พระยานครราชสีมาช่วงธนบุรีถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีใครบ้าง

อันนี้มีจุดสับสนเยอะมาก
- มีลิสต์เจ้าเมืองมั้ย
- หลังพระพิมายยึดนครราชสีมาจากหลวงแพ่งได้แล้ว มีการตั้งใครเป็นคนคุมเมือง
- ขุนชนะคนนี้เป็นใคร แล้วหลังเจ้าตากยึดนครราชสีมาได้แล้ว ตั้งใครเป็นเจ้าเมือง
- ขุนชนะ ใช่พระยานครราชสีมา(ปิ่น)มั้ย
- หรือจะเป็นคนนี้ พระยากำแหงสงคราม (บุญคง กาญจนาคม) แล้วคนนี้คือใคร
- พระยาสุริยอภัย วังหลัง ได้เป็นพระยานครราชสีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วเจ้าเมืองคนเก่าคือตาย?
- เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) มีหลักฐานมั้ยว่าเป็นลูกพระเจ้าตาก แล้วมีประวัติยังไง
- พระยากลาโหมราชเสนา(ทองอิน) คนคนนี้เป็นใครมาจากไหนตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้นั่งเทียนเอา
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 2
อ้างอิงจากพงศาวดารหลายๆ ฉบับนะครับ

เดิมตั้งแต่กรุงศรีอยุทธยายังไม่เสีย มีพระยานครราชสีมาอยู่คนหนึ่ง วางแผนจะจับตัวกรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งหนีไปอยู่ในแขวงเมืองนครราชสีมาลงไปที่อยุทธยา กรมหมื่นเทพพิพิธคิดจะหนี แต่หม่อมเจ้าประยงผู้บุตรไม่เห็นด้วย เลยไปรวบรวมคนมาบุกยึดเมืองแล้วฆ่าพระยานครราชสีมา แต่อยู่ไม่นานก็ถูกหลวงแพ่งน้องชายพระยานครราชสีมายึดเมืองกลับไปได้ แล้วเนรเทศกรมหมื่นเทพพิพิธไปอยู่เมืองพิมาย หลวงแพ่งได้ครองเมือง แต่ไม่ได้ปรากฏว่าได้ตั้งตนเป็นพระยานครราชสีมา

พระพิมายนั้นอุปถัมภ์กรมหมื่นเทพพิพิธไว้ พอกรุงเสียก็คิดจะตั้งเป็นเจ้าหุ่นเชิดเลยยกขึ้นเป็นเจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธจึงตั้งพระพิมายเป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ (พงศาวดารสมัยหลังว่าเป็นเจ้าพระยา ได้สำเร็จราชการ) ตั้งนายสาบุตรพระพิมายเป็นพระยามหามนตรี ให้บุตรคนเล็กน้องพระยามหามนตรีเป็นพระยาวรวงศาธิราช (เรียกกันว่าพระยาน้อย) ต่อมาพระยาทั้งสามก็วางแผนสังหารหลวงแพ่งทิ้ง แล้วให้พระยาวรวงศาธิราชอยู่ที่บ้านจอหอรักษาเมืองนครราชสีมาแทน จนกระทั่งถูกทัพกรุงธนบุรีนำโดยพระราชรินทร์ พระมหามนตรีตีแตก

ถึงตอนนี้พงศาวดารที่ชำระสมัยหลัง เช่น ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน และฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่า เมื่อกรมหมื่นเทพพิพิธได้ข่าวว่าพระยาทั้งสามพ่ายแพ้แล้ว เลยจะพาพรรคพวกหนีไปกรุงศรีสัตนาคนหุต แต่ "ขุนชะนะ" ชาวเมืองนครราชสีมาตามไปจับกรมหมื่นเทพพิพิธและครอบครัวมาถวายพระเจ้ากรุงธนบุรีได้

"จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งขุนชะนะให้เป็นพระยากำแหงสงคราม ครองเมืองนครราชสีมา พระราชทานเครื่องยศและบำเหน็จรางวัลเป็นอันมากสมควรแก่ความชอบ"

