คำคม เรื่องเล่าและนิทาน VI : โลกในมุมมองของ Value Investor โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร








ในแวดวงของเหล่า “VI” นั้น พวกเราก็มีคำคม เรื่องเล่า และนิทาน ที่เป็นอุทาหรณ์สอนวิธีดำเนินชีวิตด้านการลงทุนแบบ VI มากมาย เรื่องราวเหล่านั้นมักจะถูกกล่าวโดยกูรูหรือเซียน VI ระดับโลกและก็มักจะถูกอ้างอิงพูดซ้ำกันต่อ ๆ มาจนบางทีก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนกล่าวคนแรก นอกจากนั้นก็อาจจะมีเพี้ยนไปบ้างในรายละเอียด อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญก็มักจะยังเหมือนเดิม ลองมาดูกันว่าผมพอจะจำเรื่องไหนได้บ้าง

เรื่องแรกที่ผมเคยอ่านมานานมากตั้งแต่เข้าวงการ VI ใหม่ ๆ ก็คือการลงทุนในน้ำมันที่น่าจะกำลังบูมจัดในยุคนั้น ซึ่งในวันนี้ผมจะเปลี่ยนเป็น “ทอง” แทน เรื่องมีอยู่ว่า

เซียนและเศรษฐีนักเล่นทองตายลงอย่างกะทันหัน เขาเดินเข้าไปในแดนของสวรรค์ซึ่งเป็นที่อยู่ของคนที่ได้ทำความดีจนได้อยู่ในสวรรค์หลังจากความตาย เซียนเข้าพบกับเซ็นต์ปีเตอร์ซึ่งเป็นผู้ดูแลสมาชิกทั้งหมดและขอเข้าไปอยู่บนสวรรค์ด้วย แต่เซ็นต์ปีเตอร์ตอบว่าทุกห้องเต็มหมด และไม่มีใครย้ายออกไปเลย ถ้ามีใครออกไป เซียนก็จะมีสิทธิเข้าไปอยู่ในสวรรค์แทน

เซียนทองไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่ก่อนที่จะจากไปได้ขอเซ็นต์ปีเตอร์พูดเพียง 3-4 คำ ซึ่งเขาก็ตะโกนเสียงดังไปทั่วสวรรค์ว่า “มีทองอยู่ในนรก”

ทันใดนั้น สวรรค์ก็แตกตื่น ทุกคนต่างแห่กันออกจากสวรรค์และมุ่งหน้าไปสู่นรก เซ็นต์ปีเตอร์รู้สึกทึ่งมาก และก็บอกกับเซียนทองว่า ตอนนี้สวรรค์ว่างแล้ว เชิญท่านเข้าไปเลือกห้องอยู่ได้เลย

เซียนทองเองก็รู้สึกทึ่งมากเช่นกัน เขามองหน้าเซ็นต์ปีเตอร์แล้วตอบว่า ผมเปลี่ยนใจแล้ว ผมจะไปพร้อมกับพวกเขา คงมีทองมากมายในนรกจริง ไม่อย่างนั้นทุกคนจะแห่กันไปอย่างนั้นเหรอ?



นิทานเรื่องนี้ ให้ข้อคิดว่า เวลาที่ตลาดการลงทุนบูมจัด และคนกำลังแห่กันเข้าไปซื้อสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์นั้น แม้แต่คนที่ปั่นหุ้นหรือสินทรัพย์หรือสร้างเรื่องนั้นเอง ก็ยังเชื่อว่ามันเป็นสินทรัพย์หรือหุ้นที่ดีสุดยอดจริง ๆ และกลับเข้าไปเล่นอย่างบ้าคลั่ง ทั้ง ๆ ที่มันอาจจะคือ “นรก”

แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าทองหรือคริปโต หรือแม้แต่หุ้นเท็คขนาดใหญ่ที่ขึ้นมาแรงมาก ๆ ในช่วงเร็ว ๆ นี้กำลังจะตกลงมาแรงนะครับ นี่เป็นแค่ข้อเตือนใจ

นิทานเรื่องที่สองคือ “เจ้าชายกบ” นิทานเด็กชื่อดังที่วอเร็น บัฟเฟตต์ชอบพูดถึงเวลาที่คนบอกว่าหุ้นจะเปลี่ยน “พื้นฐาน” หรือเป็นหุ้น “Turnaround” หรือหุ้นฟื้นตัว โดยเปรียบบริษัทหรือกิจการเหมือนกับ “เจ้าชายกบ” ในนิทานที่เป็นเจ้าชายแต่ถูกสาบให้เป็นกบ ที่เมื่อถูกเจ้าหญิงจูบ ก็จะฟื้นหรือแปลงกลับมาเป็นเจ้าชายรูปงาม และแต่งงานกัน

