29 ปี ‘Pantip.com’ ชูคอนเทนต์ Human Craft สู้ยุค AI

เครดิตแหล่งข่าว/เจ้าของบทความโดย
https://www.prachachat.net/ict/news-1812685

“พันทิป” หรือ Pantip.com “เว็บบอร์ด” ในตำนานที่อยู่คู่สังคมไทยมากว่า 29 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมาทุกยุคสมัย มีทั้งยุครุ่งเรืองที่ผู้คนพร้อมใจเข้ามาถกเถียงในหลากหลายประเด็น จนมีฐานผู้ใช้ทะลุหลักล้าน และยุคที่ต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้านจากการเข้ามาของเหล่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่ AI Disruption ในปัจจุบัน

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “อภิศิลป์ ตรุงกานนท์” ผู้ร่วมก่อตั้ง และผู้บริหาร “พันทิปดอตคอม” หลากหลายแง่มุม ตั้งแต่เส้นทางตลอด 29 ปี การเปลี่ยนผ่านของพันทิปในแต่ละยุค รวมไปถึงการรับมือกับคลื่น AI ที่กำลังถาโถมเข้ามา

จุดเริ่มต้นของพันทิป

“อภิศิลป์” เล่าว่า เว็บพันทิปก่อตั้งในปี 2539 จากไอเดียเริ่มแรก ของคุณวันฉัตร (วันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์พันทิป) ที่ตั้งใจพัฒนาเว็บนี้ให้เป็นพื้นที่สำหรับซื้อ-ขายสินค้าไอทีมือสอง อารมณ์จะเหมือนไปเดินเลือกของที่ “พันธุ์ทิพย์พลาซ่า” ในสมัยนั้น แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์แทน

“ตอนที่คุณวันฉัตรขายของในพันธุ์ทิพย์ฯ เป็นช่วงที่เริ่มมีการใช้อินเทอร์เน็ตในการสื่อสารผ่านอีเมล์แล้ว ตอนนั้นคุณวันฉัตรเชื่อว่าพลังของอินเทอร์เน็ตน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ จึงตัดสินใจทำเว็บขายของเทียบเคียงได้กับมาร์เก็ตเพลซปัจจุบัน แต่ในยุคนั้นมีคนใช้อินเทอร์เน็ตแค่หลักหมื่นเท่านั้น และการซื้อของบนอินเทอร์เน็ตก็ยังเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ๆ ยังไม่มีใครเข้าใจ ทำให้เว็บขายของที่ทำมาไปไม่รอด”

ต่อมาจึงมีการปรับรูปแบบมาเป็นเว็บไซต์สำหรับแปลข่าวไอที และมีส่วนที่เป็นเว็บบอร์ดเรียกว่า “Technical Chat” เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับให้คนที่เชี่ยวชาญด้านไอทีมาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน จากจุดนั้นก็เริ่มมีคนเข้ามาพูดคุยบนเว็บบอร์ดในเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องไอที “พันทิป” จึงสร้างห้องใหม่เรียกว่า “ห้องจิปาถะ” เพิ่มขึ้น เมื่อคอมมิวนิตี้ในห้องนี้โตขึ้นมาก ๆ ก็แยกออกมาเป็น 8 ห้องย่อย ๆ แบบตามหมวดหมู่ เช่น ห้องสภากาแฟ (พูดคุยเรื่องทั่วไป) และห้องรัชดา (เรื่องรถยนต์) เป็นต้น และยังใช้ระบบที่สมาชิกช่วยดูแลความเรียบร้อยในห้องกระทู้ต่าง ๆ กันเองด้วย

“พันทิปยุคแรกน่าจะเรียกได้ว่าเป็น สตาร์ตอัพ ตั้งแต่ที่ยังไม่มีคำเรียกว่า สตาร์ตอัพ มีการทำงานไม่กี่สิบคน มีคุณวันฉัตรทำหน้าที่ซีอีโอหารายได้ ส่วนผมเองก็ยังเรียนไม่จบ แต่เข้ามาทำเพราะได้รับอีเมล์เกี่ยวกับเว็บพันทิปจากคุณวันฉัตร จึงตัดสินใจมารับจ็อบเขียนโค้ดให้ในช่วงเสาร์-อาทิตย์”

ยุคของระบบสมาชิก

สำหรับยุคที่ 2 ของพันทิปน่าจะเป็นช่วง “Dotcom” บูม เริ่มเห็นกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาซื้อเว็บไทยที่เกิดไล่ ๆ กับพันทิปเยอะมาก เช่น Sanook.com และ Hunsa.com เป็นต้น หลาย ๆ เว็บตัดสินใจขาย แต่พันทิปไม่ขาย พร้อมไปกับการหันมาโฟกัสที่การหารายได้ และสร้างคอมมิวนิตี้ที่แข็งแรง ทำให้มีจำนวนห้องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มีหมวดหมู่หลากหลายมากขึ้น

“เมื่อมีคนเข้ามาใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เริ่มทำระบบสมาชิกขึ้นมา โดยให้มีการยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน ต่างจากช่วงแรก ๆ ที่ผู้ใช้ยังโพสต์ข้อความได้อย่างอิสระ จะใช้ชื่ออะไรก็ได้ แต่ทำให้มีปัญหาเรื่องการสวมรอย หรือใช้ชื่อคนอื่นโพสต์ในสิ่งที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น เราจึงต้องมีระบบสมาชิกขึ้นมา ผู้ใช้ที่เป็นสมาชิกจะมีสัญลักษณ์ ‘อมยิ้ม’ อยู่ท้ายชื่อ”

ในเวลานั้นน่าจะเป็นยุคที่หลายคนมองว่า “พันทิป” คือโซเชียลมีเดียเมืองไทย แต่ขณะเดียวกันก็โดนจับจ้องเยอะมาก ๆ ด้วย เพราะผู้ใช้บางส่วนเขียนกระทู้ในสิ่งที่ไม่เหมาะสม จึงมีเสียงเรียกร้องให้มีการจัดระเบียบ

ยกเครื่องครั้งใหญ่

“อภิศิลป์” เล่าต่อว่า พอมาถึงยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น พันทิปก็ตัดสินใจ “ยกเครื่อง” เว็บทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านครั้งใหญ่ เพื่อแก้ข้อจำกัดจากยุคก่อน ๆ เช่น การเก็บกระทู้ในระบบ บางกระทู้ดีมาก ๆ ต้องโดนลบออก เพราะพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูลหลังบ้านไม่พอ รวมถึง “กระทู้ด๋อย” (หมายถึงจังหวะที่ผู้ใช้ 2 คน เข้ามาคอมเมนต์พร้อมกัน แต่คอมเมนต์คนที่ 2 เซฟทับคอมเมนต์ของคนที่ 1)

“เป็นยุคที่คนเริ่มใช้งานสมาร์ทโฟน ทำให้การเข้าถึงเว็บไซต์ทำได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ยอดคลิกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จากยุคที่ 2 ที่มียอดคลิกเฉลี่ย 8-9 แสนครั้ง/วัน เพิ่มขึ้นมาเป็นเฉลี่ยวันละ 5 ล้านครั้ง ถือได้ว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุด มีสีสันเรื่องความหลากหลายของเนื้อหามากที่สุด และเป็นยุคที่สร้างรายได้มากที่สุดด้วย เพราะใคร ๆ ก็มาลงโฆษณากับพันทิป”... อ่านต่อข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/ict/news-1812685


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่