Bitcoin: สกุลเงินดิจิตอล ที่ต้องจับตามอง !!!!

Bitcoin คือเงินดิจิตอลสกุลหนึ่ง (Digital Currency) ที่ใช้ซื้อสินค้าและบริการบนโลกออนไลน์ซึ่งเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ใช้งานทั้งสองฝ่าย โดยไม่มีการควบคุมและกำหนดมูลค่าจากหน่วยงานใด เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตยูโรโซน Bitcoin ถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ปี 2009 ภายใต้แนวคิดระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง (Decentralized) ที่ไม่ต้องถูกควบคุมและกำหนดมูลค่าจากหน่วยงานใดๆ ทั้งจากเจ้าของเว็บไซต์ สถาบันการเงิน หรือหน่วยงานกลางของรัฐเหมือนกับเงินสกุลอื่น ทำให้ค่าเงินของ Bitcoin จะไม่ถูกแทรกแซงจากการดำเนินนโยบายการเงิน ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว Bitcoin จึงเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงวิกฤตยูโรโซนดังเช่นกรณีประเทศไซปรัสได้มีการจำกัดการถอนเงินภายในประเทศและการตัดบัญชีเงินฝากของประชาชนไปใช้หนี้ของรัฐบาลในช่วงวิกฤตทำให้ค่าเงินของไซปรัสและยูโรโซนตกต่ำลงอย่างรุนแรง แต่ Bitcoin ไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

ปัจจุบันสามารถแลกเปลี่ยน Bitcoin กับเงินสกุลต่างๆ ได้ทั่วโลกผ่านตัวกลางในการแลกเปลี่ยนบนอินเทอร์เน็ต การใช้งานในระบบ Bitcoin ผู้ใช้งานจะต้องลงโปรแกรม bitcoin wallet ในคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นกระเป๋าเงินออนไลน์ และสร้างเลขที่บัญชี (address) เพื่อใช้งาน เมื่อมีการทำธุรกรรมต่างๆ ระหว่างผู้ใช้งานทั้งสองฝั่งจะเป็นการแลกเปลี่ยน Bitcoin กันโดยตรงผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งสองโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางใดๆ เพียงแต่จะมีการแจ้งสถานะการทำธุรกรรมให้เครื่องอื่นๆ ที่อยู่ในระบบได้รับทราบเพื่อเป็นการยืนยันความถูกต้องเท่านั้น (รูปที่ 1) สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปสามารถจัดหาเงิน Bitcoin ได้จากการแลกเปลี่ยนด้วยเงินสกุลต่างๆ มากกว่า 20 สกุลเงิน เช่น USD, EUR, CNY, JPY, HKD รวมถึง THB โดยผ่านตัวกลางในการแลกเปลี่ยน (Trader) บนอินเทอร์เน็ต ได้แก่ Bitstamp, btc-e.com และ LocalBitcoins.com เป็นต้น
เงินในระบบ Bitcoin ถูกสร้างขึ้นในปริมาณจำกัดจากโปรแกรมคณิตศาสตร์ขั้นสูง โดยใช้แนวคิดการสร้างมูลค่าเช่นเดียวกับการผูกค่าเงินสกุลปกติกับแร่ธาตุหายาก เช่น ทอง เงินในระบบ Bitcoin (มีหน่วยย่อคือ BTC) ถูกออกแบบจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่มีความซับซ้อนสูงให้ทยอยเพิ่มเข้ามาในระบบอย่างจำกัด โดย miners[1] จากทั่วโลกที่ทำการรันโปรแกรม Bitcoin mining software เพื่อคำนวนสร้าง Block สำหรับการบันทึกข้อมูลในการทำธุรกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบ จะได้รับเงิน Bitcoin ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เป็นค่าตอบแทน แต่การคำนวณดังกล่าวจะมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นในทุกรอบของการคำนวณ ขณะที่ผลตอบแทนคือ Bitcoin ที่ได้จากการคำนวณในแต่ละครั้งจะลดลงเรื่อยๆ จึงเป็นผลทำให้เงินในระบบที่ทยอยเพิ่มขึ้นนี้จะมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 21 ล้าน BTC (รูปที่ 2) โดยคาดว่าปัจจุบันมี Bitcoin ในระบบแล้วทั้งสิ้นประมาณ 11.5 ล้าน BTC โดยการสร้างจำนวนเงินที่มีอย่างจำกัดนี้ถูกพัฒนามาจากแนวคิดการผูกค่าเงินสกุลปกติกับแร่ธาตุหายาก เช่น ทอง

