ปากบารา ในฐานะ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กับอุตสาหกรรมหนักขนาดใหญ่

กระทู้นี้ผมได้นำมาจากบทความที่ผมได้เขียนขึ้นเพื่อใช้ในการศึกษาในรายวิชาสัมนาทางการศึกษา ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่เป็นนโยบายพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจของรัฐบาลบริเวณตำบอลปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ซึ่งผมและเพื่อนได้ลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ปากบาราด้วยตนเอง และผมคิดว่าคนส่วนใหญ่และบางส่วนของประเทศยังไม่เคยได้รับรู้ถึงนโยบายดังกล่าวนี้ ผมเลยได้นำบทความนี้มาบอกกล่าวและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆกันคับ......ธัญพืชดอกไม้

      จังหวัดสตูลเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ ที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศและความงดงามทางธรรมชาติที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น ป่าไม้ ภูเขา น้ำตก ทะเลสาบ ชายหาด และหมู่เกาะต่างๆอีกมากมาย ประกอบกับประชาชนในในจังหวัดสตูลมีวิถีชีวิตอันเรียบง่าย ดำรงชีวิตด้วยความสงบ บ้านเมืองสะอาดสะอ้านน่าอยู่ และด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงทำให้จังหวัดสตูลได้รับสมญานามว่า สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นคำขวัญประจำจังหวัดสตูล

      นักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือต่างชาติ ต่างหลั่งไหลเข้ามาชื่นชมความงามทางธรรมชาติของจังหวัดสตูล เช่น น้ำตกวังสายทอง ทะเลสาบน้ำจืดทะเลบัน เกาะหลีเป๊ะ เกาะตะรุเตา ฯลฯ และด้วยเหตุนี้การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในจังหวัดสตูลจึงมีความคึกคักและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดสตูลเป็นอย่างมาก และนอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นตนให้คงความงดงามและอุดมสมบูรณ์เพื่อเป็นการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อไป

      
อุทยานแห่งชาติเป็นสมบัติของชาติ แต่พวกผมเนี่ยทำหน้าที่ปกป้องสมบัติของชาติชิ้นนี้อยู่ เพื่ออะไร เพื่อคนที่ทำงาน เหนื่อยจากการทำงานจะได้มาพักผ่อนกัน เราทำด้วยใจและจิตวิญญาณจริงๆ ไม่ได้ค้านเพราะต้องการเงิน(ไกรวุฒิ ชูสกุล , 2558 :สัมภาษณ์)



ความงดงามทางธรรมชาติของสตูล

      การท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ของจังหวัดสตูลซึ่งกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วดำเนินการไปได้สักระยะหนึ่งก็ได้เดินทางมาถึงทางแยก เมื่อรัฐบาลมีนโยบายสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของภาพฝัน “เก่าเก็บ” ในการพัฒนาภาคใต้เป็น Southern Seaboard ในรูปแบบเดียวกับ Eastern Seaboard คือการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมขนาดยักษ์ โดยมีท่าเทียบเรือเป็นเสมือนก้าวแรกของการพัฒนา(รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ : 2558) ซึ่งเมื่อมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราจะทำให้เกิดโครงการอื่นๆตามมาอีกมากมาย ที่จะสร้างระหว่างทางเชื่อมสะพานเศรษฐกิจ(Land Bridge) ของสองฝั่งฟากทะเล เช่น โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โรงไฟฟ้า เขื่อนกักเก็บน้ำ เป็นต้น โดยข้อมูลของกรมเจ้าท่าระบุว่าเมื่อโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราก่อสร้างเสร็จสิ้นจะส่งผลทางบวกต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและสามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่จังหวัดสตูล และพื้นที่ใกล้เคียงได้เป็นอย่างมาก


แบบจำลองท่าเรือน้ำลึกปากบารา


สะพานเศรษฐกิจเชื่อมสองฝั่งทะเล

ผลประโยชน์จากโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา(กรมเจ้าท่า : 2552)
1. เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

