[รีวิวหนังสือ] 1984 - มหานครแห่งความคับแค้น ; (George Orwell, 1949) by ตั๋วหนังมันแพง


[รีวิวหนังสือ] 1984 - มหานครแห่งความคับแค้น ; (George Orwell, 1949)
by ตั๋วหนังมันแพง

คะแนนความชอบ : S (เป็นหนังสือแห่งศตวรรษ) (จากสเกล D-A)

**ไม่มีการสปอยล์เนื้อเรื่องสำคัญ

หากใครยังจำได้เกี่ยวกับเหตุชุมนุมต่อต้านอำนาจรัฐบาลทหารเมื่อราวๆ 1-2 ปีก่อนได้ ที่มีกลุ่มนักศึกษาจำนวนออกไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และถูกจับกุมไป .. ซึ่งหนึ่งในการแสดงออกที่ว่าก็คือ 'การชูหนังสือ 1984 ขึ้นฟ้า' จนทำให้หนังสือเล่มนี้ถูกลิสต์เป็น 'หนังสือไม่ควรอ่าน' ไปพักใหญ่เลยทีเดียว ซึ่งถ้าใครสงสัยว่านิยายเก่ากึ้กเล่มนี้เกี่ยวพันยังไงกับระบบการปกครอง? ในรีวิวนี้เราจะมาตีแผ่ให้ฟังกัน

"War is Peace, Freedom is Slavery, Ignorance is Strength"
"สงครามคือสันติภาพ, เสรีภาพคือความเป็นทาส, ความเขลาคือพลัง"


หนังสือเล่าถึงเหตุการณ์ในอนาคตข้างหน้า (เวลาไม่ปรากฏแน่ชัด) ที่โลกถูกแบ่งออกเป็น 'สามรัฐมหาอำนาจ' (three super-states) ที่ต่างก็ทำสงครามชิงพื้นที่และทรัพยากรซึ่งกันและกันมาตลอดหลายสิบปีจนถึงปัจจุบัน ได้แก่

1.Eurasia (ยูเรเชีย) เป็นรัฐที่เกิดขึ้นจากการที่สหภาพโซเวียตได้ครอบครองทวีปยุโรปทั้งหมด และเป็นรัฐที่มีพื้นที่ปกครองกว้างขวางยิ่งใหญ่ที่สุด มีปรัชญาการปกครองที่มีชื่อเรียกว่า "Neo-Bolshevism"
2.Oceania (โอเชียเนีย) เป็นรัฐที่เชื่อว่าประกอบไปด้วยทวีปอเมริกา, หมู่เกาะอังกฤษ, ไอซ์แลนด์, ออสเตรเลีย, นิว ซีแลนด์ และแอฟริกาใต้บริเวณใต้แม่น้ำคองโก มีปรัชญาการปกครองชื่อว่า "Ingsoc" ซึ่งย่อมาจาก English Socialism นั่นเอง
3.Eastasia (อีสเตเชีย) เป็นรัฐที่ประกอบไปด้วยประเทศจีน, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน และ เกาหลี ที่รวมตัวกันขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลอำนาจของอีกสองรัฐ ซึ่งถึงแม้จะเป็นรัฐที่มีขนาดเล็กที่สุดแต่ก็สามารถชดเชยด้วยความก้าวหน้าเชิงอุตสาหกรรมที่ล้ำสมัยได้ มีปรัชญาการปกครองที่เขียนไว้ในภาษาจีนแปลได้ว่า "Death-worship"

โดยโครงสร้างสังคมของโอเชียเนียนั้นจะแบ่งฐานันดรของประชากรในประเทศออกเป็นสามขั้น ก็คือกลุ่มชนชั้นปกครองหรือที่เรียกว่าสมาชิกพรรควงใน (Inner Party) ซึ่งเนื้อเรื่องในหนังสือนั้นจะบอกเล่าผ่านตัวละคร "วินสตัน สมิธ" ในฐานะสมาชิกพรรควงนอก (Outer Party) ซึ่งถูกนับเป็นชนชั้นกลางของสังคม และสุดท้ายคือชนชั้นต่ำ (Prole) ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดและไม่มีความสำคัญในกิจกรรรมการเมืองใดๆทั้งสิ้น

