Suzuki RGV-S จุดเริ่มต้นรถสปอร์ต 150 cc ในประเทศไทย

กระทู้สนทนา
หากเมื่อย้อนเวลากลับไปช่วงพ.ศ. 2528 (ค.ศ.1985) เป็นช่วงเวลาที่ค่ายรถจักรยานยนต์ซูซูกิได้ก้าวย่างเข้าสู่รถสปอร์ตขนาด 150cc โดยมีชื่อรุ่นว่า RGV-S หรืออีกชื่อที่รู้จักกันในนาม “จรวดทางเรียบ” ซึ่งสมญานามจรวดทางเรียบอาจเป็นการได้รับอิทธิพลจากการที่นาซ่าได้ปล่อยกระสวยอวกาศแอตแลนติสขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 3 ตุลาคม 2528 นอกจากนี้ถือว่าเป็นจุดกำเนิดหรือเริ่มต้นของการต่อสู้กันของรถมอไซค์สปอต์ที่มีความจุ 150cc ยี่ห้อต่างๆ ในประเทศไทย


จวรดทางเรียบ หรือ RGV เป็นชื่อเรียกที่ติดปากสำหรับรถจักรยานยนต์รุ่นนี้ นอกจากนี้ยังมีอีกชื่อที่ถูกกล่าวขานคือ “กิ๊กโก๋โลเดียว” สำหรับผู้เขียนเห็นด้วยในชื่อเรียกนี้ด้วยลักษณะของรถที่มีทรวดทรงเล็กปราดเปรียวหากเปรียบเทียบกับ 150cc รุ่นอื่นๆ อีกทั้งเครื่องยนต์ไม่มีระบบวาวล์ร่วมไปถึงไม่มีกล่องไฟทำให้ไม่ต้องรอรอบเครื่องหรือกล่องตัด ทำให้การออกตัวจากความเร็วที่ 0 กิโลเมตรเป็นไปอย่างรวดเร็ว เรียกง่ายๆว่า ต้นจัด ซึ่งลักษณะนี้เองเลยทำให้ถูกเรียกว่าจิกโก๋โลเดียว

หากมาไล่เรียงช่วงปีที่ออกจำหน่ายพบว่า RGV ไม่มีได้มีคู่แข่งที่สามารถต่อกรความเร็วแรงได้จริงๆ เนื่องจากมีเครื่องยนต์ขนาด 150cc ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าคู่แข่งค่ายอื่น ๆ ในช่วงเวลานั้น ทำให้สามารถพูดได้เต็มปากว่าเจ้า RGV ออกมาเพื่อฆ่ารถทรงผู้ชายไม่ว่าจะเป็น Honda Fighter 135, Kawasaki Ar125 และYamaha Rxs 115 โดยเป็นรถคู่แข่งในเวลานั้น นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบรูปทรงของรถที่กล่าวมาจะพบว่าจะมีรูปทรงที่ออกไปในทิศทางคล้ายๆอีกด้วย


ที่มาของรูปเพจ 2t spec

VR150> RGV-S > Ar125 > Fighter 135






เมื่อซูซูกิได้ก้าวเข้าสู่รถสปอร์ตขนาด 150cc ดังนั้นหัวใจสำคัญคือเครื่องยนต์ โดยเครื่องยนต์ RGV เป็นเครื่องยนต์สูบเดียว 2 จังหวะ ระบายความร้อนของเครื่องยนต์ด้วยอากาศ (หม้อลม) และขนาดของเครื่องยนต์มีความจุของกระบอกสูบอยู่ที่ 147cc สามารถทำแรงม้าสูงสุดที่ 26.5 แรงม้าต่อรอบเครื่องยนต์ 9,500 และมีแรงบิดสูงสุดที่ 20.594 นิวตันเมตร (2.1 กก.-ม) ต่อรอบเครื่อง 8,000 รอบ/นาที นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า Suzuki Super Scavenging System ย่อว่า (SSS) ซึ่งเทคโนโลยีนี้คือ “ระบบส่งถ่ายไอดี”


ตัวอย่างลักษณะการทำงานของระบบ Suzuki Super Scavenging System  (SSS)
https://www.youtube.com/watch?v=z6KCevf0pq4

ระบบส่งถ่ายไอดี SSS เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นมาเป็นพิเศษเฉพาะในซูซูกิ RGV โดยระบบ SSS ได้แยกไอดีออกเป็นสองทิศทาง โดยทางหนึ่งถูกส่งเข้าสู่เพลาข้อเหวี่ยงและอีกทางหนึ่งถูกส่งเข้าสู่ห้องเผาไหม้ ซึ่งไอดีที่ถูกส่งไปยังห้องเผาไหม้นอกจากเป็นไอดีที่บริสุทธ์แล้ว ยังสามารถช่วยสร้างสมดุลในห้องเผาไหม้ อีกทั้งเป็นตัวขับไอดีที่เกิดจากการเผาไหม้ให้ออกไปในระยะเวลาที่รวดเร็ว และยังเป็นการลดความร้อนให้กับลูกสูบโดยไอดีจะผ่านพอร์ทบู๊ทใกล้กับรีดวาว์ล นอกจากนี้ระบบ SSS มีการทำงานร่วมกันกับระบบ Suzuki Intake Pulse Control ย่อว่า (SIPC) ซึ่งเป็นการทำหน้าที่การควบคุมการนำเข้าไอดีไม่ให้เกิดการติดขัดหรือกระตุก