บัฟเฟตต์บอกว่า เขาเจอมามาก ในชีวิตจริง “กบ” หรือกิจการที่ไม่ดีหรือเป็นกิจการ “เจ๊ง” และเราหวังว่าเราเข้าไปซื้อหรือเข้าไปปรับปรุงหรือ “จูบ” แล้วมันจะแปลงเป็น “เจ้าชาย” นั้น แทบจะไม่เคยเกิดขึ้น หรือ “จูบ” กี่ตัว ๆ มันก็ยังเป็นกบอยู่นั่นเอง และนั่นก็ทำให้บัฟเฟตต์ไม่สนใจลงทุนในหุ้นคุณภาพแย่หรือหุ้น Turnaround เขายังพูดด้วยว่า “Turnaround seldom Turnaround”

แม้แต่กิจการสิ่งทอของเบิร์กไชร์ที่มีผู้บริหารที่ดีและเก่งมากที่พยายามแก้ปัญหาความตกต่ำของธุรกิจมานานมากในที่สุดก็ต้องปิดตัวลง ไม่สามารถ Turnaround หรือฟื้นตัวได้ และนั่นนำมาสู่คำคมของบัฟเฟตต์อีกคำหนึ่งนั้นก็คือ

“When a management with a reputation for brilliance tackles a business with a reputation for bad economics, it is the reputation of the business that remain intact”


คำแปลก็คือ เมื่อผู้บริหารที่มีชื่อเสียงดีเด่นเข้ามาจัดการปัญหาของธุรกิจที่มีชื่อเสียงว่าแย่มาก สิ่งที่จะเหลืออยู่ก็คือชื่อเสียงของธุรกิจ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ชื่อเสียงของผู้บริหารที่ว่าดีเด่นก็จะหายไป เพราะแก้ปัญหาไม่ได้

บทเรียนก็คือ เวลาจะลงทุนในหุ้นบริษัทไหน ให้ดูว่าธุรกิจดีหรือเปล่า อย่าไปคิดว่าผู้บริหารเก่งมากที่จะนำพาให้บริษัทดีเด่นหรือดีต่อไปเรื่อย ๆ




พูดถึงเรื่องนี้คนจำนวนมากคิดว่าบัฟเฟตต์ถือว่าผู้บริหารคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการลงทุนในหุ้นของบริษัท เพราะบัฟเฟตต์มักจะ “ชม” ผู้บริหารของบริษัทที่เขาถือหุ้นเสมอว่าเป็น “สุดยอด” แต่ผมเชื่อว่านั่นเป็นกลยุทธ์ในการ “บริหารงานบุคคล” ของบัฟเฟตต์ มากกว่าที่จะเป็นเงื่อนไขในการลงทุนในตัวกิจการของเขาที่เน้นว่า บริษัทเป็นกิจการที่ต้องดีก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าไม่ดียังไงก็ไม่เอา

ว่าที่จริงปีเตอร์ ลินช์ เซียนหุ้นนักบริหารกองทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งก็เชื่อเหมือนกันว่าผู้บริหารนั้นอาจจะไม่จำเป็นต้องเก่งหรือยอดเยี่ยมในกรณีที่บริษัทดีเยี่ยมอยู่แล้ว เขาพูดว่า “Go for business that any idiot can run- because sooner or later any idiot probably is going to run it.” แปลว่า ลงทุนในธุรกิจที่คนทึ่มก็ยังบริหารได้ เพราะว่าไม่ช้าก็เร็ว จะมีคนทึ่มที่อาจจะเข้ามาบริหารมัน

คำคมที่ผมชอบคำหนึ่งที่เริ่มเห็นว่าเป็นจริงมากขึ้นมากในช่วงเร็ว ๆ นี้ในตลาดหุ้นไทยคือคำของชาร์ลี มังเกอร์ คู่หูบัฟเฟตต์ที่พูดว่า มีเพียง 3 สิ่งที่ผู้ชายที่ฉลาดจะหมดตัวได้นั่นคือ 1) แอลกอฮอร์ 2) ผู้หญิง และ 3) การใช้เงินกู้ในการทำธุรกิจ หรือ “There is only three ways a smart person can go broke: liquor, ladies and leverage”
สำหรับนักลงทุนก็คือ ข้อ 3) คือการซื้อหุ้นโดยใช้มาร์จินจำนวนมากหรือใช้เครื่องมือในการขยายการลงทุนเกินตัวมากเช่น บล็อกเทรด เป็นต้น ที่ทำให้สามารถเพิ่มผลตอบแทนมหาศาลในยามที่คิดถูกและสถานการ์เอื้ออำนวย แต่ในยามที่คิดผิดและสถานการณ์เลวร้ายถูก Force Sell ก็อาจจะทำให้เกิดหายนะได้ในชั่วข้ามคืน



ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นก็เป็นแนวของ VI ที่มักจะเน้นถึงการดูตัวธุรกิจเป็นหลัก แต่ในด้านของการ “เทรดหุ้น” แนวเก็งกำไรนั้น เราก็ควรจะเรียนรู้บ้างจากเซียนหุ้นนักเก็งกำไรระดับโลกว่าเขามีความคิดอย่างไร ซึ่งคนแรกนั้นก็คือ เจสซี่ ลิเวอร์มอร์ ที่ชอบพูดเสมอว่า นักเก็งกำไรที่จะชนะจริง ๆ นั้น ไม่ใช่คนที่จะเทรดหรือซื้อขายหุ้นทุกวัน หรือแม้แต่ทุกเดือน เขาพูดว่า


“There is time to go long, time to go short and time to go fishing.” ซึ่งแปลว่า ในการเล่นหุ้นนั้น “มีบางช่วงที่เราจะซื้อหุ้นลงทุน บางช่วงเราก็ขายช้อร์ต และบางช่วงเราก็ไปตกปลา” คือไม่ทำอะไร อยู่เฉย ๆ

เขายังบอกว่า หลังจากการใช้ชีวิตยาวนานมากในวอลสตรีท ทำกำไรและขาดทุนเงินเป็นล้าน ๆ ดอลลาร์ ผมอยากจะบอกพวกคุณว่า “It never was my thinking that made the big money for me. It always was my sitting. Sitting tight!”

คำแปลก็คือ “มันไม่ใช่เรื่องของการใช้ความคิดเลยที่ทำให้ผมได้กำไรมาก ๆ แต่มันคือการนั่ง นั่งเฉย ๆ ที่ทำให้ผมรวย” ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่แปลกสำหรับนักเก็งกำไรทั้งหลายที่มักจะเชื่อว่า จะต้องซื้อ-ขายหุ้นตลอดเวลา เข้าออกเร็วและถูกจังหวะถึงจะสามารถเอาชนะได้ในเกมเล่นหุ้นหรือลงทุน

คำคมที่มีชื่อเสียงอีกอันหนึ่งเป็นของจอร์จ โซรอส ที่พูดว่า “It’s not whether you’re right or wrong that’s important, but how much money you make when you’re right and how much you lose when you’re wrong.” ซึ่งแปลว่า “มันไม่สำคัญว่าคุณจะผิดหรือถูกในการซื้อ-ขายหุ้น สิ่งที่สำคัญก็คือ คุณกำไรแค่ไหนเมื่อคุณคิดถูกและขาดทุนแค่ไหนเวลาคุณคิดผิด”

สำหรับโซรอสแล้ว นี่คือสูตรสำคัญของเขา คือเขาจะพยายามประเมินก่อนว่าหุ้นหรือหลักทรัพย์น่าสนใจหรือแข็งแกร่งขนาดไหนก่อนที่จะซื้อลงทุนมาก ๆ ที่จะทำให้เขาได้กำไรมาก ๆ โดยวิธีที่เขาทำนั้น ถ้าเขาอยากจะซื้อ เขาอาจจะขายช้อร์ตแบบแรง ๆ ไปล็อตหนึ่งก่อนเพื่อที่จะดูว่ามีคนกำลังเล่นหุ้นหรือหลักทรัพย์ตัวนั้นไหม ถ้าหุ้นตกก็อาจจะเป็นสิ่งที่แสดงว่าเขาจะเข้าไปซื้อหุ้นตัวนั้นมาก ๆ ไม่ได้ เขาอาจจะกำไรหรือขาดทุนจากหุ้นตัวนั้นเล็ก ๆ น้อยซึ่งเขาก็จะไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าหุ้นไม่ตอบสนองกับการขายช้อร์ตของเขา คือหุ้นไม่ลงเลย เขาอาจจะเข้าไปซื้อลงทุนได้เต็มที่และกำไรอย่างงดงามเป็นกอบเป็นกำ




19 ก.ค 2568
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

อ้างอิง https://shorturl.at/5p0Kp

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่