"ไปไหนก็ไป แต่อยากไปอยุธยา"

เริ่มต้นการเดินทางของเราเกิดจากการที่เรารู้สึกว่าครึ่งปีหลังที่ผ่านมานี้มีปัญหาวุ่นวายต่างๆ มากมายเข้ามาในชีวิตหรือเรียกได้ว่ามีแต่เรื่องซวยๆ นั่นเอง ชีวิตจะเจอเรื่องซวยอะไรขนาดนี้ รู้ซึ้งถึงคำว่าซวยซ้ำซวยซ้อนก็ครั้งนี้นี่แหละ เราเลยคิดว่าจะต้องไปทำบุญล้างซวยที่ไหนก็ได้สักที่ จึงฉุกคิดได้ว่าจะต้องไปตะเวนทำบุญที่จังหวัดอยุธยา หลายๆ คนอาจได้เคยไปเคยสัมผัสมาแล้ว แต่สำหรับเราแล้วนี่เป็นครั้งที่สอง ซึ่งครั้งแรกไปทัศนศึกษากับโรงเรียนตอน ม.2 แต่ครั้งนี้จะไปกับครอบครัว เพื่อสิริมงคลแก่ตัวเอง และครอบครัว
วันแรกตะเวณทำบุญ
   เริ่มออกเดินทางตั้งแต่เช้าตรู่จากลพบุรี โดยมีสมาชิกในการเดินทางครั้งนี้ด้วยกัน 4 คนคือพี่สาว และน้องชาย 2 คน โดยพี่สาวขับรถส่วนตัวแบบไม่เร่งรีบมากนัก ประมาณชั่วโมงเดียวก็มาถึงอยุธยา เริ่มต้นวัดแรกกันด้วย
1.วัดใหญ่ชัยมงคล
ปัดหมุดจุดแรกกันที่วัดใหญ่ชัยมงคล อยู่นอกเกาะเมือง หาง่ายและใกล้สุด วัดใหญ่ชัยมงคล เดิมชื่อ วัดป่าแก้ว หรือ วัดเจ้าไท ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะพระนคร ปัจจุบันเป็นพื้นที่ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จุดเด่นของวัดได้แก่เจดีย์องค์ใหญ่ที่เชื่อกันว่า ได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ภายในได้มีการค้นพบชัยมงคลคาถาบรรจุอยู่ ภายในพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชัยมงคล พระประธานที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัด เป็นวัดที่นักท่องเที่ยวนิยมมามากที่สุดวัดหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมไปถึงสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น ชมเจดีย์ที่สูงที่สุดในอยุธยา
เปิดเวลา 08.30-16.30 น.  คนไทยเข้าฟรี ชาวต่างชาติเสีย 20 บาท

2.วัดพนัญเชิงวรวิหาร
    ซึ่งอยู่ห่างกับวัดใหญ่ชัยมงคลแค่ 1.5 กิโลเมตร ไหว้หลวงพ่อโตหรือซำปอกง พระพุทธรูปปูนปั้นปามารวิชัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยหน้าตักกว้าง 20.17 เมตร สูง 19 เมตร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ให้บูรณะใหม่ทั้งองค์ พร้อมถวายพระนามว่า "พระพุทธไตรรัตนายก" เมื่อไปถึงอย่าลืมห่มผ้าหลวงพ่อซึ่งเป็นไฮไลท์ของวัดพนัญเชิงวรวิหารที่ใครมาต้องห่มผ้าหลวงพ่อสักครั้ง ในพระอุโบสถวัดพนัญเชิงนั้นมีพระพุทธรูปสำคัญ 3 องค์ คือ พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปปูน และพระพุทธรูปนาค พระพุทธรูปทองเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ทำจาทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 3 ศอก สูง 4 ศอก มีสีทองอร่ามใสเป็นเงาสะท้อนอย่างชัดเจน องค์กลางเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นสมัยอยุธยาหน้าตักกว้าง 4 ศอก สูง 5 ศอก ส่วนพระพุทธรูปนาคเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยนั้นจะมีสีออกแดงๆ หน้าตักกว้าง 3 ศอก สูง 5 ศอก กล่าวกันว่าพระพุทธรูปทองและนาคนี้เพิ่งถูกพบว่า เป็นพระทองและพระนาค ด้วยบังเอิญ เนื่องจากแต่เดิมทีพระทั้งสององค์ถูกฉาบเคลือบด้วยปูน จนมีลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปปูนปั้นทั่วไป สาเหตุคงเพราะว่าช่วงเวลาก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะถูกข้าศึกบุกตีพระนคร คนในสมัยนั้นเกรงว่าพระพุทธรูปทองและพระพุทธรูปนาคนี้จะถูกขโมยหรือเผาเอาทองไป จึงได้ฉาบปูนเคลือบและปั้นปูนในขณะที่ปูนยังไม่แห้งเพื่อทำเป็นลายจีวรและลักษณะต่างๆเช่น ปั้นรูปพระพักตร์ พระเกศา เพื่อให้เข้าใจว่าไม่ใช่พระทองคำและพระนาค จนกระทั่งในภายหลังมีผู้ไปค้นพบว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำ เนื่องจากเศษปูนได้กะเทาะออกมาและเนื้อภายในเป็นทอง จึงได้ค่อยๆกะเทาะปูนออกให้หมด จึงได้เห็นว่าเป็นพระทองคำทั้งองค์และนำมาประดิษฐานอยู่ภายพระอุโบสถของวัด
เปิดเวลา 07.00-18.00 น. เข้าฟรี

