#แชร์ประสบการณ์ #หลานสาวเป็นโรคกระดูกสันหลังคด #Scoliosis

#แชร์ประสบการณ์ #หลานสาวเป็นโรคกระดูกสันหลังคด #Scoliosis



สืบเนื่องจากวันก่อน กี้มาเล่าให้แม่หมีฟังว่า ลูกของเพื่อนกี้เป็น Scoliosis ซึ่งบังเอิญมากว่าหลานสาวแม่หมีก็เป็น แต่ได้รับการผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว เลยอยากมาบอกเล่าเรื่องราว เผื่อบ้านไหนมีความสงสัยกับโรคนี้อยู่ จะได้พาเด็กๆที่บ้านไปรับการตรวจได้ทันท่วงทีค่ะ

เริ่มแรกพี่เคท(หลานสาว) ก็เป็นเด็กธรรมดาทั่วไปที่มีความสูงกว่าเด็กในวัยเดียวกันอยู่ ตอนแรกที่บ้านไม่มีใครทราบว่าเคทเป็น Scoliosis ลักษณะภายนอก จะเหมือนคนชอบยืนหลังค่อม แรกๆพี่สาวก็จะคอยดันหลังและเตือนลูกสาวแค่ว่า ยืนตรงๆ อย่าทำหลังค่อมมันเสียบุคลิก ที่บ้านก็คิดแค่ว่า เป็นปรกติของเด็กตัวสูงที่มักจะยืนหลังค่อมเพราะไม่อยากสูงเกินหน้าเพื่อนๆ

ทุกครั้งที่ถูกแม่ดันหลัง พี่เคทบอกว่าเค้ารู้สึกเจ็บ แต่ก็ไม่ได้พูดออกมา จนกระทั้งอยู่ป.5 พี่เคทได้ใส่ชุดไทยตอนงานโรงเรียน จึงเห็นถึงความผิดปรกติคือ มีกระดูกโปนเล็กน้อย ก็ยังไม่ได้คิดว่าผิดปรกติอะไร จนพี่เคทขึ้นม.3 กระดูกที่โปนออกมาเห็นชัดขึ้นจนรู้สึกผิดปรกติ จึงได้ไปรับการตรวจอย่างจริงจังที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด
เมื่อรู้ตัวว่าเป็น คุณหมอก็จะนัดไปเอ็กซเรย์ทุก6เดือน เพื่อดูว่าพร้อมจะผ่าตัดเมื่อไหร่จากองศาของกระดูกที่คด ในที่สุดพี่เคทก็ได้คิวผ่าตัดตอนกำลังจะขึ้นชั้นม.5 โดยให้ทางโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่เรามีสิทธิบัตรทอง ช่วยทำการส่งตัวให้ เพราะต้องผ่าตัดที่ โรงพยาบาลโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น

#การใช้สิทธิบัตรทอง ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก เพราะนี้ถือเป็นผ่าตัดใหญ่ค่ะ และจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ดามหลัง ที่ทำจากไทเทเนียม(ส่วนนี้จะอยู่ในร่างกายไปตลอดชีวิต) โดยทางบัตรทองจะออกค่าอุปรณ์ดามหลังให้ 150,000 บาท ถ้าเกินกว่านี้ ทางผู้ป่วยต้องออกเพิ่มเอง ในแต่ละคนนั้น ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไม่เท่ากัน ตามความหนัก-เบาของโรค ส่วนพี่เคทก็ เกินมาเยอะเหมือนกันพี่สาวแม่หมีจำไม่ได้แล้วว่าเท่าไหร่ ^^ นอกจากนี้ ค่าน้ำเกลือ ค่ายา ก็ฟรีหมด แต่ค่าห้องพิเศษ ต้องจ่ายเองนะคะ

การเตรียมตัวเพื่อทำการผ่าตัด พี่เคทอยู่ที่โรงพยาบาล(ห้องพิเศษ) ก่อนผ่านตัด5วัน(ติดวันหยุดพอดีเลยนอนนานปรกติ3-4วันค่ะ) เพื่อตรวจร่างกาย (ตรวจเลือด / ตรวจปอดการหายใจ / ระบบประสาท) และเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัด คืนก่อนผ่าตัด ก็ลงมาอยู่ห้องรวม ใช้เวลาในการผ่าตัด 9 ชั่วโมง (พี่เคทดมยาสลบค่ะ)

หลังจากผ่าตัด ก็เป็นช่วงของการพักฟื้นที่ห้องไอซียู พี่เคทมีไข้เล็กน้อยต้องดูดเสมหะเป็นช่วงๆ พี่เคทอยู่ที่ไอซียู 2คืน (แล้วแต่กรณีนะคะ) ตอนนั้นพี่เคทเล่าว่า ขยับตัวลำบากเพราะมีสายระโยงระยางเต็มไปหมด ต้องให้คุณพยาบาลมาช่วยพลิกตัว อาบน้ำ ญาติๆจะมาเยี่ยมได้2 ครั้งต่อวันตามเวลาเยี่ยม และถ้าเรารู้สึกปวดมาก สามารถกดมอฟีนเพื่อบรรเทาได้ แต่มอฟีนก็มีเอฟเฟคนะคะ ทำให้อาเจียนด้วย เมื่ออาการเราดีขึ้นก็จะค่อยๆถอดอุปกรณ์ต่างๆออกค่ะ

