Prison Playbook : มอง "คุก" ผ่านละคร




ณ ห้องเรียนของเด็กประถม ในคาบแนะแนวอาชีพ...วันนี้เป็นคิวของอาชีพ "เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์" ผู้คุมนักโทษแพงเซยุน ซึ่งมาเป็นคุณครูรับเชิญถามเด็กๆ ขึ้นว่า
"ทุกคนรู้ไหมว่าใครอาศัยในคุก?"
"คนที่ทำเรื่องไม่ดีครับ" เด็กชายคนหนึ่งตอบ ผู้คุมแพงจึงกล่าวต่อว่า
"ใช่แล้ว คนทำความผิดอาศัยอยู่ในคุก แต่ใครๆ ก็เคยทำผิดพลาดอย่างน้อยก็ซักครั้งหนึ่ง ผู้คุมจะเป็นผู้ช่วยเขาในการสำนึกความผิดนั้น"


เป็นฉากหนึ่งจากละครเรื่อง "Prison Playbook" หรือ "Wise Prison Life" ออกฉายทางช่อง tvN ช่วงหน้าหนาวปี 2017 - 2018 โดยร่วมลงทุนและฉายทาง Netflix ด้วย ละครยาว 16 ตอน เล่าเรื่องราวของนักเบสบอลดาวรุ่งผู้โด่งดังคิมเจฮยอก เขาอย่ในจุดสูงสุดของอาชีพนักกีฬา ได้รับค่าตัวแพงที่สุดในประวัติการณ์และกำลังจะเดินทางไปเล่นให้เมเจอร์ลีคที่อเมริกา แต่เรื่องราวกลับตาลปัตรเมื่อเขาไล่ตามคนร้ายผู้พยายามจะข่มขืนน้องสาวของเขาและเกิดการต่อสู้กัน ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ทำให้เขาต้องติดคุกทันทีโดยไม่รอลงอาญา





เรื่องนี้เป็นผลงานของผู้กำกับ Shin Won-ho จากละครชุด Reply อันโด่งดัง เพราะฉนั้นไว้ใจเรื่องได้เลยเรื่องความเท่ของละคร และจังหวะจะโคนในการตัดต่อ ขอบอกว่าเขาเอาอยู่จริงๆ เขาทำให้ละครเกี่ยวกับนักโทษซึ่งมักจะถูกนำเสนออกมาในรูปแบบที่หม่นหมองหดหู่ ให้ออกมาเป็น black comedy ที่นั่งขำได้เรื่อยๆ แต่ก็ทำให้ต้องย้อนกลับไปคิดถึงระบบกระบวนการยุติธรรม และอะไรคือถูก อะไรคือผิด...เอาเป็นว่าทั้งฮา ทั้งได้สาระ





เราจะได้เห็นชีวิตประจำวันของนักโทษ...วันหนึ่งๆ เขาทำอะไรกันบ้าง ในคุกนั้นนอกจากนักกีฬาคิมเจฮยอกแล้ว ก็ยังมีเพื่อนนักโทษคนอื่นๆ ทั้งคดียาเสพติด คดีข่มขืน ฆาตรกรรม ยักยอกทรัพย์ ลักเล็กขโมยน้อย นักโทษติดคุกตลอดชีวิต นักโทษประหาร ทั้งยังมีเหล่าผู้คุมนักโทษ พัศดี เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมที่เข้ามาตรวจสอบเป็นระยะๆ และเราจะได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในคุก ลำดับชั้น การกลั่นแกล้ง การดูแล การต่อสู้ ต่อรอง การค้าขาย แลกเปลี่ยน เส้นสาย...แน่นอนนักกีฬาคิมของเราเป็นคนดัง เพราะฉนั้นเราจะเห็นสิทธิพิเศษของเขาที่เหนือกว่านักโทษคนอื่นอย่างชัดเจน

ว่าแต่ ถ้าเรามีสิทธิพิเศษเหนือคนอื่น เราจะใช้สิทธิพิเศษนั้นเพื่อช่วยเหลือคนอื่นอย่างไรบ้าง?





