ทำไม ม.เกษตรศาสตร์ แต่ละวิทยาเขต ดูแบ่งแยกกันยังไงไม่รู้

ทำไม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แต่ละวิทยาเขตดูแบ่งแยกกันจัง คือเราก็รู้ว่าม.เกษตรมีหลายวิทยาเขต ตอนแรกคิดว่าคงมีบางคณะไปเรียนที่วิทยาเขตนี้หรือ ปีสูงๆอาจแยกไปเรียนอีกวิทยาเขตนึง แต่สุดท้ายก็คือเรียนที่ม.เกษตร แต่พอเราไปลองคำนวณคะแนนมันมีให้เลือกคณะ เราก็สงสัยว่า ทำไม วิศว วิทย์ และคณะอื่นๆ มีให้เลือกแบบวิศวธรรมดา วิศวกำแพงแสน วิศวศรีราชา วิศวสกล เราก็เลยไปหาข้อมูล สรุปคือเลือกที่ไหนก็เรียนวิทยาเขตนั้นจนจบเลย คณะอื่นก็ด้วย เราก็รู้สึกว่าทำไมมันดูแบ่งแยกกันจังเลย ขนาดเว็บไซต์มหาวิทยาลัย ยังแยกกันในแต่ละวิทยาเขตเลย แต่ละวิทยาเขตคณะก็มีเหมือนกันเลย มันดูแบ่งแยกมาก ม.เกษตรน่าจะทำเหมือนมหาวิทยาลัยอื่นนะ ที่แบบปีแรกเรียนที่นี่ที่เดียวปีต่อไปแยกกันไปแต่ละวิทยาเขต หรือแต่ละวิทยาเขตก็มีคณะต่างกัน ใครเรียนคณะไหน ก็ไปเรียนตามวิทยาเขตที่คณะตัวเองอยู่แต่สุดท้ายก็คือเรียนม.เกษตร แต่นี้ดูแบ่งแยกกันเลย เหมือนเป็นคนละมหาวิทยาลัยเลยแต่แค่ใช้ชื่อ ม.เกษตร วิทยาเขตกำแพงแสนก็พื้นที่เยอะมากๆ มีทุกคณะเหมือนม.เกษตร บางเขน สมมุติถ้าจะตั้งเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ สามารถทำได้ทันทีเลย  เห็นไปอ่านมาในใบทรานสคริปก็เขียนว่า คณะ... ตามด้วยวิทยาเขต คือดูแบ่งแยกมาก รู้สึกไม่ค่อยโอเคเลยแบบนี้

ไม่เอาไม่พูด ไม่เอาไม่พูด
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 5
ขอตอบยาวหน่อยนะคะ

จะเรียกว่าแบ่งแยกก็ไม่ถูกซะทีเดียวนะคะ ยังไงเกษตรก็คือเกษตรค่ะ รากเหง้าของเราคือเกษตร แค่เพียงแต่ละวิทยาเขตก็มีจุดเด่นต่างกัน
ที่แต่ละวิทยาเขตมีตวามแตกต่างกันก็เพราะ วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งแต่ละวิทยาเขตแตกต่างกันค่ะ หลักๆจะขึ้นกับที่ตั้งวิทยาเขต เช่น

- เกษตรกลาง บางเขน  ตอนยุคแรกก่อนเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็เคยเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมมาก่อน มีโรงเรียนและสถานีทดลองกสิกรรมกระจายอยู่ทั่วทุกภาค สมัยเกือบๆ 100 ปีที่แล้ว การเดินทางติดต่อยังไม่ดีเท่านี้ ก็ต้องมีศูนย์กลางการติดต่อก็คือบางเขนที่อยู่ใน กทม. จนกลายมาเป็นเกษตรกลางบางเขนในปัจจุบัน

***เพิ่มเติม  เมื่อก่อนบางเขนเป็นทุ่งนาก็มีพื้นที่ให้ปฏิบัติพอสมควร ต่อมาเมืองขยายขึ้น ม.เกษตร ก็ต้องให้พื้นที่ของมาหาวิทยาลัยกับรัฐฯ เพื่อทำถนนหนทางทั้ง 4 ด้าน ของมหาลัย (เคยได้ยินว่าเมื่อก่อนที่ของม.เกษตรติดทางรถไฟ ก็หมายความว่าถนนวิภาวดีทั้งขาเข้าและขาออกที่ผ่านบริเวณม.เกษตรนั้น เคยเป็นที่ของม.เกษตรมาก่อน)