ระบบควบคุมไอดี SIPC เป็นพัฒนาการใหม่ของซูซูกิ RGV โดยระบบ SIPC สามารถจัดการแก้ปัญหาการควบคุมไอดีที่ถูกส่งเข้าไปในเครื่องยนต์ โดยการคำนวนความถี่แรงเคลื่อนไอดีกับแรงดันระยะทาง ร่วมถึงปริมาณไอดีแต่ละช่วง ซึ่งระบบ SIPC จะเก็บกักไอดีส่วนเกินนี้ส่งไปสู่ห้องเผาไหม้ในเครื่องยนต์ใหม่อีกครั้ง จึงส่งผลให้เครื่องยนต์ทำงานได้ราบรื่นในรอบสูงหรือรอบต่ำและไม่เกิดอาการสะดุดในขณะเร่ง นอกจากนี้ผลพวงของการส่งไอดีเข้าเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าในรอบต่ำหรือรอบสูงมีผลให้เครื่องยนต์สามารถรีดสมรรถนะได้อย่างเต็มที่ และรวมไปถึงการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงอีกด้วย


นอกจากนี้ ซูซูกิ RGV มาพร้อมกับ ตุ่มถ่วงดุลย์ (Counter Balancer) โดยใช้หลักการ“การหักล้างแรงเหวี่ยง” ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการสั่นสะเทือนในขณะขับขี่ โดยใช้สิ่งที่เรียกว่าตุ่มถ่วงดุลย์ ซึ่งติดตั้งตุ่มถ่วงดุลย์ไว้ในเครื่องยนต์และทำงานสัมพันธ์กับชุดเพลาข้อเหวี่ยง ทำให้เกิดการหักล้างแรงเหวี่ยงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เครื่องยนต์ซูซูกิ RGV ทำงานนิ่งและเรียบ ไม่เกิดอาการมือชาและขาชาจากแรงสั่นของเครื่องยนต์เมื่อขับขี่เป็นเวลานาน ๆ


ตัวถังเหล็กเลี่ยมเฟรมคู่ SRS ถูกพัฒนามาจากรถแข่ง โดยเฟรมทำจากวัสดุที่มีน้ำหนักเบา และสามารถรองรับการสั่นสะเทือนรวมถึงรับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี อีกทั้งมีประสิทธิภาพในการทรงตัวและการเข้าโค้งที่แม่นยำ โดยเฟรมคู่มีลักษณะโดดเด่นตรงที่ความแข็งแรงกว่าเฟรมเดียวที่มีเพียงท่อนเหล็ก 1 ท่อนที่ค่อยรองรับเครื่องยนต์


สำหรับระบบกันสะเทือนหลังใหม่ ซูซูกิ RGV เลือกที่จะใช้โช๊คอัพเดี่ยว EFF โดยโช๊คมีความโดดเด่นเหนือใครด้วยระบบกันสะเทือนหลังแบบใหม่ซึ่งโช๊คอัพ EFF สามารถปรับตัวเองอย่างอัตโนมัติ ทำให้เหมาะสมทุกสภาพการใช้งานไม่ว่าขับขี่หรือแข่งขัน



นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ติดรถต่างๆ ที่ทางซูซูกิ RGV ได้โฆษณาไว้ว่า

  -ทั้งคันใหม่หมด ไฟหน้าจรดไฟท้าย
  -เรือนใหม่และวัดรอบสวยสปอรต์แบบรถใหญ่ หรู อ่านสบาย
  -ไฟหน้าเหลี่ยม หน้ากากไฟสวยเนียน
  -เบาะนั่งปราดเปรียว
  -สวิตควบคุมแบบใหม่
  -ถังน้ำมันและถังออโตลูปคู่ใกล้กัน สะดวกสบายในการเช็ด
  -เครื่องยนต์ทำงานเรียบ พร้อมติดตั้ง Counter Balancer
  -เกียร์ 6 จังหวะ
  -หม้อกรองอากาศแบบจั้มโบ้
  -ท่อไอเสียแบบรถแข่ง พร้อมติดตั้งไซเลนเซอร์
  -โซ่มีซีลในตัว ไม่มีข้อต่อ ทนทาน
  -ที่เก็บของกว้างขวาง (คาดว่าคือช่องที่เก็บเครื่องมือรถ)
  -ไฟท้าย ไฟเลี้ยว ล้ำสมัย เห็นชัดในคำคืน (เมื่อใช้งานจริงๆ แสงไฟเลี้ยว ไฟหน้ามีความสว่างไม่พอ เนื่องจากระบบไฟของรถ RGV ยังเป็นไฟ 6v)
  -ยางหน้ากว้าง ดอกยางแบบใหม่ เกาะถนนเป็นเลิศ
  -ระบบเบรค มั่นใจทุกสภาพ (สำหรับ RGV หน้าสั้นเบรกหน้ายังคงเป็นดรัมเบรกอยู่ เมื่อเทียบกำลังของรถแล้ว บอกได้เลยว่าไม่มีความมั่นใจทุกสภาพถนน)


