[SR] รวมภาพ พิธีเปิดเทศกาล ปรากฏการณ์ "กุ้งเดินขบวน" ประจำปี 2567

ข้อมูลพื้นฐานศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าอุบลราชธานี
ข้อมูลพื้นฐาน
ในท้องที่อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสภาพป่าไม้ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ประกอบกับเป็นพื้นที่อยู่ใกล้ป่าอนุรักษ์ตั้งอยู่ใน เทือกเขาพนมดงรัก ที่กั้นพรมแดนระหว่าง 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ลาว และกัมพูชา จัดได้ว่าเป็นเทือกที่มีร่องรอยความเจริญทางอารยธรรมเก่ามาก่อนและทรัพยากรธรรมชาติมากมาย จึงเหมาะสมที่จะใช้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ได้อย่างกว้างขวางซึ่งนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไปจะใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเรียนรู้หาประสบการณ์ตรงของชีวิต ที่ไม่สามารถค้นพบได้จากหนังสือตำราเรียนเล่มใด
การจัดตั้ง
พ.ศ. 2538 ได้รับการจัดตั้งขึ้นในบริเวณป่าสงวนแห่งบชาติ ป่าฝั่งซ้ายลำโดมใหญ่ ท้องที่ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี โดยกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยชื่อว่า ศูนย์ศึกษาธรรมชาติอุบลราชธานี
พ.ศ. 2543 เปลี่ยนชื่อเป็น สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าอุบลราชธานี
พ.ศ. 2546 โอนไปสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2556 เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าอุบลราชธานี


แก่งลำดวน อันเป็นที่ตั้งของเหล่าน้องๆ "กุ้งเดินขบวน"
กุ้งกุ้งเดินขบวน (Parading  Shrimp)
กุ้งเดินขบวน (Parading  Shrimp)  เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่มีกุ้งจำนวนมากมายมหาศาล  ได้พร้อมใจกันขึ้นมาเดินบนลานหินบริเวณแก่งลำดวน เดินทวนกระแสน้ำลำโดมใหญ่ที่ไหลเชี่ยวกรากในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายนของทุกปี กุ้งเหล่านี้จำเป็นต้องขึ้นมาเดินบนบก เพื่อหลบหลีกกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว  จึงเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์ และสวยงามตระการตาน่าดูชมยิ่งนัก  ซึ่งมักจะพบปรากฏการณ์นี้ในช่วงเวลากลางคืน
กุ้งอะไรที่มาเดินขบวน
          กุ้งที่พบในบริเวณแก่งลำดวนมี 3 ชนิด ได้แก่ กุ้งฝอย หรือกุ้งนา , กุ้งชฎา , กุ้งก้ามขน  จากการวิจัยพบว่ากุ้งที่มาเดินขบวนที่แก่งลำดวนนั้นเป็นชนิด กุ้งก้ามขน
          ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macrobrachium  dienbienphuense  
          ชื่อภาษาไทย     : กุ้งก้ามขน
          ลักษณะทั่วไป    : กรี (rostrum) มีลักษณะตรง และมีความยาวสั้นกว่าปลายของแผ่นกำบังหนวด  ซี่ฟันของกรีด้านบนมีจำนวน  11-16 ซี่
                               ขาเดิน (pereiopod) มี 5 คู่  คู่ที่ 1 และคู่ที่ 2 ตอนปลายเป็นก้ามหนีบ  ก้ามหนีบคู่ที่ 2 มีขนาดใหญ่และยาวกว่าก้ามหนีบคู่ที่ 1
                              ก้านตา (eye stalk) มีขนาดสั้นและสามารถพับงอได้
                              ขาว่ายน้ำ (pleopod) มี 5 คู่ อยู่ด้านล่างของลำตัว ปล้องละ 1 คู่
                             ความยาวของลำตัวทั้งหมด (Total  length) มีความยาวของลำตัว 0.74 - 5.26 ซ.ม.
                              หาง (telson) ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายด้านบนของหางมีลักษณะโค้ง  แพนหาง (uropod) มี 1 คู่ลักษณะกลมมน
                              สีลำตัว  สีน้ำตาล หรือสีส้มอ่อน
ลักษณะเด่น      ขาเดินคู่ที่ 2 มีก้ามหนีบขนาดใหญ่  และมีขนยาวอ่อนนุ่มปกคลุม (จะเห็นชัดเจนในกุ้งตัวเต็มวัย)  ขาเดินทั้งสองข้างมีความยาวไม่เท่ากัน  ก้านตามีขนาดสั้น  สามารถพับงอได้  กรีมีลักษณะตรง  และมีความยาวสั้นกว่าปลายของแผ่นกำบังหนวด
การกระจายของชนิดพันธุ์         รายงานครั้งแรกในประเทศเวียดนาม (Dang and Nguyen (1972)) และมีการกระจายอย่างกว้างขวางตั้งแต่ตอนใต้ของจีนลงมาถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย   โดยมีการกระจายมาตามแม่น้ำโขง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และจังหวัดต่างๆที่แม่น้ำทั้งสามไหลผ่านรวมทั้งจังหวัดอุบลราชธานี
แหล่งที่อยู่อาศัย           มักอยู่รวมกันเป็นฝูง กินจุลินทรีย์และสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร  กุ้งวัยอ่อนอาศัยอยู่บริเวณน้ำนิ่งชายฝั่ง กุ้งตัวเต็มวัยจะพบอาศัยอยู่ทั้งบริเวณน้ำนิ่งชายฝั่ง และบริเวณน้ำไหลกลางลำน้ำ
 
