คูปองแลกกล่องทีวีดาวเทียม(4):ลดภาระ-เพิ่มพลัง"แพลทฟอร์ม"

คิดใหม่วันอาทิตย์ โดย อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ

ในที่สุดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ได้ลงมติภายใต้การ "สั่งการ" ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ให้ กสทช. ไปจัดทำการประชาพิจารณ์โครงการแจกคูปองแลกกล่องทีวีดิจิทัล 4 ภาค ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน และยังให้ลดราคาคูปองจาก 1,000 บาทต่อครัวเรือน เป็น 690 บาทต่อครัวเรือน ตามประกาศเงื่อนไขการประมูลทีวีดิจิทัลครั้งแรก

นอกจากนี้ ยังมีคำพูดชัดๆ ออกมาเป็นครั้งแรกจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ทางโทรทัศน์และวิทยุทุกช่อง เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ว่า คสช. กำลังปรับปรุงระบบการทำงานของ กสทช. และจะเร่งประชาพิจารณ์เพื่อให้แจกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลให้เร็วที่สุด

หากตีความจากความเคลื่อนไหวข้างต้น น่าจะมองเห็นเค้าลางแล้วว่า ผลการประชาพิจารณ์น่าจะออกมาแบบไหน แม้ กสทช. มีอำนาจในการตัดสินใจว่า ผลจากประชาพิจารณ์จะให้แลกกล่องแบบไหน แต่ คสช. คือผู้ชี้ขาดขั้นสุดท้ายว่า จะให้คูปองราคาเท่าไหร่ และสามารถแลกกล่องดาวเทียมกับเคเบิลได้หรือไม่ นอกเหนือจาก แลกกล่องภาคพื้นดิน และใช้เป็นส่วนลดซื้อทีวีที่มีจูนเนอร์รับสัญญาณดิจิทัลในตัวได้อยู่แล้ว

นับเป็นความ "พ่ายแพ้ยกแรก" ของ พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท. ที่ยืนยันทุกครั้งว่า ไม่เห็นด้วยกับการประชาพิจารณ์โครงการนี้ จนออกมาเป็นมติ กสท. เมื่อปลายเดือนเม.ย. เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการแจกคูปองทีวีดิจิทัล จะเสียหายไปมากกว่านี้

และพอจะถือเป็น "ชัยชนะยกแรก" ของกรรมการ กสท. ที่ยืนหยัดทุกครั้งว่า จะต้องจัดทำประชาพิจารณ์ คือ "สุภิญญา กลางณรงค์" เพื่อเป็นไปตามมาตรา 28 ของ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553

กสทช. จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนทั่วไปเพื่อนำความคิดเห็น ที่ได้มาประกอบการพิจารณาก่อนออกระเบียบ ประกาศหรือคำสั่งเกี่ยวกับการกำกับดูแล การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่มีผลใช้บังคับทั่วไป และเกี่ยวข้องกับการแข่งขันในการประกอบกิจการ หรือมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ......

รวมทั้งประเด็นราคาคูปองเริ่มต้นได้ลดลงจาก 1,000 บาท เหลือ 690 บาทต่อครัวเรือน เป็นราคาขั้นต่ำที่เป็นไปตามข้อเสนอ ในภายหลังของ กสท.สุภิญญา อีกเช่นกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีกว่า ไม่ตรงกับมติเดิมก่อนการประมูลทีวีดิจิทัล ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับข้อเสนอของมูลนิธิผู้บริโภคที่เสนอราคาขั้นต่ำของคูปองแค่ 512 บาทต่อครัวเรือน

กำหนดการประชาพิจารณ์ครั้งนี้ ถือเป็นกรณีเร่งด่วนที่ไม่ต้องจัดทำภายใน 30 วัน แต่ได้ร่นเวลาเหลือ 15 วัน คือวันที่ 4 ก.ค.เชียงใหม่, วันที่ 5 ก.ค. ขอนแก่น, วันที่ 8 ก.ค. หาดใหญ่ และ วันที่ 10 ก.ค. กรุงเทพมหานคร แล้วหลังจากนั้น จะใช้เวลาในการสรุปผลประชาพิจารณ์ เพื่อให้ กสทช. ชี้ขาด แต่จะต้องส่งไปให้ คสช. อนุมัติเป็นขั้นตอนสุดท้าย น่าจะพร้อมแจกคูปองได้ประมาณวันที่ 15 ก.ย.

