JJNY : ห่วงเก็บแวต 15%│ชี้ขึ้นแวต ผลักภาระ│‘จุลพงศ์’อัดรัฐบาล│ฝ่ายค้าน แย้มไทม์ไลน์│พายุทำยกเลิกเที่ยวบินเป็นร้อยเที่ยว

มาม่า-อสังหา ห่วงเก็บแวตก้าวกระโดด 15% กระทบโครงสร้างราคาสินค้า-บ้าน ชี้ไม่ตอบโจทย์
https://www.matichon.co.th/economy/news_4941350
 
มาม่า-อสังหา ห่วงเก็บแวตก้าวกระโดด 15% กระทบโครงสร้างราคาสินค้า บ้าน ชี้ลดภาษีเงินได้ไม่ตอบโจทย์

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา “มาม่า” เปิดเผยว่า หากรัฐบาลมีนโยบายปรับโครงสร้างภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จาก 7% เป็น 15% จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างราคาสินค้าขยับขึ้นอย่างแน่นอน และสุดท้ายภาระตกไปยังผู้บริโภค เนื่องจากการผลิตสินค้าจะมีการคิดต้นทุนรวมภาษีแวตเข้าไปด้วยก่อนกำหนดเป็นราคาติดหน้าซองก่อนวางจำหน่าย ซึ่งรวมถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปด้วย อย่างไรก็ตาม การที่จะปรับราคาขายมาม่าจาก 7 บาทต่อซองขึ้นในทันทีตามแวตที่ปรับขึ้นนั้น คงไม่ได้และไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุม

จริงๆ ภาษีแวตของไทย ปัจจุบันต้องเก็บ 10% แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงปี 2540 ได้ปรับลดลงมาเหลือ 7% จากนั้นมีการต่ออายุมาแบบปีต่อปีจนถึงปัจจุบัน” นายพันธ์กล่าว

นายพันธ์กล่าวว่า ส่วนแนวคิดรัฐบาลจะปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือจาก 20% เหลือ 15% นั้น จะส่งผลดีต่อบริษัทที่มีผลประกอบการเป็นกำไร ทำให้ลดภาระด้านภาษี โดยเฉพาะรายใหญ่ๆ ส่วนจะเป็นการจูงใจดึงนักลงทุน เชื่อว่านักลงทุนคงดูหลายองค์ประกอบด้วย

นายอธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า มองว่านโยบายการเก็บภาษีแวตจาก 7% เป็น 15% คงยากที่รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดขึ้นได้ ภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัวและกำลังซื้อยังเปราะบางแบบนี้ ดังนั้นต้องคิดให้รอบคอบ แต่ถ้ารัฐจะเดินหน้าก็ต้องทยอยขึ้น รวมถึงมีกำหนดระยะเวลาที่จะปรับขึ้นให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมตัว ขณะเดียวกันต้องรอภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นและประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยในช่วงแรกอาจจะปรับจาก 7% เป็น 8% หรือเพิ่มขึ้น 1% จะทำให้คนยังรู้สึกว่าปรับขึ้นไม่มากจนเกินไป จากนั้นอีก 2-3 ปีถัดไปก็ปรับขึ้นอีก 1% จาก 8% เป็น 9%

ทั้งนี้ การปรับขึ้นแวตเป็น 15% ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการ รวมถึงราคาที่อยู่อาศัยปรับขึ้นอย่างแน่นอน
 
นายอธิปกล่าวว่า ส่วนการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือจาก 20% เหลือ 15% ซึ่งเป็นเก็บจากบริษัทที่มีกำไรนั้น มองว่ายังไม่จำเป็น เพราะจากวิกฤตโควิดและเศรษฐกิจ ยังมีบริษัทที่ขาดทุนอยู่และไม่ได้เสียภาษี หากรัฐลดภาษีจะทำให้มีภาระเพิ่ม นอกจากนี้ ถึงมีการลดภาษีให้ ก็ไม่สามารถจะดึงดูดนักลงทุนได้มากขึ้น เพราะภาษีเป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง ยังมีปัจจัยอื่นๆ ต่อการตัดสินใจของนักลงทุน เช่น ค่าแรง ค่าไฟ ระบบสาธารณูปโภค แรงงานมีฝีมือ เป็นต้น และนักลงทุนส่วนใหญ่ได้มีการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งมีมาตรการด้านภาษีที่ส่งเสริมด้านการลงทุนอยู่แล้ว ขณะที่การเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะปรับลดจากเดิม 35% เริ่มเก็บที่ 15% นั้น จะทำให้คนที่มีรายได้น้อยและไม่ได้อยู่ในฐานระบบภาษีก่อนหน้านี้ ก็ต้องมาเสียภาษีส่วนนี้ด้วย


 
รองปธ. กมธ.แรงงาน ชี้ขึ้นแวต ปรับภาษีเงินได้ 15% ผลักภาระให้ประชาชน-วอนรัฐทบทวน
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_9537244

