ตอนก่อนกรุงแตกครั้งที่ 2 อยุธยาก็มีส่งกองเรือไปสู้กับพม่าที่ล้อมเมืองด้วย เสียดายที่ไม่ค่อยมีบันทึกไว้ในฝั่งไทย

จากที่คุ้นๆ กันคือตอนน้ำหลาก พม่าไม่ยกทัพกลับแต่ยังตั้งค่ายไว้ในที่ดอน แล้วจากนั้นก็เหมือนว่าฝ่ายอยุธยาก็ยังใช้การตั้งรับในเมืองไม่ทำอะไรจนพม่ามาใช้วิธีขุดรากกำแพงเมืองให้ทรุดถึงบุกเข้ามาได้

แต่ในบันทึกของพม่ามีบันทึกว่ามีการยกทัพเรือออกมาสู้รบกันด้วย ส่วนของไทยถึงจะมีแต่ก็เขียนไว้แค่นิดเดียวและไม่ตรงกับบันทึกของพม่าอีก

บันทึกของไทย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ รวบรวมยุทธศาสตร์การทัพพม่าในคราวนี้ว่า เมื่อถึงฤดูฝน ทัพพม่าไม่ถอยทัพกลับ สั่งเคลื่อนทัพเข้ามาทำการใกล้พระนครมากขึ้น ย้ายค่ายใหญ่จากปากน้ำประสบมาอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ให้กองหน้ามาตั้งค่ายที่วัดภูเขาทองและวัดท่าการ้อง ฝ่ายในกรุงส่งทัพเรือออกมาตี แต่พอนายเริกถูกยิงตกน้ำก็ถอยกลับเข้าเมืองหมด

แต่บันทึกของพม่าบันทึกไว้ว่า

น้ำหลากลงท่วมชานพระนครอย่างรวดเร็วภายในเวลา 5 วัน รอบพระนครแทบไม่ต่างจากมหาสมุทรใหญ่ ผู้ปกครองอยุธยาย่อมตระหนักว่าพม่าไม่ถอยหนีน้ำแล้วจึงจำเป็นต้องรีบตีทัพพม่าให้แตกกลับไป

ในการนี้ พระยาตาน อำมาตย์ผู้ใหญ่ของอยุธยาท่านหนึ่งเป็นผู้ขันอาสาไปตีค่ายใหญ่ของมหานรธาทางตะวันตก ทัพพระยาตานตามรายละเอียดในพงศาวดารพม่ามีพล 85,000 เรือเล็ก 2,000 และเรือสำปั้น 500 พร้อมปืนใหญ่ประจำการ ส่วนทัพมหานรธาที่ยกมารับมีทหาร 35,000 เรือรบบรรทุกปืนใหญ่ 700 การรบเป็นการตะลุมบอน ฝ่ายอยุธยาใช้ปืนใหญ่บนเชิงเทินยิงสนับสนุนกองทัพเรือ

เมื่อเรือรบทั้งสองฝ่ายประชิดเข้าหากัน ทหารแต่ละฝ่ายต่างชิงกันกระโดดขึ้นบนเรือฝ่ายตรงข้าม กลายเป็นการรบประชิดตัว พระยาตาน แม่ทัพอยุธยาต่อสู้อย่างอาจหาญ วิ่งขึ้นลงระหว่างหัวเรือกับท้ายเรือตลอดเวลาเพื่อควบคุมการรบของทหาร ท้ายที่สุดแล้วตัวคนเดียวอยู่ในวงล้มเรือรบพม่าถึง 20 ลำก็ไม่ได้ย่อท้อหรือยอมเป็นเชลย

ในขณะประจัญบานกันนั้น นายทหารปืนของพม่าชื่อ งะสานควาน (Nga San Tun) พุ่งเรือเข้าหาเรือพระยาตานเพื่อเข้าจับกุม พระยาตานไม่รอให้เรือของงะสานควานเข้าถึงก็กระโดดขึ้นเรือของศัตรูพร้อมดาบคู่มือ แต่ยังไม่ทันเข้าถึงตัวงะสานตวานก็ถูกปืนยิงบาดเจ็บและถูกจับเป็นเชลย ฝ่ายทหารไทยไม่เห็นนายทัพก็ระส่ำระส่ายพากันถอยเข้าเมือง พม่าเห็นได้ทีก็ตามตีและยึดพาหนะอาวุธยุทโธปกรณ์พร้อมเชลยศึกเป็นจำนวนมาก

