การควบรวมกิจการ Honda-Nissan : บทความวิเคราะห์ฝั่งอเมริกา

ตอนนี้มีข่าวการควบรวมกันของ Honda กับ  Nissan พอดีไปเจอบทความวิเคราะห์จากนิวยอร์คไทม์
ก็เลยแปล สรุปเอามาฝากกัน อาจจะเป็นมุมมองทางฝั่งอเมริกาเหนือ ไม่ได้ครอบคลุมทั่วโลก 
แต่สัดส่วนยอดขายในอเมริกาก็มีนัยสำคัญพอสมควร ลองอ่านดูครับ 

ดูเหมือนจุดเริ่มต้นของการควบรวมนี้มาจากปัญหาหลักก็คือยอดขายรถในจีนที่ตกลงอย่างหนัก เนื่องจากการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ ev มากขึ้น ทำให้รถยนต์จากค่าย BYD SAIC และ Tesla  เติบโตขึ้นมาก 

เดือนที่แล้ว Honda ปรับประมาณการณ์ตัวเลขยอดขายรถทั่วโลกลงจาก 3.9 ล้านคันเป็น 3.8 ล้านคัน สาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากยอดขายในจีนซึ่งเคยมากถึง 1/3 ของยอดขายรวม 

ค่าย Nissan ดูจะมีปัญหามากกว่าฝั่ง Honda เพราะนอกจากเรื่องยอดขายแล้ว ยังมีความปั่นป่วนวุ่นวายในระดับบริหาร ยอดขายในอเมริกาไม่ดี เพราะไม่มีรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ออกมา นำไปสู่ข่าวการจะปรับลดพนักงานทั่วโลก 9000 คน และลดยอดการผลิดทั่วโลกลง 20 เปอร์เซ็นต์ บทความยังมีการท้าวความไปถึงสถานการณ์ในปี 2018 ซึ่งฝ่ายบริหารหรือบอร์ดบริหารเกิดความไม่พอใจ นำไปสู่การจับกุมตัว Carlos Ghosn แล้วหลังจากนั้นการทำงานร่วมกับ Renault ก็อยู่ในสภาวะที่ไม่ดีนัก



การควบรวมนั้นในทางทฤษฎี อาจจะช่วยให้ Honda และ Nissan ร่วมกันพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าได้เร็วขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลง แต่ก็ไม่ง่าย เพราะลำดับความสำคัญของงานที่เปลี่ยนไปและไม่ตรงกันของทั้ง 2 บริษัท ตัวอย่างเช่น Ford Motor และ Volkswagen เคยจับมือร่วมกันพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและระบบ Autonomous driving แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีผลงานอะไรออกมา ส่วน Honda นั้นก็จับมือกับ General Motors พัฒนารถยนต์ร่วมกัน และมีรถยนต์ SUV ไฟฟ้า 2 รุ่นที่ขายอยู่คือ Honda Prologue และ Acura ZDX ซึ่งผลิตโดย G.M. แต่หลังจากนี้ทั้ง 2 บริษัทไม่มีแผนการผลิตรถยนต์รุ่นอื่นออกมาอีก ส่วน G.M. ก็เปลี่ยนไปจับมือกับทาง Hyundai เพื่อทำงานร่วมกัน 

นักวิเคราะห์กล่าวว่าการควบรวมนี้อาจจะเป็นผลดีกับทั้ง 2 ค่าย เพราะทั้ง Honda และ Nissan มีสินค้าที่คล้ายกันในตลาดอเมริกาก็คือรถขนาดเล็ก และขนาดกลาง ส่วน Nissan มีขีดความสามารถที่จะผลิตรถ Full sized truck ได้ ตรงนี้จะเป็นผลดีกับ Honda

ในส่วนการผลิตฝั่งอเมริกา Nissan มีโรงงานประกอบ 2 แห่ง ส่วน Honda มี 4 แห่ง การควบรวมหมายถึงต้องมีการยุบรวมโรงงานประกอบ ความยุ่งยากก็คือต้องตัดสินใจว่าฝ่ายไหนที่ต้องถูกยุบรวม อาจเกิดการต่อต้านจากพนักงาน บทความยกตัวอย่างว่าบางครั้ง การควบรวม ลดขนาดองค์กรกลายเป็นประเด็นทางการเมืองเนื่องจากรัฐบาลต้องการรักษาระดับการจ้างงานเอาไว้ เช่นในปี 2021 ที่ Stellantis เกิดจากการควบรวม Peugeot กับ Fiat Chrysler ในตอนนั้นรัฐบาลฝรั่งเศสและรัฐบาลอิตาลีต่างก็ต่อต้านการปิดโรงงานเพราะจะทำให้เกิดการว่างงาน ปีนี้ Stellantis ก็เจอปัญหายอดขาย กำไรลดลงเช่นกันและกำลังต้องการผู้บริหารระดับสูงคนใหม่มาแทนคนเก่าที่ลาออกไป 

ตัวอย่างของการควบรวมที่ไม่ประสบความสำเร็จอย่างเช่น DaimlerChrysler ที่มาจากผู้ผลิตรถยนต์ที่มีแนวทางทำรถยนต์ต่างกัน สุดท้ายก็แยกทางกันในปี 2007 หรือกรณีที่ BMW พยายามเทคโอเวอร์ Rover ในยุค 1990 ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน 
 
กรณีของการควบรวมแล้วไปได้ดีก็มี ตัวอย่าง Fiat Chrysler ตอนนั้นสถานการณ์ของ Chrysler ใกล้จะล้มละลาย หลังจากมารวมกับ Fiat แล้ว รถยนต์ในส่วนของ Chrysler เช่น Dodge , Jeep และ Ram ฟื้นตัวขึ้นมาได้และกลายเป็นส่วนที่ทำกำไรดีกว่า หรืออย่าง Hyundai กับ Kia ที่เป็นพันธมิตรกันมาตั้งแต่ปี 1998 ก็ถือว่าไปได้ดี นักวิเคราะห์กล่าวว่า Honda กับ Nissan น่าจะลองศึกษาหรือเอาอย่างกรณีของ Hyundai กับ Kia แต่ก็ต้องติดตามดูว่าจะทำได้ดีแค่ไหน
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่