อัตราแลกเปลี่ยนของ Bitcoin จะขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งานเป็นหลัก แต่จำนวนเงินในระบบที่มีน้อย และไม่มีการควบคุมจากหน่วยงานใดๆ ทำให้ถูกเก็งกำไรได้ง่าย ส่งผลให้ค่าเงินมีความผันผวนได้สูง ค่าเงินของ Bitcoin ในช่วงเริ่มต้นที่การใช้งานยังไม่แพร่หลาย ค่าเงิน 1 BTC มีมูลค่าต่ำกว่าเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เมื่อเงินเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นทำให้ค่าเงินในปัจจุบัน (7 มีนาคม 2014) ปรับตัวสูงถึง 650 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ 1 BTC และเคยทำสถิติสูงสุดที่ 1,240 ดอลลาร์สหรัฐฯ / 1 BTC เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2013 จากการที่ค่าเงิน Bitcoin ขึ้นอยู่กับอุปสงค์ – อุปทานของเงิน Bitcoin และความเชื่อมั่นของผู้ใช้งานเป็นหลัก ประกอบกับสามารถซื้อขายโดยไม่มีการควบคุมซึ่งเหมาะกับการเก็งกำไร ทำให้ค่าเงินมีความผันผวนง่าย เช่น กรณีที่ประเทศจีนประกาศไม่รับรองเงินสกุล Bitcoin ทำให้นักเก็งกำไรขาดความเชื่อมั่นและได้ทยอยขายเงิน Bitcoin ส่งผลให้เกิดความผันผวนกับค่าเงิน Bitcoin อย่างมากถึงเกือบ 320 ดอลลาร์สหรัฐฯ / 1 BTC (รูปที่ 3) ในเหตุการณ์ดังกล่าว

Bitcoin ได้รับความนิยมในยุโรปและอเมริกา ส่วนใหญ่เป็นการใช้งานเพื่อซื้อสินค้าและบริการต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต และได้เริ่มมีการนำมาใช้กับร้านค้าทั่วไปมากขึ้น Bitcoin ได้รับความนิยมในกลุ่มประเทศทางยุโรป อเมริกา และเริ่มมีการใช้งานที่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยส่วนใหญ่เป็นการซื้อบริการที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต เช่น การเช่าเว็บโฮสติ้ง การจดโดเมนเนม บริการคลาวด์ เกมส์ออนไลน์ เป็นต้น และยังเริ่มมีการใช้งานกับร้านค้าทั่วไปมากขึ้น เช่น ร้านอาหาร ร้านขนม การซื้อหนังสือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รถสปอร์ตหรู ฯลฯ และในบางประเทศได้เริ่มมีแนวความคิดการให้บริการ ATM และ เดบิตการ์ด ด้วยสกุลเงิน Bitcoin

