"รัสเซีย" โชว์ภาพซ้อมรบ หน่วยนิวเคลียร์ ใกล้ชายแดน "ยูเครน"

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/224461

"รัสเซีย" โชว์ภาพซ้อมรบ หน่วยนิวเคลียร์ ใกล้ชายแดน "ยูเครน"
โดย PPTV Online  เผยแพร่ 22 พ.ค. 2567 ,21:01น.



"รัสเซีย" ได้ส่งสัญญาณอันตรายออกมา ด้วยการซ้อมรบหน่วยนิวเคลียร์ใกล้กับพื้นที่ชายแดนของ "ยูเครน"
เมื่อวานนี้ กระทรวงกลาโหมรัสเซีย ได้เผยแพร่ภาพวิดีโอชุดหนึ่งออกมา โดยระบุว่าเป็นการซ้อมรบอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีระยะที่หนึ่ง บริเวณพื้นที่ด้านใต้ของประเทศ ไม่ไกลจากพรมแดนทางตอนเหนือของยูเครน ภาพวิดีโอได้แสดงให้เห็นบรรดาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ของรัสเซีย เช่น ขีปนาวุธรุ่นอิสคันเดอร์ เครื่องบินที่ติดหัวรบนิวเคลียร์ และขีปนาวุธชนิดความเร็วเหนือเสียงรุ่นคินซาล  

กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุเหตุผลในการฝึกซ้อมครั้งนี้ว่า ถูกออกแบบมาเพื่อทดสอบความพร้อมของบุคลากรและอุปกรณ์ของหน่วยรบอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี ในกรณีที่ต้องตอบสนองและประกันบูรณภาพแห่งดินแดนของรัสเซีย

นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมรัสเซียยังระบุว่า การซ้อมรบถือเป็นการตอบสนองต่อถ้อยแถลงที่ยั่วยุและการข่มขู่ของเจ้าหน้าที่จากชาติตะวันตกบางคน

หากพิจารณาจากการให้สัมภาษณ์ของดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากชาติตะวันตกดังกล่าวที่ทางการรัสเซียกล่าวถึง คือประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส หลังเขาได้พูดถึงความเป็นไปได้ในการส่งทหารฝรั่งเศสเข้าไปในยูเครน หากแนวรบที่สำคัญถูกรัสเซียยึดได้

ส่วนเจ้าหน้าที่ของชาติตะวันตกอีกคนหนึ่งที่ทางการรัสเซียกล่าวถึง คือ เดวิด คาเมรอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ที่ระบุว่า การที่ยูเครนจะใช้อาวุธที่ได้รับจากสหราชอาณาจักรอย่างไรนั้น เป็นสิทธิของยูเครน หากยูเครนจะตัดสินใจใช้อาวุธดังกล่าวโจมตีเข้าไปยังแผ่นดินรัสเซีย ก็เป็นสิทธิของยูเครน

ขณะเดียวกัน นิโคไล โซคอฟ อดีตเจ้าหน้าที่ควบคุมอาวุธของโซเวียต และรัสเซีย ระบุว่า การซ้อมรบด้วยอาวุธนิวเคลียร์ครั้งนี้ เป็นสัญญาณตอบโต้และส่งสัญญาณเตือนชาติสมาชิกนาโต ที่กำลังหารือกันเรื่องการส่งกองกำลังทหารเข้าไปในยูเครน

คำถามสำคัญคือ มีชาติใดบ้างที่ออกมาส่งสัญญาณหรือพูดถึงประเด็นเรื่องการส่งทหารเข้าไปยังแผ่นดินยูเครน ตอนนี้มี 2 ประเทศที่ออกมาสนับสนุนหรือไม่ตัดความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ คือ ฝรั่งเศส และเอสโตเนีย


สำหรับกรณีของเอสโตเนีย คาสยา คัลลาส นายกรัฐมนตรีเอสโตเนีย เคยระบุไว้ว่า เอสโตเนีย จะไม่ตัดความเป็นไปได้ในการส่งทหารไปช่วยยูเครน

ขณะที่ บางสำนักข่าวระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า รัฐบาลเอสโตเนีย กำลังหารือเรื่องการส่งทหารเข้าไปในยูเครนอย่างจริงจัง โดยทหารของเอสโตเนีย จะทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือหรือแนะนำแก่ทหารยูเครน

หากชาติตะวันตก ตัดสินใจส่งทหารไปยังยูเครนจริง คำถามที่สำคัญข้อต่อมาคือ รัสเซียจะตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิถีหรือไม่ อาวุธเหล่านี้คืออะไร และรัสเซียมีอาวุธเหล่านี้เท่าใด

อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี หรือ Tactical Nuclear เป็นอาวุธนิวเคลียร์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในสนามรบและสถานการณ์ทางการทหาร มากกว่าการโจมตีไปยังเป้าหมายระยะไกลอย่างดินแดนของฝ่ายศัตรู