จุดเด่นที่น่าสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ ก็คือสังคมแวดล้อมของโอเชียเนีย ที่ปกครองด้วยระบอบ 'สังคมนิยม-รัฐเผด็จการเต็มขั้น' คือมีเพียงคนกลุ่มเล็กๆเท่านั้นที่จะมีสิทธิชี้ชะตาความเป็นไปของสังคม โดยรัฐได้อุปโลกตำแหน่งผู้ปกครองสูงสุดขึ้นมาโดยมีชื่อว่า "พี่เบิ้ม" (Big Brother) พร้อมกับสโลแกนที่ว่า "พี่เบิ้มกำลังจับตาดุคุณอยู่" หรือ "Big Brother is watching you" นั่นคือรัฐมีระบบเฝ้าระวังประชาชนทุกคนแบบ 24 ชั่วโมง! ผ่านทางจอทีวีที่มีฟังชั่นรับ-ส่งข้อมูลให้กับตำรวจได้ตลอดเวลา ประดุจว่าเป็นกล้องวงจรปิด+ไมโครโฟนบิ้ว-อินเข้าไปด้วย

ซึ่งเราจะได้เรียนรู้ผ่านมุมมองของวินสตันถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตที่ถูกจับตามองตลอดเวลา โดยเขาจะต้องคอยระวังสีหน้าและท่าทางของตัวเองเสมอเมื่ออยู่ต่อหน้าจอทีวี ซึ้งอาจจะมี "ตำรวจความคิด" (Thought Police) แอบฟังอยู่อีกฝั่งนึงของจอทีวีก็เป็นได้ ซึ่งตำรวจความคิดนั้นก็คือองค์กรพิเศษขึ้นตรงกับกระทรวงแห่งความรัก (Ministry of Love) ที่มีชื่อเรื่องการลักพาตัว, ทรมาน และสังหารบุคคลที่เสี่ยงต่อการมี 'ความคิดเป็นภัยต่อพรรค' ... พูดง่ายๆคือประชาชนของโอเชียเนียโดยเฉพาะสมาชิกพรรควงนอกนั้นแทบจะถูกจำกัดทางความคิด, วาจา และทุกการกระทำแบบ 100% กันเลยทีเดียว

ความตลกร้ายอีกอย่างก็คือรัฐโอเชียเนียนี้ยังมี "กระทรวงแห่งความสัตย์จริง" (Ministry of Truth) ซึ่งนอกจากมีหน้าบทบาทหน้าที่ในการโฆษนาชวนเชื่อ (propaganda) ตั้งแต่การผลิตสื่อวิทยุโทรทัศน์, หนังสือเรียน และสำคัญที่สุดคือ 'การแก้ไขประวัติศาสตร์' .. ซึ่งตัวเองของเรื่องอย่างวินสตัน สมิธก็ทำงานอยู่ในตำแหน่งนักปลอมแปลงเอกสารนี่เอง

การแก้ไขประวัติศาสตร์ที่ว่าก็คือการปลอมแปลงเอกสารหรือบันทึกในอดีตต่างๆให้สอดคล้องกับแนวคิดของ Ingsoc และพ้องต้องตรงกันกับวจนะของพี่เบิ้ม .. ตัวอย่างเช่นหากพี่เบิ้มกล่าวว่า "ชีวิตความเป็นอยู่ของทุกวันนี้ดีกว่าในอดีตเยอะ" ทุกๆเอกสารหรือหนังสือทุกๆเล่มในประเทศจะต้องถูกดึงออกมาแก้ไขให้ตรงกันว่า "ในอดีตนั้นเลวร้ายกว่าปัจจุบัน" ซึ่งส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถอ้างอิงถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ขัดแย้งกับวจนะของพี่เบิ้มได้ และเมื่อไม่มีการเปรียบเทียบ ก็จะไม่มีเหตุให้ประชาชนไม่พอใจ สมดังกับหนึ่งในแนวคิดของพรรคที่ว่า