Bitcoin เริ่มได้รับความนิยมจากจุดเด่นด้านการเข้าถึงง่าย สะดวกต่อการใช้งาน มีต้นทุนในการทำธุรกรรมที่ต่ำ และไม่มีการควบคุมใดๆ แต่ Bitcoin ก็มีปัญหาในการใช้งานจากความผันผวนของค่าเงิน และการนำไปใช้ซื้อสินค้าที่ผิดกฎหมาย Bitcoin ได้รับความนิยมจากจุดเด่นที่สำคัญ คือ 1) การเป็นสกุลเงินดิจิตอลที่เข้าถึงได้ง่ายและสะดวกต่อการใช้งานบนโลกออนไลน์ 2) มีต้นทุนในการทำธุรกรรมที่ต่ำ ไม่ต้องใช้เอกสารที่ยุ่งยาก ทำให้ขีดจำกัดในการโอนเงินระหว่างประเทศลดน้อยลงไป ช่วยให้การค้าระหว่างประเทศเกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้น 3) การเป็นสกุลเงินที่ไม่มีการควบคุมใดๆ ทำให้เหมาะกับการทำธุรกรรมในประเทศที่กฎหมายการเงินค่อนข้างปิดกั้น หรือประเทศในกลุ่มที่โดนคว่ำบาตรในระดับนานาชาติ แต่ Bitcoin ก็มีปัญหาในการใช้งานจากความผันผวนของค่าเงินที่มีสูงทำให้ผู้ขายสินค้าและบริการจะมีความเสี่ยงสูงในด้านอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อแปลงค่ากลับมาอยู่ในรูปของเงินสกุลจริง ประกอบกับคุณสมบัติของระบบ Bitcoin ที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนในการทำธุรกรรมทางการเงิน จึงกลายเป็นแรงดึงดูดให้ Bitcoin ได้รับความนิยมมากในกลุ่มผู้ที่ต้องการซื้อสินค้าผิดกฎหมาย เช่น การสั่งซื้อยาเสพติดประเภทต่างๆ รวมถึง การเล่นพนันออนไลน์ การเป็นแหล่งเลี่ยงภาษี และการฟอกเงิน เป็นต้น

หลายประเทศเริ่มให้ความสนใจศึกษากลไก Bitcoin เพื่อออกแบบกฎระเบียบควบคุมให้เหมาะสม ส่วนประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ประกาศห้ามทำธุรกรรมเกี่ยวกับ Bitcoin หลายประเทศทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจศึกษารูปแบบการทำงานรวมถึงการเริ่มออกกฎระเบียบควบคุมต่างๆ ที่เกี่ยวกับ Bitcoin มากขึ้น เช่น เยอรมันที่เริ่มเปิดกว้างและยอมรับเงินสกุล Bitcoin สหรัฐอเมริกาที่เริ่มศึกษาหากฎระเบียบควบคุมเงินในรูปแบบใหม่นี้เพื่อไม่ให้เกิดการเก็งกำไรและการใช้งานสั่งซื้อสินค้าที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น ในขณะที่ไทยเป็นประเทศแรกที่มีการสั่งห้ามทำธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับ Bitcoin ทั้งการซื้อ – ขาย Bitcoin การซื้อ – ขาย สินค้าและบริการที่ชำระเงินด้วย Bitcoin และการรับ – ส่ง เงินสกุล Bitcoin กับบุคคลภายนอกประเทศ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยให้เหตุผล 3 ข้อหลักคือ 1) กฎหมายปัจจุบันยังไม่มีการรองรับเงินดิจิตอลที่มีลักษณะการทำงานอย่าง Bitcoin 2) ไทยยังไม่มีมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ครอบคลุมเพียงพอ 3) ความกังวลเรื่องการใช้เงินสกุล Bitcoin ในการซื้อสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการใช้เป็นเครื่องมือในการเก็งกำไรค่าเงินบาท

