รถไฟความเร็วสูงเกิดแน่นอนแล้ว!

กระทู้คำถาม
ความปรารถนาอันแรงกล้าของภาคประชาชนในการผลักดันให้รัฐบาลก่อสร้างและดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงไม่เป็นหมันแล้ว เพราะขณะนี้รัฐบาลกำลังเดินหน้าก่อสร้างและดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง เป็นสายแรก
       
       การประชุมคณะกรรมการระดับชาติคือคณะกรรมการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-จีน ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีมติผลักดันโครงการนี้อย่างเต็มที่
       
       ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่คนไทยควรได้ทำความรู้ ความเข้าใจ เรื่องรถไฟความเร็วสูงกันอีกสักครั้งหนึ่งว่าจะมีผลต่อการพัฒนาและการเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้อย่างไร
       
       อันเรื่องรถไฟนั้นต้องขอบอกกล่าวก่อนว่ามีรถไฟอยู่ถึง 3 ประเภท และแต่ละประเภทก็มีการใช้ประโยชน์ต่างกัน
       
       ประเภทแรก คือรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ดังตัวอย่างรถไฟฟ้าบีทีเอสที่วิ่งรับส่งผู้โดยสารอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครในปัจจุบันนี้ และที่กำลังจะขยายต่ออีก 6 สาย ด้วยเงินลงทุนร่วม 2 ล้านล้านบาท
       
       ประเภทที่สอง คือรถขนส่งคนและสินค้า ดังตัวอย่างรถไฟแบบเก่าที่ประเทศไทยใช้อยู่ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 และเจริญก้าวหน้าลงมาโดยลำดับ จนกระทั่งความเร็วเหลือเพียง 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และแต่ละปีก็เกิดอุบัติเหตุนับครั้งไม่ถ้วน
       
       รถไฟแบบนี้ปกติต้องทำเป็นทางคู่เพื่อไม่ให้เสียเวลาในการรอสวนทางกัน และใช้เป็นหลักในการขนส่งคนและสินค้าภายในประเทศ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราโชบายให้รถไฟแบบนี้เป็นหลักในการคมนาคมทางบกของประเทศ
       
       ทว่าพระบรมราโชบายอันก้าวหน้านั้นได้ถูกนักวิชาการหัวนอกที่กลวงเปล่าเปลี่ยนแปลงไป และให้ใช้รถยนต์เป็นหลักในการคมนาคมทางบก จนเป็นผลให้ประเทศไทยเต็มไปด้วยถนนและมีรายจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์เป็นรายจ่ายที่สูงที่สุดลำดับหนึ่งของประเทศ และทำให้คนไทยมีหนี้สินกันทั้งประเทศ
       
       รถไฟแบบนี้ยังคงต้องพัฒนาต่อไป แต่ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ระบบรางกว้าง 1 เมตร ที่เราใช้กันอยู่ไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมอีกต่อไป จะต้องปรับปรุงให้เป็นระบบรางกว้าง 1.43 เมตร เพื่อเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสอดคล้องกับโครงการโครงข่ายคมนาคมจีน-อาเซียน ที่จะเพิ่มศักยภาพทางด้านขนส่งและการค้าให้กับประเทศไทยครั้งใหญ่
       
       แต่ความคิดในเรื่องนี้ยังไม่ตกผลึก ยังยักแย่ยักยัน ยังถูกตีกันจากนายทุนเงินกู้ญี่ปุ่นที่ต้องการให้ประเทศไทยดำรงความล้าหลังในเรื่องรถไฟ และเชื่อมต่อกับใครไม่ได้ แล้วจะต้องพึ่งพารถยนต์อันเป็นประโยชน์ของญี่ปุ่นต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
       
       จึงเป็นหน้าที่ของชาวไทยที่ต้องทำความเข้าใจและร่วมกันแก้ไขเรื่องนี้ จึงจะบังเกิดประโยชน์สูงสุดแก่อาณาประชาราษฎรได้อย่างแท้จริง
       
       ประเภทที่สาม คือรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นระบบรถไฟแบบใหม่ หรือจะเรียกว่าเป็นรถไฟแห่งยุคสมัย แต่เป็นรถไฟที่ใช้สำหรับการขนส่งผู้โดยสารเป็นหลัก
       
