"บิลล์ เกตส์"...ช่วยได้ ประเทศไทย....สารพัดสาย(โคตร)รุงรัง


"บิลล์ เกตส์"...ช่วยได้ ประเทศไทย....สารพัดสาย(โคตร)รุงรัง
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 องศา ฉบับวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

          คล้อยหลังไปไม่นาน สำหรับกรณี บิลล์ เกตส์ มหาเศรษฐีเจ้าพ่อไมโครซอฟท์ โพสต์ภาพสายไฟห้อยระเกะระกะรกหูรกตาเผยให้เห็นทัศนะอุจาดในเมืองไทย พร้อมแสดงความคิดเห็นจนเป็นข่าวดังครึกโครม แต่เข้าใจคลาดเคลื่อนเล็กน้อยจนเป็นประเด็นคู่ขนานให้พลเมืองเน็ตถกกันอุตลุด เพราะสายยุ่งเหยิงในภาพเป็นสายโทรคมนาคมจำพวก สายโทรศัพท์ สายอินเทอร์เน็ต สายเคเบิ้ล ส่วนสายไฟฟ้าแท้จริงแล้วถูกจัดลำดับเป็นระเบียบ(?) อยู่ด้านบนสุดโน่น

          สำหรับภาพและข้อความที่ถูกโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Bill Gates ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 18 ล้านไลค์ ความว่า



          Due to faulty infrastructure, many urban areas suffer from frequent blackouts and power cuts, and the electrical grid often doesn't serve the people who need it most. I've visited many cities filled with tangled wires such as those in this photo from Thailand, where people have illegally tapped into the grid on their own to get the power they need-at great personal risk"
          (คำแปล : เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่มีข้อบกพร่อง ทำให้หลายเมืองประสบปัญหาไฟดับอยู่บ่อยๆ สายไฟฟ้าและหม้อแปลงไม่มีการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้เลย ผมมีโอกาสได้เดินทางไปเยือนในหลาย ๆ เมืองที่มีสายไฟฟ้ายุ่งเหยิง และอย่างในรูปที่เห็นคือประเทศไทย ประชาชนมักจะลักลอบเอาอุปกรณ์บางอย่างเชื่อมกับกระแสไฟฟ้าหลัก เพื่อนำเข้าไปใช้ในบ้านของตัวเอง โดยที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยเลยสักนิด)

          โดยมีพลเมืองเน็ตทั่วโลกร่วมแสดงความคิดเห็นต่อโพสต์ดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มช่างไฟออกมาพูดตรงกันว่า ความยุ่งเหยิงในภาพนั้นเป็นพวกสายโทรคมนาคม หรือสูงขึ้นมาหน่อยก็เป็นสายไฟแรงต่ำที่ไว้จ่ายเข้าบ้านเรือนประชาชน ไม่ใช่สายไฟแรงสูงที่มีอันตราย ซึ่งสายไฟลักษณะนี้จะถูกจัดวางไว้ด้านบนสุดของเสาไฟต้นนั้นๆ ซึ่งในแถบแอฟริกา หรือตะวันออกกลาง แม้กระทั่งบางส่วนของอเมริกา ญี่ปุ่น ที่ยังไม่มีการนำสายไฟลงใต้ดิน ก็มีภาพไม่ต่างจากสายไฟยุ่งเหยิงในเมืองไทย

          เทพศักดิ์ ฐิตะรักษา ผู้อำนวยการฝ่ายบริการระบบไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ให้สัมภาษณ์กรณีสายไฟระเกะระกะเผยให้เห็นทัศนะอุจาดในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยยอมรับว่าเป็นปัญหาสะสมมาหลายปีซึ่งทาง กฟน. มีการดำเนินการมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถไปรื้อสายโทรคมนาคม เช่น สายโทรศัพท์, สายเคเบิ้ล ฯลฯ จำนวนมากที่ห้อยรกไร้ระเบียบเหล่านั้นได้ เพราะจะเกิดผลกระทบต่อประชาชน

          "จริงๆ พวกนี้มันมีการดำเนินการมาตลอด อาจจะไม่ได้เป็นข่าวขนาดนั้น เรามีการคุยกันว่า เรารู้ว่ามีสายอยู่เยอะมาก และบางส่วนเป็นอันตรายต่อระบบไฟฟ้าด้วย เราพยายามติดต่อไปยังหน่วยงานหลัก กสทช. ซึ่งสายพวกนี้มีเจ้าของเกือบ 20 - 30 เจ้า เราพยายามบอกว่า ถ้าคุณมีสายแต่ไม่ได้ใช้ให้เอาออก มาช่วยกันจัดระเบียบ แต่ว่ามันก็เห็นว่าได้รับความร่วมมือบ้างไม่ได้รับความร่วมมือบ้าง เราก็พยายามรวบสาย หากมีสายมาพาดใหม่เราก็จะรู้ว่ามีการขอนุญาตไหม เราพยายามตัดทีละนิดๆ เคยจะรื้อทิ้ง แต่ถ้ารื้อเก็บก็จะโดนร้องเรียนมาว่าประชาชนเดือดร้อน เพราะว่ามีประชาชนใช้สายของเขาเยอะมากมาย เป็นสายโทรศัพท์ สายอินเทอร์เน็ต หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งเราไม่รู้ว่าเจ้าไหนเป็นของใคร หากรื้ออาจไปกระทบกี่คนไม่รู้ การไฟฟ้านครหลวงไม่สามารถทำให้ประชาชนเดือดร้อนได้ จริงๆ เขาผิด แต่ไม่ใช่เราไปรื้อได้เลย เพราะรื้อแล้วคนเดือดร้อนคือประชาชน"

