ปล่อยแล้ว!!! คาแรคเตอร์ นุ่น วรนุช - โดม ปกรณ์ ในศรีอโยธยา



สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
รับบทโดย ศรัณยู วงษ์กระจ่าง

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ทรงเป็น พระบรมกษัตราธิราชองค์ที่ ๓๑ แห่งราชอาณาจักรอยุธยา เป็นพระโอรส “สมเด็จพระเจ้าเสือ”

ในรัชกาลของพระองค์ ได้ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองและศาสนา จนกล่าวได้ว่าเป็นยุคที่ บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองที่สุด ทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม และการศาสนา อันเป็นต้นแบบอารยธรรมแก่กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทรงเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัยเป็นล้นพ้น พระราชทานบิณฑบาตแด่ภิกษุสงฆ์วันละร้อยรูป บำรุงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้เป็นสุข ดังบิดาต่อบุตรทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมอย่างเคร่งครัดใครผิด ก็ให้ลงทัณฑ์

ใครชอบก็พระราชทานรางวัล แม้แต่พระราชโอรสซึ่งทรงเสน่หารักใคร่ เมื่อไม่อยู่ในธรรมก็ทรงสังหารให้พิราลัย



สมเด็จเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ กรมขุนเสนาพิทักษ์
รับบทโดย ปกรณ์ ลัม

“สมเด็จเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศฯ” หรือ “เจ้าฟ้ากุ้ง” ทรงเป็นเจ้าชายรูปงาม พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ทรงดำรงตำแหน่ง “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” องค์รัชทายาทแห่งแผ่นดิน ทรงมีพระปรีชาสามารถอย่างสูงส่งในด้านวรรณกรรม บทพระราชนิพนธ์ของพระองค์ ทรงคุณค่าทางวรรณศิลป์นับ ตั้งแต่รัชสมัย ของพระองค์ จนถึงปัจจุบัน

นับว่าทรงเป็น “พระมหากวี” แห่งสยามประเทศ ทั้งยังทรงทำนุบำรุงพระบวรศาสนา และการรบสมกับที่จะทรงขึ้น ครองราชย์สมบัติตามความมุ่งหวังของพระราชบิดา

แต่ทรงมี “ความรัก” กับ “หม่อมเจ้าสังวาล”

พระญาติสนิทผู้เลอโฉมอย่างสนิทเสน่หา ก่อนที่หม่อมเจ้าสังวาล จะได้ถวายตัวเป็น “พระมเหสีฝ่ายซ้าย” ในพระราชบิดา และด้วยอานุภาพแห่งความรักนั้น ทำให้ทั้งสองพระองค์ต้องทรงกระทำการอันผิดแก่โบราณราชประเพณี
ด้วยการทรงลอบเป็นชู้ สร้างความโทมนัสอย่างใหญ่หลวงแก่องค์พระราชบิดา ซึ่งทรงต้องยึดมั่นในกฎมณเฑียรบาลแห่งโบราณราชประเพณี ด้วยการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์จนสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์

พระศพถูกฝังเอาไว้ที่วัดไชยวัฒนาราม



กรมหลวงอภัยนุชิต
รับบทโดย ม.ล.สราลี กิติยากร

“กรมหลวงอภัยนุชิต” หรือ “พระพันวัสสาใหญ่” พระมเหสีฝ่ายขวาใน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” เป็นพระธิดาในกรมพระราชวังหลังในรัชสมัย “สมเด็จพระเพทราชา” พระบิดาเป็นเชื้อสายอินเดีย วรรณะพราหมณ์ จากเมืองรามนคร รัฐมัชฌิมประเทศ และตั้งรกรากอยู่บ้านสมอพรื จังหวัดเพชรบุรี ในแผ่นดินสมเด็จ “พระนารายณ์มหาราช” พระบิดาของท่านรับราชการเป็นหลวงคชบาท หรือ “นายทรงบาทขวาช้างทรง และเป็นกำลังแก่ “สมเด็จพระเพทราชา” ปราบ “กบฏเจ้าพระยาวิชาเยนทร์” ขับไล่กองทหารฝรั่งเศสออกจากราชธานีได้สำเร็จ จึงได้รับการสถาปนาเป็นกรมพระราชวังหลัง" ในรัชสมัย “สมเด็จพระเพทราชา”

กรมหลวงอภัยนุชิตทรงมีพระราชโอรสพระองค์เดียวคือ
“เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ” กรมพระราชวังบวรมงคล มหาอุปราช ดังนั้นเมื่อ “เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศฯ” ต้องคดีคบชู้กับ “เจ้าฟ้าสังวาล” แล้วทรงถูกประหาร พระองค์จึงต้องทรงประสบความโทมนัสอันใหญ่หลวง