พงศาวดารสมัยหลังยังกล่าวถึง "พระยานครราชสีมา" ในสงครามอะแซหวุ่นกี้อีกหลายครั้งโดยไม่ได้ระบุว่ามีการเปลี่ยนเจ้าเมือง มาจนถึง พ.ศ. ๒๓๒๓ จึงปรากฏว่าให้พระยากำแหงสงครามลงมารับราชการในกรุงธนบุรี แล้วตั้งหลวงนายฤทธิ์เป็นพระยาสุริยอภัย ขึ้นไปครองเมืองนครราชสีมาแทน

"ศักราช ๑๑๔๒ ปีขาลโทศก ทรงพระกรุณาให้พระยาคำแหงสงครามเจ้าเมืองนครราชสีมา ลงมารับราชการอยู่ณกรุงธนบุรี จึงโปรดให้หลวงนายฤทธิ์ผู้หลานสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นพระยาสุริยอภัยขึ้นไปครองเมืองนครราชสีมาแทน ให้นายจ่าเรศผู้น้อง เป็นพระอภัยสุริยาปลัดเมือง แล้วให้นายพลพันน้องผู้น้อย เป็นหลวงนายฤทธิ์รับราชการสืบไป"

พระยากำแหงสงครามได้เป็นเกียกกายกองหนุนในสงครามตีกรุงกัมพูชาช่วงปลายรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี แล้วยกทัพไปพร้อมกับเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์เป็นทัพหนุน แต่ถูกทัพเขมรล้อมไว้ในช่วงผลัดแผ่นดิน และถูกกรมพระราชวังบวรจับตัวมาถวายในกรุง จากนั้นก็ถูกประหารชีวิตพร้อมเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์

เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ จึงปรากฏในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ว่า "ให้พระพิมายมีความชอบได้โดยเสด็จพระราชดำเนินไปการพระราชสงครามได้สู้รบแก่ข้าศึกหลายครั้ง และมีความสวามิภักดิ์ในพระองค์เป็นพระยานครราชสีมา"


อย่างไรก็ตาม เรื่องเจ้าเมืองนครราชสีมาสมัยธนบุรีในพงศาวดารสมัยหลังยังมีข้อน่าสงสัยอยู่ เพราะพบหลักฐานคือสำเนาท้องตราปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๑๖ กับสำเนาปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗ กล่าวถึง "เจ้าพระยานครราชสีมา" อยู่หลายครั้ง ซึ่งน่าจะเป็นคนละคนกับพระยากำแหงสงครามที่บรรดาศักดิ์ต่ำกว่า

นอกจากนี้ในพงศาวดารฉบับเก่าๆ อย่างฉบับพันจันทนุมาศ ไม่เคยกล่าวถึงพระยากำแหงสงครามเลย แต่เรียกว่า "ขุนชะนะ" ตลอด ซึ่งก็น่าสงสัยว่าในเมื่อเลื่อนยศไปเป็นถึงพระยาแล้วทำไมยังเรียกบรรดาศักดิ์เดิมอยู่  หรืออาจจะเป็นด้วยเกรงว่าจะไม่รู้ว่าพระยากำแหงสงครามเป็นใคร (กำแหงสงครามเป็นทินนามเจ้าเมืองนครราชสีมา)

"ขุนอินทรพิทักษ์ ขุนชะนะ ตั้งอยู่เกาะพนมเพ็ง ๒๐๐ ให้เขมร ๓๐๐๐ ญวน ๘๐๐๐ ล้อมไว้ ครั้นณวัน ๑๖ ค่ำ สมเด็จพระอนุชาธิราชจึงชุมพล ๖๐๐๐ เศษแยกกันออกเป็นหลายกอง ไปล้อมจับขุนอินทรพิทักษ์ได้ที่ตำบลเขาน้อยใกล้ปถวี ทั้งขุนชะนะและพรรคพวกเป็น ๗ คน คุมเอาตัวลงมาณเมืองธนบุรี ณวัน ๗๖ ค่ำ กราบทูลพระกรุณาแล้วให้ประหารเสีย"

ในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาก็ยังเรียกกำกับไว้ว่า "ขุนชะนะพระยาคำแหงสงคราม"