รองปธ. กมธ.แรงงาน ชี้ขึ้นแวต ปรับภาษีเงินได้ 15% ผลักภาระ ให้ ปชช. วอนรัฐทบทวน กระทบผู้ใช้แรงงานสาหัส หวั่นปิดกิจการเลิกจ้าง ลอยแพพนักงาน ดันอัตราคนจนในประเทศเพิ่มขึ้น
 
6 ธ.ค. 67 – จากกรณีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีแนวคิดปรับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และการปรับภาษีเงินได้ให้อยู่ที่ร้อยละ 15 นั้น
 
นายเซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน เปิดเผยว่า การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มมีผลกระทบต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน
 
ซึ่งตนคิดว่าเป็นการ “ผลักภาระ” ให้กับประชาชน ให้กับแรงงานที่มีรายได้น้อย ซึ่งในขณะนี้ก็ยังไม่เห็นประโยชน์ที่ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศจะได้จากการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเหล่านี้ นอกจากรัฐจะได้เงินมากขึ้นจากการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น ท้ายที่สุดแล้ว การเก็บเงินเหล่านี้ไม่ได้ถูกกระจายมาสู่ภาคประชาชนเท่าไร โดยเฉพาะในส่วนแรงงาน ซึ่งที่ผ่านมารัฐให้ความสำคัญกับภาคแรงงานน้อยมาก
 
ประเด็นที่สำคัญคือ รัฐเตรียมการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ไม่ได้มีการดำเนินการที่จะทำอย่างไรให้ภาคแรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ในบางสาขาอาชีพและบางกิจการตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็ยังไม่สามารถทำได้ และก็ยังไม่ทราบได้ว่าจะปรับขึ้นได้ทันวันที่ 1 มกราคม 2568 หรือไม่” นายเซีย กล่าว
 
นายเซีย กล่าวต่อไปว่า ส่วนผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานอย่างหนักหนาสาหัส คือ การปิดกิจการ เลิกจ้าง หรือลอยแพพนักงาน ประกอบกับการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ ทำให้ชนชั้นล่าง แรงงานที่มีรายได้น้อยอยู่แล้วไม่พอใช้ ไปซื้อของในราคา 100 บาท ต้องจ่ายภาษีเพิ่มอีก 15 บาท มันหนักหนาสำหรับลูกจ้างที่มีรายได้น้อย
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาคแรงงานจะมีการนำเสนอการแก้ไขเรื่องนี้เพื่อประชาชนอย่างไร นายเซีย กล่าวว่า รัฐบาลควรคิดทบทวนมากกว่านี้ ว่าการคำนวณจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมีรายละเอียดจากที่หลายๆฝ่ายได้นำเสนอไปหรือไม่ ลองคิดทบทวนว่า จะมีการปิดช่องทางให้นายทุนขนาดใหญ่ หรือผู้ที่มีทรัพย์สินมากในไทยหลีกเลี่ยงภาษีได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา มีคนใช้ช่องทางเหล่านี้จำนวนมาก ไม่ใช่เป็นการผลักภาระให้ประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
 
คนรวยส่วนใหญ่ก็มีรายได้มาจากการทำมาค้าขายของคนธรรมดา ซึ่งก็ไม่ได้แบ่งปันมาให้คนยากจน คนที่รวยก็รวยขึ้น ในขณะที่ลูกจ้างยังได้เงินเดือนเท่าเดิม จึงอยากให้รัฐบาลลองทบทวนการเก็บภาษีใหม่ดู แน่นอนว่า การเก็บภาษีที่มากขึ้น จะทำให้อัตราคนจนในประเทศเพิ่มขึ้น
 
ทุกวันนี้เงิน 10,000 บาท ปัจจุบันนี้ก็อยู่ยาก อาหารจานหนึ่งราคาเกือบ 100 บาท กินอาหาร 3 มื้อ คิดเป็นเงินเฉพาะค่าอาหารก็ 300 บาท ค่าจ้างขั้นต่ำตอนนี้เพียงแค่ 300 กว่าบาทต่อวัน หากไม่มีมาตรการเยียวยาพี่น้องแรงงานที่เป็นชนชั้นล่างได้ แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร” นายเซีย กล่าว
 
นายเซีย กล่าวต่อไปว่า หากรัฐยังไม่ทบทวนสิ่งเหล่านี้ ในอนาคตอาจจะได้เห็นภาพพี่น้องผู้ใช้แรงงานทวงถามเรื่องนี้ หรือทวงถามว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอย่างอื่นหรือไม่ เวลามีข้อเสนอของภาคประชาชน หรือของแรงงาน รัฐก็ไม่ค่อยรับฟัง อยากให้ดูข้อเสนอด้านอื่นๆ ก่อน ก่อนจะผลักภาระให้พี่น้องประชาชน


 
‘จุลพงศ์’อัดรัฐบาลผลของการไม่ศึกษาก่อน จนต้องถอยแวต 15%
https://www.dailynews.co.th/news/4159286/

‘จุลพงศ์’ อัดรัฐบาล ผลของการไม่ศึกษาก่อน จนต้องถอยแวต 15% เตือน ‘พิชัย’ หยุดพูด แนะศึกษารอบคอบ ถามรัฐบาลสิ้นคิดในการหารายได้หรือไม่

