สองงานวิจัยใหม่: ชีวิตคู่ยืนยาวเมื่อพากันอ้วนไปด้วยกัน และ คนกลัวความเสี่ยงมักแต่งงานไว

กลับมากับตอนที่ 4 ของซีรีย์ งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์

คราวนี้ผมจะเล่าถึงงานวิจัยสดๆร้อนๆที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ทั้งสิ้นนะครับ หัวข้อของวันนี้คือ "การแต่งงานและการหย่าร้าง"


1) Divorce and Differential BMI: Till Death or Unfitness Do Us Part?

คนสองคนตัดสินใจแต่งงานเพราะ "การอยู่เป็นคู่ได้ประโยชน์มากกว่าอยู่ตามลำพัง"

ปัจจัยหลายอย่างมีผลต่อความพึงพอใจในเพศตรงข้าม และ รูปร่างหน้าตาก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งเช่นกัน ดังนั้นรูปร่างที่แตกต่างกันย่อมทำให้ฝ่ายที่รูปร่างน่าดึงดูดกว่ารู้สึกว่าตนเองอาจหาแฟนคนใหม่ที่รูปร่างหน้าตาดีพอๆกับตนเองได้และดีกว่าแฟนคนเดิม (เหตุการณ์ตัวอย่างเช่น แฟนบอกเลิกเพิ่อไปคบกับคนที่หน้าตาดีกว่า)

กระทู้ก่อนของผมได้อธิบายไปแล้วว่าคนที่รูปร่าง (วัดด้วย BMI) ใกล้ๆกันมักจะเป็นแฟนกัน งานวิจัยคราวนี้จึงศึกษาลักษณะของคู่แต่งงานในมุมมองต่างๆ และพบว่า คู่แต่งงานที่รูปร่างหลังจากแต่งงาน (วัดด้วย BMI) แตกต่างกันมากขึ้น มีแนวโน้มจะหย่าร้างสูง เช่น ผ่านไปสิบปี คนหนึ่งหุ่นคงที่แต่อีกคนอ้วนขึ้น หรือคนหนึ่งลดน้ำหนักลงแต่อีกคนน้ำหนักเท่าเดิม มีแนวโน้มจะเลิกกัน

ส่วนมุมมองของ จขกท คือว่า การใช้กิจกรรมร่วมกันตลอดเวลาเป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกว่าความสัมพันธ์ของคนสองคนไปด้วยดี กิจกรรมเหล่านั้นจึงไม่พ้น การทานอาหารด้วยกัน หรือ การออกกำลังกายด้วยกัน ดังนั้นแล้วคนที่ใช้เวลาร่วมกันมากๆย่อมกินอาหารคล้ายๆกันและใช้พลังงานใกล้เคียงกัน
(แปลง่ายๆว่าชวนกันไปกินอะไรอร่อยๆบ่อยๆจะได้เติมความสุขให้กันและกันนานๆ) จึงไม่น่าแปลกใจที่รูปร่างของคู่ที่รักกันจึงขยับปรับเปลี่ยนคล้ายๆกัน

2) Risk Attitudes, Marriage and Divorce.
งานวิจัยชิ้นที่สองพูดถึงความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงกับการตัดสินใจแต่งงานและหย่าร้าง

ตัวอย่าง ลองนึกถึงว่าคุณจะต้องเลือกระหว่าง (1) ได้เงิน 100บาททันที หรือ (2) ต้องเล่นเกมส์โยนหัวก้อย ถ้าออกหัวได้ 200บาท ถ้าออกก้อยได้ 0 บาท

คนกลุ่มแรกที่เลือก (1) เป็นกลุ่มที่ยอมรับความเสี่ยงได้ต่ำ การลงทุนทางการเงินมักจะเน้นฝากประจำหรือหุ้นที่ค่อนข้างแน่นอน ส่วนคนกลุ่มที่เลือก (2) จะเป็นกลุ่มที่ยอมรับความเสี่ยงได้ดี การลงทุนทางการเงินจะเน้นหุ้นที่หวือหวา ขึ้นเยอะลงเยอะ หรือ Option ต่างๆ

แล้วความเสี่ยงเกี่ยวอะไรด้วยกับการแต่งงาน?

ตัวอย่างข้างต้นสามารถเปลี่ยนแปลงให้เป็นสถานการณ์ดังนี้ คุณอายุ 27ปี แล้วพบคนคนหนึ่งที่ดีในระดับเท่าเทียมกันกับคุณ คุณจะเลือก (1) แต่งงานกับคนนี้ทันที หรือ (2) บอกผ่าน แล้วไปวัดดวงกับคนที่เข้ามาในอนาคต ซึ่งอาจจะดีกว่าคนๆนี้ หรือ อาจจะไม่เจอใครอีกก็เป็นได้

คนกลุ่มแรกที่กลัวความเสี่ยงจะเลือก (1) ตกลงคบและแต่งงานทันที เพราะไม่ต้องไปเสี่ยงในอนาคต ส่วนคนกลุ่มที่สองก็อาจจะขอไปลุ้นรอพบเจอคนที่ดีกว่าในอนาคต

กรณีคล้ายคลึงกันคือ การหย่าร้างหมายถึงการเป็นโสดอีกครั้งและต้องไปค้นฟ้าคว้าแฟนมาอีกครั้ง ดังนั้นคนที่กลัวความเสี่ยงย่อมไม่อยากหย่าเพราะกลัวความเสี่ยงจากการหาไม่เจอนั่นเอง

งานวิจัยชิ้นที่สองทดสอบสมมติฐานข้างต้น ด้วยข้อมูล income gamble survey และ Panel Study of Income Dynamics (PSID) และสรุปได้ว่า โดยเฉลี่ยแล้ว กลุ่มคนที่"ไม่ชอบ"ความเสี่ยง แต่งงานเร็วขึ้นและหย่าร้างน้อยลง ดังที่คาดการณ์ไว้ครับ

บททิ้งท้าย: เศรษฐศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับราคาหุ้นเสมอไปครับ


Abstract ต้นฉบับครับ
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้



________________________________________

โฆษณาสามตอนแรกอีกครั้ง
คุณเลือกแฟนจาก หุ่นดีหรือมีเงินหรือมีการศึกษา?
http://pantip.com/topic/30323662

ภาษีคนโสดหรืออัตราเงินเฟ้อ? ... คำอธิบายจากนักเศรษฐศาสตร์
http://pantip.com/topic/30945092

งานวิจัยพบ ผลประกอบการบริษัทขึ้นกับ เพศและรูปร่างหน้าตาของ CEO!!
http://pantip.com/topic/32497399

_________________________________________
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่