อีไอซี มองว่า Bitcoin จะยังคงเป็นสกุลเงินดิจิตอลทางเลือกที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แต่ยังคงมีความเสี่ยงอีกหลายด้านที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความนิยมในการใช้เงินสกุล Bitcoin ในระยะยาว อีไอซีมองว่าแนวโน้มการขยายตัวของการใช้งานเงินดิจิตอลในรูปแบบต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีและโลกาภิวัตน์ทางการเงิน รวมถึงคุณสมบัติเฉพาะของ Bitcoin ที่ไม่เหมือนเงินสกุลอื่นๆ ทำให้ Bitcoin จะยังคงเป็นเงินสกุลทางเลือกที่ได้รับความนิยมในการใช้งานและการเก็งกำไรเพิ่มขึ้นอีกมาก แต่ในขณะเดียวกันสกุลเงิน Bitcoin ยังมีความเสี่ยงจาก 1) การที่รัฐบาลกลางในหลายประเทศยังไม่ยอมรับสกุลเงิน Bitcoin อย่างเป็นทางการ 2) ในอนาคตอาจมีการพัฒนาเทคโนโลยีระบบการเงินดิจิตอลรูปแบบใหม่เข้ามาเป็นทางเลือกแทน Bitcoin ได้ เหมือนกรณีที่ Facebook เข้ามาแข่งขันจนทำให้ Hi5 ได้รับความนิยมลดลง 3) ระบบความปลอดภัยในการทำธุรกรรมที่อาจถูกเจาะระบบ เช่น กรณีที่บริษัท Mt. Gox ซึ่งเป็นบริษัทตัวกลางในการแลกเปลี่ยน Bitcoin โดนแฮกระบบแลกเปลี่ยนเงินตรา บริษัท Mt. Gox ได้ยื่นขอล้มละลายในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ทำให้ลูกค้าอาจสูญเงิน 750,000 BTC คิดเป็นเงินเกือบ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทั้ง 3 ปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นตัวฉุดรั้งต่อความเชื่อมั่นและความนิยมในการใช้งานเงินสกุล Bitcoin ดังนั้น ผู้ใช้งานทั่วไปจึงควรศึกษาทำความเข้าใจถึง ข้อดี – ข้อเสีย โอกาส และความเสี่ยงต่างๆ ในการใช้เงินสกุล Bitcoin อย่างละเอียดรอบคอบ
Implication

* ผู้ใช้งานและผู้ที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงิน Bitcoin ควรระวังความเสี่ยงทางข้อกฎหมายจากการสั่งห้ามทำธุรกรรมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้สั่งห้ามทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงิน Bitcoin แต่ยังไม่ได้มีการออกเป็นประกาศหรือข้อบังคับโดยตรงสำหรับการใช้งานสกุลเงิน Bitcoin ผู้ใช้งานและผู้ที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงิน Bitcoin จึงควรระวังความเสี่ยงทางข้อกฎหมายที่อาจถูกตีความเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พรบ. ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 ที่มีระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
* อย่างไรก็ดี ผู้ใช้งานและผู้เกี่ยวข้องในกลุ่มต่างๆ ควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสกุลเงิน Bitcoin เพื่อสามารถหาโอกาสและปิดความเสี่ยงที่เกิดขึ้น หากมีการพิจารณาออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ แม้ Bitcoin จะยังถูกกำหนดให้เป็นสิ่งผิดกฎหมายสำหรับประเทศไทย แต่แนวโน้มการใช้งานที่เพิ่มขึ้นในทั่วโลกประกอบกับลักษณะเฉพาะของสกุลเงินออนไลน์ที่ควบคุมการใช้งานได้ค่อนข้างยาก จึงอาจมีความเป็นไปได้ที่หน่วยงานกำกับด้านการเงินของไทยอาจเลือกพิจารณาออกกฎระเบียบที่มีลักษณะผ่อนคลายต่อการทำธุรกรรมในสกุลเงิน Bitcoin มากขึ้น ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงของผู้ใช้งานทั่วไปและผู้ที่เกี่ยวข้องในกลุ่มต่างๆ ซึ่งควรทำความเข้าใจและปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง สำหรับสถาบันการเงินที่อาจได้รับผลกระทบจากการที่ผู้ใช้งานทั่วไปเลือกหันไปใช้การทำธุรกรรมผ่านระบบ Bitcoin มากขึ้น ในอนาคตอาจจะมีการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เช่น การรับทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน การสร้างแพลทฟอร์มในการแลกเปลี่ยนเงินสกุล Bitcoin หรืออาจผันตัวเองเป็นผู้ให้บริการรับฝากเงินในสกุล Bitcoin เป็นต้น

----------------
ที่มา : http://www.hiclasssociety.com/?page_id=29909
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่