(Review) Jackie (2016) ผู้หญิง แม่ และมนุษย์หมายเลข 1


22 พฤศจิกายน 1963 กลายเป็นวันที่ชาวอเมริกันต้องจดจำไปอีกยาวนาน เมื่อประธานาธิบดีคนที่ 35 ของประเทศ-จอห์น เอฟ. เคนเนดี-ถูกลอบยิงเข้าที่เดลลีย์พลาซา เมืองแดลลัส รัฐเทกซัส ระหว่างที่นั่งขบวนรถประธานาธิบดีสำหรับการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยหน้า

ภาพกระสุนพุ่งทะลุกะโหลกศีรษะนั้นกลายเป็นภาพจำอันดับโลกภายในเวลาไม่นาน และที่ยิ่งกว่านั้น คือภาพแจ็คเกอลีน โอนาซิส-ภรรยาของเคนเนดี ในฐานะสุภาพสตรีหมายเลข 1 ในเวลานั้น-ตะเกียกตะกายไปที่กระโปรงหลังของรถ พยายามเก็บอะไรบางอย่างกลับมาไว้ในมือขณะที่สามีซึ่งเลือดท่วมนอนหมอบอยู่ข้างๆ


Jackie ภาพยนตร์ใต้การกำกับของปาโบล ลาร์ราอีน (กำกับหนังรางวัลเรื่อง Neruda) เล่าสิ่งที่แจ็คเกอลีนหรือแจ็คกี้ต้องเผชิญ หนักหนากว่าการตะหายเก็บกะโหลกศีรษะของสามี คือการดำรงชีวิตอยู่ในฐานะผู้หญิง แม่ และมนุษย์คนหนึ่งอย่างเข้มแข็ง

หนังไม่ได้เน้นบทบาทหรือมุ่งเล่าเรื่องของจอห์น เอฟ. เคนเนดีมากนัก แต่เน้นน้ำหนักทั้งหมดไปที่ภรรยาของเขาอย่างแจ็คกี้ (นาตาลี พอร์ตแมน ที่เรื่องนี้ปล่อยพลังสุดขีด) นับตั้งแต่นาทีที่เธอพบว่าสามีเสียชีวิตในอ้อมกอด ไปจนถึงการรับมือกับความคาดหวังของประชาชนอเมริกาทั้งประเทศ ต่อการเปลี่ยนผ่านตำแหน่งประธานาธิบดี และการจากลาตำแหน่งสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของเธอเอง

แม้เราไม่ได้เห็นชัดเจนนักว่าระหว่างที่เธออยู่กินกับสามีนั้น เธอมีหน้าที่และบทบาทอย่างไรบ้าง แต่หนังให้ภาพรวมของความเข้มแข็งที่เธอมี วิธีคิดอ่านของเธอที่มีต่อการเมืองและอเมริกา

และเช่นนี้เอง จึงไม่แปลกใจเลยที่ทำไมหลายสำนักปักธงแล้วว่ามันต้องเข้าชิงออสการ์ในสาขาใดสาขาหนึ่ง (โดยเฉพาะนำหญิง) เพราะมันไม่ใช่หนังเล่าชีวประวัติอดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ทั่วไป แต่มันเล่าถึงมนุษย์คนหนึ่งที่ชีวิตโดนเหวี่ยงอยู่ท่ามกลางการเมืองอเมริกายุค 60s-แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า Jackie เป็นหนังที่สร้างตามสูตรหนังรางวัลอะไรแบบนั้นอย่างสิ้นเชิง


เพราะระหว่างบรรทัดของหนัง นอกจากเรื่องการเมืองและบริบทแวดล้อมแล้ว มันยังพูดถึงความยิ่งใหญ่และลึกลับของตระกูลเคนเนดี ที่เป็นอีกแรงกดดันให้แจ็คกี้พยายามทำงานศพสามีให้ออกมาอย่างดีที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด ถึงขั้นอ้างอดีตประธานาธิบดีของอเมริกาอย่างอับราฮัม ลินคอน (ซึ่งน่าสนใจมากๆ เพราะประธานาธิบดีทั้งสองมีเส้นเรื่องชีวิตที่เหมือนกันอยู่หลายจุด เช่น มีส่วนเกี่ยวข้องและต้องรับมือกับสงคราม, รับเลือกตั้งห่างกัน 100 ปีพอดี และถูกลอบสังหารโดยการยิงเข้าที่ศีรษะเหมือนกัน) เพื่อให้เห็นว่า สามีของเธอนั้นก็ยิ่งใหญ่เช่นกัน ขณะที่ครอบครัวของฝั่งสามีก็มีพิธีการเป็นของตระกูลตัวเอง เช่น มีสุสานสำหรับตระกูลที่ระบุว่าต้องฝังจอห์นที่นี่เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าเป็นคนละที่กับลินคอน

