บ๊วยออกแล้ววววววว มาทำเหล้าบ๊วยกันเถิดชื่นใจ



อากาศร้อนอบอ้าวแบบนี้ อะไรจะดีไปกว่าาาาาา .....การอยู่บ้านเฉยๆ  แป่ววว เม่าอดีต

ร้อนนี้พี่แอดมินคิงคอง แห่งเพจ"หลงเชียงใหม่" จะมาสาธิตการทำเหล้าบ๊วยไว้ดื่มเองในครัวเรือน ถือเป็นหนึ่งกิจกรรมเพลินๆในฤดูอยู่ติดบ้าน

เหล้าบ๊วย หรือ Plum wine หรือในชื่อต้นตำรับที่ได้ยินกันบ่อยๆว่า"อุเมะชู" ใครได้ลองจะต้องติดใจในความหอมหวาน ด้วยความที่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รสหวานกินง่าย แต่เมา...ม่วน grin emoticon จึงมีอุเมะชู มาวางขายในบ้านเราหลายยี่ห้อ ทั้งอิมพอร์ทจากญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้าน ที่ผลิตในประเทศก็มีแล้ว มีหลายสูตรหลายรส แต่รสไหนเลยจะอร่อยเท่ารสมือเราทำเองแถมยังต้องเก็บรักษาหมักบ่มเนิ่นนานผ่านกาลเวลาจนเกิดคุณค่าทางจิตใจ แน๊... ว่าไปนั่น


ถึงน้องจะชื่อบ๊วย แต่งานนี้บ๊วยเป็นพระเอกนะคร้าบบบ หลังจากที่ดอกบ๊วยบานสะพรั่งบนดอยอ่างขางให้ชื่นชมเมื่อช่วงปีใหม่ ช่วงนี้(มีนา-เมษา)ก็เป็นเวลาที่เราจะได้ชื่นชม(และชิม)ผลผลิตจากยอดดอยกันแล้ว บ๊วยสดปีนี้สวยใสไร้ริ้วรอยสุดๆ มีวางขายที่กาดหลวงเชียงใหม่(ตลาดวโรรส) ส่วนบ๊วยชุดนี้แอดมินได้มาในราคากิโลกรัมละ 30 บาท จากกาดบ้านฮ่อ ตลาดนัดหน้ามัสยิดบ้านฮ่อ (บริเวณหลังไนท์บาซาร์) เป็นตลาดนัดของชาวมุสลิม จีนฮ่อ และชาวไทใหญ่ ตั้งแผงขายกันทุกเช้าวันศุกร์ ตั้งแต่หกโมงเช้าจนถึงเที่ยงๆ มีของกินแปลกๆและผักผลไม้สดใหม่จากบนดอยและประเทศเพื่อนบ้าน น่าเดินมากครับ ชาวเชียงใหม่ที่ไม่ได้อยู่บนดอยไปที่นี่ได้บ๊วยแน่ๆ(ขายเฉพาะวันศุกร์เท่านั้นนะครับอย่าลืม) ส่วนชาวกรุงและจังหวัดอื่นๆ แอดมินเคยได้ยินว่าสามารถสั่งบ๊วยสดได้จากร้านค้าโครงการหลวงใกล้บ้านได้ หรือลองโทรติดต่อได้ที่ฝ่ายขายโครงการหลวง โทร.02-5794747 ต่อ 101-113

บ๊วยสดทานได้แต่ไม่อร่อย รสออกเปรี้ยวๆขมๆและไม่มีกลิ่นหอมบ๊วยแบบที่เราคุ้นเคย จึงนิยมเอาไปดองก่อนนำมาทำอย่างอื่น

Umeshu (ume『梅』-บ๊วย / shu『酒』-เหล้า) เป็นเครื่องดื่มเก่าแก่ของประเทศญี่ปุ่น ถือกำเนิดตั้งแต่ยุคเอโดะ (ปี คศ.1603-1867)
แอดมินคิงคองเลยขอมาในชุดจินเบ้『甚平』ที่ชาวญี่ปุ่นนิยมใส่กันในงานเทศกาลช่วงฤดูร้อน เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ
(ครั้นจะใส่ชุดไทยพื้นเมืองมานั่งดองเหล้าสูตรญี่ปุ่นก็เกรงว่าดราม่าจะบังเกิด)



ข้าวของวัตถุดิบที่ต้องเตรียมในการทำเหล้าบ๊วยมีดังต่อไปนี้

1. ขวดโหลที่มีฝาปิดสนิท ขนาด 2 ลิตร (ควรใช้โหลแก้วเพราะดูเก๋กว่า เอ๊ย ไม่ใช่ เพราะโหลพลาสติกอาจมีปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ได้)
2. ผลบ๊วยสดครึ่งกิโลกรัม
3. น้ำตาลกรวด 250 กรัม (ถ้าชอบหวานๆไว้กินกับโซดาเติมน้ำตาลได้อีก แต่อย่าให้เกิน 400 กรัม)
4. เหล้าขาว 900 มิลลิลิตร

อัตราส่วนก็มากน้อยลดหลั่นกันไปตามความสะดวก อย่างแอดมินมีเพื่อนรอกินเยอะหน่อย วันนี้เลยต้องคูณสอง ใช้โหลขนาดจุ 4 ลิตร / บ๊วย 1 กิโลกรัม / น้ำตาลกรวดครึ่งกิโลกรัม / เหล้าขาว 1.8 ลิตร

เตรียมของครบแล้วก็มาลงมือทำกันเลย !!!