"นักโทษก็คนเหมือนกัน"

เรื่อง "สิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขัง" ซึ่งอ้างอิงจากหลักสิทธิมนุษยชนสากล 30 ข้อ อันถือเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนควรมีและผู้ใดไม่สามารถพรากไปได้ ถูกนำเสนออย่างน่าสนใจในละคร ดูเหมือนว่าตัวนักโทษเองจะทราบในสิทธิ์ที่ตนพึงมีพึงได้ ส่วนผู้คุมเองก็ตระหนักรู้และระมัดระวังไม่ริดรอนสิทธิเหล่านี้ (อย่างโจ่งแจ้งเกินไปนัก ฮ่าๆ)

เช่น ข้อ 18 สิทธิในการนับถือศาสนา ทางเรือนจำได้จัดกิจกรรมทางศาสนาต่างๆ อย่างหลากหลายเพื่อผู้ต้องหา ทั้งคาทอลิก พุทธ คริสต์ อิสลาม ถือเป็นช่วงเวลาชุบชูจิตใจของผู้ต้องขังเพื่อให้ผ่านพ้นวันอันยาวนานไปได้

ข้อ 19 เสรีภาพในการแสดงความคิดและการแสดงออก มีหลายฉากเมื่อนักโทษมีความคับข้องใจ พวกเขาก็มีช่องทางในการร้องเรียนและสามารถนำเสนอทางแก้ปัญหาได้ จากเรื่องเราจะเห็นการร้องเรียนสิทธิในการรักษาพยาบาล และสิทธิในการได้รับค่าตอบแทนอย่างเท่าเทียมในการทำงาน  ที่แม้จะมีการเล่นตุกติก และการพยายามลดค่าใช้จ่ายจากทางเรือนจำ แต่ด้วยการร่วมมือกันของนักโทษก็ทำให้พวกเขาเข้าถึงสิทธิเหล่านั้นได้





"คนผิดทุกคนใช่ว่าจะอยู่ในคุก และคนคุกทุกคนใช่ว่าจะกระทำผิด"

จากสถิติแล้วผู้ต้องหาโทษหนักๆ เช่น ฆาตกรรม หรือข่มขืน จำนวน 4 -7% นั้นสุดท้ายแล้วถูกพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ที่มีการจับผิดตัว หรือโดนวางแผนกลายให้เป็นแพะรับบาป ตัวละครหนึ่งในเรื่องก็เช่นกัน...เขาต้องมารับเคราะห์ในสิ่งที่เขาไม่ได้กระทำ ซึ่งการชดเชยที่กฎหมายกำหนดไว้ เทียบไม่ได้เลยกับอิสระภาพ เวลา หน้าที่การงาน และชื่อเสียงที่เขาสูญเสียไป





"ยาเสพติด...ความผิด หรือ ทางเลือก?"

จากข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมราชทัณฑ์ประเทศไทย กว่า 56.4% ของนักโทษติดคุกจากคดียาเสพติด ทั้งไทยและเกาหลีต่างก็ให้ความสำคัญกับข้อหาเสพยาและมียาเสพติดในครอบครอง สิ่งที่ตัวละคร "เจ้าเอ๋อ" ยูฮันยาง ผู้ต้องขังคดียาเสพติดตัดพ้อไว้ในเรื่องอย่างน่าสนใจทีเดียว "การเสพยาไม่ได้ทำร้ายใครนอกจากตัวเอง แถมผู้เสพถือเป็นเหยื่อจากยาเสียอีก ทำไมต้องติดคุกด้วย" เหมือนเจ้าเอ๋อจะเสนอว่าถ้าไม่ได้ก่อความเดือดร้อนให้ใคร การเสพยาน่าจะถือเป็นทางเลือกของผู้เสพ และหากรัฐฯ จริงใจในการช่วยเหลือผู้ติดยา ก็ควรส่งไปสถานบำบัดไม่ใช่คุก

ประเทศโปรตุเกสก็คงคิดแบบเดียวกัน ในปี 2001 รัฐบาลจึงแก้กฎหมายให้ผู้เสพยาและครอบครองยาเสพติดในปริมาณน้อยทุกประเภทถูกปรับเงิน และสนับสนุนให้เข้ารับการบำบัด แทนที่จะถูกจับเข้าคุก แต่หากเสพยาแล้วก่อเรื่องก็จากถูกจับกุมจากเรื่องที่กระทำ  ตั้งแต่นั้นจำนวนผู้เสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาดก็ลดลง จนในปี 2015 ก็ไม่มีผู้ใดเสียชีวิตจากการ overdose เลย





ไหนๆ ก็เป็นละครเรื่องคุกเรื่องตาราง มาดูข้อมูลคุกเกาหลีเปรียบเทียบกับคุกไทยกันหน่อยดีกว่า ในปี 2017 อัตราส่วนนักโทษต่อจำนวนประชากรของเกาหลีอยู่ในลำดับที่ 143 ของโลก ติดอันดับ 22 ในเอเชีย ซึ่งประชากรจำนวน 100,000 คน จะเป็นนักโทษเสีย 109 คน คิดเป็น 0.1% ของจำนวนประชากร (51 ล้านคน)

