ใช้ผ้าอนามัยแบบสอดอย่างไรให้ปลอดภัย?

สวัสดีค่ะสาวๆ พบกันกระทู้นี้จะมาชวนสาวๆคุยเรื่องผ้าอนามัยกันบ้าง เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราต้องใช้ทุกเดือนเนาะ
แต่ผ้าอนามัยที่จะมาคุยให้ฟังในวันนี้เป็นผ้าอนามัยแบบสอด ซึ่งเชื่อเลยว่าหลายๆคนยังไม่เคยใช้แน่นอน หรือบางคนอาจจะอยากใช้
เพราะเห็นรีวิวจาก Blogger แต่ก็ยังกล้าๆกลัวๆอยู่ เดี๋ยววันนี้เบียร์จะมาเล่าให้ฟังนะคะว่าเป็นยังไง


ก่อนจะตัดสินใจทดลองใช้เนี่ย เบียร์ก็หาข้อมูลในกูเกิ้ลเยอะมากๆ รวมไปถึงรีวิวการใส่ว่าต้องใส่ยังไง
ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ซึ่งในส่วนของการใส่เบียร์จะขอข้ามไปนะคะ เพราะว่ามีคนเคยรีวิวไว้แล้ว
แต่เบียร์จะมาพูดถึงการปฏิบัติตัวระหว่างใส่ผ้าอนามัยแบบสอดให้ฟังค่ะ เพราะเบียร์เคยอ่านเจอข่าวว่านางแบบสาวชาวอเมริกัน
วัย 27 ปี ต้องตัดขาข้างนึงทิ้งไป เพราะเธอติดเชื้อ Toxic Shock Syndrome (TSS) จากการใส่ผ้าอนามัยแบบสอด
ซึ่งเกิดจากสารพิษของแบคทีเรียจำพวกหนึ่ง คุณพระ!! อ่านหัวข้อข่าวปุ๊บยิ่งแหยงการใส่ผ้าอนามัยแบบสอดเข้าไปใหญ่เลย
แต่พออ่านจนจบแล้วก็พบว่าสาเหตุของการที่เธอติดเชื้อ และต้องโดนตัดขาข้างนึงทิ้ง ก็เพราะว่า เธอเผลอหลับไป
ทั้งๆที่ยังไม่ได้ทำความสะอาด และเปลี่ยนผ้าอนามัยนั่นเอง


สิ่งที่เพื่อนๆควรทราบเกี่ยวกับ เชื้อ Toxic Shock Syndrome หรือTSS

1.    ข้อเท็จจริงในส่วนของการติดเชื้อ  TSS  ที่เพื่อนๆควรทราบ
Toxic Shock Syndrome หรือ  TSS  คือ ?
TSS เป็นโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย Staphylocococus aureus (สตาฟีโลคอกคัส ออเรียส)

2.    แบคทีเรีย Staphylocococus aureus คือ ?
ตอบง่ายๆ เป็นแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปบนผิวหนัง, ภายในโพรงจมูก, รักแร้, ง่ามขา หรือแม้กระทั่งอวัยวะเพศหญิง

3.    TSS เกิดขึ้นได้บ่อยแค่ไหน ?
ดร. มอนต์โกเมรี (Dr. Montgomery) กล่าวว่า มีเพียงผู้หญิง 1 หรือ 2 ใน 100,000 คนเท่านั้นที่จะเป็น TSS
ซึ่งคิดเป็น 0.002 % เท่านั้น

4.    ทุกคนสามารถเป็น TSS ได้หรือไม่ ?
สามารถเป็นได้ทั้งผู้ชาย, ผู้หญิง, เด็ก, และทุกๆ คน ซึ่งบางครั้ง TSS นั้นเกิดจากการติดเชื้อจากการถูกแมลงกัดต่อย,
การเผาไหม้, หรือการศัลยกรรมหรือผ่าตัด

5.    TSS นั้นเกิดจากการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด?
อย่างที่บอกในข้อ(1)  แบคทีเรียเหล่านี้สามารถอาศัยบนผิวหนัง, ในโพรงจมูก, และในคอของคุณได้โดยไม่ทำอันตรายใดๆต่อร่างกาย
ข้อมูลจาก ดร. เดวิด ซามาดิ (Dr. David Samadi) ใน New York Daily News นั้นเผยว่า แบคทีเรียเหล่านี้จะเป็นอันตรายก็ต่อเมื่อ
พวกมันอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้พวกมันนั้นเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

6.    สรุป TSS ก็อาจจะไม่ได้เกิดจากผ้าอนามัยแบบสอด แต่แค่มีความสัมพันธ์กับการใช้งานผ้าอนามัยแบบสอดใช่หรือไม่ ?
ข้อมูลจากหอสมุดเภสัชศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐฯ (U.S. National Library of Medicine) บอกไว้ว่า TSS นั้นเชื่อมโยงกับการเผาไหม้
การผ่าตัด การติดเชื้อทางผิวหนัง หรือแมลงกัดต่อย หากได้รับเชื้อTSS แบคทีเรียเหล่านี้จะต้องเจริญเติบโตและปล่อยสารพิษ
และสารพิษนี้จะต้องเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งกระบวนการนี้ไม่ได้ต้องการการมีประจำเดือนหรือการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดมาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

