"ฮิคิโคโมริ" โรคฮิตในวัยรุ่นญี่ปุ่น พบผู้ป่วยกว่า 5 แสนคน

ซีเอ็นเอ็น รายงานถึงผลสำรวจจากทางรัฐบาลญี่ปุ่นว่าปัจจุบันยังมีคนญี่ปุ่นอายุระหว่าง 15-39 ปี จำนวน 541,000 คน ที่ยังคงขังตัวเองไว้ในห้องนอน ใช้ชีวิตอย่างสันโดษ หรือที่เรียกว่าอาการ "ฮิคิโคโมริ" (HIKIKOMORI)

ทั้งนี้อาการ "ฮิคิโคโมริ" เป็นคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ของญี่ปุ่น ใช้อธิบายบุคคลที่ไม่ยอมออกจากบ้านของตนเองและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนทั่วไปอย่างน้อย 6 เดือน คำศัพท์นี้ถูกบัญญัติไว้เมื่อช่วงประมาณปี 1980 แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงมากมายว่าแท้จริงแล้วอาการป่วยนี้เป็นอย่างไร


ภาพ : ฮิเดโตะ อิวาอิ ผู้ที่เคยปฏิเสธการออกจากห้องของตนเองตลอด 4 ปี
ที่มาภาพ : CNN


"ฮิเดโตะ อิวาอิ" ซึ่งปัจจุบันเป็นนักเขียนบทที่ประสบความสำเร็จ เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยขังตัวเองไว้ในห้องถึง 4 ปี เมื่อตอนที่อายุ 16 ปี  ได้เล่าอย่างตรงไปตรงมาถึงประสบการณ์อันแสนโดดเดี่ยว หลังจากที่เขาพยายามใช้ชีวิตด้วยตนเองตอนอายุ 15 ปี ต้องเผชิญหน้ากับความผิดหวัง ความเชื่อมั่นของตัวเองต่อโลกภายนอกค่อยๆ พังทลาย จนเขาปฏิเสธที่จะก้าวขาออกจากห้องนอนของตนเอง

"ผมใช้ชีวิตอยู่แค่ในห้องของผม เล่นวิดีโอเกมส์ ดูภาพยนตร์และการแข่งขันกีฬา"

หลังจากที่ขังตัวเองในห้องยาวนานถึง 4 ปี จนกระทั่งอายุ 20 ปี ก็ตระหนักว่า มีแค่ตัวเขาเองเท่านั้นที่จะทำให้หลุดออกจากสถานการณ์นี้ได้ จึงค่อยๆ ติดต่อเพื่อนเก่า และพาตัวเองออกจากบ้านในตอนเย็นเพื่อเตะบอล โดยเลือกช่วงเวลากลางคืน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเจอคนมากนัก

ขณะที่ "ทาคาฮิโระ คาโตะ" อาจารย์ด้านประสาทจิตเวช มหาวิทยาลัยคิวชู กล่าวว่า โรคนี้มีความเกี่ยวข้องกับอาการทางจิตวิทยาซึ่งเกิดจากความโศกเศร้าและความวิตกกังวล ในขณะเดียวกันก็ผสมด้วยอิทธิพลทางสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย โดยบุคคลที่มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมเพียงเล็กน้อยและถูกผลักให้เข้าไปสู่สภาวะกดดันของการทำงาน ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างทันทีทันใด

"กลุ่มคนเหล่านี้มีระดับความยืดหยุ่นน้อยและมักจะรู้สึกกดดันได้ง่ายๆ ซึ่งในญี่ปุ่น มีผู้ชายที่เป็นโรคฮิคิโคโมริมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากลักษณะสังคมที่มักจะให้ความคาดหวังกับผู้ชายมากกว่า เมื่อพวกเขาไม่รู้สึกว่าตนเองประสบความสำเร็จ เขาจึงรู้สึกว่ามีความกล้าและความมั่นใจน้อยลง นั่นจึงกระตุ้นให้เขาปิดกั้นตัวเอง"

ปัจจุบันคาโตะ ทำงานกับศูนย์สนับสนุนผู้ป่วยฮิคิโคโมริในเมืองฟุคุโอกะ ซึ่งช่วยบำบัดโรคนี้ให้กับคนในทุกช่วงอายุ ช่วยเหลือให้พวกเขาสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อีกครั้ง โดยเน้นการให้ความสำคัญกับพ่อแม่ในการช่วยเหลือและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกที่ตัดสินใจขังตัวเองไว้ในห้องและเสริมว่าการบำบัดเป็นกลุ่ม ให้ผลที่ดีกว่าในการทำให้ผู้มีอาการนี้กลับสู่สังคมได้

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
เครดิตภาพจาก : JonathanTheHarris's channel


ข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1473754950
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่