กุ้งมาเดินขบวนทำไม?
          บริเวณแก่งลำดวน มีลักษณะเป็นแก่งหินเป็นลานกว้าง ในภาษาพื้นถิ่นเรียกว่า “พลาญหิน” ในช่วงฤดูน้ำหลาก แก่งลำดวนจะมีกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว  ด้วยเหตุนี้ เหล่าบรรดากุ้งก้ามขนจึงได้พร้อมใจกันขึ้นมาเดินทวนกระแสน้ำบนลานหิน เพื่อหลบหลีกกระแสน้ำอันไหลเชี่ยว ต่างพากันเดินทวนกระแสน้ำมุ่งหน้าสู่พื้นที่แหล่งต้นน้ำลำโดมใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์
กุ้งจะเดินทางไปไหน?    
          กุ้งเหล่านี้ต่างพากันเดินทวนกระแสน้ำ มุ่งหน้าสู่พื้นที่แหล่งต้นน้ำลำโดมใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ต้องฟันฝ่ากับอุปสรรคระหว่างทางมากมาย  เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ และภารกิจนี้ยังเป็นความลับของธรรมชาติที่รอให้เราเข้าไปค้นหา
กุ้งจะเดินขบวนช่วงใด
          จะพบปรากฏกรณ์กุ้งเดินขบวน ในช่วงฤดูฝน ในเวลากลางคืน ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายนทุกปี แต่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม ช่วงวันที่ 1-30 กันยายนของทุกปี ส่วนคืนไหนจะมาเดินมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางธรรมชาติ ฤดูกาล และปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในบริเวณต้นน้ำลำโดมใหญ่ ถ้าปริมาณน้ำฝนมาก  กระแสน้ำแรง ก็จะพบกุ้งเดินขบวนเป็นจำนวนมาก หากปริมาณน้ำฝนน้อย กระแสน้ำไม่ค่อยแรง กุ้งก็จะขึ้นมาเดินน้อยหรือไม่ขึ้นมาเดินบนบก  ดังนั้นจึงเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่พบเห็นได้ยาก เป็นเรื่องที่เกิดจากธรรมชาติอย่างแท้จริง ตรงจุดนี้จึงเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์อย่างยิ่ง  ควรสอบถามรายละเอียดจากเจ้าหน้าที่ฯ ก่อนเดินทาง เพื่อจะได้มีโอกาสในการชมปรากกฎการณ์กุ้งเดินขบวน
ข้อควรปฏิบัติในการเข้าชมกุ้งเดินขบวน
1.       ควรดูอย่างระมัดระวัง  ไม่เหยียบ จับ หรือสัมผัสตัวกุ้ง
2.       ควรแต่งกายให้รัดกุมและเหมาะสม เนื่องจากพื้นที่เป็นลานหินมีความลื่น และกระแสน้ำไหลเชี่ยว
3.       ไม่นำอาหาร เครื่องดื่มลงไปรับประทานขณะเที่ยวชม
4.       ไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่นและรบกวนสัตว์ป่าในพื้นที่
5.       ระวังสิ่งของตกน้ำ ควรเก็บทรัพย์สินมีค่าให้เรียบร้อย
6.       ระมัดระวังสัตว์มีพิษที่อาจจะพบในพื้นที่
7.       ไม่ใช้ไฟฉายที่มีความสว่างแรงเกินไป และไม่ส่องไปที่ตัวกุ้งเป็นระยะเวลานาน
8.       ไม่เดินออกนอกเส้นทางที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้
9.       ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
 