3.วัดแม่นางปลื้ม
    เดินทางสู่วัดแม่นางปลื้ม ซึ่งอยู่ห่างจากวัดพนัญเชิงประมาณ 2.5 กิโลเมตร วัดแม่นางปลื้ม เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดนางปลื้ม หรือ วัดสมปลื้ม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.1920 บริเวณที่ตั้งวัดเคยเป็นที่ตั้งค่ายของพม่า ซึ่งยกมาล้อมกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง ยังมีเนินค่ายปรากฏอยู่ชาวบ้านเรียกว่า โคกพม่า ลักษณะรูปแบบศิลปกรรม จากรูปแบบเจดีย์ประธานของวัด สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างสมัยเดียวกับวัดธรรมิกราช และวัดมเหยงคณะ กล่าวคือ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมองค์ระฆังคว่ำแบบเจดีย์ทรงลังกา ตั้งอยู่บนฐานสิงห์ล้อมเช่นเดียวกัน และยังประดับตกแต่งลวดลายปูนปั้นที่หน้าบันพระวิหารด้วย

4.วัดมงคลบพิตร
    พระมงคลบพิตร เป็นพระพุทธรูปบุสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย นับเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งของประเทศไทย สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นระหว่างปี พ.ศ. 1991–2145  ต่อมาในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 วิหารพระมงคลบพิตรถูกข้าศึกเผาเครื่องบนโทรมลงมาต้องพระเมาฬีและพระกรขวาของพระมงคลบพิตรหัก ต่อมารัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์เสียใหม่ สำหรับบริเวณข้างวิหารพระมงคลบพิตรทางด้านทิศตะวันออกแต่เดิมเป็นสนามหลวง ใช้เป็นที่สำหรับสร้างพระเมรุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และเจ้านายเช่นเดียวกับท้องสนามหลวงของกรุงเทพฯ ซึ่งช่วงที่ไปยังอยู่ในช่วงบูรณะซ่อมแซมวิหารพระมงคลบพิตร จึงไม่สามารถเข้าไปกราบสักการะข้างในวิหารได้ แต่ก็ยังมีพระมงคลบพิตรให้กราบสักการะข้างหน้าวิหาร
เปิดเวลา 07.00-18.00 น.

