เปิด Timeline 100 ปี สงครามสามก๊ก ตอนที่ 7 (ค.ศ.241-250)

ตอนที่ 1 http://pantip.com/topic/33657392/
ตอนที่ 2 http://pantip.com/topic/33665166/
ตอนที่ 3 http://pantip.com/topic/33674170/
ตอนที่ 4 http://pantip.com/topic/33683393/
ตอนที่ 5 http://pantip.com/topic/33691647/
ตอนที่ 6 http://pantip.com/topic/33701632/

จะพยายามอัพเดททั้งในเว็บพันทิปและในเพจ https://www.facebook.com/threekingdomhappyfamily
อย่างสม่ำเสมอนะครับผม แต่ถ้ามีล่าช้าประการใดบ้างต้องขออภัยด้วยนะครับ

ตอนที่ 7 กับ 8 เป็นช่วงเวลาที่ วรรณกรรมต้นฉบับเขียนแบบก้าวกระโดดมาก ๆ บางเหตุการณ์ไม่มีการเอ่ยถึงเลยด้วยซ้ำ แน่นอนว่า 60-70% ของเหตุการณ์ในสองตอนต่อจากนี้ คือ Unseen จริง ๆ ไม่สามารถพบได้ในวรรณกรรมสามก๊กอย่างแน่นอน จึงขอนำเสนอมา ณ ที่นี้ครับ



ตอนที่ 7 ปี ค.ศ. 241-250

สุมาอี้เผชิญภัยการเมืองในวุยก๊ก เกียงอุยนำทัพจ๊กก๊กประกาศสงคราม ง่อก๊กเกิดศึกสายเลือด

ค.ศ. 241
- หลังว่างเว้นภัยสงครามมานาน พระเจ้าซุนกวนเกิดขัตติยะมานะประกาศทำศึกกับวุยก๊กอีกครั้ง โดยยกทัพไปบุกทางเกงจิ๋วเช่นเดิม ครั้งนี้ได้ให้จูกัดเก๊กเป็นเสนาธิการทำศึก และจวนฉงบุตรเขยเป็นขุนพลเอก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ถูกทัพวุยก๊กที่นำโดยสุมาอี้และเตงงายตอบโต้จนต้องล่าถอยกลับไป
- จูกัดกิ๋น บิดาของจูกัดเก๊ก เสียชีวิตในปีนี้ด้วยโรคชรา จูกัดเก๊กบุตรชายคนโตซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าซุนกวนอยู่แล้วจึงแทบจะได้ยศศักดิ์สืบต่อจากบิดาทั้งหมด
- ความดีความชอบทั้งปวงของสุมาอี้ เริ่มตกเป็นที่จับตามองในทางลบของขุมอำนาจตระกูลโจที่นำโดยโจซอง

ค.ศ. 242
- จูกัดเก๊กแห่งง่อก๊ก ได้พยายามส่งกำลังพลมาสำรวจพื้นที่แนวตะเข็บชายแดนเพื่อหาช่องทางการในการทำศึกกับวุยก๊กอีกครั้ง
- สมุหนายกสุมาอี้ได้ให้เตงงายศิษย์เอกออกวางกำลังพลและป้องกันพื้นที่แถบเกงจิ๋ว ทำให้เตงงายได้เรียนรู้ถึงชัยภูมิแถบชายแดนของข้าศึกทั้งจ๊กก๊กและง่อก๊ก ด้วยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ในภายภาคหน้า
- อาณาจักรโคกูรยอแห่งประเทศเกาหลี ที่เป็นพันธมิตรกับวุยก๊กเริ่มออกอาการปีกกล้าขาแข็ง ด้วยการตั้งท่ารุกรานแคว้นเลียวตั๋งทางเหนือของประเทศจีน
- พระเจ้าซุนกวนแต่งตั้งซุนเหอบุตรชายคนโตเป็นรัชทายาท แต่แล้วกลับตั้งซุนป๋าบุตรชายที่เกิดกับมเหสีอีกคนเป็นรัชทายาทแข่งกันขึ้นมาอีก แนวโน้มศึกสายเลือดในราชสำนักง่อจึงค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น
- ซุนโฮ บุตรของซุนเหอก็เกิดปีนี้เช่นกัน เขาคือฮ่องเต้องค์สุดท้ายของง่อก๊กในอนาคต