- วิทยาเขตกำแพงแสน  มีวัตถุประสงค์ก็คือหาที่จัดการเรียนการสอน และการวิจัยเพิ่ม และหาพื้นที่ได้ประมาณ 8,000 ไร่ มากกว่าบางเขนประมาณ 10 เท่า ถ้าสังเกตดีๆจะพบว่ากำแพงแสนคล้ายบางเขนมาก คือมีถนนผ่าน 3 ด้าน และอีกหนึ่งด้านติดทางรถไฟ  มก.กพส.ได้ทุนให้เปล่าจากรัฐบาลญี่ปุ่นเยอะมาก เพื่อก่อสร้างอาคารและจัดหาครุภัณฑ์สำหรับการวิจัยและการบริการวิชาการ ที่มก.กพส.ก็เลยจะมีพวกศูนย์วิจัยต่างๆอยู่เยอะพอสมควร เช่น ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ และศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตรแห่งชาติ ฯลฯ  แล้วก็เริ่มให้นิสิตมาเรียนที่ กพส. โดยให้นิสิตปี 3-4 ของหลักสูตรเกษตรศาสตร์ วิศวชลประทาน วิศวกรรมเกษตร ศึกษาศาสตร์เกษตร เศรษฐศาสตร์เกษตร และนิสิตปี5-6 ของหลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์ มาเรียนที่ กพส.  เนื่องจาก กพส.พื้นที่เยอะหลักสูตรที่ย้ายมาก็จะเป็นหลักสูตรที่ต้องใช้พื้นที่ในการฝึกปฏิบัติ เช่น สัตวบาลก็มีฟาร์ม วิศวกรรมเกษตรก็ร่วมกับศูนย์เครื่องจักรกลเกษตรและมีแปลงให้ทดสอบเครื่องจักรกลเกษตรด้วย

***เพิ่มเติม  ในปัจจุบัน 2562 หลักสูตรที่ให้นิสิตปี3-4มาเรียนที่ กพส. ย้ายหลักสูตรจากจัดการเรียนการสอนที่วิทยาเขตกำแพงแสนถาวร และเป็นรุ่นบุกเบิกของที่นี่ (อาจารย์ที่สอนเรามาเป็นหนึ่งในนั้น) ยังเหลือคณะสัตวแพทยศาสตร์ที่ยังต้องเรียนที่บางเขนก่อน 3 ปี เรียนที่ กพส.อีก 2 ปี แล้วปีสุดท้ายถึงจะออกไปฝึกงานตามโรงพยาบาลสัตว์ค่ะ

- วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร มีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษา และสนับสนุนช่วยเหลือด้านวิชาการแก่โครงการตามพระราชดำริ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

- วิทยาเขตศรีราชา  แต่เดิมเป็นเดิมเป็นสถานีวิจัยและสถานที่ฝึกงานของนิสิตมาก่อน มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นคว้าวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก โดยเฉพาะทางด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา

นอกจากทั้ง 4 วิทยาเขตแล้ว ก็ยังมีโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอีก ซึ่งก็มีวัตถุประสงค์การจัดตั้งแตกต่างออกไปจากวิทยาเขตอื่นๆ
ที่นี้มาพูดถึงเรื่องชื่อคณะบ้างนะคะ อย่างที่ จขกท.ยกตัวอย่างมา เรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อนอยู่พอสมควร เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการและข้อกำหนดของสำนักคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ค่ะ ข้อกำหนดของการเป็นวิทยาเขตก็คือจะต้องมีอย่างน้อย 4 คณะ และ 1 สถาบัน ค่ะ ซึ่งก็มีข้อกำหนดของคณะอีกว่าแต่ละคณะจะต้องมีกี่หลักสูตร และแต่ละหลักสูตรต้องมีนิสิตครบ 4 ชั้นปี   ขอย้อนกลับไปอธิบายตอนให้นิสิตบางคณะไปเรียนที่ กพส. นะคะ ตอนแรกก็จะย้ายปี 3-4 มาก่อน หลังจากนั้นก็เริ่มย้ายมาทุกชั้นปี สร้างจนเป็นคณะ และเป็นวิทยาเขตในปัจจุบันค่ะ  ส่วนการตั้งชื่อคณะ เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน ก็เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารงานค่ะ พวกโครงสร้างหน่วยงานและการจัดงบประมาณต่างๆ การใส่ชื่อวิทยาเขตต่อท้ายทำให้เกิดความชัดเจน ไม่เข้าใจคลาดเคลื่อนกันค่ะ พอเข้าใจตรงกันก็บริหารงานง่าย ทุกอย่างมันก็พัฒนาเร็ว