การเตรียมบ๊วย : ควรเลือกเอาแต่บ๊วยลูกแข็งๆเขียวๆไร้ริ้วรอย คัดลูกช้ำๆและลูกที่มีรอยหนอนเจาะออก แช่บ๊วยในน้ำสะอาดทิ้งไว้ 3-4 ชั่วโมง เพื่อล้างสิ่งสกปรกและไล่ยางลดความขื่น จากนั้นเช็ดให้แห้งทุกลูก ใช้ไม้จิ้มฟันแคะขั้วบ๊วย(ภาพขวา)ออก เพื่อให้เหล้าซึมลึกเข้าเนื้อบ๊วยได้โดยง่าย กัดกร๊อบแล้วเหล้าหอมๆกระจายไปทั่วกระพุ้งแก้ม (จะเร่งการซึมลึกถึงเนื้อบ๊วยโดยการใช้ไม้จิ้มฟันหรือส้อมจิ้มๆรอบผลบ๊วยก็ได้ครับ)


ล้างโหลให้สะอาด ลวกน้ำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อโรคแล้วเช็ดให้แห้ง ค่อยๆเรียงบ๊วยลงโหลสลับกับน้ำตาลกรวดไปเรื่อยๆ อย่าโยนนะครับ เดี๋ยวน้องบ๊วยจะช้ำ


เรียงไปเรื่อยๆจนบ๊วยกับน้ำตาลที่เตรียมไว้หมด


บ๊วยปีนี้งามจริงๆ ปลื้ม ที่นิยมใช้บ๊วยดิบมาดองเหล้า เพราะเมื่อหมักเหล้าได้ที่ เนื้อบ๊วยจะยังกรุบกรอบเปรี้ยวอมหวานทานได้ด้วย บ๊วยสุกถ้านำมาดองจะได้เหล้าบ๊วยกลิ่นหอมกว่าแต่ทานผลไม่อร่อย การดองบ๊วยของชาวเขาจะใช้บ๊วยสุกครับ เพราะเขาไม่ทานผลกัน (อันนี้แม่ค้าบ๊วยบอกมา)


เมื่อเรียงบ๊วยกับน้ำตาลกรวดจนหมดแล้วก็เทเหล้าขาวให้ท่วมทั่ว


เหล้าขาว (white liquor) ที่ใช้ในการดองเหล้าบ๊วยมีหลายสูตรครับ แค่ไม่ควรใช้เหล้าแรงเกิน ซัก 20-25 ดีกรี กำลังดี บ้างใช้สาเก บ้างใช้ว้อดก้า เหล้าขาวไทยตราเหยี่ยวเงินก็มีคนบอกว่าเด็ดนัก วันนี้เราจะใช้โซจูเกาหลี เพราะเซียนบอกว่าดองแล้วหอมนุ่มไม่แรงบาดคอ อันนี้ก็คงต้องรอลุ้นกันต่อไป ใครมีเวลาจะลองทำพร้อมกันหลายๆสูตรเพื่อชิมเปรียบเทียบก็ดีครับ แต่อย่าลืมชวนเราไปชิมด้วย แฮ่!

ที่ไม่นิยมใช้เหล้าสีอย่างบรั่นดีหรือวิสกี้เพราะตัวเหล้ามีกลิ่นเฉพาะตัวอยู่แล้ว ทำให้กลบกลิ่นบ๊วยไปหมดครับ


เสร็จแล้วปิดฝาให้สนิทก็ถือเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีกรรมอันแสนศักดิ์สิทธิ์ (สารภาพตรงนี้ว่าเราคำนวณเหล้าขาดไปหน่อยเดี๋ยวพรุ่งนี้ต้องไปซื้อมาเติมอีกนิด)


ท้ายสุด แปะวันเดือนปีที่ผลิต(กันลืม) เอาผ้าคลุม เก็บรักษาในที่เย็นพ้นแสงพ้นมือเด็ก(และมือผู้ใหญ่ใจร้อน) ไม่ต้องถึงกับแช่ตู้เย็นนะครับ แค่ไม่โดนแดดโดนอบเป็นใช้ได้ หมักไว้สามเดือนก็พอจะชิมได้แล้วครับ แต่จะให้ดีควรจะหกเดือนขึ้นไป ยิ่งดองนานยิ่งอร่อย บางทีดองกันห้าปีสิบปี ระหว่างที่รอนี้คอยจับโหลหมุนๆส่ายๆให้น้ำตาลเข้าเนื้อกับเหล้า (แค่นานๆทีนะครับ)

โหลนี้เรากะว่าจะเปิดอีกทีช่วงหนาวๆปลายปี ใครที่ร่วมทำด้วย ไว้เรามาเปิดพร้อมกันนะครับ


อีกหกเดือน(แป้บเดียวน่าาาา)เราก็จะได้เหล้าบ๊วยสีเหลืองทองหอมอร่อย ใครอยากลองชิมเหล้าบ๊วยสูตรโฮมเมด ว่าจะแตกต่างจากที่แบบที่วางขายยังไง แต่ยังไม่มีเวลาดองเอง ที่เชียงใหม่มีให้ชิมได้ที่สวนทูนอิน Tune In garden และร้านอาหารญี่ปุ่นสุดฮิปย่านนิมมานเหมินท์ Blackitch Artisan Kitchen ครับ


ไว้ถ้าอีกอะไรสนุกๆไว้จะมาตั้งกระทู้แนะนำอีกนะครับ
หรือติดตามกิจกรรมและการรีวิวร้านรวงใหม่ๆในเชียงใหม่ได้ที่ เพจ"หลงเชียงใหม่" ครับ ขอบคุณครับ
http://www.facebook.com/lostinchiangmai
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่