ข้อเท้าแพลงบ่อย ข้อเท้าเสียแล้ว...เราจะฟื้นฟูได้อย่างไรครับ

ต่อเนื่องจากกระทู้นี้ครับ http://pantip.com/topic/32810594

ตอนมัธยมและมหาลัยเล่นฟุตซอลบ่อยครับ เล่นบนพื้นปูนทำให้ต้องใช้ข้อเท้ามาก จากนั้นเท้าก็แพลงเป็นครั้งแรก และก็แพลงเรื่อยๆ มีครั้งนึงแพลงจนปวดเดินไม่ได้เลย และที่แย่ไปกว่านั้นคือ ยังหายไม่ดีแล้วไปเล่นอีก ทำให้แพลงซื้อไปอีก เจ็บอย่างแรงครับ และนับจากนั้นมาเท้าก็ไม่เหมือนเดิมอีกเลย

เลิกเล่นบอลไปเกือบ 4 ปี คิดว่ามันน่าจะดีขึ้น แต่ที่ไหนได้ ระหว่างที่เราไม่ได้เล่น มันก็แพลงอีกครับ แค่เดินในพื้นที่ไม่เสมอ เผลก็แพลงทันที แต่มันเจ็บไม่นาน แล้วก็หายทันที เหมือนกับมันชินกับการแพลงไปแล้ว

และตอนนี้ก็มาเริ่มออกกำลังกาย โดยเล่นฟุตบอลบนสนามหญ้าเทียมกับเพื่อน เล่นได้ประมาณ 3 เดือนแล้วครับ เล่นทุกอาทิตย์ อาทิตย์ล่ะ 2-3 ครั้ง เพื่อฟิตร่างกายให้แข็งแรง แต่...ข้อเท้าของผมมันทำฤทธิ์จนได้ครับ

จริงๆ ผมจะเล่นได้ดีในระดับนึงครับ เพราะเล่นมานานแล้ว พอผมกำลังจะเข้าฝัก (คือพละกำลังกลับมาเหมือนตอนมหาลัย) ผมก็ข้อเท้าแพลงทันที จริงๆก็แพลงเรื่อยมาครับ แต่ไม่เจ็บ แต่ครั้งล่าสุดนี้เจ็บเป็นอาทิตย์ ตอนนี้ก็ยังไม่หายดีเลย อาการคือ...เล่นไปซัก 3- 4 เกมส์ เหมือนข้อเท้ามันอ่อนแรงครับ และมันก็รู้สึกปวดโดยไม่ได้แพลงแต่อย่างใด และถ้าหากขืนเล่นต่อไป ก็ต้องแพลงอย่างแน่นอน ทำให้ผมเล่นได้ไม่นานเหมือนเดิมแล้ว

รู้สึกแย่มากเลยครับ ถ้าใครเคยเล่นบอลได้ดีคงเข้าใจความรู้สึกดี ตอนนี้ผมต้องเล่นเซฟตัวเองมาก ปะทะแรงก็ไม่ได้ จังหวะที่เคยเล่นได้ ก็ไม่กล้าเล่นเพราะกลัวข้อเท้าแพลง

ใครมีวิธีที่ช่วยรักษา หรือ ฟื้นฟูข้อเท้าให้ดีขึ้นได้ ช่วยแนะนำด้วยครับ จะขอบคุณมากเลย ผมไม่ได้คาดหวังให้มันดีเหมือนเดิม แต่ขอให้มันดีกว่าที่เป็นอยู่ สักหน่อย ผมอยากมีความสุขกับการเล่นกีฬา ไม่อยากระแวงอยู่ตลอดเวลาแบบนี้เลย

สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 1
ผมได้นำรูปประกอบมาจาก Google ผมไม่ได้มีประสงค์นำรูปมาใช้เพื่อประโยชน์แอบแฝงใดๆ ครับ  ขอขอบคุณภาพประกอบจาก web site ต่างๆ ครับ
      อยากทราบข้อมูลเพิ่มครับว่า มันพลิกไปด้านใด พลิกเข้าใน   (Inversion )         

หรือพลิกออกด้านนอก (Eversion)              

