ตีแผ่'กับดักเวลา'ของหมอ งานล้น-อดนอน-โดนฟ้อง

ตีแผ่'กับดักเวลา'ของหมอ งานล้น-อดนอน-โดนฟ้อง
สัปดาห์นี้มาดูปัญหาวงการแพทย์ "กับดักเวลางาน" ของหมอ ทำงานต่อเนื่องมากถึง 72 ชม. อดนอนตรวจพลาด และต้องอยู่เวร จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องกลายเป็นแพะโดนฟ้อง
อังคารที่ 6 พฤศจิกายน 2561 เวลา 16.00 น.


เมื่อดูตามประกาศแพทยสภา เรื่อง การกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ ซึ่งประกาศไว้ตั้งแต่ 12 ต.ค.60 ดังนี้ 1.แพทย์เพิ่มพูนทักษะ ชั่วโมงการทำงานของแพทย์นอกเวลาราชการ ไม่ควรเกิน 40 ชม./สัปดาห์ และระยะเวลาการทำงานเวรอุบัติเหตุและฉุกเฉินไม่ควรเกิน 16 ชม.ติดต่อกัน 2.แพทย์ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปี เป็นต้นไป ควรได้รับสิทธิ์งดอยู่เวรนอกเวลาราชการ

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ให้ความเห็นว่า การวางมาตรฐานเวลาการทำงานของแพทย์ ไม่ให้เกินกำลังในขีดความสามารถของมนุษย์ ไม่ใช่เพื่อตัวแพทย์แต่เป็นเพื่อตัวคนไข้ที่มารับการรักษา ให้เขาเหล่านั้นมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลโดยลดข้อผิดพลาด

แต่ก่อนที่จะมีประกาศฉบับนี้ มันมีคำถามจากคนในแวดวงสาธารณสุขมานมนาน...เหตุใดแพทย์ในบ้านเราจะต้องทำงานทั้งวันทั้งคืน และเช้ามาก็ต้องทำงานต่ออีก

“หมอหวิว” หรือ พญ.ชัญวลี ศรีสุโข กรรมการแพทยสภา ตอบผ่านเฟซบุ๊กไว้ว่า เป็นคำถามจากสมาชิกแพทย์ไม่ต่ำกว่า 6 ปี และพยายามหาทางแก้ไข โดยอ้างอิงจากงานวิจัย และงานทางวิชาการที่พบว่า แพทย์ไม่ควรทำงานต่อเนื่องเกิน 40 ชม./สัปดาห์ หรือ 16 ชม.ต่อเนื่องในห้องฉุกเฉิน เพราะสุขภาพจะทรุดโทรม ส่วนคนไข้ก็เสี่ยงอันตราย



กว่าจะออกประกาศแพทยสภา กำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐได้ใช้เวลาหลายปี ก่อนประกาศ “หมอหวิว” บอกว่า ได้ทำประชาพิจารณ์ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ มีทั้ง...เสียงคัดค้าน เหตุผลคือ จำนวนแพทย์ไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ตามอนุกรรมการคุณภาพชีวิตแพทยสภา ได้เสนอออกประกาศแพทยสภา ซึ่งท่านนายกแพทยสภาลงนามโดยให้เหตุผลว่า ประกาศนี้เป็นข้อเสนอไม่ใช่ข้อบังคับ โรงพยาบาลไหนทำได้ทำไปเลย หากทำไม่ได้ก็คงต้องฟังเหตุผลของผู้บริหารนั้นๆ และหน้าที่หลักของการดูแลคุณภาพชีวิตแพทย์ภาครัฐ คือ กระทรวงสาธารณสุข

ในความคิดส่วนตัวของหมอหวิว ได้บอกน้องๆ นิสิตแพทย์ที่สอนอยู่ว่าไม่เกิน 5 ปีต่อไปนี้ แพทย์จะทำงานเหมือนบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ คือ มีช่วงเวลาพัก ขึ้นเวรลงเวรก็ได้พัก เพราะแพทย์จะเพียงพอในภาครัฐ หลักฐานคือภายใน 30 กว่าปีนี้ แพทย์มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 6 เท่า โดยในปี 2526 มีแพทย์จำนวน 1 หมื่นเศษ แต่ปัจจุบันนี้มี 6 หมื่นเศษ เพิ่มสูงสุดใน 5 ปีที่ผ่านมา เพราะ...แพทย์ยุคเบบี้บูมเปลี่ยนมาเป็นเจนวาย ซึ่งมีความพิเศษต่างกัน ซึ่ง “หมอหวิว” ย้ำว่าไม่นานเกินรอ ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ต้องพลิกโฉม