ส่วนประวัติเจ้าพระยานครราชสีมาหลายๆ คนที่มีวงเล็บชื่อจริงกำกับซึ่งเผยแพร่กันในเน็ต ผมยังเห็นมีความขัดแย้งทางหลักฐานค่อนข้างมากครับ

ส่วนใหญ่เห็นอ้างว่า พระยากำแหงสงคราม (บุญคง กาญจนาคม) คือคนเดียวกับที่ถูกประหารพร้อมกรมขุนอินทรพิทักษ์ แต่ในเรื่องเล่าเกี่ยวกับเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ก็อ้างว่าเจ้าเมืองนครในสมัยธนบุรีคือ เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) ขัดแย้งกันเอง นอกเสียจากว่าจะมีเจ้าเมืองสองคนตามหลักฐานที่ผมยกมา คืออาจจะมีเจ้าเมืองคนแรกเป็น "เจ้าพระยานครราชสีมา" ก่อนตามที่ปรากฏในสำเนาท้องตรา และขุนชะนะได้เป็นเจ้าเมืองภายหลัง

ตามประวัติเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) อ้างว่ารับราชการในสมัยธนบุรีเริ่มจากตำแหน่งยกกระบัตรเมืองพิมายได้เลื่อนขั้นมาจนเป็นเจ้าพระยานครราชสีมาและได้รับราชการเรื่อยมาจนชราตามืดบอดจึงได้เลื่อนเป็นจางวางเมือง ไม่มีการระบุว่าถูกประหารแต่อย่างใด เป็นบิดาของเจ้าเมืองคนต่อมาคือ พระยานครราชสีมา (เที่ยง) และเป็นบิดาบุญธรรมของเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน)  ส่วนตัวเมื่อพิจารณาจากประวัติที่ระบุว่าเป็นยกกระบัตรเมืองพิมายมาก่อน ผมคิดว่าน่าจะเป็นคนเดียวกับพระยานครราชสีมาในสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่เคยเป็นพระพิมายมากกว่า แต่อาจจะเรียบเรียงเหตุการณ์ผิดในสมัยหลัง


เรื่องเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) เป็นโอรสลับพระเจ้ากรุงธนบุรี ผมยังไม่เห็นหลักฐานยืนยันได้จริงและพบแต่หนังสือที่เรียบเรียงยุคหลัง (เก่าสุดที่พบคือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๓ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕) พล็อตก็เหมือนกับเรื่องเจ้าพระยานครน้อยมาก แต่เรื่องเจ้าพระยานครน้อยเป็นที่เล่าขานมาตั้งแต่โบราณซึ่งรัชกาลที่ ๕ ก็เคยทรงมีพระราชบันทึกไว้ว่าเป็นที่ยอมรับนับถือโดยทั่วไปว่าวงศ์เจ้านครเป็นเครือญาติของพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่ไม่เคยทรงมีบันทึกถึงเรื่องตระกูลเมืองนครราชสีมาไว้เลย ใน "ตระกูลวงศ์ขุนหลวงตาก" ที่เรียบเรียงใน "ลำดับสกุลเก่าบางสกุล ภาคที่ ๑" ก็ไม่มีการกล่าวถึง จึงน่าสงสัยพอสมควร ประวัติที่พอน่าเชื่อถือจริงๆ ก็คือได้เป็นเจ้าพระยานครราชสีมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ และเป็นแม่ทัพในศึกเจ้าอนุวงศ์ครับ


สำหรับประวัติ พระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน) จุลลดา ภักดีภูมินทร์ได้วิเคราะห์ไว้อย่างละเอียดแล้ว โดยสรุปคือมีทั้งหมด ๒ คน คนแรกเป็นข้าหลวงเดิมของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทตั้งแต่รับราชการที่พิษณุโลก แต่ถูกประหารพร้อมกบฏเจ้าลำดวนเจ้าอินทปัต อีกคนเป็นโอรสของเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ สามารถอ่านได้ตามลิ้งค์ครับ
https://my.dek-d.com/bird711/writer/viewlongc.php?id=524172&chapter=233
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่