JJNY : 5in1 เท้งเผยไม่มีเหตุจำเป็น│ยันเดินหน้าสอบจริยธรรม│หลายประเทศสนใจคดีตากใบ│มติกนง.หั่นดอกเบี้ย│จีนยืนยันไม่รับปาก

เท้ง เผยไม่มีเหตุจำเป็น ควํ่ารายงาน กมธ.นิรโทษ ยัน ปชน.พร้อมผลักดันต่อ ถ้าถูกปัดตก
https://www.matichon.co.th/politics/news_4849076
 
 
เท้ง ชี้ไม่มีเหตุจำเป็น ควํ่าร่างศึกษานิรโทษกรรม แม้รวมคดี 112 ยัน ปชน.พร้อมผลักดันต่อ หากถูกปัดตก
 
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 16 ตุลาคม ที่รัฐสภา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีความไม่ชัดเจนของรายงานผลการศึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งอาจเข้าวาระการพิจารณาของสภาไม่ทันในสมัยประชุมนี้ว่า ตัวรายงานได้ผ่านชั้น กมธ.มาแล้ว ซึ่งมีตัวแทนจากพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลอยู่ใน กมธ. เพราะฉะนั้นคิดว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องมาคุยในส่วนเนื้อหาอีก เพราะผ่านการพิจารณามาแล้ว
 
นายณัฐพงษ์กล่าวว่า ส่วนเล่มรายงานเป็นเพียงผลการศึกษาที่ทำให้สังคมและสภาเห็นทางเลือกของทางออกความขัดแย้ง หรือการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากคดีการเมืองที่ผ่านมา ดังนั้น คิดว่าต้องรีบเร่งพิจารณาตัวร่างให้ผ่านสภาโดยเร็ว และคิดว่าไม่น่ามีเหตุผลอันใดที่สภาจะโหวตไม่รับ หรือไม่ผ่านหลักการของร่างรายงาน
 
เมื่อถามว่า พรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคประชาธิปัตย์ประกาศว่าจะไม่รับร่างรายงานดังกล่าว คิดว่าจะผ่านหรือไม่ นายณัฐพงษ์กล่าวว่า ร่างฉบับนี้เป็นเพียงทางเลือก ซึ่งคิดว่าสิ่งที่สภาทำได้คือการเปิดทางเลือกที่เป็นไปได้ที่สุดให้สังคม ส่วนการตัดสินใจว่าร่างกฎหมายจะทำถึงขั้นไหน ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะเสนอเข้าสู่สภา ฉะนั้น ในชั้นของเล่มรายงาน ยํ้าว่ายังไม่เห็นเหตุผล หรือความจำเป็นใดๆ ที่สภาจะไม่ผ่านเล่มรายงานดังกล่าว
 
การที่จะโหวตควํ่ารายงานฉบับนี้ ผมคิดว่าอาจเป็นการกลัวบางอย่างมากเกินไป อย่างที่บอกว่าเล่มรายงานฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาจาก กมธ. ซึ่งมีตัวแทนจากทุกพรรค และเป็นเพียงแค่ผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นทางเลือกที่เป็นไปได้ทั้งหมดว่าเราจะจัดการปัญหาในส่วนนี้อย่างไร ฉะนั้น ไม่มีความจำเป็น หรือเหตุผลใดที่พรรคการเมืองใดจะโหวตไม่รับเล่มรายงานฉบับนี้” นายณัฐพงษ์กล่าว
 
เมื่อถามว่า หลายพรรคการเมืองกังวลถึงการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ด้วย นายณัฐพงษ์กล่าวว่า ไม่ว่าจะมาตรา 112 หรือเรื่องใดก็ตาม ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าที่ผ่านมามีกลุ่มผู้ชุมนุม หรือผู้ที่ถูกดำเนินคดี และได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมือง ซึ่งเล่มรายงานศึกษาฉบับนี้เป็นการรายงานตามข้อเท็จจริง และเราปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ว่าจะเป็นคดีใดก็ตาม รวมถึงคดีมาตรา 112 ล้วนเป็นข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ที่มีผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดีดังกล่าว ฉะนั้น การปฏิเสธเล่มรายงานฉบับนี้ก็อาจเป็นการปฏิเสธข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์เช่นกัน
 