รศ.ดร.สุเนตร ชี้ให้เห็นว่า แม้ฝ่ายไทยจะเป็นฝ่ายปราชัย แต่จากหลักฐานจะเห็นได้ว่าก็ทำการรบอย่างเข้มแข็ง ไม่ “เหยาะแหยะ” ไม่ไร้ประสิทธิภาพตามที่ผู้ชำระพงศาวดารอยุธยาบรรยายไว้ว่า “พม่ายิงปืนมาถูกนายเริกซึ่งรำดาบอยู่หน้าเรือตกน้ำลงคนหนึ่ง ก็ถอยทัพกลับมาสิ้น”

ไม่เพียงพระยาตาน หลังจากยุทธนาวีข้างต้นอีก 10 วัน พระยากูระติก็อาสาออกตีค่ายใหญ่ของเนเมียวสีหบดี พงศาวดารพม่าระบุว่า กำลังของพระยากูระติ มีทหาร 5,000 เรือเล็ก 1,000 และเรือใหญ่หรือสำปั้นบรรทุกปืนใหญ่ 500 ด้านทัพของเนเมียวสีหบดี กำลังพลที่ออกมารับศึกมี 20,000 เรือรบ 200 แบ่งกำลังพลเป็น 3 กอง

กองทัพของพระยากูระติหลงกลศึกของพม่าถูกตีจนแตกพ่าย ทำให้พม่าได้ชัยทางเรืออีกครั้ง หลังจากนั้นผู้นำทางการทหารไทยเห็นว่ากองทัพที่ส่งไปขับไล่ไม่ได้ผลจึงหันมาป้องกันรักษาพระนครด้วยการวางอิฐปิดประตูเมืองและเพิ่มกำลังคนรักษาเชิงเทิน

ข้อมูลจาก https://www.silpa-mag.com/club/article_23735


บันทึกของไทยกับพม่าบันทึกไว้ต่างกันมาก น่าเสียดายถ้าฝั่งพม่าถูกต้องแสดงว่าบันทึกของเราก็ขาดหายเรื่องราวตอนนั้นไป เรื่องราวการทำศึกทางน้ำที่ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ว่าสมัยก่อนทำศึกยังไงก็จะหายไป เรือเล็ก เรือสำปั้นที่ถูกแปลงให้เป็นเรือรบหน้าตาจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ไหนจะเรือบรรทุกปืนใหญ่ของพม่าอีก ถ้าเป็นเรือเล็กๆ ยิงทีเรือจะโคลงเคลงไปมาหรือเปล่านะ

และจะเห็นว่าอยุธยาไม่ได้เน้นแต่แผนตั้งรับในเมืองอย่างเดียว เมื่อตั้งรับนานๆ พม่าไม่กลับก็มีเปลี่ยนแผนออกมาไล่ตีให้พม่าถอยทัพกลับไปเหมือนกัน
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 3
พระราชพงศาวดารของไทยก็เขียนรายละเอียดของการยกทัพเรือออกไปรบกับพม่าในช่วงสงครามกรุงตั้งหลายครั้งครับ

ครั้งหนึ่งที่เด่นๆ คือขอให้เรือสินค้าอังกฤษไปช่วยรบกับพม่าที่นนทบุรี ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่ชำระใน พ.ศ. ๒๓๓๘ ความว่า

     "จุลศักราช ๑๑๒๘ ปีจออัฐศก (พ.ศ. ๒๓๐๙ ) เดือน ๑๐ พะม่ายกทัพเรือล่วงมาตีค่ายบำรุแตก แล้วยกมาตีเมืองธนบุรีได้ ตั้งพวกพลอยู่วัดสลัก ๓ วัน จึงเลิกทัพถอยไปอยู่คอกระออม ขณะนั้นกำปั่นอังกฤษลูกค้า บรรทุกผ้าสุรัตเข้ามาจำหน่าย ณ กรุง พระยาโกษาธิบดีให้ล่ามถามนายกำปั่นว่า ถ้าพะม่าเข้ารบ เอาเมืองธนบุรี นายกำปั่นจะช่วยหรือจะไปเสีย นายกำปั่นว่าจะอยู่ช่วยแต่ขอให้ถ่ายมัดผ้าขึ้นให้กำปั่นเบาก่อน ครั้นถ่ายมัดผ้าขึ้นแล้ว กำปั่นก็ถอยมาทอดอยู่ณบางกอกใหญ่

