กว่าจะมาเป็นถุงลมนิรภัยในรถยนต์

ประวัติและความเป็นมา ของถุงลมนิรภัยในรถยนต์


          ถ้าเป็นสัก 10 ปีที่แล้ว ต้องบอกว่า ถุงลมนิรภัย เป็นเรื่องที่ไกลตัวสำหรับคนใช้รถในบ้านเรามากๆ ต้องเฉพาะรถยนต์ระดับหรูเท่านั้น ถึงจะมีโอกาสได้เห็นคำว่า SRS ปั๊มอยู่บนฝาแตรพวงมาลัย หรือไม่ก็แผงคอนโซลฝั่งคนนั่งด้านหน้าเป็นช่องเก็บถุงลมนิรภัยจริงๆ ไม่ใช่เป็นเกะใส่ของที่ทำหลอกขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ถุงลมนิรภัยกลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่ขาดไม่ได้ สำหรับรถยนต์จ่ายกับข้าวในระดับซับคอมแพ็กต์ และคอมแพ็กต์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มตลาดที่ใหญ่ที่สุดในบ้านเรา เช่นเดียวกับพวกรถปิกอัพ และในช่วงเวลาเดียวกันนี้สำหรับตลาดรถยนต์ต่างแดน ถุงลมนิรภัยได้มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง และในรถยนต์ 1 คัน คำว่าถุงลมนิรภัย ไม่ได้มีความหมายเฉพาะ ถุงลมนิรภัยที่ติดตั้งอยู่ทางด้านหน้าเท่านั้น


                                                                                   ถุงลมนิรภัยรถยนต์แบบด้านข้าง

จุดเริ่มต้นของเทคโนโลยี

     ถุงลมนิรภัย ถือเป็นระบบ ความปลอดภัยเชิงปกป้อง หรือ Passive Safety เช่นเดียวกับเข็มขัดนิรภัย และโครงสร้างตัวถังของรถยนต์ ส่วนเรื่องของจุดเริ่มต้นในการคิดค้นนั้น แรกเริ่มเดิมทีมีการยืนยันว่าวิศวกรผู้รีไทร์จากการทำงานอย่าง John W.Hetrick เป็นผู้ริเริ่มในการพัฒนาระบบป้องกันในลักษณะนี้ขึ้นมาในปี 1952 แต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในรถยนต์ จนกระทั่งถึงปี 1967 ว่ากันว่าตรงนี้มีความเกี่ยวข้องกับบทบัญญัติด้านความปลอดภัยบนท้องถนนในสหรัฐอเมริกา หรือ The National Traffic and Motor Vehicle Safety Act ซึ่งลงนามโดยประธานาธิบดี ลินดอน บี จอห์นสัน ในปี 1966 ซึ่งถือเป็นบทบัญญัติแรกที่ถูกตราขึ้นมา โดยมีเป้าหมายในเรื่อง การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยให้กับรถยนต์นั่งในสหรัฐอเมริกา และเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการคิดค้นระบบความปลอดภัยใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งก็รวมถึงถุงลมนิรภัย
     
      Dr.Allen S.Breed ได้คิดค้นอุปกรณ์ที่เรียกว่า Ball-in-Tube ขึ้นมา ซึ่งจะสามารถพองตัวได้เมื่อมีการตรวจพบว่าเกิดการชนขึ้น และ Breed Corporation ก็ได้ขายไอเดียนี้ให้กับทางไครสเลอร์ อย่างไรก็ตาม แนวคิดในการพัฒนาอุปกรณ์ในลักษณะนี้ไม่ได้มีแค่ของ Breed เพียงคนเดียว ยังมีระบบที่เรียกว่า Auto Ceptor ของบริษัท Eaton, Yale & Towne Inc. และในเวลาต่อ ได้มาขายสิทธิ์นี้ให้กับฟอร์ดก็มีการทำงานคล้ายๆ กัน ซึ่งเป็นการประยุกต์แนวคิดของ 'อุปกรณ์ที่พองตัวได้' เพื่อป้องกันการกระแทก หากเกิดอุบัติเหตุในระหว่างการร่อนลงของเครื่องบินขับไล่ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