***เพิ่มเติม ทุกวิทยาเขตไม่ได้มีชื่อคณะเหมือนกันทั้งหมดแล้วต่อด้วยชื่อวิทยาเขตอย่างเดียวนะคะ ยกตัวอย่างที่ กพส. มีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ก็จะเป็นคณะที่มีการรวมกันหลักสูตรจากศาสตร์ 2 ด้านค่ะ ก็จะมีวิทย์เพียว เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วิทย์คอม รวมกับ ศิลปศาสตร์ เช่น การจัดการ ภาษาต่างประเทศ การโรงแรม ประมาณนี้ค่ะ   ที่ ฉกส. ก็มีคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ  บอกเลยว่าชื่อคณะมันซับซ้อนจริงๆค่ะ

ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมไม่ให้คณะนี้เรียนแค่ที่วิทยาเขตนี้ ก็ต้องบอกว่าศาสตร์ในคณะนั้นมันก็มีความหลากหลายค่ะ เราต้องดูว่าสิ่งที่สนับสนุนการเรียนของนิสิตในศาสตร์นั้นถ้ามันจำกัดอยู่แค่วิทยาเขตเดียวจะเพียงพอหรือเปล่าค่ะ ยกตัวอย่างคณะประมงถ้าเราศึกษาแค่สัตว์ในน้ำจืดที่บางเขนที่เดียวก็น่าจะพอใช่ไหมคะ แต่สิ่งสนับสนุนด้านพื้นที่ที่กำแพงแสนมันมีเยอะกว่า เพาะพันธ์สัตว์น้ำก็ไปเรียนที่กำแพงแสนดีกว่า แต่ถ้าจะไปเรียนเกี่ยวกับสัตว์น้ำเค็มที่ศรีราชาก็สะดวกกว่าที่บางเขนใช่ไหมคะ

ต่อเรื่องที่ จขกท. พูดถึงการเรียนหลายวิทยาเขตนะคะ  เมื่อก่อนที่ม.เกษตรสามารถเรียนข้ามวิทยาเขตได้นะคะ ยกตัวอย่างจากที่เคยฟังรุ่นพี่เล่ามานะคะ คือพี่คนหนึ่งเรียนที่ กพส. มีปัญหาทำให้ต้องหยุดเรียนไป พอกลับมาเรียนอีกเทอมรายวิชาที่จะต้องใช้เป็นวิชาพื้นฐานสำหรับเรียนตัวต่อไปไม่เปิด ก็สามารถไปลงทะเบียนเรียนวิชานั้นที่บางเขนได้ค่ะ  พี่อีกคนนึงเรียนที่ มก.ฉกส. มีปัญหาคล้ายๆกันก็มาลงทะเบียนเรียนที่บางเขนได้ค่ะ ต่างกันตรงที่ กพส. นั่งรถไปกลับได้ค่ะ แต่พี่ที่มาจากสกลต้องอยู่หอที่บางเขน

ส่วนจากประสบการณ์ของตัวเองก็คือ ประมาณเทอม 2 ปี 57 ค่ะ ตอนนั้นอ.ที่ปรึกษาอยากให้ส่งบทความเกี่ยวกับระบบควบคุมอัตโนมัติ เลยบอกให้ไปลงเรียน Automatic control ซึ่งเป็นวิชาเลือกค่ะ เพราะต้องใช้ความรู้ด้านนี้เยอะ ภาควิชาที่เปิดสอนก็มี วศ.เกษตร วศ.เครื่องกล วศ.อาหาร แต่เทอมนั้นไม่มีภาคไหนเปิดวิชานี้เลย แต่ที่บางเขนเปิด เราก็เลยไปลงทะเบียนเรียนวิชานี้ที่บางเขน  บอกเลยว่าใจไม่แข็งพออย่าทำเพราะเสียพลังงานเยอะมาก วันนั้นทั้งวันเรียนได้แค่ตัวเดียว ต้องนั่งรถรอบตี 5 จากกำแพงแสน ให้มาถึงบางเขนก่อน 8 โมง เพราะอาจารย์มีควิซก่อนเรียน วันไหนรถติดนี่ถึงกับต้องวิ่งเพื่อไปให้ทันควิซ  เรียนเสร็จก็ขึ้นรถกลับ กว่าจะถึง กพส. ก็เกือบบ่าย 3   แต่ทุกอย่างมันก็คือประสบการณ์

