วิศวกรรมสถานฯ ระบุแผ่นดินไหว 6.3 ริกเตอร์ มีกลุ่มเสี่ยงอาคารสูง 5-10 ชั้นที่สร้างไม่ได้มาตรฐาน

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ที่เกิดขึ้นใน อ.พาน จ.เชียงรายอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางวิศวกรรมหลายอย่างทั้งอาคาร เขื่อนและถนน โดยเป็นห่วงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับอาคารขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีความสูงตั้งแต่ 5-10 ชั้นมากที่สุดเนื่องจากอาคารเหล่านี้อาจไม่ได้รับการออกแบบตามหลักวิศวกรรมอย่างถูกต้องส่งผลให้ไม่มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว

ในขณะที่อาคารสูงส่วนใหญ่มักจ้างวิศวกรในการออกแบบจึงถูกหลักวิศวกรรมและปลอดภัยเมื่อเกิดแผ่นดินไหว การสั่นสะเทือนของอาคารอาจมีบ้างถือเป็นผลกระทบของแผ่นดินไหวจามปกติ

อย่างไรก็ตาม วสท.ขอให้ประชาชานอย่าตื่นตระหนกเนื่องจากอาคารที่ก่อสร้างหลังปี 2550 ต้องมีมาตรฐานการก่อสร้างตามกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นที่รองรับอาคารในการต้านแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ฉบับปี พ.ศ. 2550 และมาจรฐานการออกแบบอาคารเพื่อต้านทานการสั่นสะเทือนและแผ่นดินไหว (มยผ.1301-50) ซึ่งออกโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย โดยใช้กรณีการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ จ.กาญจนบุรีเป็นมาตรฐาน

นายสุชัชวีร์กล่าวต่อว่า สำหรับอาคารเก่าที่สร้างก่อนปี 2550 วสท. แนะนำให้เสริมความแข็งแรงของโครงสร้างโดยการค้ำยั้นแบบไขว้ระหว่างผนังของอาคารโดยอาจขอคำปรึกษาจากวิศวกรหรือทำด้วยตัวเองก็ได้ โดยบ้านเรือนทั้งชั้นเดียวและ 2 ชั้นหรืออาคารอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่รอบศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวควรเร่งเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างเพื่อป้องกันการแตกร้าวและการพังทลายที่อาจเกิดขึ้นจากอาฟเตอร์ช็อก ส่วนอาคารที่ปลูกสร้างบนพื้นที่ไหล่เขาควรตรวจสอบความเสียหายของฐานรากอาคารหากพบรอยแตกร้าวบริเวณฐานรากหรือเสาคานถือว่าเสียหายรุนแรงควรย้ายออกทันที

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่