แต่โดยเกือบทั้งหมดน่าจากพลิกเข้าด้านในครับ  ผมขอเดาว่าเป็นการพลิกเข้าด้านใน
      ความเห็นส่วนตัวของผม การที่คุณพลิกบ่อย อาจจะเกิดจาก ข้อเท้าหลวมอันเนื่องมาจาก เอ็นข้อเท้าขาด ตัวสำคัญที่มักจะเรียกว่า Lateral ligament injury of ankle (Anterior talofibular ligament (ATFL) และ/หรือร่วมกับ Calcaneofibular ligament (CFL)). โดยส่วนมากจะขาดทั้งสองส่วนถึงจะทำให้ข้อเท้าหลวมชัดเจน  เมื่อข้อเท้าหลวม ขณะที่ให้ความสนใจไปกับการเล่นกีฬา ทำให้ไม่ระมัดระวังกับการเดินหรือวิ่งก็ทำให้มันพลิกได้ง่ายขึ้นครับ หรือบางครั้งระมัดระวัง แต่เดินหรือวิ่งบนทางที่ไม่เรียบก็ทำให้เท้าพลิกได้ง่ายเนื่องจาก ข้อเท้าหลวมและมันพร้อมที่จะพลิกได้ตลอดเวลาอยู่แล้วไปเจอกับพื้นที่ไม่เรียบก็พลิกได้ครับ  
      สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ต้องได้รับการตรวจและวินิจฉัยอย่างถูกต้องครับ  ว่ามันเอ็นขาดไหม โดยการกดหาจุดปวด

                                                                                              

ข้อเท้าหลวมไหม  โดยการทำ Anterior drawer test หากข้อเท้าเลื่อนมาด้านหน้าได้มากกว่า ข้างปกติมากกว่า 5มิลลิเมตร ก็หลวมจริง ร่วมกับการทำ        tilt test                                                                            

หากว่าสามารถดันไปด้านตรงข้ามได้มากกว่าข้อเท้าข้างปกติ ก็แสดงว่าเอ็นด้านข้างของเท้าได้ขาด  หรือคุณอาจจะต้องการตั้งแต่ X-ray หรืออาจจะจำเป็นต้องทำ MRI เอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้าครับ เพื่อให้ได้ข้อมูลในข้อเท้า เช่น เอ็น กระดูกอ่อน ผมแนะนำหากไปตรวจ พยายามร้องขอให้ได้ MRI ครับ ในกรณีของคุณมีความสำคัญ แต่คุณจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น
      หากเป็นกรณีเอ็นขาดและหลวม ในกรณีของคุณเป็นแบบเรื้อรัง หากคุณไม่ต้องการเล่นกีฬาแล้วคุณอาจจะเลือกใส่ Ankle brace



ร่วมกับการปรับเปลี่ยนระดับกิจกรรมและการออกกำลังกาย  ส่วนตัวผมหากคุณยังหนุ่มและต้องการกลับไปเล่นฟุตบอลการรักษาคงมีอย่างเดียวคือการผ่าตัดซ่อมเอ็นที่ขาดครับ Lateral ligament reconstruction (Modified Brostrom repair)

                                                      

หากคุณปล่อยไว้ ไม่ทำการรักษาและยังปล่อยให้เกิดการพลิก ผิวกระดูกอ่อนในข้อเท้าคุณ จะสึกและถูกทำลายจากการพลิกของเข้าเท้าคุณ Osteochondral injury of ankle                                                                  

ผลที่ตามมาในระยะยาวคือ กระดูกงอกที่ข้อเท้า รวมถึงเข้าเท้าเสื่อม


และจะทำให้เกิดอาการปวดและสุดท้าย ก็จะต้องลงเอยด้วยการเชื่อม หรือเปลี่ยนข้อเท้าครับ
    
       สำหรับการบริหาร คุณอาจจะบริหารกล้ามเนื้อได้ กล้ามเนื้อด้านข้างเท้าที่สำคัญคือ peroneal brevis and longus                                                                                             

ทำการบริหารตามภาพ                                                                                               

ซึ่งอาจจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงทางด้านข้างเท้าได้ แต่อย่างไรก็ตาม คุณไม่สามารถทำให้เอ็นที่ขาดแล้วกลับมาหายเป็นปกติได้ อาการหลวมก็ยังคงอยู่  ยกเว้ณเป็นกรณีการบาดเจ็บครั้งแรกโดยไม่ใช่อาการเรื้อรัง เอ็นก็มีโอกาสหายได้จากการพักข้อเท้า ใส่เฝือก เป็นต้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่