ค.ศ. 243
- จูกัดเก๊กยกทัพมาทำศึกกับวุยก๊กอีกครั้งโดยเข้าตีแถบเมืองสิ่วชุนซึ่งเป็นหัวเมืองอีกด้านหนึ่ง แต่ก็ถูกกองทัพของสุมาอี้และเตงงายตอบโต้ขับไล่กลับไปได้เช่นเคย
- โดยเหตุการณ์ภายในวุยก๊กนั้น ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้น เมื่อโจซองซึ่งมีความริษยาในตัวสุมาอี้อยู่นานแล้ว ได้ทูลพระเจ้าโจฮองให้เลื่อนตำแหน่งสุมาอี้เป็นราชครู ซึ่งมีตำแหน่งสูงกว่าสมุหนายกแต่ไม่มีอำนาจทางทหาร แล้วตนเองก็ได้สืบตำแหน่งสมุหนายกแทน
- ฝ่ายสุมาอี้รู้ว่ากำลังโดนภัยการเมืองเล่นงานเข้าแล้ว จึงวางตัวนิ่งเฉยปล่อยไปตามสถานการณ์ ปล่อยให้ตระกูลโจสายโจซองขยายอำนาจตามที่พึงพอใจ
- ส่วนฝ่ายจ๊กก๊กนั้น จูกัดเจี๋ยมบุตรชายของขงเบ้งได้เติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่น และสร้างความดีความชอบในงานราชการหลายด้าน พระเจ้าเล่าเสี้ยนโปรดปรานมากจึงมอบพระธิดาองค์หนึ่งให้แต่งงานด้วย จูกัดเจี๋ยมจึงมีฐานะเป็นราชบุตรเขย
- ส่วนสมุหนายกเจียวอ้วนนั้นล้มป่วยลงจึงจำเป็นต้องมอบอำนาจและหน้าที่ทั้งหมดส่งต่อให้กับบิฮุยตามพินัยกรรมของขงเบ้ง
- โกะหยง สมุหนายกของง่อก๊ก เสียชีวิตในปีนี้ พระเจ้าซุนกวนจึงแต่งตั้งให้ลกซุนเข้ารับตำแหน่งสืบต่อ ลกซุนได้ใช้อำนาจนี้ในการออกตัวปกป้องและสนับสนุนรัชทายาทซุนเหอ จึงสร้างความขัดแย้งแก่ซุนป๋ารัชทายาทอีกฝ่ายเพิ่มขึ้นไปอีก
- ซุนเหลียง บุตรชายคนเล็กของพระเจ้าซุนกวนเกิดในปีนี้ ซุนกวนโปรดปรานเขามาก

