ออกพระ ออกญา ออก ทำไมต้องออกครับ อ่านแล้วยังไม่เข้าใจ

คำว่า 'ออก' ที่เติมหน้า บรรดาศักดิ์สมัยโบราณนั้นมักเป็นคำแสดงความอาวุโสในบรรดาศักดิ์นั้น แต่ยังไม่ได้เลื่อนขึ้นไปยังบรรดาศักดิ์ที่สูงกว่า
ที่มา: https://www.thairath.co.th/content/1229999

อ่านแล้วยังไม่เข้าใจ คือถ้าได้เลื่อนขึ้นไปยศที่สูงกว่าก็จะไม่ออกแล้วเหรอครับ?
มันก็ยังมียศที่สูงกว่ารออยู่ แล้วจะไปหยุดออกกันตรงจุดไหน?
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 7
คำว่า “ออก” เป็นคำนำหน้าบรรดาศักดิ์ในราชสำนักสยามและกัมพูชา ในภาษาเขมรโบราณทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาสะกดว่า អក อ่านว่า ออก หรือ ឱ្ក (โอก) ภาษาเขมรปัจจุบันสะกดว่า ឧក (อุก) ออกเสียงว่า อก

โดยทั่วไปเชื่อว่า “ออก” เป็นภาษาเขมร ซึ่งรัฐในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นเป็นเครือญาติทางวัฒนธรรมขอม-เขมรมาตั้งแต่โบราณได้รับเข้ามาใช้อีกต่อหนึ่ง

แต่มีการวิเคราะห์ว่าน่า "ออก" ควรจะเป็นคำภาษาไท-ลาวที่ใช้กันในสังคมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ก่อนแล้ว โดยราชสำนักกัมพูชารับจากราชสำนักไทยไปใช้ในภายหลังมากกว่า ดังที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงมีลายพระหัตถ์กราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพไว้ว่า

“คำ ออกญา พบทางเราและเขมร แต่เขมรเขาเขียน โอกญา โอ กับ ออ เปลี่ยนกันได้ง่ายที่สุด คำ โอกญา ของเขมรก็นึกไม่ออกว่า เขาจะหมายความว่ากระไร พิจารณาคำ โอก กับ ออก เห็นว่า ออก เป็นคำมากกว่าคำ โอก เสียอีก คำ ออกพระ และ ออกหลวง ไม่เคยพบทางเขมร หลวงก็เป็นคำไทย เกรงว่าคำ ออกญา จะเป็นคำไทย หากเขมรจำอย่างไปใช้ การจำเอาอย่างกันไม่ใช่เราจะจำเขมรแต่ทางเดียว เขมรก็จำเราไปเหมือนกัน เหตุด้วยอยู่ใกล้กัน มีตัวอย่างอยู่ถมไป ออกญา ก็จะเป็น ออกพญานั้นเอง”


ทั้งนี้ไม่พบเคยหลักฐานการใช้คำว่า "ออก" เป็นบรรดาศักดิ์ในราชสำนักกัมพูชาในศิลาจารึกสมัยพระนครเลย แต่จะพบในหลักฐานสมัยหลังพระนครที่มีอายุร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุทธยาเป็นต้นมา

ความหมายของคำว่า “ออก” ในภาษาไท-ลาวนี้ยังไม่ชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าน่าจะใกล้เคียงกับคำว่า "พ่อออกแม่ออก" ในจารึกหรือวรรณกรรมโบราณที่ใช้กล่าวถึงพ่อแม่ (ปัจจุบันยังใช้ในภาคอีสานละประเทศลาว หมายถึง โยมอุปัฏฐาก)

นอกจากนี้ยังพบการใช้คำว่า "ออก" นำหน้าคำสรรพนามหรือชื่อบุคคล พบในมหาชาติคำหลวง ที่แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๕ รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ใช้คำว่า “ออกเจ้า” เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒

ในสำเนาหนังสือครั้งกรุงเก่าว่าด้วยการพระราชทานที่กัลปนา ระบุมหาศักราช ๑๕๓๕ ปีฉลู (พ.ศ. ๒๑๕๖) ยังพบการใช้คำว่า "ออก" นำหน้าชื่อบุคคลด้วยจำนวนมาก เช่น ออกศุข ออกญาติบุตร ออกนางจอม ออกเทศ ออกนางอามทอง ออกพระเศรษฐี ออกยี่

คำว่า "ออก" ที่นำหน้าบรรดาศักดิ์ขุนนาง น่าจะมีความหมายในฐานะคำนำหน้าไม่แตกต่างกัน


หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงคำว่า “ออก” ในประเทศไทยเท่าที่ผู้เขียนพบ คือจารึกวัดสรศักดิ์ ระบุศักราช พ.ศ. ๑๙๖๐ กล่าวถึงบุคคลชื่อนายอินทร์สรศักดิ์ได้ขอที่ดินจาก “ออกยาธรรัมราชา” พ่ออยู่หัวเจ้าแห่งเมืองสุโขทัย

วิเคราะห์จากภาษาและเนื้อหาของจารึกวัดสรศักดิ์ เชื่อว่าเป็นจารึกที่สร้างโดยฝ่ายอยุทธยาที่มีอิทธิพลเหนือสุโขทัยในเวลานั้น โดยเรียกกษัตริย์แห่งสุโขทัยซึ่งอยู่ใต้อำนาจว่าเป็น “ออกยา” (ในขณะที่เรียกกษัตริย์อยุทธยาด้วยคำที่วิจิตรกว่าคือ ‘พระบรมราชาธิบดีศรีมหาจักรพรรดิราช’) แตกต่างจากจารึกที่ฝ่ายสุโขทัยสร้าง เช่น จารึกวัดบูรพารามที่มีศักราชใกล้เคียงกับจารึกวัดสรศักดิ์ที่เรียกกษัตริย์สุโขทัยว่า “สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช” ไม่ใช้คำว่า “ออก”

คำว่า “ยา” กร่อนมาจาก “พรญา” “พระญา” “พรยา” หรือ “พญา” ซึ่งเป็นคำเรียกกษัตริย์ของรัฐส่วนใหญ่ในอุษาคเนย์ ในหลักฐานสมัยอยุทธยาตอนต้นนิยมใช้เรียกกษัตริย์ต่างรัฐและเจ้าประเทศราช หรืออาจใช้เรียกเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ที่มีความสำคัญ (ปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาฉบับปลีก กล่าวถึง ‘พรญาเทพมงคล’ ซึ่งเป็น ‘พฤฒามาตย์’ หรือเสนาบดีอาวุโส)


ผู้เขียนเห็นว่า ออกญา/ออกยา ในจารึกวัดสรศักดิ์ยังมีความหมายถึง "กษัตริย์" ยังไม่ได้เป็นบรรดาศักดิ์เหมือนสมัยหลัง ดังที่ปรากฏในมหาชาติคำหลวง ที่แต่งขึ้นหลังจารึกวัดสรศักดิ์ใช้คำว่า "ออก" เป็นคำนำหน้าของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ในสมัยโบราณ เช่น

- กัณฑ์กุมาร เรียกพระเวสสันดรว่า “ออกพญา” “ออกญา” (บ้างครั้งเรียก ‘เจ้าพญา’) เรียกนางมัทรีว่า “ออกนางมัทรี” “ออกท้าวแม่” หรือ “ออกนาง” ส่วนกัณหาเรียกพระเวสสันดรที่เป็นพระบิดาว่า “ออกยากู”

- กัณฑ์มหาราช เรียกพระกุมารชาลีว่า “ออกยาพระราชกุมาร” เรียกพระเวสสันดรว่า “ออกญา” เรียกนางสบรรษดีมเหสีพระเจ้าสญชัยว่า “ออกนางสบรรษดี” “ออกนางพญา” หรือ “ออกนาง”

