ISO และ Noise ในโลกของการถ่ายภาพ Landscape [ภาพจาก Nikon D5 & 810]

ข่าวที่น่าตื่นเต้นของวงการถ่ายภาพในช่วงนี้ คงจะไม่พ้นการเปิดตัวกล้อง Nikon D850 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเรือธงรุ่นใหม่ของค่าย Nikon ที่ยัดสเปคโหดๆ เน้นๆ มาตอบสนองความต้องการของช่างภาพทุกระดับ ซึ่งในสาย Landscape แล้ว มีการ Upgrade หลายตัวที่รอคอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการถ่ายภาพด้วย iso ที่สูงขึ้น พร้อมระบบจัดการ Noise ที่ดีกว่า Nikon D810 ซึ่งข่าวแว่วมาว่า กล้องรุ่นใหม่นี้มีความสามารถในการถ่ายภาพที่ iso สูงๆ ได้ระดับน้องๆ Nikon D5 ดังนั้นก่อนที่ D850 จะเปิดตัวและผลการ Review ยังไม่ออกมา ผมจึงขอคั่นเวลาด้วยการเขียนถึง iso และ Noise ในการถ่ายภาพ Landscape พร้อมนำเสนอตัวอย่างภาพจาก High iso ของ D5 มาให้ชมกันก่อนว่า มันสามารถตอบสนองการใช้งานในสาย Landscape ได้มากน้อยเพียงใด

[ภาพ 1 : การถ่ายภาพในที่ที่มีแสงน้อย เช่น การถ่ายภาพดาว ทางช้างเผือก ช่างภาพต้องดัน iso ให้สูงขึ้นเพื่อช่วยเก็บแสงได้มากขึ้น แต่เมื่อใช้ iso สูงมากๆ อาจต้องแลกมาด้วย Noise ที่เพิ่มมากขึ้น และด้วยเทคโนโลยีการถ่ายภาพ ทำให้กล้องคุณภาพดีๆ สามารถจัดการ Noise ได้ดีกว่าแต่ก่อนมาก ภาพนี้ถ่ายด้วยกล้อง Nikon D5 ตั้งค่า f/2.8, 15 วินาที, iso 6400]

อะไรคือ iso

ISO หรือที่ย่อมาจากคำว่า “International Standards Organization” ที่ถูกกำหนดเป็นมาตรฐานสากลในการวัดความไวต่อแสงของฟิล์มและ Sensor ของกล้อง Digital มีหลักในการอ่านง่ายมากๆ คือ ค่า iso ต่ำ ฟิล์มหรือ Sensor ก็จะไวแสงน้อย หากค่า iso สูง ก็จะไวแสงมากขึ้น โดยมักจะปรับค่า iso ให้สูงขึ้นในการถ่ายภาพบริเวณที่มีแสงน้อย (เช่น ช่วงมืดค่ำ หรือในอาคารที่มีแสงน้อย) ซึ่งช่วงนี้เองที่เราไม่สามารถชดเชยการเปิดรับแสงของ ฟิล์มหรือ Sensor จากการปรับค่ารูรับแสง (Aperture) หรือความเร็วชัตเตอร์ (Shutter speed) ได้มากพอ  ทั้งนี้ คนส่วนมากเชื่อว่า ทุกครั้งที่ถ่ายภาพ เราต้องใช้ iso มาตรฐานของกล้องนั้นๆ เช่น Nikon D5, D500 ก็มักจะใช้ที่ iso 100 หรือ Nikon D810 ก็ใช้ที่ iso 64 เพื่อให้ได้คุณภาพของภาพสูงสุด ภาพจะเนียน สวยใส และมักกังวลใจว่า หากปรับค่า iso ให้สูงขึ้นจะทำให้คุณภาพของภาพลดลง มีเม็ดสีหยาบๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งภาพ ดูหยาบไม่เนียน อีกทั้งทำให้ภาพมีสีที่ผิดเพี้ยนไป ซึ่งการดันค่า iso นี้ โดยเทคนิคแล้ว คือ คำสั่งที่ไปเพิ่มกระแสไฟฟ้าบน Sensor ของกล้องทำให้มีความไวแสงที่มากขึ้น ซึ่งจะแลกมาด้วยการเกิดสัญญาณรบกวนในภาพทำให้เกิด Noise ที่มากขึ้น

