“ราคาหุ้นร่วงและดิ่งหนักจนแตะฟลอร์” KTC ช่วง 23-24 มิ.ย. ที่ผ่านมา กลายเป็นไฟลุกลามเพราะมีการ เชื่อมโยงและตามเบาะแส ไปยังหุ้นตัวอื่น XPG - BEC และ TPS ผ่านโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่บังเอิญเจอวิบากกรรมราคาหุ้นพร้อมใจร่วงลงฟลอร์เช่นกัน แต่ในตลาดหุ้น “ความบังเอิญไม่มีอยู่จริง” เพราะสถานการณ์ราคาหุ้นเข้ารูปแบบ ถูกบังคับขาย หรือ Force Sell ชัดเจน
โดยมีการพุ่งเป้าไปที่ราคาหุ้น KTC จาก จำนวนออเดอร์คงค้างรอขายในตลาด (23 มิ.ย.) สูงถึง 150 ล้านหุ้น ซึ่งเปรียบเทียบกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ถือเกินจำนวนดังกล่าว มีเพียง 2 รายคือ อันดับ 1 KTB จำนวน 1,270 ล้านหุ้น หรือ 49.29 % และอันดับ 2 “มงคล ประกิตชัยวัฒน” ถือหุ้นจำนวน 327 ล้านหุ้น หรือ 12.70 % ซึ่งถือว่าเป็น นักลงทุนรายใหญ่และถึงขั้นยกให้เป็นนักลงทุนวีไอ ถูกโฟกัสว่าเป็นสาเหตุของราคาหุ้น KTC ร่วงดิ่ง 2 ฟลอร์ในวันนี้
การถือหุ้นใน KTC ยาวนานและสร้างความมั่งคั่งมาต่อเนื่องด้วย สมญานาม “หุ้น 25 เด้งในอดีต” เป็นเครื่องการันตรีจากราคาหุ้นหลัก 10 บาทในปี 2554 ราคาหุ้น KTC ทะยานขึ้นมาทำสถิติ 250 บาท ในปี 2561 พาให้นักลงทุนที่ถือหุ้นร่ำรวยกันถ้วนหน้า จนทำให้เกิดเศรษฐีใหม่ “สถาพร งามเรืองพงศ์” หรือเซียนฮง ที่เข้าทยอยซื้อสะสมตั้งแต่ปี 2556 จนขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ในปี 2563 ปั้นพอร์ตลงทุนรวมหมื่นล้านบาท
รวมทั้ง “มงคล ประกิตชัยวัฒน” นักวิศวกรรมโยธาโดดเข้าตลาดหุ้นไทยด้วยการเข้าถือหุ้น KTC ตั้งแต่ปี 2555 จำนวนราว 29.6 ล้านหุ้น และเพิ่มเป็น 33.8 ล้านหุ้นในปี 2556 ก่อนที่ปี 2557 จะลดจำนวนลงมาเหลือ 17.20 ล้านหุ้น และเพิ่มเป็น 20.8 ล้านหุ้นในปี 2558 ขยับเป็น 25.9 ล้านหุ้นในปี 2559 และเพิ่มเป็น 42.7 ล้านหุ้นในปี 2560
โดยในปี 2561 KTC แตกพาร์จาก 10 บาท เหลือ 1 บาท ทำให้จำนวนหุ้นในพอร์ตถืออยู่เพิ่มเป็น 10 เท่าหรือสร้างพอร์ตพลิกเป็นมหาเศรษฐีระดับหมื่นล้านเช่นเดียวกัน ระหว่างปี 2565 -2568 มีการทยอยเพิ่มลดหุ้น KTC มาตลอด จาก 260 ล้านหุ้นหรือ 10.08 % จนมาแตะปัจจุบันที่ 12.07 %
ราคาหุ้นทยอยปรับตัวลงตามภาวะตลาดและเศรษฐกิจที่กระทบความเชื่อมั่นลงทุนรดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นปี 24 % ส่วนราคาหุ้น KTC ลดลง 14.52 % และเป็นการปรับตัวลดลงตั้งแต่ปี 2565 จากราคาหุ้น 59.00 บาท ซึ่งหากเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเห็นพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงรวมทั้งสภาวะตลาดและเศรษฐกิจ ย่อมประเมินว่าจะลงทุนต่อหรือลดพอร์ตลงทุนบ้างส่วน