  Auto Ceptor ของบริษัท Eaton, Yale & Towne Inc. ตีพิมพ์ในนิตยสาร Popular Science ในชื่อ 'Pillow Protects'  

     ในปี 1970 ทางหน่วยงานความปลอดภัยอย่าง National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) ได้ระบุว่าภายในปี 1976 รถยนต์ทุกคันที่ขายในเมืองลุงแซม จะต้องมีการติดตั้ง ระบบความปลอดภัยในเชิงปกป้อง หรือ Passive Safety มาให้ด้วย ซึ่งนอกจากเข็มขัดนิรภัยแล้ว ถุงลมนิรภัยคือ อีกหนึ่งอุปกรณ์ความปลอดภัยที่เข้าข่ายนี้ แต่ด้วยการเป็นเทคโนโลยีใหม่ และมีราคาแพง ก็เลยยังทำให้จำกัดวงการใช้งานในรถยนต์ระดับหรูเท่านั้น กว่าที่ถุงลมนิรภัยจะได้รับการพัฒนาจนสามารถนำมาติดตั้งในรถยนต์ได้ก็ต้องรอกันนานพอสมควร และในปี 1971 ฟอร์ดนำระบบถุงลมนิรภัยมาติดตั้งในกลุ่มของรถยนต์ทดลองที่เรียกว่า Experimental Fleet of Car ตามด้วยจีเอ็ม ซึ่งนำมาติดตั้งในรถยนต์ของเชฟโรเลตในช่วงปี 1973 และจากนั้นอีก 1 ปีต่อมา บูอิก, แคดิลแล็ก และ โอลด์สโมบิล แบรนด์รถยนต์ระดับหรูของจีเอ็ม กลายเป็นรถยนต์รุ่นแรกๆ ของโลกที่มีถุงลมนิรภัยคู่หน้าเป็นออพชั่นมาจากโรงงาน โดยระบบนี้เรียกว่า 'Air Cushion Restraint System'

                         คู่มิอของ บิวอิค ในปี 1975 แสดงรายละเอียดของอุปกรณ์ 'Air Cushion Restraint System'

     อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก ถุงลมนิรภัยกลับไม่ค่อยได้รับความสนใจจากบรรดานักวิชาการด้านเทคโนโลยียานยนต์ และมองว่า ผู้ผลิตรถยนต์น่าจะทุ่มเทความสนใจในการพัฒนาระบบปกป้องที่มีอยู่แล้ว ให้มีประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้น แทนที่จะหันไปคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อเรื่องของต้นทุนในการผลิตรถยนต์ นั่นทำให้ผู้ผลิตรถยนต์อย่าง โตโยต้า, เมอร์เซเดส-เบนซ์ และผู้ผลิตรถยนต์จากยุโรปรายอื่นๆ มองความหมายของถุงลมนิรภัยต่างออกไป และแทนที่จะเรียกว่า Airbag เหมือนผู้ผลิตรถยนต์ กลับเรียกว่า SRS หรือ Supplemental Restraint System ซึ่งสื่อให้เห็นว่า ถุงลมนิรภัยเป็นการช่วยสนับสนุนระบบยึดรั้งที่มีอยู่แล้วในรถยนต์ ซึ่งก็หมายถึง เข็มขัดนิรภัย นั่นเท่ามีความหมายกลายๆ ว่า ถุงลมนิรภัยเป็นแค่ตัวแถมของระบบความปลอดภัย มีหรือไม่มีก็ได้ ตราบใดที่รถยนต์มีการติดตั้ง เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด มาแล้ว

                        โฆษณาถุงลมนิรภัยยุคแรกของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ตีพิมพ์ในนิตยสาร Popular Science ปี 1981