เมื่อถามว่า หากร่างรายงานถูกควํ่า พรรคประชาชนจะมีมาตรการต่อไปอย่างไร นายณัฐพงษ์กล่าวว่า เราก็ดำเนินการในสิ่งที่ทำมาตลอด รวมถึงการผลักดันกฎหมาย และในฐานะฝ่ายค้านปัจจุบัน เราคงทำทุกอย่างในกระบวนการนิติบัญญัติอย่างเต็มที่ ส่วนกฎหมายจะผ่านหรือไม่ก็อยู่ที่ฝั่งรัฐบาลด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม พรรคประชาชนคงผลักดันเรื่องนี้ต่อไปอย่างที่เคยทำมา



ผู้นำฝ่ายค้าน ยันเดินหน้าตรวจสอบจริยธรรมในสภา ไม่ละเว้นแม้เป็น ส.ส.ด้วยกัน
https://www.matichon.co.th/politics/news_4849010

‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ ยันเดินหน้าตรวจสอบจริยธรรมในสภา ไม่ละเว้นแม้เป็น ส.ส.ด้วยกัน มองเสถียรภาพพรรคร่วมเป็นเรื่องภายใน ตัดสินไม่ได้

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 16 ตุลาคม ที่รัฐสภา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะผู้นำฝ่านค้าน ให้สัมภาษณ์กรณีมีการทวงถาม ส.ส.ที่ถูกร้องเรียนจริยธรรม ทางคณะกรรมการจริยธรรมจะมีการนัดพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ว่า ขณะนี้อยู่ในกระบวนการที่ตนกำลังจะเข้าร่วม กมธ.จริยธรรม ซึ่งตอนนี้เพิ่งจะได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้านไป จึงยังไม่ได้ทำหน้าที่ในส่วนนี้ แต่ยืนยันว่าในฐานะที่มารับตำแหน่ง 1 ในกรรมาธิการจริยธรรมสภา จะผลักดันให้ตรวจสอบทุกอย่างตรงไปตรงมาที่สุด ไม่มีการบอกว่าเป็น ส.ส.ด้วยกันและจะละเว้นไม่ตรวจสอบจริยธรรม ย้ำว่าเดินหน้าเต็มที่แน่นอน

เมื่อถามถึงความเห็นด้านเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล นายณัฐพงษ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ฝ่ายรัฐบาลจะต้องคุยกัน ในฐานะพรรคฝ่ายค้านก็จะเดินหน้าตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา ส่วนพรรครัฐบาลจะมีการพูดคุยและตกลงกันอย่างไร คงจะไม่สามารถไปตัดสินตรงนั้นได้ 



‘กัณวีร์’ เผย หลายประเทศสนใจคดีตากใบจะหมดอายุความ
https://www.matichon.co.th/politics/news_4849841

‘กัณวีร์’ สนับสนุน IPU รับรองสันติภาพเมียนมาเป็นวาระเร่งด่วน เผยหลายประเทศสนใจคดีตากใบจะหมดอายุความ
 
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม เปิดเผยว่า การสร้างสันติภาพในเมียนมา ได้บรรจุเป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนในที่ประชุม IPU แล้ว และตนได้กล่าวสนับสนุนในฐานะตัวแทนสมาชิกรัฐสภาไทย รวมถึงได้แลกเปลี่ยนเรื่องคดีตากใบ ได้รับความสนใจจากหลายประเทศ
 
นายกัณวีร์ กล่าวว่า ที่ประชุมสหภาพรัฐสภาโลก-IPU เห็นชอบให้หัวข้อการสร้างสันติภาพในเมียนมาบรรจุในหนึ่งวาระเร่งด่วน Emergency Items ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม 12+ ซึ่งมีสมาชิกรัฐสภาจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมอยู่ด้วย ประเทศยูเครนเป็นประเทศสนับสนุนหลักๆ จากการหารือไตรภาคีอย่างไม่เป็นทางการ ทำให้ประเด็นเรื่องเมียนมา เป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนในที่ประชุม IPU ในปีนี้ นอกเหนือจากปัญหาในยูเครน และ ตะวันออกกลาง
 
นายกัณวีร์ เปิดเผยว่า ตนได้ร่วมอภิปราย General Debate ในที่ประชุมใหญ่ IPU สนับสนุนกลุ่มประเทศ 12+ ที่เสนอปัญหาสันติภาพในเมียนมา ในฐานะตัวแทนสมาชิกรัฐสภาไทย และประเทศไทย ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านสำคัญของเมียนมา ซึ่งได้ย้ำไปว่า เห็นด้วยกับการใช้จุดยืนของสหประชาชาติ ซึ่งเลขาธิการสหประชาติ เน้นย้ำถึงการใช้พหุภาคีในการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน
 
