ทึ่ง 2 ล้านใบ-พันล้านบาท ค่าใบสั่งจราจร เมืองกรุง

2 ล้านใบ-พันล้านบาท ค่าใบสั่งจราจรเมืองกรุง


จำนวนใบสั่งที่ตำรวจแจกให้กับผู้ขับขี่ที่ทำผิดกฎจราจรแต่ละปีมีมากมาย
เฉพาะในกรุงเทพมหานครที่รถติดถึงขั้นวิกฤต มีใบสั่งของผู้กระทำความผิดถูกออกจากปากกาของตำรวจปีละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านใบ
สถิติจากกรมการขนส่งทางบก พบว่า จำนวนรถที่จดทะเบียนใน กทม. ล่าสุดเมื่อปี 2558 มีมากถึง 8.76 ล้านคัน จากจำนวนทั้งหมด 36.15 ล้านคัน และเมื่อย้อนดูสถิติแต่ละปีพบยอดตัวเลขรถยนต์เพิ่มขึ้น
โอกาสที่ทำผิดกฎจราจรก็ย่อมมากขึ้นเช่นกัน เพราะตำรวจกวดขัน ทั้งยังมีกล้องวงจรปิดตามแยกไฟแดงก็ถูกนำมาใช้อย่างแข็งขัน
ที่สำคัญ เม็ดเงินแห่งความผิดจากค่าปรับก็มากมายมหาศาลเช่นกัน
กระนั้นหากมองไปที่ค่าปรับจากใบสั่ง เส้นทางของเงินถูกโอนย้ายไปยังที่ใด หรือถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมจับต้องได้หรือไม่
เพราะมองดูตัวเลขยอดการพิมพ์ใบสั่งจากข้อมูลในกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) พบว่า ในปี 2557 และปี 2558 มียอดพิมพ์ใบสั่งต่อปีอยู่ที่ 2 ล้านฉบับ จำนวนนี้จะใช้ภายในกรุงเทพฯ เท่านั้น แบ่งให้ตำรวจจราจรทั้งของ บก.จร. และท้องที่รวม 88 สน.
ขณะที่แต่ละเดือน 5 กองกำกับการของ บก.จร. และ 88 สน. จะมียอดจับกุมผู้กระทำความผิดจราจรประมาณ 1.5-1.8 แสนราย
จำนวนดังกล่าวคิดค่าเฉลี่ยความผิดในอัตราค่าปรับละ 500 บาท/ใบสั่ง จะทำให้มีเงินรายได้จากค่าปรับราว 90 ล้านบาท/เดือน หรือราว 900 ล้านบาท/ปี
ตามกฎหมายกำหนดว่า เงินรายได้จากใบสั่งต้องถูกจำแนกแบ่งให้ท้องถิ่น (กรุงเทพมหานคร) 50% และตำรวจจะต้องแบ่งส่วนของตัวเองที่อยู่ 50% ให้แผ่นดินอีก 5% ถึงจะนำจำนวนที่เหลือไปแบ่งให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่และผู้สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่
ดังนั้น มองตัวเลขกลมๆ จะเห็นชัดว่า ในงานจราจรตำรวจจะได้ค่าปรับต่อปีอยู่ที่ราว 400-450 ล้านบาท !!!
เงินที่ได้มาจากฝั่งของตำรวจนั้น หลายฝ่ายเห็นว่าควรถูกนำไปพัฒนาด้านเทคโนโลยีหรือประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงปรับปรุงสัญญาณไฟจราจร ซ่อมแซมสัญลักษณ์ต่างๆ  แต่จริงๆ แล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น
และถึงแม้ตำรวจระดับปฏิบัติการจะจับปรับมากน้อยเท่าใด จนได้เม็ดเงินปีละหลายร้อยล้านบาท ก็หาได้จะมีชีวิตที่ดีขึ้นตามส่วนแบ่งไม่
จากการทำวิจัยด้านจราจรของ ปนัดดา ชำนาญสุข อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านตำรวจของเมืองไทย ให้ความเห็นว่า ในงานจราจรเกี่ยวกับค่าปรับจะมีปัญหาอยู่ 2 ส่วน คือ 1.ส่วนแบ่งของตำรวจจะมีเพดาน แต่ละนายที่ปฏิบัติหน้าที่จะได้ส่วนแบ่งสูงสุดไม่เกิน 1 หมื่นบาท จับมากหรือเกินไปก็จะได้แค่เท่านี้ ส่วนแบ่งที่เหลือควรได้จะถูกผลักเข้าท้องถิ่นทั้งหมด