หากนับจากวันประมูลเสร็จสิ้น 27 ธ.ค. 2556 จนถึงวันที่ 15 ก.ย. เป็นเวลา 9 เดือน 19 วัน ถือว่าล่าช้ามากๆ หลังจากโครงข่ายทีวีดิจิทัลเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. จากนั้น กสท. ได้ออกใบอนุญาตให้ 24 ช่อง วันที่ 25 เม.ย. ซึ่ง กสท. บอกไว้เดิมจะแจกคูปองได้หลังจากโครงการให้บริการประมาณ 1-2 เดือน

ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ทำใจกันได้แล้วว่า ลากกันไปถึงวันที่ 15 ก.ย. ถือว่าล่าช้ามากกว่าแผนเดิมไม่น้อยกว่า 2-3 เดือน แต่ก็ยังดีกว่าดันทุรังแจกคูปองส่วนลด 4 ประเภท โดยไม่จัดทำประชาพิจารณ์ ที่มีความเสี่ยงอย่างยิ่ง จะถูกฟ้องจาก 2 กลุ่มใหญ่ ที่อาจจะทำให้ถูกแช่แข็งไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี

มูลนิธิผู้บริโภคได้ประกาศว่า จะฟ้องศาลปกครอง หาก กสท. แจกกล่องทีวีดาวเทียม จะทำให้ทีวีชุมชนเสียหาย และคูปองแลกกล่องราคาแพงเกินไป ในขณะที่กลุ่มเจ้าของทีวีดิจิทัลหลายช่อง ที่ไม่เห็นด้วยกับการแลกกล่องทีวีดาวเทียม ก็คงจะฟ้องต่อศาลปกครองที่ผิดไปจากเงื่อนไข ก่อนการประมูล

ในขณะที่กลุ่มทีวีดิจิทัล ที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับทีวีดาวเทียม และกล่องแบบเปย์ทีวี คงจะเตรียมการไว้พร้อมแล้ว เช่น กลุ่มแกรมมี่ GMMZ, กลุ่มทรูวิชั่นส์ , กลุ่มอาร์เอส Sun Box , และกลุ่มช่อง 3 ที่มีแผนจะผลิตกล่องดาวเทียม รวมทั้งสิ้น 8 ช่องดิจิทัล น่าจะได้ประโยชน์จากคูปองแลกกล่องดาวเทียม มากกว่ากลุ่มทีวีดิจิทัลที่ไม่มีธุรกิจกล่องดาวเทียมหรือเปย์ทีวี

แล้วกลุ่มผู้ผลิตจานทีวีดาวเทียม แบบไม่เรียกเก็บเงินจะได้ประโยชน์ จากคูปองแลกกล่องดาวเทียมหรือไม่ ยังไม่เคยมีบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายจานดาวเทียมรายไหน ออกมาพูดชัดๆ แบบ "ศุภชัย เจียรวนนท์" ซีอีโอบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าเห็นด้วยกับการแลกกล่องทุกประเภท (อ้างอิงจากนสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 23 มิ.ย.)

"ผมขอยืนยันว่า การแจกคูปองต้องครอบคลุมถึงกล่องดาวเทียม และเคเบิลด้วย เพราะทีวีระบบดาวเทียม และเคเบิล อย่าง ทรูวิชั่นส์ ก็ได้ให้ความร่วมมือในการออกอากาศ ช่องดิจิทัลใหม่ 24 ช่องด้วย เพื่อออกอากาศตามกฏมัสต์แครี่ ให้ก็ควรให้เราร่วมโครงการเพราะจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ชม เมื่อเปลี่ยนกล่องใหม่ ผู้ชมจะได้รับชมช่องตามมาตรฐานเอชดี จากปัจจุบันการออกอากาศช่อง เอชดี (ความคมชัดมาตรฐาน) ดิจิทัลบนระบบทรูวิชั่นส์ เป็นการออกให้แค่ระบบเอสดี (ความคมชัดปกติ)"

อ่านระหว่างบรรทัดแล้วทาง ทรูวิชั่นส์ หวังให้คูปอง" ใช้ในการเปลี่ยนกล่องเก่า เท่านั้นเอง หาใช่การเพิ่มสมาชิก หรือคนดูแต่อย่างใด ขอ "มโน" เองไปอีกว่ากลุ่มแกรมมี่ GMMZ , RS และ ช่อง 3 น่าจะตั้งเป้าไม่แตกต่างกันมากนัก คือ ชาวบ้านได้รับคูปองแล้วเอาไปแลกซื้อกล่อง GMMZ, SUNBOX และ กล่องช่อง 3 เพื่อมาโละกล่องเก่า ของกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายจานแบบ C-Band ที่ปัจจุบันถูก กสท. บังคับให้กลายเป็นโครงข่ายแบบบอกรับสมาชิก ที่ไม่เรียกเก็บสมาชิก

จึงไม่แปลกใจ หากลองไปถามความเห็นของบริษัทผู้ผลิต และจำหน่าย จานดาวเทียม+กล่องแบบ C-Band แล้วอาจจะได้ความเห็นอีกแบบ กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ ไม่ค่อยตื่นเต้นกับคูปองแลกซื้อกล่องดาวเทียมเท่าไหร่

