมุมมองของชาวบ้าน และ ภาครัฐในการตีความหรือเข้าใจ แตกต่างกัน

เมื่อภาครัฐจะขอนำกัญชามาพัฒนาเป็นยา ในแนวทางหลักแบบยาเคมี ก็ย่อมหลีกเลี่ยงการพัฒนาตามขั้นตอนของการพัฒนายาเคมี ซึ่งเป็นยาหลักในโลกการแพทย์ปัจจุบันไม่ได้

ซึ่งการพัฒนายาแบบนี้ ก็ต้องเริ่มตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมกำลังปลูกกัญชา หลังจากนั้นก็ต้องมาสกัดเพื่อหาสารที่คุณภาพที่สุด แล้วเข้าสู่ขั้นตอนการศึกษาประสิทธิภาพและอันตรายที่จะเกิดขึ้น

ทั้งในระดับห้องทดลอง ในระดับสัตว์ทดลอง และค่อยมาเริ่มศึกษาในมนุษย์ แล้วจึงจะขอขึ้นทะเบียนเป็นยา หรือ จดสิทธิบัตรได้

ขั้นตอนที่ว่าทั้งหมด ระยะเวลาเฉลี่ยน่าจะประมาณ 10 ปี จึงจะมียากัญชา ในความหมายทางการแพทย์ในระบบการพัฒนายาใหม่

ซึ่งการพัฒนายาใหม่ ปกติข้อมูลจะต้องเป็นเพียงข้อบ่งใช้ในการขึ้นทะเบียนสำหรับโรคนั้นๆเท่านั้น

หมายความว่า จะผลิตยากัญชารักษามะเร็ง ก็ต้องศึกษาในแบบผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งระยะเวลาก็หมายถึง 10 ปี และมะเร็งในแต่ละอวัยวะก็อาจไม่สามารถนำผลการศึกษามาใช้ด้วยกัน ก็ต้องศึกษาใหม่ เป็นต้น

จะศึกษาในผู้ป่วยโรคลมชัก เพื่อผลิตยากันชักจากกัญชา ก็ต้องศึกษาตามขั้นตอนดังกล่าว ในผู้ป่วยโรคลมชัก ซึ่งก็ต้องใช้เวลาที่อาจเฉลี่ย 10 ปี จึงจะได้ยาใหม่ ที่เป็นยากันชักจากกัญชา

โรคอื่นๆก็เช่นกัน ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆตามที่กล่าวมา

เมื่อได้ยาใหม่จากกัญชามาแล้ว หลังจากผ่านขั้นตอนต่างๆมานับ 10 ปี ก็ต้องมาพิจารณากันอีกว่า ยาใหม่ที่ได้มานั้น จะถูกแทรกเข้าไปในการรักษาโรคในขั้นตอนไหน หรือ กรณีไหนได้บ้าง

หรือที่ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เรียกว่า การใช้ยาตามแนวทางการรักษาโรค หรือ Guideline นั้นเอง

เช่น จะเอากัญชามารักษามะเร็ง จะเอาเข้ามาตอนไหน มาตอนตรวจพบ แล้วให้กัญชาเลย หรือ ให้กัญชา หลังจากให้ยาเคมีบำบัดไประยะหนึ่งก่อน หรือ ให้ร่วมกันไปตั้งแต่แรกเลย

ซึ่งตรงนี้จะสำคัญ เพราะแพทย์ หรือ เภสัชกร จะต้องอ้างอิงข้อมูลเหล่านี้ในการปฎิบัติงาน (ตรงนี้ต้องมีข้อมูลในการพิจารณาเยอะมาก)

ซึ่งเท่าที่ผมเล่าคร่าวๆข้างต้น จะเห็นว่า ยา ในความหมายของภาครัฐ จึงมีขั้นตอนที่กินเวลานานและยุ่งยาก และยังไม่นับการนำไปใช้จริงแบบจริงจัง ซึ่งอาจมีปัญหาบางอย่างที่ทำให้ไม่เกิดการใช้ได้

ตรงนี้ชาวบ้านรอได้ไหม กับ การรอใช้ยากัญชา ?

แต่สิ่งที่ชาวบ้าน เรียกกัญชาว่า ยา คือ ในความหมายต่างไปจากยาในความหมายแบบแรก

ยาในความหมายชาวบ้าน คือ สมุนไพรที่สามารถใช้รักษาตัวเองได้ ตามบริบทและภูมิปัญญาที่สืบทอดมา

เหมือนที่ชาวบ้านปลูกขมิ้นชันไว้ที่บ้าน ถึงเวลาก็ไปขุดมาใช้ดูแลรักษาตัวเองในเบื้องต้น

ส่วนสเปคของขมิ้นชันในระดับฆ่าเซลล์มะเร็งได้ ตามงานวิจัยนั้น ชาวบ้านก็ไม่ได้คำนึงถึงขนาดนั้น ในกัญชาก็เช่นกัน

การพัฒนายาใหม่จากกัญชาของภาครัฐ ก็ถือว่า เป็นเรื่องดี แต่มันจะดีมาก ถ้าไม่เข้ามากีดกันให้มีการเข้าถึงกัญชาในแบบ ยาสุมนไพรประจำบ้าน เพราะไม่มีคนป่วยหรือสิ้นหวังที่ไหน จะมารอยาใหม่จากกัญชาของภาครัฐได้

ฉะนั้น การเข้าถึงกัญชาเพื่อเป็นยา ในความหมายของชาวบ้าน คือ การได้สิทธิ์ใช้กัญชาดูแลเบื้องต้นแบบที่มีขมิ้นชันไว้ในบ้าน โดยที่ภาครัฐไม่ต้องมากังวลถึงมาตรฐานหรือคุณภาพของกัญชาของชาวบ้านแบบที่แสดงออกมาในปัจจุบัน

เพราะเมื่อถึงเวลานั้น ชาวบ้านเขาจะพัฒนาคุณภาพของกัญชายกระดับขึ้นมาเรื่อยๆเองนั่นแหละ และยาใหม่ที่ภาครัฐพัฒนาขึ้น ก็ยังคงเป็นยาใหม่ที่จะใช้ในระบบการแพทย์ แต่นอกระบบแบบชาวบ้านใช้กันเอง ชาวบ้านต้องมีสิทธิ์ปลูกไว้ใช้เอง

ปล. กัญชามีสรรพคุณทางการแพทย์มากมาย ถ้าภาครัฐกีดกันและขอศึกษาวิจัยก่อนเพื่อพัฒนายาขึ้นมา ถ้าทำยาใหม่ทีละโรค แค่เพียง 10 โรค ชาวบ้านจะไม่ต้องรอถึง 100 ปีเหรอครับ จึงจะได้ยากัญชามาใช้

More Science Less Marketing
ภก.พงษ์ศักดิ์ สง่าศรี
https://www.facebook.com/pharmacistphongsak/photos/a.400165843466230/1202156259933847/
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่