2. เสริมสร้างความมั่นคง และสมุทธานุภาพของประเทศ

3. ลดการพึ่งพาท่าเรือต่างประเทศ

4. ลดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ต่อ GDP ของประเทศ

5. ประชาชนในพื้นที่มีงานทำ ไม่ย้ายถิ่นฐาน ครอบครัวอบอุ่น ลดเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้

6. จัดเก็บภาษีท้องถิ่นได้เพิ่มขึ้น นำมาพัฒนาท้องถิ่น

7. เพิ่มโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรม และธุรกิจต่อเนื่อง เช่น การแปรรูปอุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร และประมง ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้า


บริเวณที่จะใช้ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา


      ผมได้ไปสัมภาษณ์คุณไกรวุฒิ ชูสกุล (บังไก่) ซึ่งเป็นรองประธานเครือข่ายประชาชนรักษ์อ่าวบาราและเจ้าของบริษัททัวร์แห่งหนึ่ง ถึงเรื่องการอยู่รอดของทัวร์ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางทะเลของจังหวัดสตูล ถ้าหากเกิดท่าเรือน้ำลึกปากบาราจริงๆ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางทะเลของจังหวัดสตูล เช่น เกาะหลีเป๊ะ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง ฯลฯ จะยังดำรงอยู่ได้ไหม บังไก่ได้ตอบผมว่า

      
โอกาสการอยู่รอดของทัวร์นำเที่ยวเกาะต่างๆจะอยู่รอดได้ยากมาก เพราะว่าการก่อสร้างโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารานั้นจะก่อให้เกิดมลภาวะและปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านลบต่อแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ใต้ทะเล และริมชายฝั่งทั้งในพื้นที่ก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกและบริเวณใกล้เคียง การตอกเสาเข็มสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราจะทำให้ตะกอนใต้น้ำฟุ้งกระจาย ทำให้น้ำทะเลขุ่นมั่ว ส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของจังหวัดสตูล ไม่ว่าจะเป็นเกาะหลีเป๊ะ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง ฯลฯ นอกจากนี้แล้วการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราจำเป็นต้องใช้รถบรรทุกในการบรรทุกสิ่งของที่ใช้ในการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งจะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ทางเสียง ทางสายตา เป็นต้น (ไกรวุฒิ ชูสกุล , 2558 :สัมภาษณ์)



บังไก่(คนกลาง) ผู้ให้สัมภาษณ์

      หลังจากผมได้ฟังทัศนคติของบังไก่ต่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่อาจจะหายไปพร้อมๆกับการเข้ามาของท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราแล้ว ผมได้ถามบังไก่ต่อว่า “แล้วถ้าคนอีกกลุ่มหนึ่งเขามองว่า การสร้างท่าเรือน้ำลึกเป็นการพัฒนาประเทศ นำรายได้มาสู่ประเทศ บังคิดว่าเราจะมีวิธีการพัฒนาประเทศทางอื่นหรืออย่างอื่นไหมที่ไม่ต้องสร้างท่าเรือปากบารา เราควรที่จะเอาเงินที่ลงทุนท่าเรือนี้ เอาไปส่งเสริมหรือพัฒนาอะไรแทน?”

      ถ้าเป็นภาคใต้นะ ให้ทำโรดแมฟการท่องเที่ยวใหม่ เข้าสู่อาเซียน คือถ้าเราไม่เอาท่าเรือน้ำลึกนะ วันนี้เรามีอย่างที่ผมบอก เรามีตั้งแต่ด้านใต้สุดของประเทศไทยฝั่งอันดามัน สตูลมีหมู่เกาะทั้งหมด 80 กว่าเกาะ ถัดมาที่ตรังหมู่เกาะตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง หมู่เกาะตรงนี้มีมหาศาล หมู่เกาะพวกนี้แฝงไปด้วยวิถีชีวิตชาวประมงชายฝั่งไว้ แฝงความเป็นตัวตนของสังคมที่เข้าไปเรียนรู้ได้ในอีกระบบการท่องเที่ยวอีกแบบหนึ่ง แต่ชายฝั่งที่ผมบอกมีอุทยานมีแหล่งต่างๆ นี่คือแหล่งเงิน ตัวเลขที่เราไม่ต้องลงทุนอะไรเลย