     แม้จะถูกมองว่าเป็นแค่ 'หน่วยสนับสนุนการทำงานของระบบเข็มขัดนิรภัย' แต่ต้องยอมรับว่า ระบบถุงลมนิรภัยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีความหลากหลายของรูปแบบ และเทคโนโลยีมากกว่าระบบยึดรั้งหลักอย่างเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดเสียอีกในช่วงแรก เราอาจจะคุ้นเคยกับถุงลมนิรภัยสำหรับที่นั่งด้านหน้า ทั้งฝั่งคนขับและผู้โดยสาร ซึ่งว่ากันว่า พอร์ช 944 เทอร์โบ ที่เปิดตัวในปี 1987 เป็นรถยนต์ในสายการผลิตรุ่นแรกของโลกที่มีถุงลมนิรภัยคู่หน้า ส่วน ฮอนด้า เลเจนด์ ที่เปิดตัวในปีเดียวกัน ก็เป็นรถยนต์ญี่ปุ่นรุ่นแรกที่มีระบบนี้จากโรงงาน จากนั้นในส่วนนี้ก็มีการพัฒนาระบบออกไปอีกเป็นแบบ 2-Stage หรือสามารถพองตัวได้ 2 ระดับ สำหรับรถยนต์สัญชาติอเมริกัน ต้องบอกว่าเป็นผู้นำในด้านถุงลมนิรภัย ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ 1980 ทั้ง ไครสเลอร์ และ ฟอร์ด ติดตั้งถุงลมนิรภัยด้านหน้าเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถยนต์นั่งทุกรุ่น จากนั้นในปี 1995 จึงเริ่มนำมาติดตั้งในปิกอัพและเอสยูวี

                       โฆษณาถุงลมนิรภัยของค่ายฟอร์ด ภายใต้คำขวัญสุดเท่ 'Everything we do is driven by you.'

     ในกลุ่มของรถยนต์สำหรับครอบครัวแบรนด์ยุโรป (ไม่นับแบรนด์หรู) ถุงลมนิรภัยยังไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไร ยกเว้น ซาบ ที่นำมาติดตั้งในรุ่น 900 เทอร์โบ ในปี 1989 และกว่าระบบนี้จะกลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับรถยนต์นั่ง ก็ต้องรอในช่วงทศวรรษที่ 1990 และ ฟอร์ด ยุโรป กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์ในภูมิภาคนี้ ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยในรถยนต์นั่งทั่วไป โดยเริ่มในปี 1992 กับ เอสคอร์ท รหัส MK5b และในปีเดียวกันนั้น รถยนต์ที่อยู่ในไลน์ผลิตของฟอร์ดทั้งหมด จะต้องมีถุงลมนิรภัยอย่างน้อย 1 ใบติดตั้งมาด้วยจากโรงงาน

     จากนั้นในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 ผู้ผลิตรถยนต์จากยุโรปหลายรายก็เริ่มเดินหน้าตามฟอร์ด ทั้ง เรโนลต์, วอกซ์ฮอลล์/โอเปิล, โรเวอร์, เปอโยต์, เรโนลต์ และ เฟียต จนเมื่อก้าวเข้าสู่ปลายทศวรรษนี้ ถือเป็นเรื่องยากมาก ที่จะมองหารถยนต์สักรุ่น ที่ไม่มีถุงลมนิรภัยติดตั้งมาให้จากโรงงาน ยกเว้นรถยนต์จากกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก...


ขอบคุณข้อมูลทั้งหมด  : http://www.motortrivia.com/section-safety-zone/013-airbag/evolution-of-airbag.html
    
ปล. ก่อนหน้านี้ผมเคยทำงานอยู่ในโรงงานทอถุงลมนิรภัยรถยนต์ มา 10 ปี ( พ.ศ. 2546-2556 ) ถ้ามีคนสนใจอ่านเยอะผมจะมา
      บอกถึงกระบวนการผลิตถุงลมนิรภัย ทำอย่างไรให้ได้ถุงลมนิรภัยออกมา 1 ชิ้น ตั้งแต่หาเส้นด้ายจนถึงตัดออกมาเป็นถุงลมเลย

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่