เจ้าฟ้าสังวาล
รับบทโดย วรนุช ภิรมย์ภักดี

“เจ้าฟ้าสังวาล” ทรงเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้าย ใน“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” พระนามเดิม คือ “หม่อมเจ้าสังวาล” ทรงเป็นพระธิดาใน “พระองค์ชายแก้ว”

พระโอรสใน “สมเด็จพระเพทราชา” พระราชมารดาคือ “เจ้าฟ้าเทพ” พระราชธิดาใน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ”

เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้าหญิงนั้น
ทรงเคยมีพระราชหฤทัยปฏิพัทธ์รักใคร่เสน่หากับ “เจ้าฟ้า
ธรรมาธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์” องค์รัชทายาทอยู่ก่อน

และต่อมาเมื่อทรงได้รับสถาปนาเป็น พระมเหสีฝ่ายซ้าย
ก็มิอาจหักห้ามพระทัยอันสนิทเสน่หาต่อองค์รัชทายาทได้
ทั้งสองพระองค์จึงทรงลอบเป็นชู้ ขัดต่อขนบโบราณราชประเพณี จนต้องโทษประหารให้เสด็จพิราลัยทั้งสองพระองค์

Cr. FB : sriayodhaya official,หนูน้อยบนยอดเขาอันหนาวเหน็บ



พออ่านคาแรคเตอร์แล้ว รู้สึกหืมมมม สะเทือนใจอ่ะ
แบบว่า นุ่น เล่นเป็นเจ้าฟ้าสังวาลนี่ต้องดราม่าหนักมากแน่เลย
เจ้าฟ้าสังวาล รัก กับเจ้าฟ้ากุ้งมาก่อน พอมาวันนึงก็ต้องมาเป็นขึ้นเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้าย
รึจะเรียกง่ายๆเลยว่า อยู่ดีๆก็ต้องขึ้นมาเป็นเมียพ่อแทน โห...หนักอ่ะ แต่เราเชื่อว่า วรนุช เอาอยู่
>
>>
>>> วันนี้เห็นในเพจ SriAyodhaya Official เค้ามีมีมาเพิ่มอีก 3 คาแรคเตอร์ตัวละคร ขออนุญาติเพิ่มในกระทู้เดิมนะจ๊ะ




สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศ
รับบทโดย นพชัย ชัยนาม

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศ” พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยา เป็นพระโอรสองค์ที่ ๒ ใน “สมเด็จพระเจ้า อยู่หัวบรมโกฐ” ประสูติแต่ “กรมหลวง พิพิธมนตรี” พระอัครชายาฝ่ายซ้าย เมื่อพุทธศักราช ๒๒๕๒ ในแผ่นดิน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ” ซึ่งเป็นพระปิตุลา (ลุง) ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชบิดานั้น พระองค์ ไม่เป็นที่โปรดปราน แม้ว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศฯ” กรมพระราชวงบวรฯ องค์รัชทายาทถูกสำเร็จโทษสิ้นพระชนม์ลงด้วยคดีทรงลอบเป็นชู้กับ “เจ้าฟ้าสังวาล” พระบิดาก็ไม่ทรงแต่งตั้งพระองค์ทรงขึ้นดำรงตำแหน่ง “พระมหาอุปราช” แต่อย่างใด ทำให้ทรงรู้สึก “น้อยพระทัย” เป็นอย่างยิ่ง

ในปีพุทธศักราช ๒๓๐๑ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ”
ทรงพระประชวรหนักใกล้สิ้นพระชนม์นั้น ได้ทรงแต่งตั้ง “เจ้าฟ้าดอกเดื่อ” พระอนุชาร่วมพระมารดา ขึ้นเป็น รัชทายาทสืบต่อพระราชบัลลังก์ เสด็จขึ้นครองราชย์เป็น “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร” ซึ่งหลังจากพระราชพิธีพระบรมศพ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” เสร็จสิ้นลง “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร” ได้ทรงสละราชสมบัติถวายแด่พระเชษฐาในปีนั้นเอง “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศ” เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติด้วยพระชนมายุ ๔๙ พรรษา
ทรงเป็นพระมหากษัตราธิราชที่สถิตอยู่ในทศพิธราชธรรมอย่างสุจริต พระบาทจงกรมอยู่เป็นนิตย์ สมณะชีพราหมณ์ต่างชื่นชมยินดี ประชาราษฎร์เป็นสุข ด้วยพระเมตตาบารมี ทั้งนักปราชญ์ ทั้งยาจกผู้ดี ต่างสุขสำราญทั้งพระขัณฑสีมาทั้งโภชนาอาหารก็มีบริบูรณ์ ฝ่ายพระองค์ก็ทรงพระกรุณาแก่อาณาประชาราษฎร์และทรงแผ่เมตตาให้ทั่วสรรพสัตว์ทั้งปวง ทำให้ข้าราชสำนัก ทั้งฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ต่างฮึกเหิมเสวยสุขกันอย่างเปรมปรีดิ์ ฉ้อราษฎร์บังหลวงกันอย่างไม่เกรงกลัวพระบารมี ทั้งยังคิดทรยศชักศึกเข้าพระนคร หวังว่าจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน




สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร
รับบทโดย เพ็ญเพชร เพ็ญกุล

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร” ทรงเป็นราชโอรสองค์เล็กใน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ประสูติแต่ “กรมหลวงพิพิธมนตรี” ทรงพระนามว่า “เจ้าฟ้าดอกเดื่อ” เพราะเมื่อ “กรมหลวงพิพิธมนตรี” ทรงพระครรภ์นั้น องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุบินเป็นนิมิต(ฝัน)ว่า พระองค์ทรงได้
“ดอกมะเดื่อ” ซึ่งหายากนัก นับเป็นพระลาภอันยิ่งใหญ่ จึงทรงตั้งพระราชหฤทัย จะให้พระโอรสน้อยทรงสืบสันตติวงศ์ อย่างเงียบๆ และพระราชทานพระนามว่า “เจ้าฟ้าอุทุมพร”

เมื่อทรงเติบใหญ่ ทรงมีพระปรีชาสามารถทางแผนการยุทธ ยากหาผู้ใดเปรียบมิได้ และในขณะเดียวกัน ก็ทรงสนพระทัยใฝ่ใน พระบวรศาสนา และทรงปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดยิ่งกว่าพระภิกษุสงฆ์ เพราะฉะนั้นเมื่อพระราชบิดาประชวรหนักใกล้จะสวรรคต และทรงแต่งตั้งพระองค์ดำรงพระยศเป็น “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระมหาอุปราช” แทนที่ “เจ้าฟ้าเอกทัศ” พระเชษฐาพระองค์ใหญ่
จึงทรงลำบากพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง แต่ทรงต้องรับพระราชบัญชาเหนือเกล้า มิอาจขัดพระราชประสงค์ได้ เมื่อพระราชบิดาสวรรคตลงใน พุทธศักราช ๒๓๐๑ จึงเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็น “สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔” ด้วยพระชนมายุ เพียง ๒๘ พรรษา และเมื่อทรงปราบกบฏพระอนุชาต่างพระมารดา ๓ พระองค์ คือ “กรมหมื่นจิตต์สุนทร” “กรมหมื่นสุนทรเทพ” และ“กรมหมื่นเสพภักดี” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมศพพระราชบิดาแล้ว จึงทรงเวนคืนพระราชบัลลังก์ถวายแด่ “พระเชษฐาธิราช”แล้วเสด็จออกทรงบรรพชิตที่ “วัดประดู่ทรงธรรม” สิริรวมแล้ว ทรงเสวยราชสมบัติเพียง ๑ เดือนเศษ



กรมหลวงพิพิธมนตรี
รับบทโดย สินจัย เปล่งพานิช

“กรมหลวงพิพิธมนตรี” หรือสมเด็จพระพันวัสสาน้อย ทรงเป็นพระมเหสีใน “สมเด็จพระเจ้า อยู่หัวบรมโกศ” และเป็นพระขนิษฐาใน “กรมหลวงอภัยนุชิต” ทรงมีพระราชโอรส ๒ พระองค์คือ “เจ้าฟ้าเอกทัศ” (กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) และ “เจ้าฟ้าดอกเดื่อ” (กรมขุนพรพินิต) ซึ่งต่อมาได้ครองราชสมบัติ เสด็จขึ้นเป็นพระมหากษัตราธิราชทั้งสองพระองค์ คือ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร” (เจ้าฟ้าดอกเดื่อ) และ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศ” เมื่อครั้งแผ่นดิน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” เมื่อ “กรมขุนเสนาพิทักษ์”หรือ “เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ” ทรงต้องพระราชอาญาประหารนั้น ได้โปรดเกล้าฯ สถาปนา “กรมขุนพรพินิต (เจ้าฟ้าดอกเดื่อ)” พระราชโอรสพระองค์เล็กขึ้นเป็น “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” องค์รัชทายาทสืบพระราชบัลลังก์
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่