เรือประมงในพื้นที่ปากบารา

      แหล่งท่องเที่ยวมันมีกระจายอยู่ทั่วไป ทั่วจังหวัดแต่ละจังหวัด เชื่อมกันให้ได้เป็นโรดแมฟ ให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศนี้ มาถึงคีย์ข้อมูลที่อยากท่องเที่ยว ถ้าอยากมาภาคใต้ก็คีย์ มันก็เป็นภาษานั้นเลย แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดนี้มันไปเชื่อมกับตรงกลางหรือตรงไหน ถ้าจะไปอ่าวไทยระหว่างที่ไปอ่าวไทย สมมติว่าเราจะไปสงขลาจากปากบารา มันจะมีเลยไปสันหลังมังกร ไปถ้ำสเตกุดอน ไปล่องแก่งแคนนูคายักสัมผัสซาไก เที่ยวน้ำตก บ่อน้ำร้อน การค้าชายแดนมาเลเซีย คือนักท่องเที่ยวจะไปที่ไหนก็จะคีย์ข้อมูลได้เลย พอเขาจะไปเที่ยวตรังก็นั่งรถไปแล้วดูว่ามันมีอะไรเที่ยวระหว่างทาง นี่คือเงินที่แทนจะหล่นไปตามประเทศมหาศาล เราสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากกว่าที่เราคิด คนหนึ่งคนที่ทำสวนอยู่กับพ่อแม่เป็นเจ้าของธุรกิจได้ พ่อแม่ทำสวนก็ทำ แต่เราทำเป็นธุรกิจครอบครัวมีที่พักเป็นโฮมสเตย์ พาเขาเที่ยวเขาชม ยิ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อหัวต่อคน อาหารการกินมีความสะอาดความพร้อม นี่แหละคือการทำธุรกิจโดยไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องไปกู้แบงค์จนเป็นหนี้เป็นสิน(ไกรวุฒิ ชูสกุล , 2558 :สัมภาษณ์)


วิถีชีวิตคนปากบารา

วิถีชีวิตคนปากบารา

      และท้ายที่สุดเมื่อสตูลเดินมาถึงทางแยกพวกเราคงต้องตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกที่จะเลี้ยวไปทางไหน ระหว่าง การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อรักษาไว้ซึ่งธรรมชาติและวิถีชีวิตที่งดงาม แต่อาจต้องแลกมากับ การที่ประเทศและคนในพื้นที่จะไม่ได้รับรายได้ทางด้านเศรษฐกิจจากการก่อสร้างโครงการต่างๆ กับ การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและอุตสาหกรรมหนักขนาดใหญ่ ที่อาจจะต้องแลกมาด้วยความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตของคนในจังหวัดสตูล และธรรมชาติอันงดงามที่สะดุดตา สะดุดใจผู้ที่มาเยือน ของแนวปะการัง ชายหาดและหมู่เกาะต่างๆในเขตอุทยานแห่งชาติของจังหวัดสตูล และความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจที่อาจจะได้รับหรือไม่ได้รับผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
    ...ขอบคุณรูปภาพจากเพื่อนๆในกลุ่มและภาพบางส่วนจากอินเตอร์เน็ต ขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์ทุกท่าน ขอบคุณครอบครัวแกล้วทนงค์ที่อำนวยความสะดวกในด้านพาหนะ ขอบคุณบังรันผู้(ใหญ่บ้าน)ที่ให้ความอนุเคราะห์และช่วยเหลืออย่างดีในการไปลงพื้นที่...
Thank You...ยิ้มอมยิ้ม01
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่