.....อะไร ที่หักภาษีได้บ้าง?

......ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีแล้ว เหลืออีก 2 เดือนเศษก็จะหมดปี
สำหรับมนุษย์เงินเดือน มนุษย์ลูกจ้าง ก็คงฝันหวานถึงวันหยุดยาว เงินโบนัส(หากมี)
และโอกาสใช้จ่ายเงินกับช่วงเทศกาลวันส่งท้ายปีและรับปีใหม่กันแล้ว

....แต่หลังจากนั้น มนุษย์เงินเดือนผู้มีรายได้ทั้งหลาย
ต้องไม่ลืมว่า จะต้องเตรียมยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันด้วย
ซึ่งตามปรกติ กรมสรรพากรจะกำหนดให้ยื่นแบบตั้งแต่ต้นปี
คือวันที่1 มกราคม จนไปถึงสิ้นเดือนมีนาคมของทุกปี

....ทั้งนี้คนที่มีรายได้ต้องมีหน้าที่ยื่นแบบเพื่อเสียภาษีประจำปีด้วย  
ดังนั้น ในช่วงสุดท้ายของปี หากใครจะลงทุนหรือบริหารการเงินอย่างไร
เพื่อให้ได้ประโยชน์สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด
วันนี้ เราจะรวบรวมข้อมูลมาให้เป็นแนวทางเบื้องต้นว่า
แต่ละคนสามารถหักค่าใช้จ่ายจากอะไรได้บ้าง
โดยเฉพาะการลงทุนอะไรที่สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายในการเสียภาษีได้บ้าง
รับรองว่าหลายคนจะได้รับเงินภาษีคืนอย่างแน่นอน.....


....เริ่มต้นจากการหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าใช่จ่ายในครอบครัว
      กรณีคนโสด สามารถหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวได้  30,000 บาท
      กรณีสมรส หากคู่สมรสไม่มีรายได้และไม่ได้แยกยื่นภาษีสามารถหักค่าใช้จ่ายได้อีก 30,000 บาท
      และหากมีบุตร สามารถหักค่าใช้จ่ายได้อีกคนละ 15,000 บาท(รวมบุตรบุตรธรรม)
สามารถหักได้รวมกันแล้วไม่เกิน 3 คน โดยบุตรต้องมีอายุ ต่ำกว่า 25 ปี
และหากกำลังศึกษาอยู่ในประเทศสามารถหักเพิ่มเติมได้อีกคนละ 2,000 บาท
      นอกจากนี้หากใครมีบิดา มารดาอายุ 60 ปีขึ้นไป (ต้องเลี้ยงดู)
สามารถหักค่าใช้จ่าย ได้อีกคนละ 30,000 บาท  
นอกจากนี้เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ยังนำมาหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง
แต่ไม่เกิน 15,000 บาทอีกด้วย
      และใครมีภาระต้องอุปการคนพิการ หรือ ทุพพลภาพ ยังสามารถหักค่าใช้จ่ายได้อีกคนละ 60,000 บาท


.....การหักค่าใช่จ่ายจากรายจ่ายเพื่อเข้ากองทุนต่างๆ
      ปรกติคนทำงานกรณีลูกจ้างหรือพนักงานบริษัท จะถูกหักเงินเข้ากองทุนประกันสังคมในทุกเดือน
ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้สามารถนำมาหักภาษีได้ทั้งหมด และ
      หากใครที่สมัครกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  สามารถนำเงินที่ส่งเข้ากองทุนฯมาหักภาษีได้ตามจริง
แต่ไม่เกิน 500,000 บาท        
      ส่วนข้าราชการซึ่งสมัครกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือ กบข.
ก็เช่นกันกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ..สามารถนำเงินส่งกองทุนมาหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง
แต่ไม่เกิน 500,000 บาทเช่นกัน

....การหักค่าใช้จ่ายจากการลงทุนเพื่อสร้างอนาคต หรือ การสร้างหลักประกันในอนาคต
       กรณีนี้ ใครที่มองเห็นเงินก้อน หรือ คาดว่าได้โบนัสก้อนงามในปีนี้แน่ๆ
วางแผนได้เลยครับว่าจะลงทุนในการลงทุนประเภทนี้เท่าไรอย่างไร เพราะสามารถนำมาหักภาษีได้มากโขทีเดียว
      ประกันฯ   โดยเบี้ยประกันชีวิต และ เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ  สามารถหักได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง
แต่ไม่เกิน 100,000 บาท เฉพาะกรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
      เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF หักได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้

และเมื่อรวมกับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุน กบข. (ถ้ามี)
หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนแล้วไม่เกิน 500,000 บาท

     เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF
หักได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท


....ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย
สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้มาหักภาษีได้ตามจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
ส่วนกรณีมีคนกู้ร่วมก็สามารถนำไปเฉลี่ยกัน
โดยเพดานคือรวมกันแล้วไม่เกิน100,000 บาทเช่นกัน

      หลังจากหักค่าลดหย่อนเหล่านั้นแล้ว หากใครที่สนับสนุนทางด้านการศึกษายังมีสิทธิทางภาษี
โดยเงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา  มีสิทธิหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริง
แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินคงเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว


....นอกจากนี้ยังมีในส่วนของการบริจาคเพื่อการกุศลต่างๆที่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้อีก
ซึ่งสามารถติดตามรายระเอียดตามที่มีการประกาศโดยกรมสรรพากรอีกด้วย
ทั้งนี้เงินบริจากที่เราคุ้นเคยอย่างเช่น
     การบริจาคเงินให้แก่วัดวาอาราม สภากาชาดไทย สถานพยาบาล และสถานศึกษาของทางราชการ
หรือองค์การของรัฐบาล สถานศึกษาเอกชน สถานสาธารณกุศล และกองทุนสวัสดิการภายในส่วนราชการ
โดยองค์การสถานสาธารณกุศลตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
จะสามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ด้วยเช่นกัน


สนับสนุนเนื้อหา : Sanook
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่