ที่สำคัญในวงการลงทุนมี กลุ่มนักลงทุนจำนวนมากที่ “ใช้หนี้มาต่อเงิน” ด้วยการใช้วงเงินมาร์จินเพราะสามารถ Leverage การลงทุนได้เป็นเท่าตัว คุ้มค่าเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ดังนั้นนักลงทุนที่มีพอร์ตใหญ่ล้วนได้รับการออฟเฟอร์มาร์จินด้วยกันทั้งนั้น แต่หลังจากเคส MORE เกิดขึ้นทำให้ปริมาณลดลงและไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โดยข้อมูลล่าสุด พ.ค. 2568 มูลค่ามูลหนี้ทั้งระบบอยู่ที่ 58,306 ล้านบาท เป็นมูลค่าหลักประกันจากบัญชีมาร์จินของลูกค้า 182,650 ล้านบาท คิดเป็น 3.13 เท่า มูลค่าหลักประกันในบัญชีมาร์จินของลูกค้าทั้งหมด รวมทั้งธุรกิจโบรกเกอร์มีการจำกัดการปล่อยมาร์จินในหุ้นรายตัวในสัดส่วนไม่เท่ากันตามความเสี่ยงของหุ้นนั้น
กรณีหุ้น KTC ถือว่าเป็นหุ้นขนาดกลางที่มีความเสี่ยงน้อยยิ่งผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นแบงก์ ธุรกิจมีความชัดเจนดำเนินการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลจึงทำให้การปล่อยมาร์จินด้วยการใช้หุ้น KTC มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันจึงไม่ยากและโบรกก็พร้อมจะปล่อยมาร์จิน แต่ด้วยการปรับมาตรการชั่วคราวของ ตลท. ด้วยการกำหนด Ceiling & Floor สำหรับ SET, mai และ TFEX เป็น ±15% และปรับกรอบ Dynamic Price Band เป็น ±5% แบบกระทันหันมีผล 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา จึงทำให้กรอบการเรียก Margin Call จึงแคบตามไปด้วย
ราคาหุ้น KTC ที่ร่วงฟลอร์ 2 วันซ้อนสะท้อนได้ว่ายังมีออเดอร์รอขายแต่ไม่มีใครรับอีกจำนวนมากถึงระดับ 300 ล้านหุ้น หากโดน Force Sell ไปแล้วและไม่มีการเติมเงินหรือวางหลักประกันเพิ่ม เท่ากับ “ยอมปล่อยหุ้นออกจากพอร์ต” โดยปริยายเพราะเข้าไปรับหรือ Leverage ต่อได้ไม่คุ้มเสีย
นอกจากราคาหุ้น KTC และหุ้นอื่นที่เกี่ยวโยงกันแล้ว ยังมีหุ้น “กล้าเสี่ยงสูง ” วางเป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จินอยู่จำนวนมากและ พบว่าหุ้นที่มีสัดส่วนมาร์จินเทียบกับฟรีโฟลตเกือบจะใกล้เคียงกันหรือสูงกว่าฟรีโฟลตไปแล้วมีจำนวนไม่น้อย ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนนักลงทุนได้ดีว่าต้อง “ลุกให้ทันก่อนโดนจ่ายรอบวง” ละกัน
“Force Sell” ทำงานสอยหุ้นคอนเนอร์ ปรากฎการณ์ “เตือน”รายย่อยเสี่ยงสูง