หัวหน้าทีมวิศวกรเคยเชื่อแผ่นดินไหว คงไม่กระทบอาคารในกทม. แต่พอตรวจไป 200 ตึก ขอเปลี่ยนความคิด

เครดิตแหล่งข่าว/เจ้าของบทความโดย
FB Somchit Peumpremsuk
https://www.dailynews.co.th/news/4575608/#


เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานมีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Somchit Peumpremsuk เผยว่าตนเป็นหัวหน้าทีมวิศวกรอาสา ได้เข้ามาช่วยเรื่องให้ความเห็น เกี่ยวกับความเสียหายของอาคารหลังจากเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยของวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมาจากเชื่อว่าคงไม่กระทบอาคารในกรุงเทพมหานคร พอตรวจกว่า 200 ตึกวันนี้ขอเปลี่ยนความคิดโดยระบุว่า


“ผมเริ่มมารับภาระกิจเป็นหัวหน้าทีมวิศวกรอาสา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท) ตามที่ท่านนายก วสท มอบหมาย โดยเริ่ม ไปช่วยงานเรื่องให้ความเห็นเรื่องความเสียหายของอาคาร จากรูปที่ส่งผ่าน Traffy Fondue ตั้งแต่เย็น วันศุกร์ที่ 28 มี.ค. หลังเกิดแผ่นดินไหว”

“หลังจากนั้นก็ได้ลงพื้นที่ จนถึงวันนี้ตรวจอาคารด้วยตัวเองเกือบ 20 อาคาร และผ่านตาจากรูปและรายงานการตรวจสอบอีกร่วม 200 อาคาร และยังเหลืออาคารที่ต้องไปตรวจทั้งงานออกแบบของตัวเองและงานที่ได้มอบหมายจาก วสท อีกเกือบ 50 อาคาร ที่ต้องตรวจให้จบก่อนสงกรานต์ ผมขอสรุปสิ่งที่ผมพบเห็นจากจากสภาพหน้างาน ได้ประมาณนี้ครับ”


“1.เดิมผมมีความเชื่อว่า ผลของแผ่นดินไหว ไม่น่าจะผลอะไรกับอาคารใน กทม. ตอนนี้ผมต้องเปลี่ยนความคิดดังกล่าวโดยสิ้นเชิง  ผลกระทบรุนแรงจนคิดว่า เรายังมีความรู้ในเรื่องการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหวน้อยเกินไป”

“2.ผมผ่านตาเห็นภาพและลงพื้นที่ดูความเสียหายของอาคารคอนโดมิเนียม เกือบทุก Brand เสียหายมาก เสียหายน้อยบ้าง กระจายกันไป ไม่สามารถบอกได้ว่า Brand ใด จะก่อสร้างอาคารได้ทนแผ่นดินไหวได้ดีกว่า ตามความเห็นของผมในฐานะวิศวกรออกแบบโครงสร้าง Layout อาคาร (ที่แบนแต่ยาว มีเสาด้านสั้น 2 ต้น)และมีความสูงประมาณ 20 ชั้น ขึ้นไป จะพบความเสียหายค่อนข้างมาก เนื่องจากอาคารอ่อน จึงเกิดการโยกตัวมาก ดันจนผนังห้องแตกร้าว แบบนี้เสียหายมากที่สุด”

“3.อาคารที่มี Layout และระบบโครงสร้างเดียวกัน สูงเท่ากัน สร้างในพื้นที่เดียวกัน แต่หมุนอาคารในทิศทางต่างกัน แต่สร้างไม่พร้อมกัน  ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวไม่เท่ากัน บางอาคาร ผนังแตกร้าว จำนวนมาก และบางอาคารพบรอยร้าวน้อยมาก ฝีมือช่างน่าจะผลต่อความแข็งแรงบ้าง แต่ทิศทางของอาคาร มีส่วนผลต่อความสามารถในการต้านแรงแผ่นดินไหว”

“4.วิศวกรโครงสร้างออกแบบให้โครงสร้างอาคารสามารถรับแรงแผ่นไหวได้ แต่ทำให้ผนังร้าวมากบ้างน้อยบ้าง กว่าจะอธิบายเรื่องความแข็งแรงของอาคารเจ้าของให้เป็นที่ยอมรับได้เหนื่อยมาก กำลังคิดว่าถ้าในอนาคตถูกกำหนดว่า ต้องออกแบบโครงสร้างให้ผนังไม่แตกร้าวเลยจะทำอย่างไรดี”

“5.แผ่นดินไหวรอบนี้ ถือเป็นการ FULL SCALE TEST อาคารในระดับเมือง ถ้าไม่มีปัญหาอาคารที่พังลงทั้งอาคารโดยยังไม่สามารถสรุปสาเหตุผมคิดว่าวิศวกรเราสอบผ่านด้วย เกรด B หลังจากนี้วิศวกรของเราต้องพยายามศึกษามากขึ้น สถาปนิกและเจ้าของอาคาร ต้องเข้าใจและช่วยวิศวกรโครงสร้างมากขึ้นกว่าเดิม”

“6.แผ่นดินครั้งนี้ วิศวกรโยธา เราเป็นทั้ง ผู้ร้ายที่ออกแบบและสร้างอาคารที่มีทั้งพัง และเสียหายกันไปทั้งเมือง และเป็นพระเอกที่เนื้อหอมมีคนเรียกหาวิศวกรโยธาไปช่วยประเมินความมั่นคงแข็งแรงกันอย่างมากตลอดอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมสรุปแบบพิมพ์สดได้ประมาณนี้ครับ ถูกหรือผิดอย่างไร น้อมรับความคิดเห็นต่างของท่านวิศวกรท่านอื่น ๆ ครับ”

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่