อุปกรณ์ในการชมปรากฏการณ์กุ้งเดินขบวน
1.       ไฟฉายส่องสว่าง
2.       อุปกรณ์กันฝน (กรณีฝนตก)

แก่งลำดวน
                   เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีความสวยงามมากอีกแห่งหนึ่งของอำเภอน้ำยืน  จังหวัดอุบลราชธานี  อยู่ในพื้นที่ตำบลโดมประดิษฐ์ แก่งลำดวน เป็นแก่งหินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ  มีความสวยงามแปลกตา  มีเกาะแก่งหินน้อยใหญ่มากมาย  ที่เกิดจากการกัดเซาะของสายน้ำลำโดมใหญ่ ที่ไหลมาจากพื้นที่ต้นน้ำแห่งเทือกเขาพนมดงรัก ทำให้มีลักษณะหินที่มีรูปร่างแปลกตา เช่นลานพันรู ฯลฯ  แก่งลำดวนจึงเป็นที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของอำเภอน้ำยืน เนื่องจากมีความสวยงามตามธรรมชาติ และการคมนาคมสะดวก นอกจากนี้แก่งลำดวนยังเป็นสถานที่ที่พบปรากฏการณ์กุ้งเดินขบวนด้วย
                   แก่งลำดวน อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าอุบลราชธานี  เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ  สัตว์ป่า  และพันธุ์พืช ดูแลพื้นที่อยู่
                   แก่งลำดวนมีที่มาของชื่อจากการที่บริเวณพื้นที่แก่งโดยรวมมีต้นลำดวนขึ้นอยู่เป็นกลุ่มจำนวนมาก  ทั้งนี้ยังมีความหลากหลายทางด้านทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าอยู่โดยรอบพื้นที่  พร้อมทั้งยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบการเดินป่า ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางนิเวศอีกแห่งหนึ่ง แก่งลำดวน จึงเป็นดังอัญมณีที่ล้ำค่าในดินแดนสามเหลี่ยมมรกตที่คุณสามารถมาสัมผัสกับความสุขนี้ได้
 
ติดต่อหน่วยงาน
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าอุบลราชธานี  ตู้ปณ 3 อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี  34260
เบอร์ติดต่อ. 086-9169634, 094-2874156, 097-2123951
Email : sathaniubon@hotmail.com
Facebook : ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าอุบลราชธานี (แอดมิน)
Facebook Fanpage: ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าอุบลราชธานี แก่งลำดวน




















ชื่อสินค้า:   รีวิวสถานท่องเที่ยวอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี
คะแนน:     

SR - Sponsored Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ SR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - ได้รับสินค้ามาใช้รีวิวฟรี โดยต้องคืนสินค้าให้เจ้าของสินค้า
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ

    ข้อมูลเพิ่มเติม

  • เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่