7.    ถ้าทิ้งผ้าอนามัยแบบสอดไว้ในช่องคลอดนานเกินไป เราจะติดเชื้อ TSS แน่นอนหรือไม่ ?
การทิ้งผ้าอนามัยแบบสอดไว้ในอวัยวะเพศหญิงเป็นเวลานานมากนั้นถือเป็นตัวแปรความเสี่ยงของ TSS ได้ เรียกได้ว่า
เราควรจะเปลี่ยนผ้าอนามัยตามปกติ เหมือนกับแบบ Pad  4-8 ชม. และใช้ขนาดดูดซับที่เหมาะสมกับปริมาณประจำเดือน
เพื่อสุขอนามัยที่ดี ไม่ปล่อยให้สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค

ซึ่งโดยปกติแล้วถึงเราใส่ผ้าอนามัยแบบแผ่นธรรมดา
ก็ควรรักษาความสะอาดด้วยการเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 3-4 ชม. อยู่แล้วนะคะ แต่ผ้าอนามัยแบบสอดที่เราใส่เข้าไปในช่องคลอด
ยิ่งทำให้เราต้องดูแลรักษาความสะอาดมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะน้องสาวของเราเป็นจุดที่ค่อนข้างเซนส์ซิทีฟเว่อร์เด้อ


Do / Don’t ใช้ผ้าอนามัยแบบสอดอย่างไรให้ปลอดภัย
1.    อ่านวิธีใช้ คำแนะนำต่างๆที่อยู่บนกล่อง หรือบรรจุภัณฑ์ให้ละเอียดก่อนใช้งาน ข้อนี้สำคัญมากๆนะคะ
ไม่ว่าเราจะใช้อะไรก็ตามต้องศึกษาทำความเข้าใจก่อน และต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยค่ะ



2.    รักษาความสะอาดของน้องสาวเราให้ดีมากกว่าปกติในช่วงที่มีประจำเดือน
3.    ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งทั้งก่อนใส่ และก่อนถอดผ้าอนามัย
4.    ควรเลือกขนาดผ้าอนามัยแบบสอดให้เหมาะสมกับปริมาณเลือดประจำเดือน วันไหนมามากก็ใช้ขนาดใหญ่
วันไหนมาน้อยก็ใช้ขนาดเล็ก



5.    เลือกใช้ผ้าอนามัยแบบสอด แบบที่มี applicator เวลาสอดเข้าไปในช่องคลอดจะง่ายกว่า ปลอดเชื้อกว่าใช้มือเปล่าๆสัมผัสโดยตรง
และควรใช้ทันทีที่แกะออกจากห่อค่ะ



6.    ควรตัดเล็บให้สั้นเพื่อลดโอกาสเกิดรอยขีดข่วนที่อวัยวะเพศภายนอกและในช่องคลอดเมื่อสอดใส่ผ้าอนามัยแบบสอด
7.    ก่อนใช้ควรตรวจสอบความคงทนของเชือกปลายผ้าอนามัย ลองดึงดูว่าไม่ขาดหรือหลุดง่าย เพราะถ้าหากเชือกเกิดหลุด
หรือขาด แล้วเราไม่สามารถนำผ้าอนามัยออกมาได้ด้วยตัวเอง ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อให้ช่วยเอาออก ห้ามปล่อยทิ้งไว้เด็ดขาด
เพราะจะเกิดติดเชื้อและเป็นอันตรายได้ค่ะ



8.    ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยแบบสอดทุก 4 - 6 ชั่วโมง หรือเมื่อเรารู้สึกหน่วงๆ แสดงว่าผ้าอนามัยเต็มให้เปลี่ยนได้เลยไม่ต้องรอนะคะ
และไม่ควรใส่ผ้าอนามัยไว้นานเกิน 8 ชั่วโมง
9.    สำหรับช่วงที่เรานอนควรเปลี่ยนมาใส่ใส่ผ้าอนามัยแบบแผ่นธรรมดาจะดีกว่าค่ะ
10.    หากหลังใส่ผ้าอนามัยแบบสอดแล้วมีกลิ่นเหม็นผิดปกติหรือมีไข้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยค่ะว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้น
ต้องรีบเอาผ้าอนามัยออก แล้วรีบไปพบแพทย์ทันที

จริงๆแล้วเรื่องการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือเรื่องที่น่ากลัวเลยค่ะ ขอแค่ก่อนใส่ เราอ่านวิธีใช้ และข้อแนะนำต่างๆ
ที่ระบุไว้บนกล่องอย่างละเอียด และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดก็พอ จุดซ่อนเร้นของเราต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
โดยเฉพาะวันนั้นของเดือน ไม่ว่าจะเป็นผ้าอนามัยแบบสอด หรือแบบแผ่นธรรมดา ก็ทำให้เราติดเชื้อช็อกเฉียบพลันที่เกิดจากพิษของ
แบคทีเรียในหญิงมีประจำเดือนได้ค่ะ ถ้าหากดูแลรักษาความสะอาดไม่ดีพอ




เบียร์หวังว่ากระทู้นี้จะมีประโยชน์กับสาวๆไม่มากก็น้อยน้า ใครมีอะไรสนใจ อย่ากให้เบียร์มาเล่าให้ฟัง
หรือมาแชร์ประสบการณ์ให้ฟังก็คอมเม้นต์แนะนำเข้ามาได้นะคะ พบกันใหม่กระทู้หน้าค่ะ สวัสดีค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่