          อย่างไรก็ตาม ปลายปี 2558 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบแผนงานของ กฟน. เปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็น สายไฟฟ้าใต้ดิน หวังปรับภูมิทัศน์บ้านเมืองให้สวยงาม รวมทั้งความปลอดภัยต่อชีวิตประชาชน ล่าสุด บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. สั่งการไปยังกระทรวงมหาดไทย เร่งยกเครื่องระบบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารโทรคมนาคมแบบสายอากาศเป็นระบบสายใต้ดินแทน รวมทั้งกำชับให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 5 ปี

          โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารโทรคมนาคมแบบสายอากาศเป็นระบบสายใต้ดิน อาทิ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กรุงเทพมหานคร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา

          เทพศักดิ์ เล่าถึงแนวคิดและความร่วมที่จะเกิดขึ้นจาก MOU โดยพยายามเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาแสดงความรับผิดชอบร่วมกัน
          "เราเลยพยายาม ดึงทุกคนเข้ามาช่วยกัน ทำ MOU สายสื่อสารเราพยายามให้ทาง กสทช. กับทีโอที เป็นคนดูแล เพราะว่าการไฟฟ้าดูแลไม่ไหว เราก็จะดูแลของเรา จะเห็นว่าสายไฟฟ้ามีระเบียบ เพราะไฟฟ้ามันอันตรายมันต้องมีระเบียบ แต่สายสื่อสารมันไม่อันตราย จับไปไม่เป็นไร แต่ไฟฟ้าจับไปอาจจะโดนไฟดูดได้ แต่ที่ไม่เรียบร้อยคือสายสื่อสารทั้งนั้น ซึ่งเขาก็ไม่เดือดร้อน มันไม่อันตราย ไม่มีใครถึงตายเพราะสายสื่อสาร"

          สายไฟยุ่งเหยิงเห็นเกะกะรกหูรกตานั้น แบ่งได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ ส่วนแรก ผู้ประกอบการขอนุญาต กฟน. ติดตั้งอย่างถูกต้อง และส่วนที่สอง ผู้ลักลอบลากสายติดตั้ง อย่างไรก็ตาม วิธีการติดตั้งนั้นแทบไม่ต่างกัน เพราะจะเห็นว่าช่างที่มาติดตั้งไม่ต้องมีความรู้หรือใครจะมาติดตั้งก็ได้ เพราะสายสื่อสารมันอันตราย ท้ายที่สุดเผยให้เห็นแต่ความไร้ระเบียบ

          "ที่ผ่านมามีบทลงโทษ แต่ปัญหาคือไม่มีการดำเนินการและยังไม่มีผลชัดเจน เราเลยคิดว่าใช้วิธีคุยกันดีกว่าจะได้ไม่ต้องมาลักลอบกัน ทำอะไรให้มันเป็นระเบียบดีกว่า กสทช. เป็นตัวหลัก กฟน. ทำเฉพาะระบบไฟฟ้า"

          เทพศักดิ์ กล่าวว่า การนำสายไฟลงดินเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ต้องดำเนินการอย่างบูรณาการ ซึ่ง MOU ความร่วมมือการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารโทรคมนาคมแบบสายอากาศเป็นระบบสายใต้ดิน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี จากเมื่อก่อนนี้ก็ต่างคนต่างทำ ส่วนตอนนี้พยามยามผลักดันจัดระเบียบให้มันไปด้วยกันให้ได้ และทุกฝ่ายให้ความร่วมมือมีเจตนารมณ์เหมือนๆ กัน ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดการให้เป็นรูปธรรม

          โดยพื้นที่ในแผนการดำเนินการในระยะที่ 1 ได้แก่ จิตรลดา ปทุมวัน และพญาไท นนทรี พระราม 3 รัชดาภิเษก - พระราม 9 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วในพื้นที่ สีลม พญาไท พหลโยธิน ลุมพินี สุขุมวิท และปทุมวัน

          การจัดระเบียบสายไฟฟ้าและสายโทรคมนาคมนั้น ประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจคงหลีกไม่พ้นกรณีมหาเศรษฐีเจ้าพ่อไมโครซอฟท์โพสต์ภาพและข้อความแสดงความคิดเห็น ซึ่งกลายเป็นโจทย์ข้อสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องพยายามปรับแก้อย่างเร่งด่วน โดยทาง กฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย และประธานบอร์ด กฟน. เปิดเผยว่า

          "หากเห็นตามข่าว เมื่อไม่กี่วันนี้ที่มีนักธุรกิจชาวต่างชาติชื่อดัง (บิลล์ เกสต์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ไมโครซอฟท์) ได้โพสต์ภาพบน เฟซบุ๊ก ถึงสายไฟที่ระโยงระยางในประเทศไทยส่วนตัวได้มีการหารือกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ได้มีการให้คำแนะนำว่าอย่าไปแก้ตัว แต่อยากให้ทำให้เขาและคนอื่นๆ เห็นด้วยการปรับภูมิทัศน์นำสายไฟและสายโทรคมนาคมลงดินให้เห็นว่าเมืองมีความสวยงามขึ้นแทน"

          สำหรับการดำเนินการนำสายไฟฟ้าและสายโทรคมนาคมทั้งหมดในพื้นที่กรุงเทพฯ ลงดิน กำหนดการเดิมตามMOUมีระยะเวลาทั้งสิ้น 10 ปี (2559-2568) แต่งานนี้ บิ๊กตู่ กำชับให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี โดยจะใช้งบประมาณ 48,717 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อสร้างภูมิทัศน์ที่สวยงามแก่กรุงเทพ มหานคร ต้อนรับมหานครแห่งอาเซียน



แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 องศา ฉบับวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 (หน้า 56)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่