มาถึงประเด็นเว็บไซต์มหาวิทยาลัยค่ะ ต้องเกริ่นนำก่อนว่าอินเตอร์เน็ตของทุกมหาวิทยาลัยจะต้องใช้เครือข่ายกลางของ สกอ. เรียกว่า uninet ค่ะ ม.เกษตร ก็ใช้ นิสิตทุกคนก็จะมี user name ของตัวเอง ซึ่งก็คือรหัสนิสิต เคยสังเกตรหัสไหมคะ สองตัวแรกเป็นปีที่เข้าเรียน ตัวถัดไปมันก็จะบอกว่าวิทยาเขตไหน คณะอะไร เรียนสาขาอะไร ลำดับที่เท่าไหร่ ทุกวิทยาเข้ามันใช้เครือข่ายเดียวกันค่ะ และ user name ที่เป็นรหัสนิสิตของเราก็เอาไปใช้เล่นเน็ตของม.เกษตรได้ทุกวิทยาเขตค่ะ ส่วนเรื่องเว็บไซท์ก็จะมีเว็บหลักของมหาลัยค่ะ www.ku.ac.th เว็บหลักก็จะมี link ไปที่หน้าต่างของแต่ละวิทยาเขตค่ะ แต่ละวิทยาเขตก็มี link ไปที่คณะในวิทยาเขตนั้นค่ะ

เรื่อง link เว็บไซท์ จะคล้ายๆกับการตั้งชื่อคณะนั่นแหละค่ะ คือถ้าเราใส่ชื่อทุกหลักสูตรที่เรียนวิศวะไว้ใน เว็บไซท์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์เฉยๆ แบบไม่มีวิทยาเขตต่อท้าย คนเข้ามาใช้งานเว็บไซท์อาจจะเข้าใจผิดได้ว่าหลักสูตรนี้อยู่ที่วิทยาเขตไหน ก็เข้าถึงข้อมูลได้ช้าค่ะ อย่างที่บอกข้อมูลชัดเจน ก็เข้าใจง่าย และพัฒนาต่อได้เร็วค่ะ

ถ้าเข้าใจเรื่อง subset ดี จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ค่ะ และเว็บไซท์ที่เป็นเว็บใหญ่ๆ ก็จะมีที่เก็บข้อมูลไว้หลายชุดค่ะ คล้ายๆกับเราเอาโฟลเดอร์ที่มีข้อมีมูลเยอะๆ4อันเก็บไว้ในไดรฟ์อันเดียว เวลาเปิดมันก็ช้าใช่ไหมคะ ก็เลยแยกเก็บเป็นไดรฟ์ละ 1 โฟลเดอร์ มันก็จะเปิดเร็วขึ้น และถ้าไดรฟ์เสีย ข้อมูลก็ไม่หายทั้งหมดค่ะ

เรื่องใบทรานสคริป คำอธิบายเหมือนกับการตั้งชื่อเลยค่ะ แต่ใบปริญญาบัตรจะมีชื่อปริญญาที่เราจบมาว่าจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ค่ะ

สำหรับมหาวิทยาลัยอื่นถึงแม้ว่าถึงจะมีพื้นที่ไม่เยอะ แต่ถ้าการบริหารงานของวิทยาเขตดีก็สามารถยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยได้ค่ะ มีหลายที่เลย  แต่ที่กำแพงแสนถึงจะมีพื้นที่เยอะขนาดไหนก็ไม่แยกตัวออกมาหรอกค่ะ เพราะอย่างที่บอกตั้งแต่ต้น ยังไงเกษตรก็คือเกษตรค่ะ รากเหง้าของเราคือเกษตร อุดมการณ์เดียวกัน พื้นฐานเราคือสิ่งเดียวกันถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน

สุดท้ายนี้หวังว่าจะตอบคำถาม จขกท. ได้ตลบทุกอย่างตามที่ตั้งกระทู้มา และหวังว่าคงจะเป็นแนวทางให้หลายๆคนได้เข้าใจเรื่องราวต่างๆในมุมของพี่คนนี้มากขึ้น  ไม่รู้ว่า จขกท. จะ ok หรือไม่ ok เมื่ออ่านมาจนถึงตรงนี้  แต่บอกได้อย่างเดียวว่าน่าเสียดายมากถ้ามีโอกาสได้เรียนแล้วไม่ตัดสินในเรียนที่ม.เกษตร ไม่ว่าจะวิทยาเขตไหนก็ตาม

จบปิ๊ง <3  พี่ส้ม KU69
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่