    ออกจากวัดมงคลบพิตร เราก็ได้แวะที่วังช้างอยุธยา แล เพนียด ที่นี่มีการแสดงโชว์ของช้างฟรีตลอดรายการ ใครจะเข้ามาชมก็ได้ รอบแรกของแต่ละวันจะเริ่มประมาณ 10.30 น. แล้วก็จะเว้นช่วงต่อรอบประมาณ 30 นาที โดยพิจารณาดูจากผู้เข้าชมในแต่ละรอบที่มารอเฝ้าชมการแสดงของช้าง ถ้าวันไหนคนเยอะก็จะมีรอบการแสดงเยอะหน่อย ซึ่งรอบสุดท้ายของการแสดงจะอยู่ที่ประมาณ 14.30-15.00 น. หรือใครที่ไม่อยากเข้าชมการแสดงอย่างเดียวที่นี่ก็ยังมีบริการให้สัมผัสช้างอย่างใกล้ชิด โดยการขึ้นหลังช้างพาชมโบราณสถานที่ใกล้เคียง แทนการเดินด้วยขาหรือการปั่นจักรยาน ซึ่งในตอนแรกเราไม่รู้ว่ามันมีหลายราคา จึงเข้าไปถามพนักงานขายบัตรว่าขึ้นนั่งบนหลังช้างราคาเท่าไหร่ แล้วพนักงานก็ตอบมาว่า 100 บาท โดยไม่ได้อธิบายต่อว่า 100 บาทนี่ไปได้แค่ไหนหรืออยู่ได้นานกี่นาที เราก็คิดว่ามันจะเหมือนกันหมด จึงจ่ายเงินไป 200 บาท นั่ง 2 คนกับน้อง พอช้างเริ่มเดินไปได้สักพักหนึ่งประมาณ 200-300 เมตรก็หยุดอยู่ที่ริมน้ำสักพักหนึ่งแล้วก็เดินกลับ เราคิดในใจว่าอ้าวมาแค่นี้หรอ คิดว่าจะไปไกลกว่านี้ เพราะเห็นตัวอื่นๆ เดินไปไกลมาก จึงมาทราบทีหลังว่ามันมีหลายแบบหลายราคา โดยมีแบบรอบสั้น 10 นาที คนไทย 100 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท ส่วนเด็ก 50 บาท และรอบยาว 20 นาที คนไทย 200 บาท ชาวต่างชาติ 400 บาท เด็ก 100 บาท หรือใครอยากจะโพสต์ถ่ายรูปกับช้างกลับไปเป็นที่ระลึกก็ได้เช่นกัน รูปละ 40 บาท

    เริ่มหิวกันแล้ว มองดูนาฬิกานี่ก็บ่ายแล้ว ยังไม่กินอะไรกันเลย จึงแวะตลาดน้ำกรุงศรี เพิ่งเปิดได้ไม่กี่เดือน บรรยากาศเสมือนเราอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาจริงๆ เพราะพ่อค้าแม่ขายที่นี่แต่งตัวด้วยชุดไทยเลียนแบบชาวอยุธยาสมัยก่อน ทำให้ได้กลิ่นไอของพระนครศรีอยุธยานิดๆ พ่อค้าแม่ค้าที่นี่พูดจาเพราะ อาหารก็อร่อย
เปิดทุกวัน เวลา 9.00-20.00 น.

5.วัดพระศรีสรรเพชญ์
    เป็นวัดสำคัญที่สร้างอยู่ในพระราชวังหลวงเทียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งกรุงเทพมหานครหรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างพระราชมณเฑียรเป็นที่ประทับที่บริเวณนี้ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงย้ายพระราชวังขึ้นไปทางเหนือและอุทิศที่ดินเดิมให้สร้างวัดขึ้นภายในเขตพระราชวังและโปรดเกล้าฯให้สร้างเขตพุทธาวาสขึ้น เพื่อเป็นที่สำหรับประกอบพิธีสำคัญต่างๆ จึงเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ต่อมาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสถูปเจดีย์ใหญ่สององค์เมื่อ พ.ศ.2035 องค์แรกทางทิศตะวันออกเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระราชบิดาและองค์ที่สองคือองค์กลางเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระบรมเชษฐา ต่อมาในปี พ.ศ. 2042 ทรงสร้างพระวิหารขนาดใหญ่และในปี  พ.ศ.2043 ทรงหล่อพระพุทธรูปยืนสูง 8 วา (16 เมตร) หุ้มด้วยทองคำหนัก 286 ชั่ง (ประมาณ 171 กิโลกรัม) ประดิษฐานไว้ในวิหาร พระนามว่า “พระศรีสรรเพชญดาญาณ” ซึ่งภายหลังเมื่อคราวเสียกรุง พ.ศ. 2310 พม่าได้เผาลอกทองคำไปหมด  ในสมัยรัตนโกสินทร์พระบาท ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหารพระมงคลบพิตรในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา  
สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญชิ้นส่วนชำรุดของพระประธานองค์นี้ลงมากรุงเทพฯและบรรจุชิ้นส่วนซึ่งบูรณะไม่ได้เหล่านั้นไว้ในเจดีย์องค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นแล้วพระราชทานชื่อเจดีย์ว่า “เจดีย์สรรเพชญดาญาณ”  สำหรับเจดีย์องค์ที่สามถัดมาทางทิศตะวันตก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (พระหน่อพุทธางกูร) พระราชโอรสได้โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เจดีย์สามองค์นี้เป็นเจดีย์แบบลังกา ระหว่างเจดีย์แต่ละองค์มีมณฑปก่อคั่นไว้ซึ่งคงจะมีการสร้างในราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และมีร่องรอยการบูรณะ
[img]
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่