ข้อมูลโดยรวมของ RGV

กว้าง-สูง-ยาว                      680-1970-1120 มม.
ส่วนสูงใต้ท้องรถ                     150 มม.
ส่วนสูงเบาะนั่ง                     765 มม.
น้ำหนัก                              99.8 มม.
แรงม้าสูงสุด                       26.5แรงม้าที่ 9,500รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด                      2.1 กก.ม.ที่ 8,000รอบ/นาที
ระยะชัก-กระบอกสูบ            54.0-59.0มม.
ความจุกระบอกสูบ              147 ซีซี.
อัตราส่วนกำลังอัด              7.0:1
คาร์บูเรเตอร์                     MIKUNI VM 26 SS
โซ่                                 แบบ GOLDEN CHAIN ไม่มีข้อต่อ 124 ข้อ
ตัวถัง                              เฟรมเหลี่ยมทรงเปลคู่ SRS
ระบบกันสะเทือนหลัง          ช็อคอัพเดี่ยวแบบ เอ็กเซ็นตริคฟูลโฟลทเตอร์
ขนาดยางหน้า                   2.75-18
ขนาดยางหลัง                   3.00-18
ถังน้ำมันเชื้อเพลิง              11ลิตร
ถังน้ำมัน2T                      1.2ลิตร
น้ำมันเกียร์                       900ซีซี.
หัวเทียน                          NGK BP8ES , ND W24EP-V
แบตเตอรี่                         6v 4ah
ไฟหน้า                            6v 35/35w
ไฟท้าย/ไฟเบรค                 6v 3/10w

สำหรับ RGV-S มีระยะโมเดลตั้งแต่ พ.ศ. 2528 – 2534 หลังจากนั้นทาง Suzuki ได้ปล่อย RGV-SS (หน้ายาว) ซึ่งเป็นรุ่นที่สองออกมาในปี พ.ศ. 2534-2536 การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของ RGV-SS ได้แก่หน้ากากหน้าแบบใหม่และระบบเบรกหน้าที่กลายเป็นดิสก์แทน นอกจากนั้นไม่ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแต่อย่างไร โดยมีราคาเปิดตัวอยู่ที่ 45,500 บาท โดยประมาณ ซึ่งแพงกว่ารุ่น RGV-S ถึง 3,000 บาท



ในส่วนของโฉมสุดท้ายของ RGV มีชื่อเรียกว่า Megatone (เมกาโทน) ถูกจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2536-2542 โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรุ่น Megatone เรียกได้ว่าทาง Suzuki ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแฟริ่งใหม่ทั้งหมด รวมไปถึงเปลี่ยนแปลงโครงรถอีกด้วย ทำให้ RGV-S/SS ไม่สามารถใช้แฟริ่งของรุ่น Megatone ได้ สำหรับในส่วนต่างๆ ทาง Suzuki ไม่ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไร โดย Megatone มีราคาเปิดตัวอยู่ที่ 45,000 บาทโดยประมาณ



---
เปิดก่อนได้เปรียบ ประโยคคำนี้คงไม่สามารถใช้ได้กับทาง Suzuki Thailand

- RGV-S เป็นรถขนาด 150cc รุ่นแรกของไทย ซึ่งเพียงระยะเวลาไม่นานก็ถูกทาง Yamaha Vr150 ตามเชือดเฉือนด้วยแรงม้าที่เหนือกว่าเล็กน้อยมาพร้อมทั้งระบายความร้อนด้วยน้ำ และตามต่อด้วย Honda Nsr150R ปิดท้ายด้วย Kawasaki Kr150R ที่นับเป็นรถรุ่นเปิดตัวเหมือนกัน

- หากจะมองหาข้อได้เปรียบที่พอสู้ได้ของเจ้า RGV คงหนีไม่พ้นด้วยเรื่องราคา ซึ่งมีราคาที่ถูกกว่ารถรุ่น 150cc ทุกรุ่น

- ในความล้าหลังก็ยังมีดี สำหรับ RGV ทั้ง 3 รุ่น ที่มีระบบระบายความร้อนด้วยลม ทำให้สามารถตัดความจุจิกในเรื่องหม้อน้ำไป แต่ต้องแลกกับความแรงที่หดหายไม่สามารถขับแช่รอบสูงได้นาน

- RGV กลายเป็นรุ่นรถที่นิยมของหน่วยงานรัฐรุ่นหนึ่งก็ว่าได้ ยกตัวอย่างเช่นหน่วยงานตำรวจเป็นต้น

ที่มาของรูปภาพบ้างส่วน

https://www.facebook.com/groups/2tspec

https://www.facebook.com/groups/960078604050837/

https://www.facebook.com/groups/724093804294820/

ขอฝากเพจหน่อยครับ
https://www.facebook.com/ต้นรถเป็นอะไรอะ-451481885345798
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่