== The Father (2020) พ่อ.... ==



แอนโธนี่ อาศัยอยู่ในแฟลตใจกลางกรุงลอนดอน เขาแก่มากแล้วและความทรงจำก็เริ่มเลือนหายไปตามวัย 
อย่างไรก็ดีเขาโชคดีที่มีแอน ลูกสาวคอยดูแล ..แต่จากอาการที่เขาเป็นนั้นทำให้แอนไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตของตัวเองได้อย่างเต็มที่ 
พอล สามีของเธออยากให้แอนพาพ่อไปอยู่ในบ้านพักคนชรา แน่นอนว่าเธอไม่ยอมทำเช่นนั้นเด็ดขาด....



The Father เป็นภาพยนตร์ดราม่าผลงานลงทุนร่วมกันระหว่างฝรั่งเศสและอังกฤษ ผลงานการกำกับของ Florian Zeller 
ซึ่งเจ้าตัวร่วมเขียนบทกับคริสโตเฟอร์ แฮมป์ตัน โดยเป็นการนำละครเวทีเรื่อง Le Père 
ผลงานการเขียนของ Zeller เองมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ และนี่คืองานหนังครั้งแรกของเขาอีกด้วย 
นำแสดงโดยดาราระดับสุดยอดทั้งนั้นได้แก่ Anthony Hopkins. Olivia Colman, Mark Gatiss, Imogen Poots
Rufus Sewell และ Olivia Williams



ด้วยงบประมาณแค่ 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หนักไปทางค่าตัวนักแสดงทั้งนั้น) ทำรายได้ไปทั้งสิ้น 24 ล้านเหรียญฯทั่วโลก 
ได้รับเสียงชื่นชมมากมาย ทั้งๆที่นี่คืองานชิ้นแรกของ Florian Zeller 
แต่เขาพา The Father เข้าชิงถึง 6 สาขาในรางวัลออสการ์และคว้ามาได้ 2 รางวัล
จากนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม Anthony Hopkins ได้ไป และ บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม 
ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (แพ้ต่อ Nomadland) 
แต่หลายสถาบันต่างก็ยกให้เรื่องนี้ถือเป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดแห่งปี 2020 เลยทีเดียว



แอนโธนี ฮอปกิ้นส์ ประกบกับ โอลิเวีย โคลแมน ที่เพิ่งได้ออสการ์นักแสดงนำหญิงจาก The Favourite ในปีก่อน 
แค่ได้ดูนักแสดงระดับสุดยอด 2 คนนี้เล่นด้วยกันก็คุ้มเกินคุ้มล่ะครับ ..
จากภาพจำในบทของ Dr. Hannibal Lecter ในวันนั้น (ที่ได้ออสการ์เช่นกัน) 
มาถึงวันนี้วันที่คุณปู่แอนโธนี ฮอปกิ้นส์ ในวัย 86 ปีเข้าไปแล้ว ในบทชายชาวเวลส์วัย 80 ปีที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม 
ความทรงจำเริ่มเลอะเลือน สับสน เขาไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เขากำลังเห็นอยู่ในชีวิตประจำวันทุกวันนั้นเป็นภาพจริงหรือภาพหลอนกันแน่



ที่พูดไปแบบนั้นเพราะคนดูก็จะรู้สึกไม่ต่างกับคุณปู่แอนโธนีครับ (ชื่อเดียวกันเลยกับตัวแสดง) 
เพราะตั้งแต่เปิดเรื่องเราก็จะสับสนในทันที ตัวแสดงจะเปลี่ยนไปมาจนเราเองก็ไม่รู้ว่าอะไรคือเรื่องจริงกันแน่ 
แต่นั่นล่ะมันคือการถ่ายทอดความรู้สึกของผู้ป่วยในโรคนี้ให้เราได้สัมผัสอย่างชัดเจนเท่าที่จะทำได้ 
หากเมื่อเราเป็นแบบนั้นบ้างล่ะ เราจะเป็นอย่างไร ใครก็ไม่รู้อยู่ตรงหน้าในบ้านของเราเอง แล้วมาบอกว่ารู้จักเรามานานแสนนาน 
ก็ฉันจำไม่ได้... ใครก็ได้ช่วยที



ขณะที่ลูกสาวแอนโธนี อย่าง โอลิเวีย โคลแมน ในบทของแอน การแสดงก็อยู่ในระดับสุดยอดเช่นเคย 
(เข้าชิงออสการ์สมทบหญิงยอดเยี่ยม) แอนคือลูกคนเดียวที่ต้องรับผิดชอบดูแลพ่อของเธอมาโดยตลอด 
ซึ่งตัวเธอก็มีสามีอยู่แต่ชีวิตครอบครัวก็ไม่สามารถทำอะไรได้สะดวกมากนัก เพราะติดตรงที่เธอต้องอยู่กับพ่อแทบจะตลอดเวลา 
ไม่ว่าจะไปไหนหากเกิดอะไรขึ้นมา คนที่พ่อจะเรียกหาคนแรกก็คือแอน.. 
เธอพยายามจะหาคนมาดูแลพ่อแต่ก็ไม่มีใครทนกับอารมณ์พ่อของเธอได้สักคน 
จนสุดท้ายเธอต้องตัดสินใจบางอย่างก่อนที่มันจะสายไปมากกว่านี้...