ลูกค้าของยักษ์ใหญ่ พีเอสไอ, BIG4 และรายอื่นๆ ที่ได้ดูแต่ช่อง ฟรีทูแอร์ อาจจะไม่สามารถต้านทานพลังการทุ่มทุนด้านการตลาด ของกลุ่มโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกที่เรียกเก็บเงินรายใหม่ๆ อย่าง GMMZ, RS Sun Box ฯลฯ ที่เป็นคู่แข่งขันโดยตรงกับจานแบบ C-Band อยู่แล้ว

คุณสมบัติของจานดาวเทียมบนหลังคาแบบ C-Band หรือ KU-Band เหมือนกันทุกราย ต่างกันแค่อยากจะทาสีอะไรเท่านั้นเอง แต่กล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียม จะมีความสามารถแตกต่างกัน

สงครามแย่งชิง "คูปองส่วนลด" จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ด้วยการลงทุนโฆษณาครั้งใหญ่ และจัดแคมเปญชิงรางวัลก้อนโตเพื่อกระตุ้นให้ชาวบ้านที่ได้ "คูปอง" ไปแล้วนึกถึงกล่องโทรทัศน์บอกรับสมาชิกยี่ห้อไหน

นั่นหมายความว่า ชาวบ้านที่ไม่เคยมีจานดาวเทียม หรือไม่ได้เป็นสมาชิก ทรู หรือ แกรมมี่ จะไม่มีทางนำคูปองไปแลกซื้อกล่องดาวเทียม เพราะจะต้องไปเสียเงินจ้างช่างมาติดตั้งจานเพิ่ม แต่น่าจะไปแลกกล่องภาคพื้นดิน มาติดตั้งกับโทรทัศน์เก่า ที่ไม่มีภาระจ่ายเงินเพิ่ม กลุ่มนี้จะเป็นการเพิ่มคนดูช่องทีวีดิจิทัล 48 ช่องแบบจริงๆ

แต่ชาวบ้านที่ติดตั้งจานดาวเทียมอยู่แล้ว เมื่อได้รับคูปองจาก กสทช. จะนำคูปองไปแลกซื้อกล่องทีวีดาวเทียมกล่องใหม่แแบบไหน มโนได้ว่า คงจะได้เห็นแรงโฆษณาเรียกกิเลส จากบริษัทธุรกิจกล่องแบบบอกรับสมาชิกที่เรียกเก็บเงิน เช่น แคมเปญชิงรางวัลทอง-เงินสด-รถยนต์ , ดูฟรีช่องต่างประเทศ 100 ช่องเป็นเวลา 6 เดือน ฯลฯ ชาวบ้านกลุ่มนี้สามารถดูช่องทีวีดิจิทัล 36 ช่อง ได้อยู่แล้วตามกฏมัสต์แครี่ จะไม่เป็นการเพิ่มคนดูหรือเพิ่มลูกตา Eyeball แต่อย่างใด

แต่จะทำให้กลุ่มธุรกิจโทรทัศน์ บอกรับสมาชิกที่เก็บเงินจากช่องต่างประเทศ "ลดภาระ" การสั่งผลิตกล่องล่วงหน้า และการขยายฐานแพลทฟอร์มที่นับจากจำนวนกล่องจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากๆ หลังจากเคยขาดทุนจำนวนมาก จากการสร้างแพลทฟอร์ม ในช่วง 2-3 ปี ที่มีกล่องเข้าไปในบ้านได้แค่หลักล้าน แต่ถ้าได้คูปองส่วนลด จะทำให้จำนวนกล่องเพิ่มขึ้นพรวดพราด ถึงขั้นผลประกอบการปีนี้จากภาวะ "ขาดทุน" เป็น "กำไร" ทันที

ภาระการลงทุนของกลุ่มธุรกิจโครงข่าย หรือแพลทฟอร์ม แบบบอกรับสมาชิกจริงๆ ในส่วนการผลิตกล่องจะลดลงโดยทัน เหลือแค่ลงทุนโฆษณากับแคมเปญชิงรางวัล เพื่อเพิ่มจำนวนบ้านให้เอาคูปองไปแลกเป็นกล่องของตัวเองมากขึ้นเท่าไหร่ ย่อมเป็นการเพิ่มพลัง ของแพลทฟอร์มให้มีฐานสมาชิก และรายได้มากขึ้นจะทำให้กำหนดตลาดได้ง่ายขึ้น มองเห็นชัดมากว่ากลุ่มทุนสื่อรายใดได้ประโยชน์ไปแบบเต็มๆ

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/re-think/20140629/590522/%E0%B8%84%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1(4):%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B0-%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%9F%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%A1.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่