สอบถามค่ะ ไม่ได้ซื้อ RMF ต่อเนื่องเนื่องจากไม่มีรายได้ กองที่ซื้อไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นเหรอคะ?

เคยซื้อ RMF ไว้ค่ะ สมัยทำงานบริษัทก็ซื้อสะสมตามเงื่อนไข RMF และนำไปลดหย่อนปกติ  ซื้อครั้งแรกปี 2015 แล้วก็ซื้อทุกปีจนถึงปี 2020 คือซื้อเป็นปีสุดท้าย

แต่คือตอนปี 2019 ได้ "ลาออกจากงานมาเป็นแม่บ้าน ทำให้ไม่มีรายได้แล้ว"  ส่วน RMF ที่ซื้อไว้ก็คือตั้งใจว่าจะฝากยาวไปเลย ไว้อายุ 55 ค่อยถอน ก็เลยลืมเรื่องเงื่อนไขฝากทุกปีไปเลยค่ะ  T _ T

วันนี้เพิ่งมาสำรวจ asset แล้วเพิ่งนึกเงื่อนไขออก เลย...อ้าว แย่ล่ะ...แต่ไม่มีรายได้แล้วจะซื้อเติมยังไงล่ะ... กรณีนี้เราทำอย่างไรได้บ้างคะ แล้วเรื่องภาษีคือต้องยังไงต่อ  งงไปหมดล่ะค่ะ

ขอผู้รู้แนะนำด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

Update : 16 มิถุนายน 2567 
หลังจากไปศึกษาและปรึกษาผู้รู้ ประกอบไปด้วย นักบัญชี (เวปปรึกษาเรื่องภาษีแห่งหนึ่ง) และนักกฏหมาย (เพื่อนเราเอง)  ได้ความดังนี้ค่ะ

เนื่องจากกฏหมายระบุเงื่อนไขว่า "ผู้มีเงินได้จะต้องลงทุนใน RMF ทุกปีหรือปีเว้นปี"  การตีความจึงอยู่ที่คำว่า ผู้มีเงินได้ตรงนี้ค่ะ

นักบัญชี จะตีความตามการเสียภาษี กรณีถ้าเราไม่ยื่น ภงด เนื่องจากไม่มีรายได้จากเงินเดือน และแม้ว่าจะมีเงินได้จากดอกเบี้ย แต่เพราะกฏหมายให้สิทธิ์ไม่ต้องเอาดอกเบี้ยไปยื่นรวมใน ภงด ก็ได้   ทำให้พอไม่มีความจำเป็นต้องยื่น ภงด => ไม่มีรายได้ เพราะงั้น เคสนี้ จะถือว่าไม่ผิดเงื่อนไขเพราะไม่ใช่เป็นผู้มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษี

นักกฏหมาย จะตีความตามตัวอักษรเลยคือ ไล่นิยามตั้งแต่ ผู้มีเงินได้ = ผู้มีเงินได้ 8 ประเภท โดยตีความว่า ดอกเบี้ย = เงินได้ประเภท 4 และแม้ว่ากฏหมายจะระบุว่า ดอกเบี้ยไม่ต้องยื่นรวมใน ภงด แต่นักกฏหมายจะมองว่านั่นคือสิทธิ์ที่เราจะไม่ยื่นก็ได้ แต่ไม่ได้แปลว่าเราไม่ใช่ผู้มีเงินได้  ในทางกฏหมายจึงจัดว่า การได้รับดอกเบี้ย = ผู้มีเงินได้ เพียงแต่กฏหมายให้สิทธิ์ที่ไม่ต้องยื่นรวมกับ ภงด แค่นั้น... เคสนี้จึงตีความได้ว่า ยังเป็นผู้มีเงินได้อยู่ = ผิดเงื่อนไข

ปล. แต่ถ้าไม่มีเงินได้ทั้ง 8 ประเภทเลย จะถือว่าเป็นผู้ไม่มีเงินได้ชัดเจน เคสนี้ถึงจะไม่เข้าเงื่อนไขต้องซื้อ RMF ต่อเนื่องค่ะ 

** มีจุดที่น่าสังเกตุคือ พอเอาที่นักกฏหมายตีความไปให้นักบัญชีอ่านแล้วขอความเห็น เขาแจ้งมาว่า เคสนี้สามารถพูดคุยกับ จนท สรรพากรได้ และเขาเชื่อว่า จนท สรรพากร จะยอมปล่อยผ่านให้ เพราะการเสียภาษีมันควรยึดจากการยื่น ภงด เป็นหลัก ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องยื่นก็แปลว่าเราไม่ใช่ผู้มีเงินได้ ในขณะที่นักกฏหมายระบุว่า มันขึ้นกับสรรพากร ณ ตอนนั้นเลยว่าเขาจะยอมปล่อยผ่านหรือไม่ ถ้าเขาไม่ยอมปล่อยผ่าน แล้วเรื่องไปถึงศาล ไงศาลก็จะตีความตามข้อความในกฏหมาย และมันก็จะผิดเงื่อนไขอยู่ดี

สรุป ก็อยู่ที่ตัวเองแล้วว่าจะเลือกเชื่อมุมมองขอนักบัญชี หรือนักกฏหมายแล้วล่ะ เพราะถ้าเลือกเชื่อนักบัญชี มันจะมีช่องว่างเล็กๆให้เอาผิดได้ แต่เราอาจจะเลือกเจรจาโดยอ้างเรื่องการไม่ยื่น ภงด ตรงนี้ได้ และถ้าสามารถทำให้ จนท สรรพากร ที่เป็นคู่กรณีเรา ณ ตอนนั้นคล้อยตามได้ เขาก็มีแนวโน้มจะมองผ่านเคสนี้ค่ะ แต่ถ้าไม่ก็คงต้องไปสู้คดีกันเพื่อพิสูจน์ว่าเราเป็นผู้ไม่มีเงินได้จริงหรือไม่ ซึ่งมีแนวโน้มที่ศาลจะระบุว่าเรายังเป็นผู้มีเงินได้อยู่สูงมากค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่