เหนืออื่นใด ท่ามกลางการเล่าเรื่องที่ช้าและเนือยในบางจังหวะ ประกอบกับความหนักหน่วงในบทสนทนา การแสดงของนาตาลี พอร์ตแมนไปสุดมาก ไม่รู้ว่าผู้กำกับบรีฟเธอยังไง แต่มันชัดเจนบนจอมากๆ ว่านี่คือการแสดงที่ละเอียดระดับโลก พิสูจน์ด้วยการที่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของเรื่องและภาพที่ปรากฏบนจอ คือภาพใบหน้าของพอร์ตแมนในบทแจ็คกี้ที่ถูกโคลสอัพอยู่ตลอดเวลา จนเห็นกระทั่งกล้ามเนื้อที่กระตุก แววตาร้าวรานที่ซ่อนอยู่ใต้ม่านคลุมหน้าอีกทีหนึ่ง โดยเฉพาะความซับซ้อนของบทที่พอร์ตแมนทำให้เราเห็นว่าโดยเนื้อแท้แล้ว แจ็คกี้เป็นเพียงผู้หญิงที่ต้องรับมือกับการสูญเสียสามีต่อหน้าต่อตา แต่ต้องอดทนเก็บความรู้สึก รวมถึงยังต้องทำตัวเข้มแข็งไปจนถึงอวดฉลาดอยู่เสมอเพื่อไม่ให้ตัวเองโดนกด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เธอไม่ยอมเปลี่ยนชุดที่เปื้อนเลือดของสามีและไม่หลบหน้าสื่อใดๆ ในค่ำคืนนั้น


พ้นไปจากสีหน้าและแววตา (ซึ่งถูกกล้องจับในระยะ “ใกล้มาก” เกือบตลอดเวลาของเรื่อง) ท่วงท่าบางอย่างก็ทำให้รู้ว่าพอร์ตแมนตั้งใจจะเล่นเป็นแจ็คเกอลีนมากๆ และคงนั่งศึกษาประวัติชีวิตหรือดูคลิปการเคลื่อนไหวของเธออยู่นานนับเดือน โดยเฉพาะท่วงท่าการเดินที่ชัดเจนมากๆ ว่าถ้าไม่ศึกษามาหนักหน่วงก็คงเล่นไม่ได้ขนาดนี้ หรือสำเนียงพูด จังหวะการออกเสียงและผ่อนลมหายใจ (ใช่ เธอเล่นละเอียดขนาดนั้น)

อย่างไรก็ดี ในความเฉื่อยเนือยบางจังหวะของหนัง การตัดสลับมาในฉากลอบสังหารทำได้อย่างน่าพรั่นพรึง ขนลุกและสยดสยอง แม้จะกลั้นใจไม่เสียน้ำตาให้แจ็คกี้มาตลอดทั้งเรื่อง แต่นาทีที่หนังฉายให้เห็นว่าเธอตะเกียกตะกายไต่ไปที่กระโปรงหลังของรถเพื่อเก็บเศษกะโหลกของสามีกลับมานั้นรุนแรงมากเพียงใด ก็ทำให้เข้าใจความหนักหน่วงที่เธอแบกรับมาตลอดทั้งชีวิต

จริงๆ อีกคนที่แสดงได้มีมิติและไม่โดนพลังการแสดงระดับทำลายล้างของพอร์ตแมนกลืนคือบิลลี่ ครูดรัพ ในบทนักข่าวที่มาสัมภาษณ์แจ็คกี้หลังเหตุการณ์สูญเสีย ระหว่างที่แจ็คกี้ (ซึ่งคือนาตาลี พอร์ตแมน ที่ส่งรังสีอำมหิตให้ตลอดเวลา) ตอบคำถามด้วยอาการคุกคามเกือบตลอดเวลา นักข่าวอย่างเขาก็รับมืออย่างสงบ มีลูกล่อลูกชนที่น่าชื่นชมและเยือกเย็นโดยไม่ถูกการแสดงของนาตาลี พอร์ตแมน ฆ่าตายจนกลืนหายไปในจอ

และปีเตอร์ ซาร์สการ์ด ในบทโรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี น้องชายของประธานาธิบดีผู้ล่วงลับ (ซึ่งชีวิตจริงก็ถูกลอบสังหารด้วยเช่นกัน) ที่ต้องรับมือกับการตายของพี่ชายตัวเองและดูแลพี่สะใภ้อยู่ตลอดเวลาก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน ฉากระเบิดอารมณ์ความกดดันใส่แจ็คกี้ที่โต้กลับอย่างดุเดือดนั้นเป็นซีนที่เหี้ยมเกรียมและเด็ดขาดมาก ซึ่งแน่นอน ว่าซาร์สการ์ดหาที่ทางของตัวเองในหนังได้อย่างหมดจดและไม่โดนกลืนแม้แต่นิดเดียว

ท้ายที่สุดแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้จะเป็นหนังที่หนักด้วยรายละเอียดอยู่มาก แต่ Jackie คือหนังดี โดยเฉพาะบทที่ถูกเขียนมาอย่างไม่อวยประวัติศาสตร์อเมริกา รวมถึงการแสดงอันยอดเยี่ยมของนักแสดงทุกคนที่ปรากฏบนหน้าจอ โดยเฉพาะนาตาลี พอร์ตแมน ที่ถึงอย่างไรคงต้องบอกว่านี่คือมาสเตอร์พีซของเธออีกชิ้น

ฝากบล็อก-เพจ สำหรับติดตามข่าวสาร-แลกเปลี่ยนกันเรื่องภาพยนตร์ด้วยนะคะ

Page: https://www.facebook.com/llkhimll
Blog: http://llkhimll.wordpress.com/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่