จึงอนุมานว่าในสมัยอยุทธยาตอนต้น คำว่า “ออก” เป็นคำนำหน้าของเจ้านายในสมัยโบราณ โดยน่าจะเป็นการเรียกในเชิงยกย่อง คำว่า “ออกพญา” หรือ “ออกญา/ออกยา” เป็นคำใช้เรียกกษัตริย์หรือพระราชวงศ์รวมถึงกษัตริย์เมืองออก ไม่ได้จำเพาะเรียกเจ้าประเทศราชในอำนาจอยุทธยาเท่านั้น


จนถึงช่วงก่อนเสียกรุงศรีอยุทธยา พ.ศ. ๒๑๑๒ ยังพบหลักฐานการใช้บรรดาศักดิ์ “ออกญา” กับผู้ที่เป็นกษัตริย์ เช่น ปรากฏในพงศาวดารพม่าเรียกสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชแห่งเมืองพิษณุโลกว่า “ออกยาพิษณุโลก” หรือ “ออกยาธรรมราชา” สอดคล้องกับหลักฐานร่วมสมัยของโปรตุเกสที่เรียกสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชว่า “Oyaa Passilico” (ออกญาพิษณุโลก)



ในเวลาต่อมา มีการเปลี่ยนแปลงบรรดาศักดิ์ของขุนนางกรุงศรีอยุทธยาใหม่ ดังที่พบใน “พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน” และ “พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง” ซึ่งมีศักราชระบุว่าบัญญัติขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ

พระไอยการได้กล่าวถึงบรรดาศักดิ์ขุนนาง คือ ออกญา/ออกพญา ออกพระ ออกหลวง ควบคู่ไปกับ เจ้าพญา พญา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน ฯลฯ จึงเข้าใจว่า "ออกญา/ออกพญา" ที่เคยเป็นบรรดาศักดิ์ของกษัตริย์ถูกลดลงมาใช้กับขุนนาง ส่วน “ขุน” ที่เคยเป็นบรรดาศักดิ์ระดับสูงในสมัยอยุทธยาตอนต้นได้กลายเป็นขุนนางชั้นผู้น้อย

พระไอยการทั้งสองฉบับไม่มีหลักเกณฑ์การใช้คำว่า “ออก” หน้าบรรดาศักดิ์อย่างชัดเจน บางตำแหน่งก็มี บางตำแหน่งก็ไม่มี ทำให้มีข้อสันนิษฐานว่าการมี “ออก” นำหน้าบรรดาศักดิ์แสดงให้เห็นว่ามีศักดิ์ที่แตกต่างไปจากบรรดาศักดิ์ทั่วไป ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยไว้ในลายพระหัตถ์กราบทูลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ว่า

“การที่ใช้คำ ‘ออก’ ลงมาจนถึงเป็นออกพระ ออกหลวง และออกขุนนั้น ประหลาดอยู่ที่ในทำเนียบศักดินามีคำออกนำแต่บางตำแหน่ง นอกนั้นเป็นพระ หลวง ขุน ไม่มีคำ ‘ออก’ เป็นพื้น หรือจะหมายความว่าบรรดาศักดิ์ชั้นพระ หลวง ขุน ที่มีคำ ‘ออก’ เพิ่มเข้าข้างหน้าสูงกว่า พระ หลวง ขุน ที่ไม่มีคำ ‘ออก’ นำ”

เช่นเดียวกับ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ที่ทรงสงสัยว่าบรรดาศักดิ์ ออกญา ออกพระ ออกหลวง ออกขุน ฯลฯ จะเป็นยศใหญ่กว่า พระยา พระ หลวง ขุน ด้วยใช้ปะปนอยู่ในสมัยเดียวกัน


อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาหลักฐานอื่นประกอบจะพบว่ามีความขัดแย้งในเรื่องหลักการของการใช้คำว่า “ออก” ไปจากพระวินิจฉัยของทั้งสองพระองค์ ดังต่อไปนี้

หลักฐานชิ้นสำคัญที่กล่าวถึงคำว่า “ออก” คือ "จดหมายเหตุราชอาณาจักรสยาม" (Du Royaume de Siam) ของ ซิมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de la Loubère) ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาสยามในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์