ในตอนท้ายแอนโธนีอยู่ในสภาวะที่เหมือนกับแก้วที่แตกสลายและได้พูดออกมาประโยคนึงที่ว่า 
ฉันรู้สึกเหมือนใบไม้บนตัวฉัน..ค่อยๆหลุดร่วง..หล่น.. ผมฟังแล้วบ่อน้ำตาสุดท้ายมันพังทลายจริงๆ.. 
ผมเข้าใจดีเลยว่า คนที่เคยผ่านโลกมาไม่รู้จะเท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ พบเจออะไรมามากขนาดไหน 
ตัวเองก็เหมือนต้นไม้สูงใหญ่ที่เติบโตถึงขีดสุด แต่แน่นอนว่าไม่มีอะไรที่จีรัง 
ต้นไม้นั้นเริ่มยืนต้นนิ่งไม่งอกเงยขึ้นอีก เหี่ยวเฉาลงไปทุกวัน ใบไม้ไม่ผลิใหม่ ซ้ำร้ายยังค่อยๆร่วงหล่นลงมา 
นั่นคือสัญญาณแห่งลมหายใจสุดท้ายของชีวิต
ถึงคุณปู่จะจำอะไรไม่ได้แล้ว แต่ก็รับรู้ได้ถึงสัญญาณนั้น ..ความตายกำลังคืบคลานเข้าหา...



นี่คือหนังดราม่า สะเทือนใจและเข้าถึงได้ง่ายเพราะมันไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย 
ทุกครอบครัวย่อมต้องมีคนสูงวัยให้ต้องดูแลอยู่แล้ว เพียงแค่ว่าอาการของแต่ละคนจะแตกต่างกันอย่างไร 
แต่ละโรคก็ต้องดูแลที่ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือการเอาใจใส่ของคนรอบข้าง 
ความเข้าใจที่มีต่อผู้ป่วยจะช่วยให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดี



ผมชื่นชม Florian Zeller ผู้กำกับชาวอิตาเลี่ยนที่ถ่ายทอดความรู้สึกเหล่านี้ออกมาได้อย่างน่าทึ่ง 
นี่คือหนังครอบครัวที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของพ่อกับลูกในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ยากด้วยกันทั้งสองฝ่าย 
มันคือความอึดอัดใจที่ต้องอาศัยความเข้าใจอย่างสูงยิ่ง .ผมดูหนังเรื่องนี้ไปก็เหมือนภาพสะท้อน 
เหมือนส่องกระจกมองตัวผมเองปรากฎอยู่ในหนังเรื่องนี้.... ชีวิตผมเองก็ไม่ต่างกัน



พ่อผมเองก็อยู่ในวัยเดียวกันกับคุณปู่แอนโธนี ทุกวันนี้ยังสามารถดูแลตัวเองได้อยู่ทุกอย่างเหมือนกันกับในหนัง 
และแน่นอนความทรงจำก็เริ่มสับสนเช่นกัน แม้ว่าจะไม่หนักเท่ากับในภาพยนตร์
แต่ในความสับสนหลายอย่างนั้นก็ทำเอาคนในบ้านปวดหัวไปไม่มากก็น้อย.. 
บางครั้งผมยอมรับเลยว่าผมเหนื่อยและเครียดในแต่ละวัน เพราะความเอาแต่ใจเวลานี้ของเขาจะสูงมาก (ย้อนกลับไปเหมือนเด็ก) 
แต่ผมเองก็ไม่มีความคิดที่จะพาแกไปอยู่ที่ไหน ให้ตายยังไงผมก็จะเป็นคนดูแลเค้าเอง



สิ่งสำคัญเลยนะครับ กับการดูแลคนสูงวัยที่มีอาการเหล่านี้อย่างที่ผมเกริ่นไว้ก่อนหน้า..
นั่นก็คือความเข้าใจอย่างมาก พยายามใจเย็น อย่าพูดเสียงดังใส่เค้า ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม 
ตัวเราเองต้องพยายามมีสติให้มากนะครับ .ชวนเค้าคุยเยอะๆ เรื่องในอดีตไม่ว่าเค้าจะเคยพูดมาแล้วกี่หนไม่ต้องไปบอกว่าเคยพูดแล้วนั่นนี่ ..
ปล่อยให้เค้าเล่ามาเลย พูดมาเยอะๆ แล้วเราในฐานะคนฟังให้คิดซะว่านี่คือครั้งแรกที่เค้าเล่าเรื่องนี้เสมอๆ 
เพื่อเป็นการฝึกความจำเค้าด้วย อะไรที่เค้าชอบ เพลงที่อยากฟัง หรือที่ที่อยากไปเที่ยว หรืออะไรที่อยากทาน.. 
ถ้ามันไม่ลำบากตัวเราเองมากนัก ทำไปเถอะ ถ้าทำให้เค้ามีความสุขนั่นล่ะดีที่สุดครับ



ปิดท้ายของประโยคสำคัญซึ่งไม่ได้อยู่ในหนังเรื่องนี้ แต่อยู่ในภาพยนตร์อิหร่านชั้นเยี่ยมที่ชื่อว่า A Separation (2011) 
พระเอกต้องดูแลพ่อที่เป็นโรคสมองเสื่อมเช่นเดียวกัน เค้าต้องเลือกระหว่างอนาคตครอบครัวและความรับผิดชอบ
ระหว่างความเป็นพ่อคนและในฐานะลูกชาย.. 

"ผมไม่รู้ว่าเขายังจำว่าผมเป็นลูกชายของเค้าอยู่มั้ย... แต่ผมรู้แค่ว่า ชายคนนี้เป็นพ่อของผม.. "

... สุขสันต์วันพ่อครับ

เพราะหนังมันฝังใจ

=== ทิ้งท้ายครับ หนังที่ดีสำหรับตัวเรา แน่นอนว่าอาจจะไม่ได้ดีและไม่ได้ถูกใจสำหรับใคร 
ซึ่งอยู่ที่ความชอบของแต่ละบุคคล ภาพยนตร์ก็เหมือนอาหารล่ะครับ อยู่ที่เราเลือกที่จะอยากชิมรสชาติแบบไหนเท่านั้นเอง ===
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่