เคยสงสัยไหมว่า ทำไมไม่มีถ่านไฟฉายขนาด A กับ B

วันนี้เป็นวัน Battery Day โดยยึดเอาวันเกิดของอเลกซานโดร โวลตา (Alessandro Volta) นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีผู้ให้กำเนิดแบตเตอรี่นั่นเอง ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 1745

พูดถึงแบตเตอรี่ (Battery) แล้ว ต้องบอกว่า ในภาษาอังกฤษจะหมายถึงอุปกรณ์ในการเปลี่ยนพลังงานเคมีให้เป็นพลังงานไฟฟ้าทุกชนิด แต่พอมาถึงเมืองไทย แบตเตอรี่มักจะหมายถึงเฉพาะแบตเตอรี่ที่มีหลายเซลล์นำมาต่อเข้าด้วยกันเป็นชุดเดียวและสามารถชาร์จใหม่ได้ แบบแบตเตอรี่รถยนต์ แต่พอเป็นแบตเตอรี่แบบแห้ง (Dry cell) ที่เป็นก้อน คนไทยก็แยกมาเรียกเป็น "ถ่านไฟฉาย" เสีย ซึ่งถ้าจะถามว่าทำไมเรียกว่าถ่านไฟฉาย ก็คงกลับไปอ่านกระทู้นี้แล้วกัน
https://pantip.com/topic/33568653

สำหรับกระทู้นี้พูดถึงเรื่องของถ่านไฟฉายเพียงอย่างเดียว

เมื่อพูดถึงถ่านไฟฉาย เชื่อว่าแทบทุกคนคงเคยเห็นและซื้อใช้มาด้วยกันทั้งนั้น เพราะถ่านไฟฉายเป็นแหล่งพลังงานสำหรับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นไฟฉาย นาฬิกาปลุก รีโมตคอนโทรล วิทยุ และอื่น ๆ อีกมากมาย ถ้าไม่มีถ่านไฟฉาย อุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านั้นก็บ้อท่าใช้งานไม่ได้

ในปัจจุบัน ขนาดของถ่านไฟฉายที่นิยมใช้กันทั่วไปในเมืองไทยก็มีขนาด AAA, AA, C และ D ซึ่งถ่านแต่ละขนาดก็จะมีที่ใช้งานต่างกัน คือ

AAA เป็นถ่านไฟฉายขนาดเล็กที่มีจำหน่ายกันทั่วไป ขนาด 10.5x44.5 ม.ม. มักจะใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็ก เช่น รีโมตคอนโทรล เครื่องเล่น MP3 หรือกล้องถ่ายรูปบางชนิด
AA เป็นถ่านไฟฉายขนาดที่ใช้กันมากที่สุด ขนาด 13.5-14.5 x51 ม.ม. ใช้ทั้งนาฬิกาปลุกขนาดเล็ก เครื่องคิดเลข วิทยุขนาดเล็ก ของเล่นชนิดต่าง ๆ
C เป็นถ่านไฟฉายก้อนกลาง ขนาด 25.8x50 ม.ม. นิยมใช้กันใน นาฬิกา ไฟฉาย วิทยุขนาดใหญ่
D เป็นถ่านก้อนใหญ่ที่สุดที่จำหน่ายกันทั่วไป ขนาด 33x60 ม.ม. ส่วนมากจะใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ต้องการพลังงานมาก เช่น วิทยุ ลำโพง มอเตอร์ไฟฟ้า



พูดถึงถ่านไฟฉายขนาดมาตรฐานที่มีจำหน่ายทั่วไปแล้ว เคยสงสัยไหมว่า ทำไมขนาดของถ่านจึงเรียกกันแบบนั้น คือมี AA แล้วก็ข้ามไป C เลย แล้วถ่านขนาด A กับ B หายไปไหน เคยมีถ่านขนาดนี้หรือไม่ ?

คำตอบก็คือ "เคย" มี

แม้ว่าการผลิตถ่านไฟฉายจะมีมาตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 19 แล้ว แต่ในระยะแรก การผลิตถ่านไฟฉายยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานด้านขนาด ซึ่งทำให้เกิดความสับสนอย่างมาก

ดังนั้นในปี 1928 บรรดาผู้ผลิตถ่านไฟฉายในอเมริกาและตัวแทนรัฐบาลจึงมาประชุมกันเพื่อกำหนดขนาดถ่านไฟฉายให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการผลิตและการใช้งานของผู้บริโภค ซึ่งตกลงกันว่าจะใช้ตัวอักษรเป็นสัญลักษณ์ โดยเรียงจากเล็กไปหาใหญ่ กล่าวคือ คัพ A เล็กที่สุด เอ๊ย ไม่ใช่ ถ่านขนาด A เป็นขนาดเล็กสุด จากนั้นจึงเรียงขึ้นไปเป็น B, C, D ตามลำดับ

ต่อมาในปี 1959 จึงได้มีการเพิ่มถ่านขนาดเล็กกว่า A คือ AA และ AAA ขึ้น เพื่อใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก

แล้วถ่านขนาด A B หายไปไหน คำตอบก็คือ เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องใช้ไฟฟ้าให้กินไฟน้อยลง จึงทำให้ถ่านขนาดกลางอย่าง A กับ B เริ่มเสื่อมความนิยมลงไป อย่างเช่น ถ่านขนาด B แต่เดิมนั้นออกแบบมาสำหรับใช้กับวิทยุที่ใช้หลอดสุญญากาศเป็นหลัก แต่ต่อมาเมื่อวิทยุแบบหลอดสุญญากาศไม่มีการผลิตกันอีก จึงทำให้การใช้งานถ่านขนาด B ลดน้อยลงไป

ส่วนถ่านขนาดใหญ่อย่าง C หรือ D นั่นยังมีความจำเป็นอยู่ เพราะยังมีอุปกรณ์ไฟฟ้าอีกหลายอย่างที่ต้องการใช้กำลังไฟมาก จึงทำให้ถ่านขนาดใหญ่ยังคงมีการใช้งานกันอยู่

และเมื่อถ่านขนาดกลางอย่าง A กับ B มีการใช้งานลดลงเรื่อย ๆ ผู้ผลิตจึงลดการผลิตถ่านทั้งสองขนาดลงไปเพื่อลดสายการผลิต ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจึงต้องออกแบบอุปกรณ์ของตนให้ใช้งานกับถ่านขนาดอื่นที่ยังมีการผลิตจำหน่ายในตลาด เช่น ถ้าต้องการถ่านขนาดเล็กก็จะลดลงไปให้ใช้กับถ่านขนาด AA หรือ AAA ไปเลย หรือถ้าต้องการถ่านใหญ่ก็อัพขึ้นไปใช้กับถ่าน C ไปเลย ในที่สุดที่อเมริกาจึงมีการยกเลิกการผลิตถ่านขนาด A กับ B ไปในที่สุด

อย่างไรก็ตามแม้ว่าถ่านขนาด A กับ B จะไม่มีวางจำหน่ายทั่วไปแล้ว แต่ยังสามารถพบถ่านขนาด A กับ B ได้บ้าง อย่างเช่นในยุโรป ถ่านขนาด B ใช้กับโคมไฟหน้ารถจักรยาน ส่วนถ่านขนาด A ยังคงพบได้ในคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คบางรุ่น
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่