นิตยสาร Digital Camera World ได้ออกบทความอธิบายถึงความหมาย และการใช้งาน iso (ภาพด้านล่าง) สรุปได้ว่า การถ่ายภาพ iso ต่ำๆ เช่น iso 50-200 นั้นเหมาะกับสาย Landscape เมื่อถ่ายภาพที่ต้องจับจังหวะการเคลื่อนไหว เช่น ภาพกีฬา นิยมที่จะดัน iso ให้สูงขึ้นเพื่อให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่มากพอจะจับจังหวะของนักกีฬาให้คมชัด ขณะที่การถ่ายภาพสัตว์ป่า และในที่ที่มีแสงน้อย อาจต้องดัน iso ให้สูงขึ้นกว่านั้น แต่ต้องพิจารณาควบคู่กับ Noise ที่เพิ่มขึ้นด้วย สำหรับ iso ตั้งแต่ 51200+ ขึ้นไปนั้น มีในกล้องรุ่นใหม่ๆ ซึ่งทำให้เราถ่ายภาพกลางคืนได้ แม้การจัดการ Noise ยังเป็นปัญหาบ้าง แต่การได้ภาพมาบ้าง ก็ดีกว่าไม่ได้ภาพเลย


[ที่มาของภาพ: http://media.digitalcameraworld.com/wp-content/uploads/sites/123/2014/02/What_is_ISO1.jpg]

ถึงแม้มีคำแนะนำให้ถ่ายภาพด้วยค่า iso ต่ำที่สุดของกล้อง (Based iso) แต่บางสถานการณ์เราสามารถยืดหยุ่นโดยดันค่า iso ให้สูงขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 1 ใน 4 ข้อนี้ (อาจหวังผลพร้อมๆ กันได้หลายข้อ):

     1. เพื่อให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ (Shutter speed) ที่สูงขึ้น ลดการสั่นไหวซึ่งส่งผลให้จับจังหวะ หรือหยุดการเคลื่อนไหวของวัตถุทำให้ภาพชัดขึ้น
     2. เพื่อเปิดรูรับแสง (Aperture) ให้แคบลง ซึ่งส่งผลให้เกิดระยะชัดลึกมากขึ้น
     3. เพื่อให้ได้ความไวแสงที่มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้สามารถเก็บภาพได้ในที่ที่มีแสงน้อยได้ดีขึ้น เช่น การถ่ายภาพดวงดาว ทางช้างเผือก
     4. เพื่อให้ได้กำลังไฟแฟรชที่มากขึ้น เมื่อใช้ Aperture เท่าเดิม

หากย้อนหลังไปสัก 5-6 ปีที่ผ่านมา การถ่ายภาพด้วย iso ที่สูงกว่า 800 มักได้รับภาพที่มี Noise เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกล้องที่มี Sensor ขนาดเล็ก เช่น กล้องบนมือถือ หรือกล้องตัวคูณ มักจะมีโอกาสเกิด Noise ที่มากกว่ากล้องที่มี Sensor ขนาดใหญ่ อย่างกล้อง Fullframe  แต่ด้วยเทคโนโลยีของกล้องถ่ายภาพปัจจุบันที่พัฒนาไปมาก กล้องมือถือสามารถถ่ายภาพได้เนียนใสแม้ในสภาพแสงน้อย  และไม่ต้องพูดถึงศักยภาพของกล้องระดับกึ่ง/มืออาชีพ ทั้งแบบ Fullframe และ Mirrorless ที่ให้คุณภาพของภาพถ่ายในระดับดี ถึงดีมากแม้จะถ่ายภาพด้วย iso สูงๆ เช่น Nikon D500 และ D750 ที่ยังให้ภาพเนียนใสแม้จะใช้ iso 800 เป็นต้น  ทั้งนี้ ... กล้องแต่ละตัวจะมีคุณสมบัติที่จัดการ Noise ที่แตกต่างกันออกไป การจะสังเกตว่ากล้องเรานั้นสามารถจัดการกับ Noise ได้ดีหรือไม่ที่ iso สูงๆ เราจึงควรทดสอบถ่ายภาพที่ระดับ iso ที่แตกต่างกัน โดยให้สังเกตุ Noise ไม่ว่าจะเป็น Color noise และ Luminance noise ที่เกิดขึ้นในส่วนเงามืด (Shadows) และส่วนสว่าง (Highlights)

[ภาพ 2 : การดัน iso ของกล้อง D810 ไปที่ระดับสูงสุดที่ (ผม) ยอมรับคุณภาพได้อยู่ที่ iso 3200 ซึ่งยังให้ภาพที่มีรายละเอียดดี ยังทำภาพได้สวยไฟล์ไม่เป็นวุ้น ภาพนี้ถ่ายด้วย f/3.3, 20 วินาที, iso 3200]

[ภาพ 3 : ภาพขนาด 100% ของภาพด้านบนที่ถ่ายจาก Nikon D810 ด้วย iso 3200 ที่ไฟล์ยังมีรายละเอียดที่ดี สามารถพิมพ์งานออกมาในะดับคุณภาพที่ยอมรับได้ - ภาพข้างต้นย่อจากไฟล์ต้นฉบับลงมาที่ 950px ปรับคม ใน PS เล็กน้อยแต่ไม่ได้ใช้โปรแกรมลด Noise เพื่อให้เห็นลักษณะของ Noise ที่เกิดขึ้นในภาพ]

ระดับของ Noise ที่ยอมรับได้?

ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้ครับ ไม่ว่าบริษัทจะอัด iso มาสูงแค่ไหน แต่ในการใช้งานจริง ย่อมต้องมีระดับในการรับได้ของสัญญาณรบกวนในภาพที่เกิดขึ้น ซึ่งตรงนี้ต้องออกตัวก่อนว่า นี่เป็นระดับการยอมรับของผมเองในฐานะที่ถ่ายภาพ แต่งภาพ และได้พิมพ์ภาพออกมาในะดับหนึ่งครับผม โดยขนาดภาพทั่วไปที่ผมพิมพ์จากกล้อง Nikon D810 คือ A3 - A2 ดังนั้น แม้กล้องจะให้ค่า iso ที่สูงเป็นล้าน แต่ระดับที่ผมยอมรับได้คือ ภาพบนหน้าจอในขนาด 100% และ ภาพที่พิมพ์ออกมาแล้วดูคุณภาพโดยรวมครับ เมื่อมีการคาดหวังว่า Nikon D850 น่าจะมีการจัดการ Noise และการใช้ค่า iso ที่สูงขึ้นกว่า Nikon D810 เรียกได้ว่าดีขึ้นระดับน้องๆ D5! ผมจึงลองนำภาพ D5 ที่ถ่ายด้วย iso ในระดับต่างๆ มาทดสอบแต่งภาพเพื่อดูระดับที่ผมเองยอมรับได้ครับ

Nikon D5 นั้น มี Native iso 100-102,400 และยังสามารถปรับสูงขึ้นไปจนถึง iso 3,276,800 ที่ iso Hi +5  (ในขณะที่ Nikon D850 นั้นมี Native iso 100-25,600) ในปรกติ เมื่อผมใช้กล้อง Nikon D810 ถ่ายภาพดาวหรือถ่ายภาพในที่มีแสงน้อย ผมจะดัน iso สูงสุดไม่เกิน iso 3200 เพราะไฟล์ภาพยังมีรายละเอียด ความคม และเมื่อลด Noise ด้วย Plug-in แต่งภาพ เช่น ACR หรือ Define ของ Nik collection ก็มีความเนียนพอใช้งานได้ระดับหนึ่ง เมื่อไปพิมพ์ขนาดใหญ่ก็ แต่พอดัน iso ไปสูงกว่านั้น เริ่มไม่ค่อยดีแล้ว ถึงแม้เราจะใช้โปรแกรมลด Noise ช่วยแก้ปัญหาแต่ต้องแลกมากับภาพที่ดูไม่คมเป็นวุ้นพอควร แต่สำหรับ Nikon D5 นี่ iso ระดับสูงสุดที่ยอมรับได้ คือ iso 6400  และหากต้องการนำภาพมาแชร์ใน Internet ที่ขนาด 2048px เราสามารถใช้ iso ได้สูงถึง 12,800 ซึ่งเมื่อมองภาพบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ยังได้ภาพที่ OK ระดับหนึ่ง ส่วน iso ที่สูงกว่านั้น ต้องขอบอกว่า "มี ดีกว่าไม่มี” เพราะบางจังหวะ การได้ภาพถ่ายกลับมาโดยการดัน iso ไปสูงๆ แม้คุณภาพจะไม่ค่อยดีนัก แต่ดีกว่าไม่ได้ภาพกลับมาเลย

[ภาพ 4 : การทดสอบถ่ายภาพที่ iso ระดับสูงของ Native iso บนกล้อง Nikon D5 ตั้งแต่ 3200 จนถึง iso 102,400]

[ภาพ 5 : ขยายที่ 100%  ภาพจากกล้อง Nikon D5 ตั้งแต่ 3200 จนถึง iso 102,400 โดยแต่ละภาพนั้นปรับเฉพาะ iso ให้เพิ่มขึ้น แล้วไปชดเชยด้วยความเร็วชัตเตอร์ เพื่อให้แสงในภาพเท่ากัน - ภาพข้างต้นย่อจากไฟล์ต้นฉบับลงมาที่ 950px ปรับคม ใน PS เล็กน้อยเท่านั้น ไม่ได้เปิดแสง และไม่ลด Noise เพื่อให้เห็นลักษณะของ Noise ที่เกิดขึ้นจริงในภาพต้นฉบับ]

[ภาพ 6 : เปรียบเทียบภาพจากกล้อง Nikon D5 ที่ iso 6400 และ iso 25600 ชดเชยความเร็วชัตเตอร์เพื่อให้แสงเท่ากันทั้งสองภาพ]