รัฐบาลรัสเซียไม่เคยเปิดเผยจำนวนของอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีออกมาอย่างเป็นทางการ  แต่สหรัฐฯ เคยประเมินไว้ว่า รัสเซียมีอาวุธนิวเคลียร์ประเภทนี้อยู่ประมาณ 2,000 หัว แต่ไม่ชัดเจนว่าถูกนำมาประจำการไว้ในกองทัพรัสเซียแล้วหรือไม่

นอกจากนี้ การซ้อมรบด้วยอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีของรัสเซีย ยังเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับที่ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ออกมาระบุว่า สหรัฐฯ คาดหวังให้ยูเครนใช้อาวุธที่ได้รับมอบจากสหรัฐฯ ภายในแผ่นดินยูเครนเท่านั้น และไม่ใช้เพื่อโจมตีเข้าไปในแผ่นดินรัสเซีย

หลายฝ่ายมองว่า สาเหตุที่สหรัฐฯ ต้องออกมาเตือนเช่นนี้ เป็นเพราะไม่ต้องการให้สงครามลุกลามบานปลายจนสหรัฐฯ ต้องเผชิญหน้ากับรัสเซียโดยตรง เพราะนั่นอาจหมายถึงสงครามโลกครั้งที่ 3 และอาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์


นอกจากการซ้อมรบหน่วยอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีใกล้ชายแดนยูเครน ล่าสุดทางการรัสเซียได้ออกมาประกาศแผนการปรับดินแดนของตนเองในทะเลบอลติก ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าจะสร้างความไม่พอใจ และการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียกับรัฐบอลติก ซึ่งเป็นชาติสมาชิกนาโตด้วย

วันนี้สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า การกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ได้เสนอให้มีการแก้ไขเขตแดนน่านน้ำรัสเซียในทะเลบอลติก ตามร่างกฤษฎีกาของรัฐบาล

ร่างกฤษฎีดังกล่าวระบุว่า กระทรวงกลาโหมเสนอให้ปรับเขตแดนของรัสเซียรอบหมู่เกาะรัสเซียทางด้านตะวันออกของอ่าวฟินแลนด์ และพื้นที่ทะเลรอบแคว้นคาลินินกราด ซึ่งเป็นดินแดนของรัสเซียที่ล้อมรอบโดยรัฐบอลติกที่เป็นสมาชิกนาโต

กระทรวงกลาโหมรัสเซียได้ให้เหตุผลในการเปลี่ยนแปลงเขตแดนครั้งนี้ โดยระบุว่า การวัดชายแดนของสหภาพโซเวียตซึ่งเกิดขึ้นใน 1985 ได้อิงแผนที่ทางทะเลในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ซึ่งทำให้การวัดเขตแดนไม่สอดคล้องกับพิกัดการทำแผนที่สมัยใหม่

อย่างไรก็ดี ร่างกฤษฎีกาการปรับเขตแดนทางทะเล ยังไม่ได้ระบุขอบเขตที่แน่นอน และทางการรัสเซียยังไม่ระบุว่าจะปรึกษาหารือกับรัฐอื่นๆ รอบทะเลบอลติก ที่ได้รับผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงเขตแดนนี้หรือไม่

หากรัสเซียไม่หารือร่วมกับรัฐอื่นๆ และร่างกฤษฎีกาได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา กฤษฎีกาดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับในเดือนมกราคม ปี 2025 หรือปีหน้า

ทั้งนี้ การประกาศดังกล่าวของรัฐบาลรัสเซียจะกลายเป็นการตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว หรือ unilateral decision ซึ่งรัฐรอบข้างอย่างฟินแลนด์ หรือรัฐบอลติก สามารถที่จะไม่ยอมรับได้ และพื้นที่ดังกล่าวจะกลายเป็นข้อพิพาทในอนาคต


ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ได้กล่าวถึงเรื่องนี้โดยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงเขตแดนดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมือง แม้สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศระหว่างรัสเซียกับรัฐบอลติกบริเวณนั้นจะตึงเครียดก็ตาม

ด้านบรรดาผู้นำรัฐบอลติกและฟินแลนด์ ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ได้ออกมาให้ความเห็นกับความพยายามดังกล่าวของรัสเซีย

อเล็กซานเดอร์ สตุบบ์ ประธานาธิบดีฟินแลนด์ ได้ออกมาระบุว่า ฟินแลนด์จะปฏิบัติตนตามปกติแบบที่เคยทำ นั่นคือ การพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างไม่ตื่นตูมและพิจารณาบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง

ขณะที่แกรเบียลิอุส แลนด์เบอร์จิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลิทัวเนีย ได้เรียกความพยายามดังกล่าวของรัสเซียว่าเป็นการยั่วยุอย่างเห็นได้ชัด

ส่วนมาร์กุส ซาห์นา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเอสโตเนีย ระบุว่า สิ่งรัสเซียพยายามทำ เป็นเรื่องไร้สาระ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่