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่รัฐสภา นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา  สภาผู้แทรราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯรัฐมนตรีและรมว.คลัง ระบุถึงกรณีการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ว่า ตนเหลืออดจริงๆ การที่นายพิชัย พูดในที่สาธารณะถึงแนวความคิดในการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7 เปอร์เซ็นต์ เป็น 15 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนที่มีคนรายได้ปานกลางจนถึงผู้มีรายต่ำ เป็นอย่างมากถึง 100 เปอร์เซ็นต์

นายจุลพงศ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจตอนนี้ไม่มีความเฉื่อย รัฐบาลควรจะคิดถึงเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ลดรายจ่ายของประชาชน แต่กลับมาคิดเพิ่มรายจ่ายของประชาชน ท่านรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง พูดในงานสัมมนาว่าคิดเรื่องนี้ทั้งคืน ไม่รู้จะอธิบายกับประชาชนอย่างไร ถ้าอธิบายไม่เข้าใจ ท่านไม่รู้จะอยู่รอดหรือไม่ แต่ตนคิดว่าคนไทยฟังเรื่องนี้แล้ว เขาไม่คิดว่าท่านจะอยู่รอดหรือเปล่า คนไทยเราสนใจตัวเองว่าจะอยู่รอดหรือไม่ ถ้ารัฐบาลขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม รับรองว่ากระทบกับประชาชนแน่ๆ ตนขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล ท่านรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง หยุดพูดเรื่องนี้ และศึกษาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ถ้าจะปฏิรูปภาษีก็ปฏิรูปทั้งระบบ ทำความเข้าใจกับประชาชนว่าเพราะอะไร เพราะต้องการหารายได้เพิ่มหรือไม่ เพราะรัฐบาลสิ้นคิดในการหารายได้หรือไม่ และหากขึ้นภาษีมาแล้ว ที่จะวนกลับมาใช้ประโยชน์กับประชาชนอย่างไรบ้าง ไม่ใช่แถลงไป 2-3 เดือน แล้วก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เหมือนกับโครงการที่ผ่านมา

นายจุลพงศ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องภาษีนิติบุคคล ตนว่าแปลกหรือไม่ รัฐบาลชี้แจงว่าขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มประชาชน แต่กลับลดภาษีนิติบุคคลให้กับธุรกิจ เพื่อจะสร้างความเป็นธรรม ตนสงสัยว่าสร้างความเป็นธรรมตรงไหน 
 
เมื่อถามว่ามองอย่างไรที่มีการเปรียบเทียบกับสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีความคิดขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 1 เปอร์เซ็นต์
แต่กลับโดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก นายจุลพงศ์ กล่าวว่า จาก 7 เป็น 15 เปอร์เซ็นต์ ทุกคนมีผลกระทบ จะขึ้นจริงไม่จริงไม่ทราบ แต่การพูดเรื่องภาษีขึ้น เงินเดือนขึ้นมาล่วงหน้า ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นสินค้าและบริการขึ้นราคา ก็ขึ้นล่วงหน้ารอแล้ว

ส่วนที่นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะไม่มีการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วนั้น นายจุลพงศ์ ระบุว่า เป็นการแสดงตัวอย่างหนึ่ง ว่ายังไม่มีการศึกษาอะไรเลย และ รมว.คลัง นึกจะพูดอะไรก็พูดออกมา ลองนึกดู ถ้ารัฐมนตรีแต่ละคนพูดไม่เหมือนกัน มันไม่น่าใช่วิธีการบริหารเศรษฐกิจของประเทศที่ดี



ฝ่ายค้าน แย้มไทม์ไลน์ เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยื่นแน่กลางธ.ค. ล็อกเป้าซักฟอกเขากระโดง
https://www.matichon.co.th/politics/news_4940807

‘ฝ่ายค้าน’ แย้ม ได้ความชัดเจนยื่นซักฟอกรัฐบาลกลางเดือน ธ.ค.นี้ ยัน อภิปราย รบ.ต้นปี 68 แน่นอน

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2567 นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมการยื่นอภิปรายรัฐบาล ว่า เราเห็นแล้วว่า ช่วงเวลาที่รัฐบาลเริ่มดำเนินงานมาระยะหนึ่งนั้น ยังมีข้อมูลอีกหลายประเด็นที่จำเป็นต้องมีการมาพูดคุยและสอบถามรัฐบาล เช่น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ สถานการณ์ภัยพิบัติ เขากระโดง และอีกมายมาย

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า แต่อย่างที่ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน. ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน เคยบอกว่า จะให้นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค ปชน. ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นัดหมายหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมด มาพูดคุยกันอย่างเป็นทางการว่าเราจะใช้ช่องทางใดในการดำเนินการยื่นอภิปราย โดยช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีคำตอบที่ชัดเจน

ยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายทั่วไป การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือแม้กระทั่งการประชุมลับนั้น จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2568 อย่างแน่นอน” นายณัฐวุฒิ กล่าว.
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่