Call Me by Your Name (Luca Guadagnino, 132 min, 2017)

!SPOILER ALERT!
.
.
.
.
.

เทศกาล Hanukkah เริ่มในช่วงต้นถึงกลางของเดือนธันวาคม เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเทศกาลแห่งแสงสว่าง (the Festival of Lights) มีการวิเคราะห์ว่านี่เป็นเทศกาลที่แสดงถึงจุดเริ่มต้นของประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของมนุษย์ เป็นการก้าวผ่านอุปสรรคระหว่างทางโลก (ได้แก่ความทะนงตัว) เข้าสู่ทางจิต (การเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์) โดยเปรียบเทียบถึงที่มาของเทศกาลนี้ระหว่างศึกของชาว Maccabees และชาวกรีกกว่าสองพันปีก่อน

ชาวยิวจะฉลองเทศกาลนี้เป็นเวลากว่าแปดวัน เพื่อเป็นการระลึกและอุทิศตนให้กับวิหารแห่งเยรูซาเล็ม กษัตริย์ Antiochus ที่สี่สืบเชื้อสายราชวงศ์กรีกผู้นับถือศาสนาอื่น (บิดาของเขาใจกว้างพอให้ชาวยิวดำรงความเชื่อของพวกเขา) สังหารผู้เห็นต่างหลายพันคน บังคับให้ชาวยิวเคารพรูปบูชาตัวเขา และพยายามจะใช้วิหารแห่งเยรูซาเล็มเป็นที่สักการะบูชาเทพซุสและตนเอง

Mattathias นักบวชยิวและบุตรห้าคนตั้งกบฏต่อราชวงศ์ จนเมื่อเขาตายลูกชายเขาคนหนึ่ง Judah ได้ขึ้นเป็นหัวหน้ากองกำลัง ภายในสองปีพวกเขาก็ขับไล่ชาวซีเรียออกจากวิหารได้ หากจะมองอีกมุมนี่คือชัยชนะของชาวยิวประเพณีนิยม และได้ครอบครองพื้นที่แห่งอิสราเอลนานกว่าร้อยปี

การเห็นแกตัวถูกเปรียบได้กับชาวกรีกในยุคนั้น และความรักและการให้ถูกเปรียบกับชาว Maccabees แน่นอนว่าหมายถึงแสดงสว่างและเป็นที่มาของชัยชนะของพวกเขาเหนือชาวกรีก อย่างไรก็ตามมีนักประวัติศาสตร์บางท่านให้ความเห็นว่าจริงๆแล้ว การปฏิวัติของ Maccabean แท้จริงเป็นสงครามระหว่างชาวยิวด้วยกันเองที่มีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน

Mityavnim หมายถึงกลุ่มคนยิวที่กลายเป็นพวกกรีก ผู้น้อมรับเอาวัฒนธรรม Hellenic culture เข้ามาเหนือความเชื่อดั้งเดิมของตนเอง กลายเป็นกลุ่มชาวกรีกนอกศาสนา ซึ่งพวกเขาจะมีแนวคิดที่ทะนงตน (egoistic goals) มัวเมาอำนาจ การควบคุม และความรู้ การเฉลิมฉลอง Hanukkah จึงไม่ใช่เพียงการได้มาซึ่งดินแดนของชาวยิว หากแต่ยังเป็นการสรรเสริญโอกาสการกลับมาของเอกภาพ ความรัก ความสงบ และความสุขนิรันดร์

อนึ่ง Call Me by Your Name เล่าถึงการต่อสู้ภายในตัวตนของชายหนุ่มเชื้อสายยิวเอลิโอในหน้าร้อนทางตอนเหนือของอิตาลี สื่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกล่าวถึงคืองานภาพของคุณสยมภู มุกดีพร้อมที่บันทึกความงดงามหยดย้อยของบรรยากาศยุโรป ชวนให้นึกถึงผลงานของ Bernardo Bertolucci อย่าง Stealing Beauty (1996) หรือในช่วงเตร็ดเตร่ของคู่รักในตรอกเมืองและการเต้นรำทำให้นึกถึงภาพยนตร์ของ Federico Fellini

อาการกำเดาไหลอันเกิดจากอาการคลั่งรักของเอลิโอ แต่ในขณะเดียวกันก็ฉงนสนเท่ห์ และวิตกไปพร้อมๆ กัน เช่นเดียวกับอาการคลื่นไส้พะอืดพะอมของเขาหลังจากเห็นโอลิเวอร์เต้นรำกับผู้หญิงตามจังหวะดนตรีไซคิเดลิคของวงเฟอร์ส สองอาการนี้ดึงความสนใจจากโอลิเวอร์ นี่เองทำให้นึกถึง Phantom Thread อย่างบอกไม่ถูก

ดวงตาคู่นั้นของเอลิโอในตอนท้ายสะท้อนประกายดวงไฟลุกโชนจากกองไฟที่เตาผิง ดูคล้ายกับว่ามันกำลังแผดเผาหัวใจของเขาให้มอดไหม้ เมื่อได้รู้ว่ารักแรกของเขา โอลิเวอร์กำลังเข้าสู่พิธีหมั่น ซึ่งจากฉากที่เขาเรียกชื่อกันและกันด้วยชื่อตนเองทางโทรศัพท์ นั่นยังหมายถึงว่าจริงๆแล้ว เขายังคงความรู้สึกดีให้แก่กันไม่เสื่อมคลาย โอลิเวอร์อิจฉาที่ครอบครัวของเอลิโอเข้าใจตัวตนเองลูก ผิดกับเขา การวิวาห์ของเขาจึงเท่ากับทำไปเพื่อให้คนรุ่นก่อนพึงพอใจ การได้เป็นฝั่งเป็นฝา เป็นภาพความสุขในอุดมคติ แน่นอนว่าในทางกลับกันมันคือความทุกข์อย่างที่สุดของเขาทั้งคู่

เครดิตผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับภาพยนตร์เรื่องนี้ปรากฎขึ้น หากแต่คนดูยังสะกดนิ่งกับน้ำตาที่ไหลรินอาบแก้มเอลิโอทั้งสองข้าง จนกระทั้งวินาทีท้ายๆ แม่ของเขาเรียกให้เข้าร่วมวงอาหารในเทศกาลแห่งความสุขและการเริ่มต้น รอยยิ้มเล็กๆ ได้แทนที่อารมณ์ขมุกขมัวก่อนหน้า

ก่อนที่เขาจะหันหน้าไปตอบรับแม่ ไปยังแสงสว่างจากด้านนอกบ้านส่องสว่างเข้ามาในตัวบ้าน เขาได้ไม่ได้สูญเสียอะไรจากประสบการณ์นี้เลยแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้ามนี่คือบทเรียนครั้งสำคัญของชีวิต ได้เรียนรู้ตนเองและคนรอบตัว ได้เห็นถึงความรักจากพ่อแม่ และการให้อภัยจากแฟนสาว เขามองเห็นทั้งความสุขและความทุกข์ที่คละเคล้ากันไปดั่งที่พ่อเขาสอนไว้ ไม่มากก็น้อย เขาคงพร้อมที่จะเผชิญกับบทเรียนชีวิตบทถัดไปที่กำลังจะเข้ามา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่