"Who controls the past controls the future. Who controls the present controls the past."
"ผู้ใดบงการอดีต, ผู้นั้นจักบงการอนาคต. ผู้ใดบงการปัจจุบัน, ผู้นั้นจักบงการอดีต"


ความเจ็บปวดที่เราสัมผัสได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ คือการมองเห็นเสรีภาพของตัวละครต่างๆในเรื่องที่ค่อยๆถูกริดรอนออกไป โดยที่เจ้าตัวไม่ทันรู้สึกด้วยซ้ำว่านั่นคือเสรีของตน .. และการที่รับรู้ถึง 'ความเกลียดชัง' ที่รัฐค่อยๆฝังลงไปในรากความคิดของประชากร จงเกลียดประเทศศัตรูเสียสิ! จงเกลียดกบฏต่อต้านพี่เบิ้มเสียสิ! จงเกลียดเหล่าอาชญากรความคิดเสียสิ! (Thought Criminal) จงเกลียดพวกมันแล้วเชิดชูพี่เบิ้ม, เชิดชูพรรค และเชิดชูวิธีแห่ง Ingsoc เสียสิ!

ประชาชนที่ไร้เสรีภาพก็เปรียบเสมือนเปลือกที่ว่างเปล่าที่ถูกแต่งเติมด้วยความเกลียดชังที่ไม่มีวันจบสิ้น พวกเขาต่างก็มองว่าเหล่าศัตรูนั้นคือต้นเหตุของความอดอยากของพวกเขา พวกเขามองไกลออกไปจนไม่สามารถระลึกได้ด้วยซ้ำว่าต้นเหตุของความยากแค้นนั้นแท้จริงแล้วเกิดมาจากบนศีรษะของพวกเขาเอง พวกเขาพร้อมที่จะขายความลับของมิตรสหายให้กับตำรวจความคิดเพียงเพื่อแลกกับบุหรี่สักตัว, คนในครอบครัวพร้อมขายกันและกันให้กับรัฐเพียงเพื่อตอบสนองหน้าที่พลเมือง ... ไม่มีคำว่าเพื่อนอีกแล้ว ไม่มีคำว่าพ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก อีกต่อไปแล้ว ก็เพราะเสรีภาพคือภาพลวงตา พรรคพี่เบิ้มนี่สิคือเทพค้ำฟ้า

.... นั่นคือสิ่งที่วินสตันระลึกได้ และเริ่มรู้สึกว่าตัวเขาเองนั้น 'ถวิลหา' ความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงเหลือเกิน ขอเพียงซักนาทีที่เขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องถูกจอทีวีจับตามองได้ไหม?

และเขาพร้อมแล้วที่จะเข้าร่วมกลุ่มกบฏปฏิวัติสังคมที่เน่าเฟะนี้

ผลจะเป็นยังไงท่านคงต้องไปติดตามเองในหนังสือ "1984" โดย จอร์จ ออร์เวลครับ

ป.ล.ขออภัยหากแท็กผิดห้องครับ
ป.ล.2 ผมอ่านในฉบับภาษาอังกฤษ ถ้าคำแปลอันไหนไม่ตรงกับฉบับแปลไทยก็ต้องขออภัยด้วยนะฮะ

หากชื่นชอบรีวิวสามารถติดตามเพจได้ที่ https://www.facebook.com/expensivemovie หรือค้นหาคำว่า "ตั๋วหนังมันแพง" ได้ที่หน้า Facebook ครับ ..
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่