ค.ศ. 244
- ฝ่ายวุยก๊ก เมื่อโจซองได้อำนาจทางทหารมาแล้วก็กำเริบเสิบสาน ยกทัพบุกจ๊กก๊กอย่างอหังการที่เมืองฮันต๋ง แต่ฝ่ายจ๊กก๊ก เพียงแค่ให้สมุหนายกบิฮุยกับขุนศึกอองเป๋งจัดกำลังทัพรับมือก็สามารถบดขยี้ทัพวุยก๊กจนแหลกลาญได้ ศึกครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวุยก๊กอย่างมาก เพราะโจซองสูญเสียกำลังทหารและยุทธปัจจัยรวมทั้งเสบียงไปเป็นจำนวนมหาศาล และจำเป็นต้องมีการโยกย้ายกำลังจากหลายภูมิภาคมาชดเชย รวมถึงการฟื้นฟูผลิตผลในกองเสบียงก็สิ้นเปลืองกำลังคนไปอีกไม่น้อย ส่งผลให้มีการยุตินโยบายปราบปรามชนเผ่านอกด่านทางเหนือไปด้วย ซึ่งชนเผ่านอกด่านนี้จะส่งผลกระทบต่อแผ่นดินจีนอีกครั้งในอนาคต เรียกได้ว่าเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของโจซองโดยเฉพาะ
- ในอีกด้านหนึ่ง อาณาจักรโคกูรยอของประเทศเกาหลีซึ่งเข้ารุกรานวุยก๊กจากทางแคว้นเลียวตั๋งนั้น ขุนพลบู๊ขิวเขียมที่ดูแลแคว้นเลียวตั๋งของวุยก๊ก ก็นำทัพเข้าตอบโต้กองทัพของกษัตริย์ดงเชยอนจนแตกพ่าย และยังคงรุกไล่ตีชิงดินแดนของโคกูรยอได้ถึงเมืองหลวงฮวันโด (หว่านตู) จนชาวโคกูรยอต้องถอยหนีไปตั้งรกรากทางตะวันออกที่ห่างไกลออกไปอีก
- ส่วนฝ่ายง่อก๊ก ด้วยเหตุที่ลกซุนเข้าสนับสนุนซุนเหอรัชทายาทฝ่ายหนึ่ง จึงถูกซุนป๋ารัชทายาทอีกฝ่ายซึ่งมีนางซุนลู่ปานหรือนางต้าหู่เคยยุยงส่งเสริมให้แข็งข้อ ด้วยการเพ็ดทูลใส่ไฟให้ลกซุนขัดแย้งกับพระเจ้าซุนกวนอย่างหนักจนถูกปลดออกจากตำแหน่งสมุหนายก ลกซุนเสียใจมากจนล้มป่วยลง และศึกสายเลือดในราชสำนักง่อก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ

ค.ศ. 245
- ฝ่ายวุยก๊ก ขุนพลบู๊ขิวเขียมตีชิงดินแดนและกวาดต้อนผู้คนชาวโคกูรยอหรือประเทศเกาหลีที่พ่ายศึกมาได้เป็นจำนวนมาก และดำเนินนโยบายควบคุมการขยายดินแดนของเกาหลีต่อไปอีกหลายปี
- ฝ่ายจ๊กก๊กนั้น เจียวอ้วนได้เสียชีวิตลงในปีนี้ด้วยอาการป่วยเรื้อรังหลายปี (บ้างก็ว่าเสียชีวิตในปี 246) ซึ่งทำให้บิฮุยได้สืบทอดตำแหน่งสมุหนายกอย่างเต็มรูปแบบ โดยตัวบิฮุยนั้นไม่ได้มีนโยบายงดเว้นสงครามมากเท่าเจียวอ้วน ดังนั้นจึงเปิดโอกาสให้เกียงอุยริเริ่มวางแผนทางทหารได้อีกครั้ง
- ส่วนฝ่ายง่อก๊กซึ่งกำลังเกิดศึกสายเลือดภายในอย่างวุ่นวาย ฝ่ายซุนป๋าได้ยุยงให้พระเจ้าซุนกวนส่งคนไปรุมประณามลกซุนซึ่งกำลังป่วยอยู่ในที่พักของตนเองอย่างต่อเนื่อง
- การกดดันเป็นเวลานานเช่นนี้ทำให้โรคเครียดของลกซุนกำเริบหนักและส่งผลให้เขาต้องเสียชีวิตลงในปีนี้ ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจของผู้คนในง่อก๊ก และทุกคนต่างรู้ดีว่าลกซุนทำคุณประโยชน์ให้กับแผ่นดินไว้มากมายเพียงใด

