ความรู้ก่อนนอน (๒๒)

กระทู้สนทนา
พบกันอีกแล้วนะครับ...

เป็นภาพขบวนรถไฟพระที่นั่งรอรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่ชานชาลาสถานีบางกอกน้อย

สถานีรถไฟบางกอกน้อยสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5  เมื่อ พ.ศ.2443 บริเวณปากคลองบางกอกน้อยซึ่งเป็นที่ดินเวนคืนจากชาวมุสลิม โดยพระองค์ได้พระราชทานที่ดินฝั่งตรงกันข้าม พร้อมกับสร้างมัสยิด “อันซอริซซุนนะห์” ( มัสยิดหลวง ) ให้เป็นการทดแทน



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเปิด “สถานีรถไฟธนบุรี” ในวันที่  19 มิถุนายน พ.ศ.2446 เปิดเดินรถวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2446 บริเวณริมคลองบางกอกน้อย  อันเป็นเส้นทางสู่ภาคใต้และภาคตะวันตกของประเทศทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นศูนย์รวมของผู้คนที่จะเดินทางออกจากเมืองหลวง โดยอาศัยเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา ( สมัยนั้นยังไม่มีสะพานข้าม )



ขอกล่าวถึงทางรถไฟสายใต้อีกสักเล็กน้อยครับ

ในปี พ.ศ.2435 นายอากี เวสเตนโฮลซ์ (Aage Westenholz) ได้ยื่นหนังสือขอสัมปทานสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ - เพชรบุรี แต่รัฐบาลมิได้พิจารณาอนุมัติจนนายอากี เวสเตนโฮลซ์ ได้ยื่นขออีกครั้งในปี พ.ศ.2436 และได้รับอนุมัติให้สร้างด้วยขนาดรางความกว้าง 1.000 เมตร เริ่มจากคลองบางกอกใหญ่ คลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก และตามถนนหลวงถึงเมืองเพชรบุรี โดยจะต้องสร้างภายในเวลา 5 ปี มิฉะนั้นรัฐบาลซื้อคืนได้

แต่หลังจากนั้น นายอากี ไม่สามารถหาทุนมาดำเนินการ จึงยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลรับคืนสัมปทานไปดำเนินการเอง และว่าจ้างตนเพื่อควบคุมการก่อสร้างภายใต้การควบคุมของรัฐบาลโดยประมาณค่าก่อสร้าง ๓ ล้านบาท แต่ที่ประชุมเสนาบดีปฏิเสธข้อเสนอนี้และตอบปฏิเสธไป เพราะทราบว่านายอากีเสนอขอเปลี่ยนแนวเส้นทางก่อสร้างเพราะเกรงว่าแนวเส้นทางเดิมประชาชนรู้จักกันดีอยู่แล้ว เกรงว่ารถไฟจะไม่ได้รับความนิยมจนถึงขาดทุน

ปัญหาเรื่องการขอเปลี่ยนแนวทางก่อสร้างดังกล่าว ควบคู่กับการเปลี่ยนมือผู้รับโอนเปลี่ยนสัมปทานรวม ๓ รายด้วยกัน ได้แก่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ นายจอห์น อาร์มสตรอง (John Armstrong) ผู้จัดการธนาคารชาร์เตอร์แห่งประเทศไทย และนายปีเตอร์ บูจิสลอส คาร์ทิอุส กินซ์ (Peter Bugisluas Cateus Kinch) ในการก่อสร้างทางรถไฟ

ในที่สุด นายกินซ์ เสนอให้รัฐบาลซื้อสัมปทานคืนเป็นเงิน ๒๕,๐๐๐ บาทและรัฐบาลได้รับซื้อคืนในปี พ.ศ.๒๔๔๓

หลังจากนั้น กรมรถไฟหลวงได้ว่าจ้างนายกินซ์เป็นผู้สำรวจและก่อสร้างทางรถไฟเริ่มในปี พ.ศ.๒๔๔๓ จนการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดการเดินรถได้ในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๖ ใช้งบประมาณ ๗,๘๘๐,๐๐๐ บาท การก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ - เพชรบุรี จึงล่าช้ากว่ากำหนด ๖ ปี  (พ.ศ.๒๔๓๗ - ๒๔๔๓)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่