โควิดสายพันธุ์ใหม่ ”XEC“ เริ่มแพร่ระบาดแล้วน่ากังวลแค่ไหน

นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า เริ่มมีผู้คนติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่คาดว่าอาจแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและกลายเป็นสายพันธุ์หลักในไม่ช้า
สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน XEC ถูกพบครั้งแรกในเยอรมนีเมื่อเดือน มิ.ย. และหลังจากนั้นก็พบรายงานผู้ติดเชื้อในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก และอีกหลายประเทศ ตามข้อมูลจากผู้ใช้งานแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (ซึ่งเดิมชื่อทวิตเตอร์)
เชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ใหม่บางส่วนที่อาจช่วยให้แพร่กระจายได้ในฤดูใบไม้ร่วงนี้ ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า วัคซีนต้านไวรัสยังคงช่วยป้องกันอาการรุนแรงได้
ในสหราชอาณาจักร สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยอาการรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด ทางระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติ หรือ NHS มีให้บริการวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือ วัคซีนบูสเตอร์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
วัคซีนดังกล่าวได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับการพัฒนาสายพันธุ์ล่าสุดมากขึ้น แม้จะไม่รวมสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน XEC ที่เกิดขึ้นจากการเป็นลูกผสมของสายพันธุ์ย่อยสองสายพันธุ์ก่อนหน้านี้

ศาสตราจารย์ฟรองซัวส์ บาลู ผู้อำนวยการสถาบันพันธุศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน กล่าวกับบีบีซีว่า แม้สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน XEC จะมี "ความได้เปรียบเล็กน้อยในการแพร่กระจาย" เหนือกว่าสายพันธุ์โควิดล่าสุดอื่น ๆ แต่วัคซีนยังคงให้การป้องกันที่ดีได้
ทั้งนี้ เขายังกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน XEC จะกลายเป็นสายพันธุ์ย่อยที่แพร่ระบาดหลักในช่วงฤดูหนาวนี้
สถานการณ์ในไทย
ล่าสุด ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ระบุว่าแม้ปัจจุบันยังไม่พบการแพร่ระบาดในประเทศไทย แต่การตระหนักรู้จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการชะลอการแพร่ระบาดออกไปได้
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ ชี้ว่า รูปแบบการป้องกันที่ประชาชนรู้จักอยู่แล้ว เช่น "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" หรือการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย แม้จะเป็นมาตรการ "ที่หลายคนรู้สึกเบื่อ แต่ถ้าทำเป็นครั้งคราวประชาชนก็น่าจะรับได้"
หัวหน้าศูนย์จีโนมฯ ชี้ว่า การจะหยุดยั้งการแพร่ระบาดอาจเป็นเรื่องยาก เพราะปัจจุบันนี้เชื้อโควิดกลายพันธุ์ตลอดทุก ๆ หกเดือน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการพัฒนาวัคซีนทุก ๆ หนึ่งปี ซึ่งจะเหมือนกับกรณีของไข้หวัดทั่วไป "ที่เขาจะมีคณะกรรมการพิจารณาทุกปี ว่าจะคงวัคซีนเดิมไว้ไหม หรือจะเปลี่ยนใหม่"
ขณะที่ประเด็นเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดมายังประเทศไทยนั้น ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ ชี้ว่า ฝั่งกระทรวงสาธารณสุขมีระบบป้องกันและคัดกรองตามสนามบินอยู่แล้ว โดยจะมีมาตรการเพิ่มเติมในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยง เพื่อติดตามเพิ่มเติมได้
"กำลังจะกลายเป็นสายพันธุ์หลัก"
เอริค โทพอล ผู้อำนวยการสถาบัน Scripps Research Translational Institute ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การแพร่กระจายของ "สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน XEC เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น"
"และจะใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือสองสามเดือนก่อนที่มันจะแพร่ระบาดอย่างเต็มที่และเริ่มก่อให้เกิดการระบาดในวงกว้าง" เขากล่าวกับหนังสือพิมพ์แอลเอ ไทมส์ (LA Times)
"สายพันธ์ย่อยโอมิครอน XEC จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักอย่างแน่นอน"
"ดูเหมือนว่าสายพันธุ์นี้จะเป็นตัวถัดไป"
"แต่ยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนก่อนที่จะระบาดถึงระดับสูง"
อาการหลังติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน XEC
อาการหลังติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน XEC คาดว่า เหมือนกับอาการไข้หวัดหรือคล้ายกับอาการไข้หวัดใหญ่ เช่น:
มีไข้สูง
ปวดตามร่างกาย
รู้สึกเหนื่อยล้า
ไอหรือเจ็บคอ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะหายดีภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่อาจใช้เวลานานกว่านั้นสำหรับบางคน
ข้อมูลจาก ไมค์ ฮันนี นักวิเคราะห์ข้อมูลโควิดระบุว่า มีแพร่กระจายตัวอย่างรวดเร็วของสายพันธุ์ ย่อยโอมิครอน XEC ในเดนมาร์กและเยอรมนี เนื่องจากปัจจุบัน มีการตรวจหาเชื้อเป็นประจำ ลดน้อยลง ทำให้ยากต่อการประเมินการแพร่ระบาดว่าเป็นอย่างไร
สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UKHSA) ระบุว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นเรื่องปกติ โดยผู้ที่ได้รับสิทธิ์ได้รับวัคซีนบูสเตอร์ฟรี ประกอบด้วย
ผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา
ผู้มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปในกลุ่มเสี่ยงทางการแพทย์
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบางส่วน
การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และโควิดหลักจะเริ่มในเดือนตุลาคม โดยบางคนอาจได้รับวัคซีนเร็วกว่า
ดร. กายาตรี อมฤตลิงกัม รองผู้อำนวยการ UKHSA กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ไวรัสจะมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเมื่อเวลาผ่านไป และ UKHSA จะติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่องพร้อมแนะนำให้ผู้ที่ได้รับการติดต่อจาก NHS เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน

https://www.bbc.com/thai/articles/cy0glnkp0ljo
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่