ค.ศ. 246
- บุตรชายของลกซุนชื่อว่า ลกข้อง ได้ถูกแต่งตั้งขึ้นมามีอำนาจในส่วนงานราชการและกองทัพ โดยแบ่งเบาภาระการคุมกองทัพบางส่วนจากจูกัดเก๊ก
- ฝ่ายจ๊กก๊กนั้น ได้มีการจัดระเบียบการปกครองเสียใหม่ บิฮุยนั้นดูแลเฉพาะกิจการภายในทั้งหมด ส่วนอำนาจทางทหารนั้นตกเป็นของเกียงอุย แต่ยังอยู่ในขอบข่ายการดูแลกับบิฮุยซึ่งถือว่าตำแหน่งสูงกว่าอยู่

ค.ศ. 247
- เกียงอุยเมื่อได้รับอำนาจทางทหารจึงเปิดฉากประกาศสงครามกับวุยก๊กอีกครั้งตามเจตนารมณ์ของขงเบ้ง ฝ่ายวุยก๊กจึงได้กรีทาทัพมารับศึก ซึ่งในตอนนั้นทางโจซองเข็ดขยาดกับการรบมามากพอแล้ว จึงมอบหมายหน้าที่นี้ให้เป็น กุยห้วยอดีตขุนพลเอกของโจจิ๋น แฮหัวป๋าบุตรชายของแฮหัวเอี๋ยน และเตงงายขุนพลเอกดาวรุ่งมาป้องกันชายแดนวุยก๊ก ฝ่ายเกียงอุยไม่สามารถรุกคืบได้ เกรงจะถูกล้อมตอบโต้จึงถอยทัพกลับฮันต๋งเพื่อคุมสถานการณ์
- ฝ่ายสุมาอี้นั้นประกาศยุติบทบาททางการเมือง ด้วยการลาออกจากตำแหน่งราชครูด้วยเหตุป่วยด้วยโรคชรา ทำให้โจซองกำเริบเสิบสาน ขยายอำนาจให้พวกพ้องตนเองกุมตำแหน่งสำคัญในเมืองหลวงอย่างเต็มที่ และจัดแจงบริหารกิจการต่าง ๆ ตามอำเภอใจ
- ศึกสายเลือดในราชสำนักง่อนั้นดำเนินต่อไป ขุนนางฝ่ายรัชทายาทของซุนเหอนั้นถูกใส่ร้ายป้ายสีจนต้องถูกพระเจ้าซุนกวนสั่งประหารชีวิตไปหลายคน

ค.ศ. 248
- ทางโจซองไม่วางใจอาการป่วยของสุมาอี้ จึงส่งคนมาคอยสืบข่าว และพบเห็นว่าสุมาอี้นั้นเจ็บป่วยเลอะเลือนจริง จึงวางใจว่าสุมาอี้นั้นจะไม่เป็นเสี้ยนหนามของตนอีกต่อไปแล้ว