ทั้งนี้เมื่อพูดถึง...ภาระงาน ที่หมอคนหนึ่งต้องพบเจอ กว่าครึ่งของผู้ป่วยอุบัติเหตุในยามค่ำคืน ล้วนมีสาเหตุจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ทั้งจากความประมาท โชคร้าย หรือเป็นเหยื่อจากกลุ่มเมาแล้วขับ ซึ่งส่วนหนึ่งต้องได้รับการผ่าตัดช่วยชีวิตอย่างเร่งด่วน หมอแต่ละคนอาจต้องผ่าตัดคนไข้หนักคืนละ 3-5 ราย



ตารางชีวิตของคนเป็นหมอโดยทั่วไป เริ่มตั้งแต่เช้าออกตรวจคนไข้ในหอผู้ป่วย จากนั้นจึงออกตรวจผู้ป่วยนอก ผ่าตัดหรือทำหัตถการคนไข้ที่นัดไว้ ตกเย็นออกตรวจที่หอผู้ป่วยในอีกครั้ง ถ้าวันใดต้องอยู่เวรกลางคืน นั่นแปลว่าวันนั้นจะต้องทำงานข้ามวันข้ามคืน 24 ชม. และอาจต้องทำงานต่อเนื่องถึง 72 ชม. (ในเวรหยุด ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์)

การผ่าตัดผู้ป่วยหนักจากอุบัติเหตุแต่ละราย มักจะใช้เวลาหลายชั่วโมงติดต่อกัน หลังผ่าตัดเสร็จต้องประเมินคนไข้ว่าปลอดภัยแน่ จึงเป็นเวลาที่หมอโล่งใจและได้พักเสียที หมอไทยจึงเป็นวิชาชีพหนึ่งที่จำต้องอดนอนเยอะมาก กลางวันรักษาคนไข้ในและนอก รวมถึงผ่าตัด-หัตถการ ส่วนกลางคืนอยู่เวรเพื่อรอดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ

หลายคนอาจถามว่า แล้วหมอจะมีสภาพที่พร้อมทำงานจริงหรือ คำตอบคือ...มีสิ เพราะจะหาจังหวะ “งีบพัก” ในช่วงที่ปลอดงาน หรือรอยต่อระหว่างรอผ่าตัด หรือรอดูคนไข้รายต่อไป เพื่อชาร์จแบตตัวเองให้มีพลังเพียงพอที่จะดูแลคนไข้อุบัติเหตุและฉุกเฉินให้ได้ตลอดทั้งคืน รวมถึงการช่วยชีวิตผู้ขับขี่และเหยื่อที่มาจากเมาแล้วขับ

หลังออกเวรดึกจึงเป็นช่วงเวลาที่หมอเหนื่อยล้าสุดๆ ที่อาจเกิดอุบัติเหตุระหว่างทางกลับบ้านได้ หลายคนอาจตั้งคำถามว่า แล้วทำไมหมอไม่หยุดพัก? คำตอบง่ายๆ คือ ในหลายพื้นที่ยังมีหมอไม่เพียงพอต่อผู้ป่วย หากหมอหยุดแล้วผู้ป่วยก็จะไม่ได้รับการรักษา ตรงกันข้ามเกือบทุกปีเราต้องสูญเสียหมอ จากอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นความสูญเสียทั้งต่อครอบครัวหมอ วงการแพทย์ และประเทศชาติ



เพราะกว่าจะผลิตหมอให้พร้อมทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ต้องใช้เวลานับ 10 ปี โดย 6 ปีแรกเรียนแพทยศาสตร์ เพิ่มพูนทักษะ 1 ปี ใช้ทุนอีก 2 ปี เรียนต่อแพทย์เฉพาะทางอีก 3-5 ปี ทำให้ตลอด “ชีวิต” ของหมอ 1 คน จะสามารถช่วยผู้ป่วยได้มากถึง 1.5-2 แสนครั้ง หากเขาและเธอมีอายุยืนยาวถึงเกษียณ

ตัวเลขจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ Thai RSC ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-1 ส.ค.61 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุไปแล้ว 9,550 คน และมีคนบาดเจ็บถึง 585,852 คน ซึ่งจำนวนมากเกิดจาก “เมาแล้วขับ” ผู้บาดเจ็บทั้งหมดล้วนต้องการ “หมอ” เพื่อมาช่วยเยียวยารักษาชีวิต “เมาแล้วขับ” จึงไม่เพียงทำลายชีวิตคุณ และชีวิตคนอื่นบนท้องถนน แต่อาจทำร้าย “ชีวิตหมอ” ที่กำลังจะต้องไปช่วย “ชีวิตคนอื่น” ซึ่งอาจเป็นคนที่คุณรัก

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การต่อสู้อย่างยาวนานมาเป็น 10 ปีในเรื่องมาตรฐานเวลางานของวิชาชีพ รวมถึงวิธีการพิจารณาคดีทางการแพทย์ที่ยุติธรรม โดยการรวบรวมศึกษาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกและเทียบเคียงกับประเทศไทยซึ่งไม่เป็นธรรมนั้น ทั้งหมดนี้ได้บรรจุอยู่ในการปฏิรูประบบสาธารณสุข ในหัวข้อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งหมายถึงการให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ที่รักษาพยาบาลทางด้านสุขภาพและสาธารณสุข ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 6 เม.ย.61

งานทั้งหมดนี้ยังคงต้องสู้ต่อและต้องทำให้สำเร็จ โดยที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบริบาลรักษา รัฐต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ (หมอ, พยาบาล ฯลฯ) ซึ่งทำงานให้รัฐ และปฏิบัติงานเกินกำลังความสามารถและเกินกว่ามาตรฐานการทำงานในนานาประเทศ อีกทั้งยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ ในการดูแลคนไข้ที่มีอาการหนักและมีภาวะแทรกซ้อนมากมาย



ล่าสุด ผศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ศัลยแพทย์ทางระบบประสาท รพ.ราชวิถี แจ้งข่าวดีว่า ได้รับมอบจากกรมการแพทย์ ให้เริ่มนำร่องเรื่องมาตรฐานชั่วโมงการทำงาน โดยนพ.เมธี เผยให้ฟังว่า ก้าวแรกมาแล้วหลังพูดมานาน จนในที่สุดก็เกิดขึ้น วันนี้ผู้ใหญ่ในกรมการแพทย์เรียกคุยและได้ให้นโยบายว่า วงการสาธารณะสุขต้องปฏิรูปเรื่องมาตรฐานการทำงานได้แล้ว ใครไม่เริ่ม เราเริ่มก่อน ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนกันไป ดีกว่าบ่นแต่ไม่แก้ปัญหา ทำไปเลย และจะหาทางออกให้เมื่อมีอุปสรรค เราเริ่มอย่างจริงจังได้แล้ว เอาไปทำเลย หยุดบ่น หยุดโพสต์ และรายงานความคืบหน้าเป็นระยะๆ เพื่อคุณภาพชีวิตทีดีขึ้นของบุคลากร และที่สำคัญเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยที่มาให้หมอช่วยเหลือ ไม่เช่นนั้นหมอ พยาบาล และวิชาชีพสาธารณสุขที่ต้องอยู่เวร ก็จะกลายเป็น...แพะอย่างเดียว

อย่างน้อยสังคมจะได้รับรู้ว่า คนชุดขาวทำงานเกินกำลังมามาก และนานพอแล้วต้องมีมาตรฐานได้แล้ว เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยตาดำๆ และจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อโดนฟ้องร้องอยู่ฝ่ายเดียว คนนอกวงการจะได้เข้าใจว่าทำไมถึงมีความผิดพลาด ทั้งๆ ที่ทำงานกันตัวเป็นเกลียว

เพราะคงไม่มีผู้ป่วยรายใด อยากพบหมอที่ไม่ได้นอนมาทั้งคืน อดนอนต่อเนื่อง ตัดสินใจช้า นำไปสู่ความผิดพลาดในการรักษาได้ง่าย ซ้ำร้ายข้อเท็จจริงคือ มีหมอที่ออกเวรแล้วขับรถกลับบ้าน หลับใน เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตจำนวนมาก เราไม่อยากเสียทั้งหมอและคนไข้ ช่วยกันวางระบบให้สมดุลเถอะ.
.....................................
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ
โดย “ทวีลาภ บวกทอง”

https://www.dailynews.co.th/article/675417
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่