หลังจากนั้นก็ย้ายมาอยู่ห้องรวมค่ะ เพื่อที่จะได้ใกล้พยาบาล #สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเพศหญิงมักจะมีประจำเดือนหลังผ่าตัด ให้เตรียมผ่าอนามัยแบบห่วงไว้ด้วยนะคะ เผื่อฉุกเฉิน

ตอนพักฟื้นอยู่ที่ห้องรวม ส่วนมากก็นอนพัก คุณหมอและนักศึกษาแพทย์ก็จะมาตรวจอาการทุกวัน พี่เคทอยู่โรงพยาบาลรวม14 วัน ข้อควรระวังคือ อย่านอนเป็นผักเปื่อย ต้องพยายามขยับตัวบ้างแต่ไม่ให้ฝืน ได้เท่าไหนเอาเท่านั้น

หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว หมอจะนัดไปตรวจครั้งแรกคือหลังจากผ่าตัด 1 เดือน ครั้งต่อไปเว้นไป3 เดือน และ6เดือน ปัจจุบันพี่เคทผ่าตัดมาแล้ว จะเข้าปีที่2 แล้ว ก็ใช้ชีวิตได้ปรกติ พัยงแต่ช่วงเดือนแรกต้องระวังตัวมากๆ ห้ามทำกิจกรรมที่เกิดการปะทะ ไม่สะพายหรือยกของหนักจนกว่าหมอจะประเมินว่าปลอดภัยแล้ว

ผลพลอยได้หลังผ่าตัด พี่เคทสูงขึ้น 3 เซนติเมตร เวลายืนหลังไม่ค่อมแล้ว บุคลิกภาพดีขึ้น

บ้านไหนสังเกตว่าเด็กๆ ชอบยืนหลังค่อม ลองถามเด็กๆดูด้วยว่า เหนื่อยง่ายไหม เพราะคนที่เป็นโรคนี้มักจะหายใจได้ไม่ทั่วปอด จึงเหนื่อยง่ายกว่าคนปรกติ หรือ #วิธีสังเกตที่ง่ายที่สุดคือ ให้ลูกลองก้มหลัง ถ้าไหล่ไม่เท่ากัน หรือสะโพกเอียงไปด้านข้าง ให้ลองพาไปตรวจที่โรงพยาบาลอีกครั้งค่ะ รู้เร็ว แก้ไขได้เร็วนะคะ กรณีของพี่เคทไม่ถึงกับต้องไปทำกายภาพบำบัด แต่ก็ต้องฝึกเดินค่ะ

และที่สำคัญ ก่อนผ่าตัดต้องเตรียมใจให้พร้อม คุณพ่อคุณแม่ ต้องมอบพลังให้ลูก เพื่อที่ลูกจะได้ไม่กังวล เพราะการพักพื้นหลังผ่าตัดนั้นสำคัญมาก จะหายช้า หรือ เร็ว ก็อยู่ที่ช่วงนี้นี่แหละ ให้ทุกคนคลายความกังวล และคิดเสียว่าเป็นเรื่องปรกติ การแพทย์สมัยนี้ก้าวหน้ามาก หมอก็เก่งๆทั้งนั้น เป็นกำลังใจให้ทุกบ้านนะคะ

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
https://goo.gl/5Z69Qv

เผยแพร่ครั้งแรกที่เพจ Momdetails  คุณแม่มากเรื่อง
แก้ไขข้อความเมื่อ

ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 2

ความผิดปกติของกระดูกสันหลังตั้งแต่กำเนิด อาจทำให้เกิดอาการปวดหลังตั้งแต่วัยเด็ก หรืออาจจะมาแสดงอาการในขณะที่อายุมากแล้วก็ได้ ซึ่งเป็นเพราะความเสื่อมสภาพที่เกิดขึ้นในภายหลัง

โรคที่พบบ่อยในกลุ่มนี้ได้แก่โรคกระดูกสันหลังคด ซึ่งสามารถสังเกตได้ง่ายจากมี หลังเอียง หลังคด กระดูกสะบักสองข้างสูงไม่เท่ากัน หน้าอกสองข้างนูนไม่เท่ากัน

การรักษาโรคหลังคดมีรายละเอียดมาก ขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่เป็น อายุของผู้ป่วย โดยมีจุดประสงค์ในการรักษาเพื่อพยายาม ทำให้กระดูกสันหลังตรงหรือไม่คดเพิ่มขึ้น ซึ่งมีวิธีรักษาหลายวิธี เช่น การออกกำลังกายกล้ามเนื้อ ใส่เฝือกหลัง ผ่าตัดกระดูกสันหลัง การเลือกวิธีรักษาจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน

ปวดหลัง สาเหตุที่พบบ่อย     https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=13-06-2008&group=5&gblog=19

กระดูกสันหลังคด เวบไทยสปาย    https://www.thaispine.com/Dent-scoliosis.html
กระดูกสันหลังคด เวบหาหมอ    https://haamor.com/th/กระดูกสันหลังคด/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่