[ภาพ 7 : ใช้เทคนิคการถ่ายภาพ Vertical panorama โดยการถ่ายภาพแนวตั้ง 2 ใบที่ f/2.8, 30 วินาที, iso 6400 รวมภาพ + ปรับแก้ White balance ในโปรแกรม ACR ของ Photoshop]

ข้อน่ารู้เกี่ยวกับ iso และ Noise
     
     * ฟิล์มที่มีความไวแสงสูงๆ (iso สูงๆ) จะมีเกรนกลมๆ เกิดขึ้นกระจายในภาพ แต่สำหรับกล้อง Digital ภาพแต่ละใบเกิดจาก Pixels สี่เหลี่ยมขนาดเล็กมากๆ ที่รวมตัวและแสดงแสงสีที่ถูกต้อง ส่วนพิกเซลที่ผิดเพี้ยน (Aberrant pixels) อันเกิดจากสัญญาณรบกวนทำให้แสดงแสงสีที่ผิดปรกติ จนเกิดเป็น Digital Noise ขึ้น
     * Noise เกิดขึ้นได้ทั้งจากการดัน iso ให้สูงขึ้น และการลากความเร็วชัตเตอร์นานๆ เพราะเมื่อ Sensor ทำงานหนักและร้อนขึ้น จะทำให้การแสดงผลของแสง/สี ของ Pixels ผิดเพี้ยนไป
     * ควรเปิดคำสั่ง Noise reduction ในกล้องเมื่อใช้ High iso และ Long exposure ซึ่งกล้องจะประมวลผลเพื่อแก้ไขแสง/สี ของ Pixels ที่ทำงานผิดพลาดให้แสดงผลถูกต้องมากขึ้น
     * การถ่ายภาพด้วย Raw จะได้รับภาพที่มี Noise น้อยกว่า และสามารถแก้ไข Noise ได้ง่ายกว่าการถ่ายภาพด้วย jpeg เนื่องจากไฟล์ Raw นั้นข้อมูลมาเต็ม ไม่ถูกบีบอัด หรือถูกลดทอนข้อมูลทิ้งไปเหมือนไฟล์ jpeg ซึ่งคุณภาพของภาพที่ลดทอนจากการบีบอัดภาพนี้ เรียกว่า Compression artifact
     * ยิ่งเราใช้ High iso กับการถ่ายภาพด้วย jpeg เราจะได้รับภาพถ่ายที่คุณภาพแย่กว่าเดิมนะ --> แนะนำ .. ถ่ายด้วย Raw เสมอ
     * ภาพที่ถ่ายในเวลาเดียวกัน ภาพที่ถ่าย Under แล้วมาเปิดแสงในโปรแกรม เมื่อเทียบภาพที่ถ่ายด้วย High iso เพื่อให้ได้รับแสงที่มากขึ้นแล้ว จะพบว่า ภาพที่ถ่ายด้วย High iso นั้นจะมีสัญญาณรบกวนน้อยกว่า
     * Noise มี 2 ลักษณะ คือ Chromatic (หรือ Color) noise และ Luminance noise  โดย Chromatic noise เกิดจากการแสดงสีของพิกเซลที่ผิดพลาดจากสัญญาณรบกวนเมื่อใช้ High iso เราจึงเห็นเกรนเม็ดสีขนาดเล็กที่แสดงขึ้นทั่วทั้งภาพ เช่น แดง เขียว  การลด Noise ประเภทนี้ไม่ยาก และไม่ค่อยกระทบกับรายละเอียดของภาพมากนัก  ส่วน Luminance noise นั้นเกิดจากการแสดงแสงที่ผิดพลาดแบบสุ่มอันเนื่องจากสัญญาณรบกวนเมื่อใช้ High iso เช่นกัน แต่ Noise ประเภทนี้จัดการยากกว่า
     * การลด Noise ในโปรแกรมแต่งภาพ ต้องแก้ไข Chromatic noise ก่อน (ซึ่งเป็นการทอนสีของ Noise ลง) จากนั้นจึงไปปรับแก้ไข Luminance noise ต่อไป (ดูตัวอย่างภาพ 8-9)

[ภาพ 8 : ภาพจาก Nikon D5 ที่ iso 12800 สังเกตภาพขนาด 100% จะมี Chromatic noise กระจัดกระจายเหมือนสีรุ้งเม็ดเล็กๆ เต็มภาพ เราสามารถจัดการ Chromatic noise ได้ง่ายใน ACR โดยเลือก Noise reduction ที่เป็น Color ปรับค่าไปประมาณ 25-35 ก็สามารถลดสีของ Noise ที่เกิดขึ้นได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อรายละเอียดของภาพมากนัก]
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่