เราจำเป็นผลักดันวาระเมียนมาครับ เพราะมีคนกระทบมากกว่า 18 ล้านคน กว่า 3 ล้านคนพลัดถิ่นในเมียนมา และชาวโรฮิงญา กว่า 1 ล้านคน ต้องลี้ภัย ในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงชาวเมียนมาที่ลี้ภัยในประเทศไทยจำนวนมาก
 
นายกัณวีร์ ได้แสดงจุดยืนว่า การที่จะนำสันติภาพอย่างแท้จริง ต้องได้รับการมีส่วนร่วมคนเมียนมา ที่จะได้นำเสนอและสร้างความร่วมมือ สร้างแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ผมได้ร้องขอความเห็นใจ ความสนใจของเวทีระหว่างประเทศ ให้ประชาชนใประเทศเขาได้มีส่วนร่วม ซึ่งได้รับการขอบคุณจากสมาชิก NUG รัฐบาลพลัดถิ่นของเมียนมาที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย รวมถึงประเทศอังกฤษที่ร่วมผลักดันเรื่องนี้ โดยขั้นตอนต่อไปที่ประชุมสมาชิกรัฐสภาโลก จะให้การรับรองวาระเร่งด่วน ทั้ง 3 ประเด็น การสร้างสันติภาพในเมียนมา จะเป็นสัญญาที่แต่ละประเทศ ในฐานะฝ่ายนิติบัญัติจะนำไปเสนอและผลักดันต่อฝ่ายบริหาร ซึ่งแน่นอนว่า รัฐสภาไทย
 
ผมก็จะเสนอเรื่องนี้ต่อรัฐบาล เชื่อว่ารัฐบาลจะตอบรับ เพราะนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ประกาศที่ ที่ประชุมอาเซียนไปแล้วว่าจะมีบทบาทเรื่องนี้” นายกัณวีร์ กล่าว
 
นายกัณวีร์ กล่าวต่อว่า ในส่วนคดีตากใบ ตนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับเพื่อนสมาชิกในคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายมนุษยธรรม IHL ว่าคดีนี้กำลังจะหมดอายุความ ซึ่งหลายประเทศ รู้เรื่องนัและสอบถามว่าจะเป็นอย่างไรต่อสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงทางเคนยา ก็เสนอที่จะให้มีการแลกเปลี่ยนเรื่องนี้ในที่ประชุมกลุ่มย่อย
 
ผมได้บอกไปด้วยว่า ยังมีการใช้กฏอัยการศึกมา 20 ปีแล้ว และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เวทีระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ เราควรใช้กลไกนี้อย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ เราจะสามารถเพิ่มความตระหนักรู้ เพิ่มโอกาสการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน และที่สำคัญ เพิ่มบทบาทการเป็นผู้นำของไทยในเวทีโลกให้มากขึ้นอย่างสง่างามครับ” นายกัณวีร์ กล่าวย้ำ
 


มติกนง. 5 ต่อ 2 เสียง หั่นดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 2.25% ให้มีผลทันที
https://www.matichon.co.th/economy/news_4849150

ด่วน! กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ยอมใช้กระสุนหั่นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.25% หลังศก.อยู่ในเกณฑ์ที่มองไว้ 

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ผลการประชุม กนง.ในวันที่ 16 ตุลาคม 2567 คณะกรรมการมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จาก 2.50% เป็น 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 ด้านกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้มีแนวโน้มเกิดขึ้นต่อเนื่อง คณะกรรมการจึงเห็นว่าจุดยืนของนโยบายการเงินที่เป็นกลางยังเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ กรรมการส่วนใหญ่เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ภายใต้บริบทที่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงอยู่ในระดับที่ยังเป็นกลางและสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ

นายสักกะภพกล่าวว่า ขณะที่กรรมการ 2 ท่านเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และให้น้ำหนักกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมถึงการรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ที่ 2.7 ส่วนปี 2568 อยู่ที่ 2.9% โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน ได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งออกที่ปรับดีขึ้นตามความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน โดยการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่ม รวมถึงเอสเอ็มอี ยังถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง

นายสักกะภพกล่าวว่า ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% และปี 2568 อยู่ที่ 1.2% โดยอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากสภาพอากาศที่ผันผวน และอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากผลของฐาน ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% และปี 2568 จะอยู่ที่ 0.9 โดยอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง อาทิ การแข่งขันด้านราคาที่อยู่ในระดับสูงจากสินค้านำเข้า โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ ในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่