ค.ศ. 249
- ฝ่ายวุยก๊ก โจซองได้นำพระเจ้าโจฮองออกจากเมืองหลวงเพื่อไปสักการะสุสานบรรพกษัตริย์วุย (โจโฉ โจผี โจยอย) พร้อมด้วยกำลังพลมากมายในการอารักขา ทำให้เมืองหลวงลกเอี๋ยงนั้นมีกองทหารของโจซองเหลือประจำการอยู่ไม่มากนัก
- ความจริงเปิดเผยว่าแท้จริงแล้วสุมาอี้ไม่ได้ป่วยจริง แต่เป็นการเสแสร้ง เพื่อดำเนินการเคลื่อนไหวอย่างลับ ๆ มาตลอดหลายปีเพื่อรวบรวมกำลังพลที่ขึ้นตรงแก่ตนเอง แล้วนำบุตรชายทั้งสอง (สุมาสู สุมาเจียว) ออกกระทำการรัฐประหารยึดอำนาจในเมืองลกเอี๋ยงอย่างรวดเร็ว กว่าข่าวจะแพร่ไปถึงโจซองที่นอกเมือง สุมาอี้ก็ยึดลกเอี๋ยงได้สำเร็จแล้ว
- ขุนนางฝ่ายโจซองแนะนำให้ทางโจซองไปจัดทัพที่เมืองฮูโต๋เพื่อรบกับสุมาอี้ เพราะกำลังได้เปรียบเนื่องจากพระเจ้าโจฮองก็อยู่กับฝ่ายตนเอง แต่โจซองนั้นประสบความล้มเหลวในด้านการทหารมาตลอดจึงลังเลที่จะตัดสินใจ ประจวบเหมาะกับทางสุมาอี้ส่งสาสน์ยื่นข้อเสนอแก่โจซองมาพอดี ว่าต้องการอำนาจทางทหารคืน ส่วนโจซองและพรรคพวกนั้นจะให้มีตำแหน่งขุนนางสืบต่อไป
- ฝ่ายโจซองหลงเชื่อจึงยอมจำนนต่อสุมาอี้ และสุดท้าย สุมาอี้ก็ยัดข้อหากบฎแก่โจซองกับพรรคพวกแล้วสั่งประหารชีวิตทั้งหมดรวมทั้งครอบครัวของพวกเขาด้วย นั่นจึงแปลว่า ผู้คนในสายตระกูลโจจำนวนมากต้องดูสังหารในเหตุการณ์ครั้งนี้ และส่งผลให้สุมาอี้และบุตรชายทั้งสองกุมอำนาจหลัก ๆ ในวุยก๊กได้ทั้งหมด
- แฮหัวป๋า บุตรชายของแฮหัวเอี๋ยนแห่งวุยก๊ก ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารของสุมาอี้ จึงแปรพักตร์มายังฝ่ายจ๊กก๊กและร่วมมือกับเกียงอุย ในการฉวยโอกาสยกทัพมาบุกเป็นครั้งที่ 2 ครั้งนี้ต้องปะทะกับทั้งเตงงายและต้านท่าย อีกหนึ่งขุนพลฝีมือดีที่สุมาอี้ใช้ในการทำรัฐประหาร ซึ่งสามารถตีโต้ให้เกียงอุยต้องถอยทัพกลับไปเป็นครั้งที่สอง
- เกียงอุยยังคงไม่ลดละความพยายาม ช่วงปลายปีเขาได้ยกทัพมาบุกวุยก๊กอีกเป็นครั้งที่สาม และถูกต้านท่ายกับเตงงายตอบโต้จนพ่ายแพ้และต้องถอยทัพกลับอีกครั้ง

ค.ศ. 250
- ศึกสายเลือดในง่อก๊กมาถึงจุดหักเหครั้งสำคัญอีกครั้ง พระเจ้าซุนกวนได้สำนึกในความผิดพลาดที่หลงเชื่อคำเพ็ดทูลจากฝ่ายซุนป๋ามาหลายครั้งจนทำให้ขุนนางดี ๆ เสียชีวิตไปหลายคนโดยเฉพาะลกซุน จึงได้สั่งประหารชีวิตซุนป๋า และปลดซุนเหอออกจากตำแหน่งรัชทายาทในปีนี้ พร้อมทั้งสั่งประหารชีวิตขุนนางเพ็ดทูลจำนวนมาก จากนั้นจึงแต่งตั้งพระโอรสซุนเหลียงซึ่งมีอายุเพียง 7 ขวบเป็นรัชทายาทแทน ส่วนซุนลู่ปานพระราชธิดาตัวแสบที่อยู่เบื้องหลังซุนป๋ายังคงรอดชีวิตต่อไปเพื่อชักใยศึกสายเลือดในวันหน้าอีกครั้ง

ติดตามต่อตอน 8 นะครับ
https://www.facebook.com/threekingdomhappyfamily
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่