ยูเครน : กลิ่นอายสงครามโชยมาแล้ว

ผมเกาะติดสถานการณ์ของยูเครนมาหลายเดือน เพราะการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่นั่น เคียงคู่มากับของประเทศไทย

แต่วันนี้ดูเหมือนว่าจะเกิด “ภาวะสงคราม” เพราะรัสเซียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ด้านตะวันออก เตรียมส่งทหารเข้ามา เพราะว่า วิคเตอร์ ยานูโควิช ที่เคยเป็นคนของเขาถูกขับออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี

เป็นการเผชิญหน้าครั้งร้ายแรงที่สุดระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตก ตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง

เป็นภาวะวิกฤติการเมืองระหว่างประเทศ ที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดสงครามมากที่สุด ตั้งแต่สหภาพโซเวียตส่งทหารเข้ายึดเชโกสโลวะเกีย เมื่อปี ค.ศ. 1968

ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของสหรัฐ ยกหูโทรศัพท์ถึงประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย พูดคุยกันยาวนานถึง 90 นาที แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ทำให้บรรยากาศที่ตึงเครียดผ่อนคลายลง

ปูติน ขอให้รัฐสภาอนุมัติให้รัฐบาลส่งทหารเข้าไปยูเครน โดยอ้างว่าความวุ่นวายกำลังคุกคามชีวิตของคนรัสเซียที่นั่น

ไม่ต่างกับข้ออ้างที่รัสเซียใช้เพื่อจะส่งทหารเข้าจอร์เจียเมื่อปี ค.ศ. 2008 เพื่อยึดสองแคว้นที่แยกเป็นอิสระจากตน

โอบามา บอกปูติน ว่า การที่รัสเซียส่งทหารเข้าไปยูเครนเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ จึงขอให้รัสเซียถอนทหารกลับไปสู่ฐานทัพเรือของตนในไครเมีย ซึ่งอยู่ทางใต้ของยูเครน

ไครเมีย เป็นสาธารณรัฐปกครองตนเองของยูเครน ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งไครเมีย แต่ก็อยู่ใต้ยูเครน เมืองหลวงชื่อ Simferopol (ซิมเฟอโรโพล) ตั้งอยู่กลางช่องแคบไครเมีย มีประชากรประมาณ 2 ล้านคน ขณะที่ประเทศยูเครนมีทั้งหมด 46 ล้านคน

ที่นี่ รัสเซียมีฐานทัพใหญ่ที่เรียกว่า Black Sea Fleet ในทะเลดำ ซึ่งเป็นการเช่าจากรัฐบาลยูเครน

พอเกิดเรื่องวุ่นวายทางการเมือง ประธานาธิบดียานูโควิช ถูกรัฐสภาขับออก มีการตั้งรัฐบาลชั่วคราวที่เมืองหลวงเคียฟ ทหารรัสเซียก็เข้าไปยึดสถานที่ราชการ และท่าเรือหลายแห่งที่ไครเมีย ร้อนถึงรัฐบาลกลางที่เคียฟต้องประกาศว่านี่เป็นการ “รุกราน” ของทหารรัสเซียต่อยูเครน

นายกฯ รักษาการ ของยูเครน คือ อาร์เซนนี ยัทเซนิวอิค ประกาศว่า การส่งทหารรัสเซียเข้าไครเมียเช่นนี้ ถือว่าเป็น “การเริ่มต้นของสงครามและการสิ้นสุดของความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนกับรัสเซียแล้ว”

รัฐบาลรักษาการของยูเครน หันไปหาสหรัฐและยุโรป ขอให้ NATO ช่วยหาทางปกป้องอธิปไตยของยูเครน ไม่ให้รัสเซียเข้ามายึดครอง

โอบามา บอก ปูติน ว่า ถ้ารัสเซียเป็นห่วงกังวลสวัสดิภาพของคนเชื้อสายรัสเซียในยูเครน ก็ควรจะดำเนินการอย่างสันติ ไม่ควรส่งทหารเข้าไปยึดครองสถานที่อย่างนั้น

ปูติน ไม่ฟังเสียงผู้นำตะวันตกในเรื่องนี้เลย เพราะว่าก่อนจะพูดจากันทางโทรศัพท์หนึ่งวัน ผู้นำสหรัฐก็ออกทีวีเตือนปูติน ว่า ถ้ามอสโกทำอะไรที่ตีความว่าเป็นการเข้าไปรุกรานยูเครน ก็จะ “มีราคาที่จะต้องจ่าย”

แต่ ปูติน ไม่สน ยืนยันกับโอบามา ว่า รัสเซียสงวนสิทธิ์ที่จะ “ปกป้องผลประโยชน์ของรัสเซียและประชาชนที่มีเชื้อสายรัสเซียในยูเครน”

เท่ากับเป็นการท้าทายให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มขึ้น อีกหลายดีกรีทีเดียว

ภาพจากข่าวทีวีที่ผมเห็นจากไครเมีย มีการปะทะกันระหว่างมวลชนที่อยู่ข้างรัสเซียกับฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลรักษาการที่เคียฟ (ที่ขับไล่ยานูโควิช ซึ่งเป็น “เด็กของปูติน” และวันนี้มีข่าวว่าหนีไปรัสเซียแล้ว) และมีการชักธงรัสเซียขึ้นตามตึกราชการหลายเมืองแล้ว

รัฐบาลยูเครนจึงประกาศระดมกำลังทหารเต็มอัตราศึก เพื่อตั้งรับกับการเข้ายึดของรัสเซีย

เป็นข้อพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อบ้านเมืองขัดแย้งแตกแยก เพราะการเมืองภายในโดยไม่หาทางออกร่วมกัน ย่อมจะทำให้ประเทศอ่อนแอไม่ต่างกับคนป่วยไข้อาการหนัก เข้าห้องไอซียู และตกเป็นเหยื่อของการรุกรานของเพื่อนบ้านได้อย่างง่ายดายอย่างที่เห็นกัน

ยูเครน เป็นตัวอย่าง “รัฐล้มเหลว” ที่...ชักศึกเข้าบ้าน อย่างที่คนไทยควรจะเรียนรู้ เพื่อหลีกเลี่ยงทุกย่างก้าว...ทีเดียว

Tags : ยูเครนตัวอย่างรัฐล้มเหลว • วลาดิเมียร์ ปูติน • บารัก โอบามา

http://bit.ly/1hWYlCP
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่