       รถไฟแบบนี้วิ่งด้วยความเร็วสูงระดับ 250-350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันนี้ประเทศจีนเป็นเจ้ามือรายใหญ่ของรถไฟแบบนี้ โดยเป็นไปตามแผนการพัฒนารถไฟระยะที่ 7 ของจีน ที่จะให้มีรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ และยังนำร่องการพัฒนาระยะที่ 8 ให้มีความเร็วถึง 450 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
       
       รถไฟแบบนี้จีนได้อาศัยต้นแบบจากเทคโนโลยีของเยอรมนี ซึ่งเยอรมนีไม่ประสบความสำเร็จเพราะมีต้นทุนสูง ไม่สามารถเป็นเชิงพาณิชย์ได้ ครั้นจีนและเยอรมนีได้ร่วมมือกันแล้วก็ได้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง
       
       นั่นคือสามารถผลิตได้มาก ราคาไม่สูงเกินไป และใช้ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างดียิ่ง โดยได้ผ่านการทดลองวิ่งมาแล้วอย่างอุดมสมบูรณ์ ดังตัวอย่างรถไฟความเร็วสูงสายปักกิ่ง-เทียนสิน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และคนไทยจำนวนหนึ่งเคยไปทดลองนั่งกันมาแล้ว
       
       ขณะนี้จีนกำลังขยายรถไฟแบบนี้ไปทั่วประเทศ รวมทั้งได้ไปร่วมมือพัฒนากับประเทศต่างๆ แม้แต่สหรัฐอเมริกา เพื่อพัฒนารถไฟแบบนี้ ดังนั้นในระยะ 20-50 ปีจากนี้ไป ทิศทางใหญ่ในการพัฒนารถไฟขนส่งผู้โดยสารจึงเป็นแบบรถไฟความเร็วสูงระดับ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
       
       เพราะถ้าจะเพิ่มความเร็วไปมากกว่านี้ก็ทำได้อย่างที่จีนได้นำร่องทดลองอยู่ นั่นคือรถไฟความเร็วสูงสายเซี่ยงไฮ้-ผู่ตง เหตุที่ต้นทุนสูงก็เพราะว่าเป็นรถไฟความเร็วสูงอีกระบบหนึ่ง ที่ใช้เทคโนโลยีแม่เหล็กเป็นหลัก หรือที่เรียกกันว่าแมคเนติกเทรน แต่จีนก็ได้ถือเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนารถไฟระยะที่ 8 แล้ว
       
       ขณะนี้ประเทศไทยกำลังพัฒนากิจการรถไฟทั้งสามแบบ คือรถไฟขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และจะเริ่มขยายไปยังเมืองใหญ่ๆ คือแบบรถไฟบีทีเอสนั่นเอง
       
       ส่วนรถไฟขนส่งคนและผู้โดยสารก็ได้มีการอนุมัติโครงการกันไปแล้ว ด้วยวงเงินลงทุนถึง 900,000 ล้านบาท และมีการอนุมัติตัวเงินรอบแรกไปแล้วจำนวน 18,000 ล้านบาท กำลังจ่อรอคิวขออนุมัติคณะรัฐมนตรีรอบที่สองอีก 66,000 ล้านบาท
       
       ส่วนรถไฟความเร็วสูงนั้น รัฐบาลกำลังเดินหน้าอย่างเต็มเหนี่ยว โดยได้กำหนดกรอบเงินลงทุนแล้วเป็นวงเงินถึง 800,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะก่อสร้างจำนวน 4 สาย จากกรุงเทพฯ ไปเหนือสุด ใต้สุด ไปอีสาน และภาคตะวันออก
       
       ก็ต้องขอบอกไว้ตรงนี้ว่า การพัฒนาสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้นเขาไม่เริ่มต้นด้วยการก่อสร้างเส้นทางยาวเช่นนี้เลย เพราะต้องใช้ทุนและใช้เวลามาก และยังมีปัญหาเรื่องการจัดขบวนรถที่ต้องจัดขบวนรถวิ่งไป-กลับอย่างต่อเนื่องทุกระยะเวลากำหนดอันแน่นอน เช่น 10 นาทีต่อขบวน หรืออย่างช้าสุดก็ไม่เกิน 30 นาทีต่อขบวน
       
       ประเทศจีนเป็นประเทศใหญ่และเป็นมหาเศรษฐีลำดับสองของโลกแล้ว เขาได้ทำแบบอย่างให้เห็นมาแล้วด้วยการเริ่มรถไฟความเร็วสูงเป็นเฟสเป็นส่วนสั้นๆ ก่อน ดังตัวอย่างสายปักกิ่ง-เทียนสิน และขยับขยายยาวขึ้นดังตัวอย่างรถไฟความเร็วสูงสายกวางโจว-หวู่ฮั่น เป็นต้น
       
       ประเทศไทยเราไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตรถไฟและไม่ใช่ประเทศมหาเศรษฐีของโลก ดังนั้นจึงไม่ควรฝืนหลักธรรมชาติในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงด้วยการเริ่มต้นก่อสร้างสายยาวทีเดียว หากพึงทำเป็นเฟสเป็นส่วนดังข้อเสนอของภาคประชาชนที่ได้เสนอต่อรัฐบาลไปแล้ว
       
       นั่นคือให้เริ่มเฟสส่วนแรกสายสั้นๆ 5 สาย คือกรุงเทพฯ-โคราช กรุงเทพฯ-นครสวรรค์ กรุงเทพฯ-ระยอง กรุงเทพฯ-กาญจนบุรี และกรุงเทพฯ-หัวหิน ซึ่งถ้าดำเนินการแบบนี้ภายใน 3 ปีจากนี้ไปประเทศไทยก็จะมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภาคกลางและทุกภาคอย่างทั่วถึง จะพลิกโฉมหน้าพัฒนาการของประเทศไทยอย่างชัดเจนที่สุด
       
       การเร่งรัดพัฒนารถไฟความเร็วสูงของประเทศไทยในครั้งนี้ ด้านหนึ่งก็เพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของภาคประชาชนร่วมกับหอการค้าทั่วประเทศ ด้านหนึ่งก็เพื่อสนองต่อยุทธศาสตร์ในการปรับปรุงโครงข่ายคมนาคมทางบกของประเทศ เพื่อให้รองรับกับการพัฒนาภูมิภาคนี้
       
       แม้ว่ารัฐบาลจะเริ่มต้นโครงการด้วยการกำหนดแนวทางก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายยาวไปทั้ง 4 ภูมิภาค แต่โชคดีที่ไม่ทำพร้อมกันทั้ง 4 สาย โดยไปเริ่มสายแรกกรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งเป็นระยะสั้นๆ ก่อน
       
       รถไฟสายกรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งมีระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร จะใช้เวลาวิ่งประมาณ 1 ชั่วโมง จะบุกเบิกและขยายการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศไทยครั้งใหญ่ที่สุดซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ที่ต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่ฝั่งทะเลไทย
       
       รัฐบาลระบุว่ามีศักยภาพสูงเพราะเป็นพื้นที่ลงทุนภาคอุตสาหกรรมและสามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่ภาคการท่องเที่ยวภาคตะวันออก ซึ่งข้ออ้างเช่นนี้ก็มีความถูกต้องและสอดคล้องกับสภาพในปัจจุบัน
       
       ขอเพียงรถไฟความเร็วสูงสายแรกเกิดขึ้นเท่านั้น โฉมหน้าในความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยในทุกด้านก็จะปรากฏให้เห็น เช่น สายตะวันออกนี้จะมีผลต่อการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออกอย่างครึกโครมที่สุดเท่าที่เคยปรากฏมา
       
       แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องตระหนักด้วยว่าการพัฒนารถไฟความเร็วสูงนั้นต้องคำนึงถึงประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ และต้องคำนึงถึงปัญหาด้านความมั่นคงและการเมืองในภาคสังคมด้วย
       
       ควรจะทำความเข้าใจพระบรมราโชบายของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ว่าทรงใช้เหตุผลประการใดจึงทรงริเริ่มสร้างรถไฟสายแรกจากกรุงเทพฯ ไปโคราช
       
       รถไฟสายกรุงเทพฯ-โคราช จะเชื่อมประชากรภาคอีสาน 23 ล้านคน เข้ากับภาคกลางและภาคอื่นๆ จักอำนวยประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่ประชาชนถึงครึ่งหนึ่งของประเทศ และเป็นเส้นทางสำคัญที่มีนัยต่อความมั่นคง การเมืองและภาคสังคมต่างๆ ด้วย
       
       ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่หวังว่ารถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-โคราช จะเป็นสายที่ได้รับการก่อสร้างคู่ขนานหรือถัดไปจากรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง

โดย สิริอัญญา     22 สิงหาคม 2553 10:10 น.

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000116158
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่