นักดาราศาสตร์ค้นพบ “ดาวคู่” (Companion) ของดาวบีเทลจุส (Betelguese) ดาวคู่ดวงนี้โคจรรอบดาวบีเทลจุสในวงโคจรที่แคบอย่างเหลือเชื่อ ซึ่งอาจช่วยไขปริศนาเรื่องการแปรแสงของดาวบีเทลจุสที่มีคาบประมาณ 6 ปี อย่างไรก็ตาม ดาวคู่ดวงนี้กำลังนับถอยหลังสู่จุดจบ และทีมนักนักดาศาสตร์คาดการณ์ว่าดาวบีเทลจุสจะกลืนกินดาวคู่ของมันในระยะเวลาอีก 10,000 ปีข้างหน้า
ดาวบีเทลจุสเป็นดาวฤกษ์มวลมากสีส้มแดง สว่างเป็นอันดับ 10 บนท้องฟ้า และสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ปรากฏอยู่บริเวณหัวไหล่ข้างขวาของกลุ่มดาวนายพราน (Orion) มีมวลประมาณ 14-19 เท่าของดวงอาทิตย์ และมีขนาดใหญ่กว่าถึง 700 เท่า นักดาราศาสตร์คาดว่าดาวบีเทลจุสอาจอยู่ในช่วงสุดท้ายของวิวัฒนาการ และอาจระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา (Supernova) ได้ทุกเมื่อภายใน 100,000 ปีที่จะถึงนี้ หากเกิดการระเบิดจริง บีเทลจุสจะกลายเป็นดาวที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้ายามค่ำคืน มีความสว่างใกล้เคียงกับดวงจันทร์เต็มดวง
ในช่วงปี ค.ศ. 2019-2020 ดาวบีเทลจุสเกิดเหตุการณ์ "การหรี่แสงครั้งใหญ่" (Great dimming) สร้างความตื่นตะลึงและจุดกระแสความสนใจไปทั่วโลก ต่อมาผลการศึกษาในปี ค.ศ. 2023 ชี้ว่า “การหรี่แสงครั้งใหญ่” นี้เป็นผลจากแก๊สร้อนขนาดมหึมาที่ปะทุออกมาจากดาวบีเทลจุส เกิดเย็นตัวลง และกลายเป็น “ฝุ่น” มาบดบังดาว ทำให้ดาวบีเทลจุสมีความสว่างลดลงอย่างเฉียบพลัน
อีกปริศนาหนึ่งของดาวบีเทลจุสที่นักดาราศาสตร์พยายามไขมาตลอดกว่า 1,000 ปี คือการแปรแสงของดาวบีเทลจุสที่มีคาบประมาณ 6 ปี ในช่วงปี ค.ศ. 1985 เริ่มมีการตั้งสมมติฐานว่า ดาวบีเทลจุสนั้นอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบ "ดาวคู่" และยังมีดาวคู่ของมันอีกดวงหนึ่งที่ยังไม่เคยมีใครสังเกตเห็น นักดาราศาสตร์พยายามค้นหาคำตอบด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล และกล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีเอ็กซ์จันทรา แต่ก็ยังไม่สามารถค้นพบดาวคู่ของมันได้
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 2025 ทีมนักดาราศาสตร์จาก NASA Ames Research Center ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาลงในวารสาร The Astrophysical Journal โดยใช้กล้องโทรทรรศน์เจมินี นอร์ท (Gemini North Telescope) ที่ตั้งอยู่ในฮาวาย ร่วมกับอุปกรณ์ถ่ายภาพ “อาโลเปเก” (Alopeke) ซึ่งใช้เทคนิคที่เรียกว่า “Speckle Imaging” อาศัยการเปิดหน้ากล้องในช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อชดเชยการรบกวนแสงดาวจากชั้นบรรยากาศโลก ทำให้สามารถถ่ายภาพที่มีความละเอียดสูงกว่ากล้องโทรทรรศน์อื่น ๆ ที่เคยใช้สังเกตดาวบีเทลจุสมาก่อน
ผลการสังเกตการณ์ในครั้งนี้เปิดเผยให้เห็นถึง “ภาพดาวคู่ของดาวบีเทลจุส” เป็นครั้งแรก โดยพบว่าเป็นดาวสีฟ้าขาว มีมวลประมาณ 1.5 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ โคจรอยู่ในระยะใกล้มากจนอยู่ภายในส่วนหนึ่งของชั้นบรรยากาศชั้นนอกของดาวบีเทลจุสเอง และถือเป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบดาวคู่ในระยะใกล้กับดาวยักษ์แดงมากขนาดนี้ ส่งผลให้ดาวคู่นี้ถูกแรงโน้มถ่วงหน่วงรั้งอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะถูกกลืนกินโดยดาวบีเทลจุสภายในเวลาไม่เกิน 10,000 ปีข้างหน้า
ระหว่างนี้ นักดาราศาสตร์ยังคงติดตามดาวคู่ของดาวบีเทลจุสอย่างใกล้ชิด และคาดว่าจะสามารถสังเกตการณ์ดาวคู่ดวงนี้ได้อีกครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2027 ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวทั้งสองจะอยู่ในตำแหน่งห่างกันมากที่สุดบนวงโคจร
การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญในการไขความลับเกี่ยวกับการแปรแสงของดาวยักษ์แดงอย่างบีเทลจุส นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ ที่สามารถเผยให้เห็นดาวคู่ของดาวฤกษ์ซึ่งเป็นปริศนาที่นักดาราศาสตร์ค้นหามานานกว่าพันปี ความก้าวหน้านี้ย่อมเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยขยายขอบเขตความรู้ของมนุษยชาติ และนำไปสู่การค้นพบใหม่ ๆ ในเอกภพต่อไปในอนาคต
แปลและเรียบเรียง
มติพล ตั้งมติธรรม - นักวิชาการ
พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
อ้างอิง
ขออนุญาตและขอขอบพระคุณ
NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
นักดาราศาสตร์ค้นพบ "ดาวคู่" ของดาวบีเทลจุสเป็นครั้งแรก