        ครั้นเดือนยี่พะม่าค่ายคอกระออม ยกเข้ามาตีเอาเมืองธนบุรีอีก เอาปืนใหญ่ขึ้นบนป้อมวิไชเยนทร์ยิงโต้ตอบอยู่กับกำปั่น จนเพลาค่ำกำปั่นจึงถอนสมอขึ้นไปอยู่เหนือเมืองนนทบุรี ฝ่ายทัพพระยายมราช ซึ่งตั้งอยู่เมืองนนทบุรีเลิกหนีขึ้นไปเสีย พะม่าตั้งอยู่เมืองนนทบุรี แล้วแบ่งกันขึ้นมาตั้งค่ายที่วัดเขามาตำบลตลาดแก้วทั้งสองฟาก ครั้นเพลากลางคืน นายกำปั่นจึงขอเรือกราบมาชักสลุบ ล่องลงไปไม่ให้ มีปากเสียง ครั้นตรงค่ายพะม่าณวัดเขมาแล้ว ก็จุดปืนรายแคมพร้อมกันทั้งสองข้าง ฝ่ายพะม่าต้องปืนล้มตายเป็นอันมาก เจ็บลำบากแตกหนีออกจากค่าย ครั้นน้ำขึ้นเพลาเช้า สลุบถอยมาหากำปั่นซึ่งทอดอยู่ณตลาดขวัญ ฝ่ายพะม่ายกมาเข้าค่ายเมืองธนบุรี ครั้นเพลาค่ำฝรั่งชักใบสลุบล่องลงไป จุดปืนรายแคมยิงค่ายเมืองธนบุรี ฝ่ายพะม่าหนีออกไปแอบอยู่นอกค่าย อังกฤษแลไทยลงกำปั่นเข้าไปเก็บของอยู่ในค่าย พะม่าจึงกลับเข้ามาไล่คนในค่ายแตก ตัดเอาศีรษะ ล้าต้าอังกฤษได้ เสียบไว้ที่หน้าค่าย นายกำปั่นจึงขอปืนกระสุน ๑๐ นิ้ว ๑๐ บอก กับเรือรบ ๑๐ ลำ จะลงไปตีค่ายพะม่า แล้วจะขอเรือรบ ๑๐ ลำ ครั้นเพลาบ่ายนายกำปั่นล่องลงไปถึงเมืองธนบุรีแล้วจึง ทอดสมอ อยู่ ขณะไทยซึ่งเอาเรือน้อยลงมาเก็บผลไม้หมากพลู ณสวน อังกฤษจับเอาขึ้นไปบนกำปั่นมากกว่า ๑๐๐ ก็ใช้ใบหนีไป ครั้นเพลาค่ำไทยหนีมาได้ ๒ คนจึงรู้เนื้อความ"



ช่วงปิดล้อมกรุงก็มีทัพเรือของพระยาเพชรบุรี พระยาตาก และหลวงศรเสนี ออกไปรบ

        "ครั้นณเดือน ๑๒ ในกรุงจึงแต่งทัพเรือให้พระยาตาก พระยาเพ็ชรบุรี หลวงศรเสนี ออกไปตั้งอยู่วัดใหญ่ คอยสะกัดตีเรือรบพะม่าซึ่งขึ้นลงหากัน อนึ่งพะม่าค่ายบางไทรวัดโปรดสัตว์ยกทัพมากลางทุ่ง พระยาเพ็ชรบุรียกออกตีอยู่ณค่ายวัดสังกวาดก็ตายที่รบ พระยาตาก หลวงศรเสนี ถอยมาแอบดูหาช่วยหนุนไม่ แล้วไปตั้งอยู่วัดพิชัย"


เอกสารคำให้การขุนหลวงหาวัดที่ชำระจากปากคำของเชลยอยุทธยาสมัยเสียกรุง ได้เพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับการรบในครั้งนั้นว่า

