เตือนคนไทย เที่ยวญี่ปุ่น หลัง หัดเยอรมันระบาดหนัก เด็ก หญิงมีครรภ์อันตราย!


ผู้สื่อข่าวรายว่า สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกเอกสารแจ้งเตือนประชาชนที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น โดยพบว่า หลายพื้นที่ในประเทศญี่ปุ่น มีโรคหัดเยอรมันระบาด โดยพบว่า สถานการณ์ระบาดข้อมูลวันที่ 19 ก.ย. มีผู้ป่วยรายใหม่ที่เมือง โตเกียว 32 ราย ชิบะ 27 ราย คานากาวา 19 ราย ไซตะมะ และ ไอจิ เมืองละ 11 ราย

โดยพบว่า 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา ถึง 24 ต.ค. มีรายงานผู้ป่วยหัดเยอรมัน 914 ราย แต่ตั้งแต่ต้นปี 1 ม.ค. พบผู้ป่วยแล้ว 1,289 ราย ในภูมิภาค คันโต โดยได้แจ้งเตือนให้ประชาชนที่จะเดินทางไปพื้นที่ดังกล่าว ตรวจสอบว่า ตนเองได้รับวัคซีนครบหรือไม่

หากไม่มั่นใจว่าเคยได้รับวัคซีนครบหรือไม่ แนะนำพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและรับวัคซีนเพิ่มเติม โดยหญิงตั้งครรภ์ไม่สามารถรับวัคซีนได้เนื่องจากวัคซีนเป็นอันตรายกับเด็กในท้อง และหญิงวัยเจริญพันธุ์ควรฉีดวัคซีนและคุมกำเนิดหลังฉีดวัคซีนครบอย่างน้อย 1 เดือนจึงจะตั้งครรภ์ได้

แนะนำหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อหัดเยอรมัน (ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือไม่เคยเป็นโรคมาก่อน) หลีกเลี่ยงการ เดินทาง หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้ใช้มาตรการระมัดระวังตัวเพิ่มขึ้น พยายามไม่เดินทางไปในพื้นที่ที่มีคนอยู่ รวมกันเยอะๆ และอากาศไม่ถ่ายเท ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากที่พัก ล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งที่มีโอกาส รวมถึงพกแอลกอฮอล์สเปรย์หรือเจลไว้ล้างมือตลอดเวลาทุกครั้งที่ไม่สามารถล้างมือฟอกสบู่ได้ และไม่นำมือไปสัมผัสตา จมูก ใบหน้าโดยไม่จำเป็น

แนะนำให้เด็กอายุน้อยกว่า 9 เดือน หลีกเลี่ยงการเดินทาง เนื่องจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันในประเทศ ไทยเริ่มฉีดเมื่อเด็กอายุ 9 เดือนเป็นต้นไป หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับคนไม่สบาย รวมถึงการใส่หน้ากากอนามัยในที่ชุมชนแออัดและล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ

ทั้งนี้ หัดเยอมัน เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ติดต่อด้วยการไอ จาม หรือใกล้ชิดกับคนที่ติดเชื้อ อาการสำคัญ คือไข้ร่วมกับมีผื่นประมาณ 2-3 วัน เป็นโรคที่อันตรายมากกับหญิงตั้งครรภ์และเด็กในท้อง เนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ เด็กสามารถเกิดภาวะ พิการแต่กำเนิด หูหนวก ตาเป็นต้อกระจก เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด มีภาวะผิดปกติทางสมอง และอวัยวะภายในได้รับ ความเสียหายได้

ข่าวจาก : ข่าวสดออนไลน์
https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_1764971
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่