ลาลูแบร์ไม่ทราบที่มาของคำว่า “ออก” ชัดเจน ระบุเพียงว่า “คำว่า “ออก” นี้คล้ายจะหมายความว่า “หัวหน้า” (Chef)” และ “หาใช่ภาษาสยามไม่” แต่ในเรื่องการใช้งาน ลา ลูแบร์ระบุไว้อย่างละเอียดว่า

"กลับมาพิจารณาถึงคำว่า "ออก" อีกที ผู้ที่มียศศักดิ์สูงกว่าจะไม่ใช้เรียกผู้ที่เป็นผู้น้อยกว่าตนเลย ดังเช่นสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทรงมีรับสั่งกับออกพระพิพิธราชา (Oc Prà Pipitcharatcha)* เป็นต้น ก็ไม่ตรัสว่า ออกพระพิพิธราชา ตรัสชั่วแต่ว่า พระพิพิธราชา เฉยๆ เท่านั้น. บุคคลผู้กล่าวถึงบรรดาศักดิ์ของตนเอง ก็ย่อมงดกล่าวคำว่า "ออก" เป็นการถ่อมตัวโดยมรรยาท และที่สุดก็มีประชาชนพลเมืองเป็นส่วนน้อยที่ละเลยไม่ใช้คำว่า "ออก" และเรียก ญายมราช (yà yumrat)** เป็นต้น แทนที่จะเรียกว่า ออกญายมราช และเรียกหมื่นไวย (Meüing Vài) แทนที่จะเรียกว่า ออกหมื่นไวย."

* คือ ออกพระเพทราชา
** เข้าใจว่ากร่อนมาจาก พญา ยังพบการใช้งานในเอกสารเรื่องกัลปนาวัดจังหวัดพัทลุง กล่าวถึง “ญาจักรีผู้เป็นออกนครและที่เจ้าเมืองไชญ้าม” เจ้าเมืองพัทลุงในสมัยอยุทธยา

จากข้อมูลของลาลูแบร์สรุปได้ว่าคำว่า “ออก” เป็นคำนำหน้าในเชิงยกย่องที่คนทั่วไปนิยมเรียกขานผู้ที่มีศักดิ์สูงกว่าเท่านั้น


ประเด็นนี้สอดคล้องหลักฐานชั้นต้นของต่างประเทศอีกหลายชิ้นก็บ่งชี้ว่า ออกญา ออกพระ ออกหลวง ออกขุน ออกหมื่น ฯลฯ เป็นบรรดาศักดิ์ตามปกติของขุนนางอยุทธยา ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าแตกต่างจากบรรดาศักดิ์ที่ไม่มี “ออก” เช่น

- บันทึกการเดินทางของ (Peregrinação) เฟอร์นาว เมนดืซ ปินตู (Fernão Mendes Pinto) นักผจญภัยชาวโปรตุเกสซึ่งเดินทางเข้ามาในสยามตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช ได้เรียกขาน ขุนชินราช (ขุนวรวงศาธิราช) ว่า “Uquumcheniraa” (ออกขุนชินราช) ในขณะที่หลักฐานของไทยเรียกว่า “ขุนชีณราช”

- พงศาวดารพม่าเมื่อกล่าวถึงขุนนางอยุทธยาในช่วงก่อนสงครามเสียกรุง พ.ศ. ๒๑๑๒ จะเรียกบรรดาศักดิ์ของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ด้วยบรรดาศักดิ์ที่มีคำว่า “ออก” ในขณะที่พงศาวดารไทยเรียก “พระยา/พญา” เสมอ เช่น เรียก พระยารามว่า “ออกยาราม” เรียกพระยาจักรีว่า “ออกพระจักร์” หรือ “ออกยาพระจักรี”

- หลักฐานชั้นต้นของต่างประเทศในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ใช้คำว่า “ออก” เรียกนำหน้าบรรดาศักดิ์เสมอ เช่น ออกญาวิไชยเยนทร์ ออกพระเพทราชา ออกหลวงสุรศักดิ์ แต่หลักฐานชั้นต้นของไทย เช่น จดหมายของเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) เรียกออกญาวิไชยเยนทร์ว่า “พรญาวีไชยเยนทมนตรี” พระราชพงศาวดารก็เรียกว่า พญาวีไชยเยน พระเพทราชา หลวงสรศักดิ์

- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาเรียกเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ใน พ.ศ. ๒๒๐๓ ว่า “ขุนเหล็กผู้เป็นพระยาโกษาธิบดี” แต่ในหลักฐานจดหมายชั้นต้นของดัตช์ใน พ.ศ. ๒๒๐๖ เรียกว่า “ออกญาพระคลัง”

- ในภาพพิมพ์ของราชทูตสยามที่เดินทางไปฝรั่งเศสในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ของ โยฮันน์ ไฮเซลมานน์ (Johann Heinzelmann) ที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๖๘๖ (พ.ศ. ๒๒๒๙) พบว่าบรรดาศักดิ์ของราชทูตในภาษาฝรั่งเศสมีคำว่า “ออก” เสมอ แต่ในตราประทับอักษรขอมและไทยประจำตัวราชทูตไม่มีคำว่า “ออก” เช่น ตราประทับของออกพระวิสุทสุนธรเป็นอักษรขอมสะกดว่า “พระวิสุทธสุนธร” ตราประทับของออกหลวงกัลยาราชไมตรีเป็นอักษรขอมสะกดว่า “หลวงกัลยาราชไมตรี” ตราประทับของออกขุนศรีวิสารวาจาเป็นอักษรไทยสะกดว่า “ขุนวิสาระวาจา” เช่นเดียวกับ จดหมายฉบับภาษาไทยของออกพระวิสุทสุนธรที่ลงชื่อราชทูตโดยมีคำว่า “ออก” แต่ตราประทับไม่มีคำว่า “ออก”



มีความเป็นไปได้ที่บรรดาศักดิ์ “ออกญา” จะใช้เรียกแทนบรรดาศักดิ์ “เจ้าพระยา/เจ้าพญา” ด้วย เพราะพบหลักฐานต่างประเทศบางชิ้นเรียกขุนนางที่หลักฐานของไทยระบุว่ามีบรรดาศักดิ์ชั้น “เจ้าพระยา” ด้วยคำว่า “ออกญา” เช่น

- จดหมายเหตุของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias Van Vliet) หัวหน้าสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ประจำกรุงศรีอยุทธยาในรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง เรียก เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ (พระเจ้าปราสาททอง) ว่า “ออกญากลาโหม” (Oija Calahom) ตลอด

- จดหมายเหตุของฟาน ฟลีตเรียกขุนนางคนสำคัญในรัชกาลพระเจ้าปราสาททองผู้หนึ่งว่า “เจ้าพญาพิษณุโลก (Thiauphia Pouckelouck)” แต่ในตอนอื่นๆ จนถึงตอนที่ขุนนางผู้นี้ถูกประหารชีวิตกลับเรียกว่า “ออกญาพิษณุโลก (Oija Pouckelouck)”

- จดหมายของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ส่งไปถึงผู้สำเร็จราชการบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษในเดือนพฤษภาคม จุลศักราช ๑๐๔๕ (พ.ศ. ๒๒๒๖) ระบุบรรดาศักดิ์ของตนเองในภาษาอังกฤษว่า “Oyia Setemerat De Cha chat Amat Peiya Nüchill Pipeta Ratena Raya Cusa Pipodi Priapia Oyia Barcalong” (ออกญาศรีธรรมราชเดชะชาติอำมาตยานุชิต พิพิธรัตนราชโกษาธิบดีพิริยภาหะ ออกญาพระคลัง) แต่ในสมุดไทยเรื่องส่งคนไปยุโรปในปีมะแมเอกศก (พ.ศ. ๒๒๒๒) ระบุบรรดาศักดิ์ว่า “เจ้าพญา” เช่นเดียวกับจดหมายที่ส่งให้ผู้อำนวยการบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๒๒๓ ระบุบรรดาศักดิ์ว่า “Chao Peya”

อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.facebook.com/WipakHistory/posts//1868787469851381/ ได้ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่