        "แล้วจึงเกณฑ์ขุนสุรินทรสงคราม ขุนฟองพินิจ ขุนอนุรักษ์มนตรี พระยากาญจนบุรี ขุนนางห้าคนนี้คุมห้าทัพ แล้วจึงเกณฑ์พระยาเพชรบุรีเป็นแม่ทัพ แล้วจึงยกทัพทั้งทัพบกทัพเรือ ขุนนางคนหนึ่งคุมเรือยี่สิบลำ ขุนนางห้าคนเป็นเรือรบร้อยหนึ่ง มีปืนใหญ่ตั้งหัวเรือลำหนึ่งบอกหนึ่ง ปืนขานกยางสองบอก มีอาวุธครบตัวกันแล้ว จึงให้ขุนนางยกทัพหนุนไปอีก คือ พระอภัยสุรินทร์ พระพิเรนทรราชา พระพิเรนทร พระพิเรนทรเทพ พระพลภักดี พระอินทรอภัย หลวงกระ จึงให้พระยาตากสินเป็นแม่ทัพยกไป ทั้งทัพบกทัพเรือเป็นแปดทัพด้วยกัน เป็นเรือแปดร้อย เรือลำหนึ่งมีปืนใหญ่สามบอก บอกหนึ่งฝรั่งอยู่ข้างปืนใหญ่ เรือลำหนึ่งสามคน มีอาวุธครบตัวกันทั้งสิ้น แล้วจึงให้อินทรเทพ ราชรองเมือง หมื่นเทพทวาร ขุนงำเมือง ทำมะรง พระยาตะนาว พระยาไชยา ให้ยกทัพบกทัพเรือแปดทัพ อันทัพหนึ่งคนพันหนึ่ง ทัพหนึ่งมีเรือยี่สิบลำ ทั้งแปดทัพเป็นเรือรบร้อยหกสิบลำ คนแปดพันด้วยกัน เรือลำหนึ่งมีปืนใหญ่สามบอก ปืนขานกยางสามบอก มีอาวุธครบมือกันทั้งสิ้น แล้วมีทัพช้าง ทัพม้า ยกทั้งทางบก ทางเรือ แล้วพระยาพระคลังเป็นแม่ทัพ ยกไปไล่ตีรบพุ่งกันเป็นอันมาก จึงยกมาตีทัพเหล่านี้ จึงออกตีทั้งสี่ด้าน ฝ่ายทิศเหนือนั้นคือพระยาเพชรบุรีออกตีเป็นทัพหน้ากับพระยาตากสินด้วยกัน ทัพเรือข้างพม่านั้นก็ยกตีเข้ามา พระยาเพชรบุรีจึงลงหลักไว้สู้รบกับพม่า ได้รบกันเป็นอันมาก ฝ่ายพม่าก็ล้มตายเป็นหนักหนาข้างพม่าจึงยกทัพหนุนกันเข้ามาอีกเป็นอันมาก จึงฆ่าพระยาเพชรบุรีตาย พระยาตากนั้นก็หนีได้ฯ"


หากอ้างอิงจากคำให้การฯ แล้วจะพบว่าการรบทางเรือครั้งนี้ดุเดือดพอสมควร ทัพเรือที่อยุทธยาส่งไปสามทัพใหญ่นั้น ทัพพระยาเพชรบุรีมีเรือรบ ๑๐๐ ลำ ทัพพระยาตากมีเรือรบ ๘๐๐ ลำ ทัพพระยาพระคลังเรือรบ ๑๖๐ ลำ ในทัพนี้มีทหาร ๘๐๐๐ คน (อาจจะมากไป)  ถ้ารวมกับอีกสองทัพก็น่าจะราวหมื่นต้นๆ

บางทีการรบครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งเดียวกับที่ปรากฏในพงศาวดารพม่าก็ได้ ทั้งนี้ตัวเลขกำลังพลกับจำนวนเรือดูเป็นไปได้กว่าในพงศาวดารพม่าที่ดูมากเกินจริง

ทั้งนี้การศึกษาพงศาวดารพม่าก็ต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะบ่อยครั้งพบว่าพงศาวดารพม่ามักจะใส่ตัวเลขกำลังพลฝ่ายอยุทธยาเยอะมากจนดูเป็นไปได้ยาก เช่นยกทัพมาตีพม่าจากในกรุงหลายระลอกมีจำนวนทหารหลายหมื่นทุกครั้ง จึงมีการวิเคราะห์ว่าผู้ชำระพงศาวดารพม่าอาจต้องการให้ภาพว่าพม่าซึ่งมีกำลังน้อยกว่าสามารถชนะอยุทธยาที่มีกำลังมากกว่าได้เรื่อยๆ ครับ


พระยาตาน จริงตามหลักฐานพม่าเขียนว่า พระตาน (Bratan) ในมหาราชวงษ์พงษาวดารพม่าฉบับแปลภาษาไทย เรียกว่า พระสรรพ์
พระยากูระติ (Paya Kuratit) มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่าเรียกว่า พระยาสูรเทศ

พระสรรพ์ถูกพม่าจับตัวไปได้ ตรงกับพระพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ระบุว่า พระยาเพชรบุรี (เรือง) ถูกจับตัวได้แต่ฟันแทงไม่เข้า จึงเอาหลาวเสียบทวารหนักถึงแก่ความตาย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่