การนำอริยสัจมาใช้ในชีวิตจริง

อริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า เป็นคำสอนเรื่องการปฏิบัติเพื่อความไม่มีทุกข์ในปัจจุบันของจิตใจมนุษย์ คือทั้งทำให้ความทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่ระงับดับลงได้ทันทีเพียงชั่วคราว และทั้งป้องกันไม่ให้ความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นมาอีกในอนาคตอย่างถาวรหรือตลอดชีวิต ซึ่งในการปฏิบัติจำเป็นต้องมีปัญญา (ความเข้าใจด้วยเหตุผลอย่างแจ้งชัดว่า “มันไม่มีตัวเราอยู่จริง”) และสมาธิ (จิตที่ตั้งมั่น, บริสุทธิ์, เหมาะแก่การงาน) มาทำงานร่วมกัน โดยมีศีล (ความปกติของจิต) มาเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว

เมื่อเราได้ศึกษาจนเกิดมีปัญญาอย่างแท้จริงแล้ว การปฏิบัติก็ไม่ยาก เพราะเราสามารถปฏิบัติได้ทุกสถานที่และทุกเวลาที่ตื่นอยู่ เพียงเราเปลี่ยนการมองโลกจากที่เห็นเพียงผิวเผิน ให้มาเป็นการมองเห็นความจริงที่ลึกซึ้ง คือเมื่อเราต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลก หรือเมื่อทำกิจวัตรประจำวันอยู่ เราก็มีสติ (ความระลึกได้) ระลึกถึงปัญญา (เรื่องความเป็นอนิจจัง, ทุกขัง, และอนัตตาในทุกสิ่ง โดยเฉพาะในร่างกายและจิตใจที่สมมติเรียกว่าเป็นตัวเรานี้) ด้วยความตั้งใจอย่างที่สุด (คือด้วยสมาธิ) และระวังอย่าให้จิตเกิดความพอใจและไม่พอใจต่อสิ่งใดๆในโลกอยู่ตลอดเวลา (เพราะความพอใจและไม่พอใจนี้ก็คือกิเลส ที่จะทำให้จิตเกิดความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราขึ้นมา อันจะทำให้จิตเกิดความทุกข์ขึ้นมา และยังเป็นการเพิ่มความเคยชินของกิเลสและความโง่สูงสุด (ความรู้ผิดว่ามีตัวเรา) ให้กับจิตใต้สำนึกอีกด้วย) เพียงเท่านี้ก็เท่ากับเป็นการปฏิบัติตามหลักการดับทุกข์ของอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าแล้วอย่างถูกต้อง

สิ่งที่จะชี้วัดว่าการปฏิบัติของเรานี้ถูกต้องแล้วก็คือ ความทุกข์ได้ดับลงหรือไม่มีและจิตก็นิพพาน (สงบ เย็น)  จริงๆ แต่ถ้าปฏิบัติแล้วความทุกข์ไม่ดับลงจริงและนิพพานไม่ปรากฏจริง ก็แสดงว่า การปฏิบัติของเราผิดพลาด ซึ่งอาจเกิดจากการไม่มีศีล, หรือไม่มีสมาธิ, หรือไม่มีปัญญา ซึ่งถ้าไม่มีศีลก็จะทำให้ไม่มีสมาธิ ดังนั้นก็ต้องตั้งในการปฏิบัติศีลให้สมบูรณ์ก่อน, ถ้าไม่มีสมาธิ ก็ต้องหมั่นฝึกสมาธิให้มากเมื่อมีเวลาว่าง, ถ้าไม่มีปัญญา ก็ต้องมาตั้งใจศึกษาจนเกิดความเข้าใจอย่างแจ้งชัดในความเป็นอนิจจัง, ทุกขัง, และอนัตตาในทุกสิ่ง โดยเฉพาะในร่างกายและจิตใจของเราเอง

สรุปได้ว่า หลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้านี้เป็นของสากลและเป็นหลักที่ตรงกันหรือเหมือนกันกับหลักวิทยาศาสตร์ ดังนั้นเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด หรือนับถือศาสนาใด หรือมีความเชื่ออย่างไรก็ตาม เมื่อได้ศึกษาหลักอริยสัจ ๔ นี้จนเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็สามารถนำเอาหลักอริยสัจ ๔ นี้มาปฏิบัติได้ทันทีโดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับใคร และไม่ต้องมีพิธีรีตองใดๆ ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติทั่วไปถ้ายังปฏิบัติได้ไม่สมบูรณ์ เพราะมีอุปสรรคมากในการประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิต แล้วปรารถนาจะปฏิบัติให้สมบูรณ์ ก็ต้องหลีกเร้นหาความสงบ เพื่อที่จะได้หมดอุปสรรคและมีโอกาสปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป.  

จบ

(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่