ส่วนไทยนั้นมีอัตราส่วนมากติดอันดับที่ 5 ของโลกเลยทีเดียว โดยในประชากร 100,000 คน จะมีนักโทษถึง 526 คน คิดเป็น 0.4% ของจำนวนประชากรไทย (68 ล้านคน) ถือเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย รองจากเติร์กเมนิสถาน โดยจำนวนนักโทษทั้งหมดของไทยคือ 300,800 คน ซึ่งล้นเกินความจุที่คุกจะสามารถรองรับได้ถึง 83,868 คน ทำให้นักโทษต้องอยู่กันอย่างเบียดเสียดเกิน 50 คนต่อห้องเลยทีเดียว

ส่วนในประเทศเกาหลี มีจำนวนนักโทษมีประมาณ 56,000 คน ล้นความจุของคุกไป 8,675 คน และกำลังเป็นเรื่องที่รัฐบาลของเขากังวลอยู่ในขณะนี้

เคยได้ยินคนบอกว่า "อยู่คุกเผลอๆ สบายกว่าอยู่ข้างนอก อย่างน้อยก็มีที่อยู่ มีข้าวกิน" อืมม อาจจะต้องคิดใหม่รึเปล่านะ





"คืนคนดีสู่สังคม..."

กรมราชทัณฑ์ (Department of Correction) หรือที่เกาหลีเรียกว่า Correctional Services ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความปลอดภัยในสังคม โดยสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ที่อยู่ภายใต้การดูแลในทัณฑสถาน ให้บริการแก้ไขความผิดพลาด เพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิดให้กลายเป็นประชาชนผู้เคารพกฎหมายเมื่อกลับไปอยู่ในสังคมต่อไป

แล้วคุกได้ช่วยเหลือผู้กระทำผิดให้เรียนรู้และกลับคืนสู่สังคมได้ตามเป้าหมายของมันหรือไม่? คุกไทยล่ะ ได้ทำหน้าที่ของมันไหม?

เกาหลีพยายามสร้างคุกที่เป็นธรรม เพื่อให้ผู้ต้องขังมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่การบำบัดพัฒนาคนจำนวน 5 หมื่นคนก็มีค่าใช้จ่ายไม่น้อยทีเดียว บ่อยครั้งที่สังคมตั้งคำถามว่า "ภาษีของพวกเขาต้องเอาไปดูแลคนคุกอย่างนั้นหรือ?"

ประมาณ 24% ของนักโทษในเกาหลีกระทำความผิดซ้ำอีกภายใน 3 ปีหลังออกจากคุก และต้องกลับเข้าคุกอีกครั้ง ส่วนของไทยไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน





มีอยู่ฉากหนึ่งในละคร เจฮยอกพูดกับเพื่อนนักโทษว่า "บางทีเราก็ต้องโทษโลกบ้าง! เมื่อเราไม่ได้รับโอกาส อาจไม่ได้แปลว่าเราไม่พยายาม เราอาจจะพยายามมากที่สุดแล้ว แต่สังคมต่างหากที่ไม่พยายาม เราอาจต้องถามว่าโลกยุติธรรมกับเราไหม โลกให้โอกาสเราหรือเปล่า?"

ถึงกับต้องมานั่งถามตัวเองเลยว่า...ถ้ามีคนหนึ่งที่คุณสมบัติครบถ้วนเข้ามาสมัครงานพร้อมประวัติอาชญากร เราพร้อมที่จะให้โอกาสเขาเริ่มต้นชีวิตใหม่หรือไม่? แล้วถ้าเขาไม่ได้รับโอกาส มันจะเป็นการผลักไสเขาให้กลับไปอยู่ในวงจรเดิมรึเปล่า?

มนุษย์...ทั้งเรา ทั้งเขา...ไม่ว่าใครก็คงเคยทำผิดไปบ้าง อย่างน้อยก็ซักครั้งหนึ่ง...แล้วเส้นแบ่งคืออะไร?...อาจจะเป็นเพราะเขา "ถูกจับได้" แค่นั้นเอง...ใช่ไหมนะ?




ข้อมูลอ้างอิง
https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2017/05/701_144048.html
https://www.koreaherald.com/view.php?ud=20110227000115
https://www.washingtonpost.com/opinions/the-cost-of-convicting-the-innocent
https://www.correct.go.th/eng/index.html
https://www.corrections.go.kr/HP/COR80/
https://www.prisonstudies.org
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4472929/
https://www.independent.co.uk/news/world/europe/portugal-decriminalised-drugs-14-years-ago-and-now-hardly-anyone-dies-from-overdosing-10301780.html


คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่