ที่เป็นปัญหาคือ ผลเรื่องแรงจูงใจในการทำงาน หากครบเพดานแล้ว ตำรวจจราจรส่วนใหญ่ก็จะไม่ทำงาน หรือจะไปเรียกรับเข้ากระเป๋าตัวเอง ทำให้หลายคนสงสัยว่า ทำไมช่วงนี้ถูกจับและอีกช่วงกลับไม่ถูกจับ เหตุผลจึงมาจากตรงนี้
2.ค่าปรับที่ส่งให้ท้องถิ่นนั้นไม่ถูกนำมาพัฒนาด้านคมนาคม หรือความปลอดภัยบนท้องถนนเลย แต่กลับถูกไปบรรจุรวมอยู่ในงบด้านอื่นๆ ทั้งการดูงานต่างประเทศ หรือเรื่องต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุผลของรายรับ
“เหตุผลนี้ทำให้เราเห็นแต่ภาพตำรวจจราจรมาจับปรับกันอย่างเดียว ไม่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้าง ไม่เห็นถนนดี ไฟจราจรดี ซึ่งรายได้จากค่าปรับนั้นมหาศาล แต่ไม่ถูกนำมาใช้เลย” ปนัดดา อธิบาย
ปนัดดามองไปถึงการแก้ไขปัญหาทั้งสองส่วนของเงินค่าปรับที่ดูแล้วเหมือนไม่ยาก แต่วิธีการก็ดูจะห่างจากความเป็นจริงไม่น้อยว่าต้องจูงใจตำรวจด้วยประสิทธิภาพที่ดี และเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ทั้งระบบเกี่ยวกับค่าปรับ คือ ลดจำนวนคนลงเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เฉกเช่นต่างชาติที่ให้ผู้กระทำผิดกฎหมายไปจ่ายค่าปรับได้ตามจุดต่างๆ หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าระหว่างตำรวจจราจรกับผู้กระทำผิด
“ที่สำคัญคือเงินรายได้ที่อยู่กับท้องถิ่น ต้องตอบกลับมายังสังคมด้วย ต้องคืนความเป็นธรรมให้กับผู้กระทำผิดที่เขาจ่ายค่าปรับไป เพราะอาจมีหลายเหตุผลที่ทำให้เกิดความผิด แต่เงินที่จ่ายไป ควรนำกลับมาพัฒนาด้านคมนาคม เพื่อลดอุบัติเหตุและลดการกระทำผิด” ปนัดดา ย้ำ
สอดรับกับคำพูดของ พล.ต.ต. อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่รับผิดชอบงานด้านจราจร ยอมรับว่า ท้องถิ่นในความรับผิดชอบอย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) นั้น ไม่เคยให้งบกลับมาพัฒนาปรับปรุงคุณภาพด้านจราจรแม้แต่สตางค์เดียว
“เราเคยส่งไปขอเงินจากส่วนแบ่งรายได้ค่าปรับ เพื่อมาใช้พัฒนาระบบจราจรในหลายๆ ด้าน ขอไปไม่รู้กี่ครั้งก็ไม่ให้ อ้างว่าไม่มีกฎหมายรองรับที่จะต้องให้ แต่มีกฎหมายที่ต้องให้ตำรวจส่งเงินให้ กทม. ทำให้มีปัญหาเชิงโครงสร้างบนท้องถนนเมืองกรุง”
อนาถถึงที่ว่าตำรวจต้องไปเขียนป้ายแจ้งให้ผู้ขับขี่เลี้ยวซ้าย-ขวากันเอง
พล.ต.ต.อดุลย์ ทิ้งท้ายว่า เงินที่เราจับปรับและส่งให้ กทม.นั้นปีละหลายร้อยล้านบาท แต่น่าจะคืนความเป็นธรรมเพื่อพัฒนาสังคมบ้างก็ไม่เห็นมี ยืนยันได้ว่าดูแลงานจราจรมา 2 ปี ของบไปไม่เคยได้สักครั้ง





.... อ่านต่อได้ที่ : http://www.posttoday.com/วิเคราะห์/รายงานพิเศษ/357735/2-ล้านใบ-พันล้านบาท-ค่าใบสั่งจราจรเมืองกรุง
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่