วิกฤตโควิด สอนการออมเงิน

บทความโดย “ศุภชัย จันไพบูลย์” นักวางแผนการเงิน CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

วันที่ 1 เมษายน 2567

ภายหลังจากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย การเดินทางเริ่มสะดวกขึ้น ทำให้รายได้เริ่มกลับมาอีกครั้ง แต่พบว่าค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นมา ผลกระทบทางการเงินยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง จากรายได้ลดลง มีการเพิ่มการกู้ยืมเพื่อการบริโภค ส่งผลกระทบต่อเงินเก็บออม

อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 2.5% (ณ วันที่ 27 ก.ย.2566) ส่งผลให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เร่งตัวสูงขึ้น ก่อให้เกิดการชะลอตัวของการบริโภคในระยะสั้น และส่งผลกระทบรายได้ที่เหลือเพื่อการออมเงินด้วย

โดยปกติการออมเงินเพื่อกรณีที่ฉุกเฉินควรเก็บเพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 3-6 เดือน ซึ่งการเก็บอาจอยู่ในรูปแบบของบัญชีธนาคาร กองทุนรวมตลาดเงินที่มีสภาพคล่องสูง เงินสดหรือในรูปแบบอื่น ๆ

เช่น รูปแบบฉุกเฉินกรณีสุขภาพ ให้ซื้อประกันสุขภาพ โดยพิจารณาประกันสุขภาพให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่อครั้งของการรักษาโรค หรือใช้แบบวงเงินเหมาจ่ายก็สะดวกดี เป็นต้น
การสร้างกองทุนฉุกเฉินเป็นแนวคิดของการบริหารจัดการในภาพรวมของเงินที่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย 3-6 เดือน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดหลายมิติ ดังนี้
มิติเรื่องของความสบายใจ : ช่วงเวลาที่เราหรือครอบครัวขาดสภาพคล่อง และถ้ามองไม่เห็นในอนาคตว่ารายได้จะมาจากทางไหนอีก ยิ่งจะทำให้เกิดความเครียดมากเพิ่มขึ้นไป คิดแล้วจะวนอยู่วังวนว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร เช่น ในช่วง COVID-19 หากมองเช่นนี้แล้วการเริ่มที่จะหาความสบายใจให้ได้ควรเริ่มสะสมเงินจากรายได้ 2% และเพิ่มขึ้นไปเดือนละ 1% จนไปถึงระดับที่เหมาะสม

มิติเรื่องของสภาพคล่อง : การบริหารเงินที่เก็บว่าจะนำไปลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องสูงหรือการซื้อประกันสุขภาพสำหรับตัวเองและครอบครัว เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาตามบริบทของแต่ละครอบครัวไป เนื่องจากบางครอบครัวมีสวัสดิการที่ทางองค์กรหรือหน่วยงานเป็นคนดูแลให้อยู่แล้ว บางคนอาจไม่มีเลย หลายคนมองว่าสิทธิขั้นพื้นฐานที่มีไม่ว่าจะสิทธิประกันสังคม หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า น่าจะเพียงพอแล้ว แต่อย่าลืมว่าหากต้องการเพิ่มเติมจากส่วนที่เป็นพื้นฐาน ส่วนเกินสิทธิต้องชำระเอง ซึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ คือ การทำประกัน

มิติเรื่องของปกป้องพอร์ตลงทุน : เมื่อเริ่มสร้างพอร์ตการลงทุนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ เช่น เป้าหมายเกษียณซึ่งจะบรรลุในอีก 20 ปีข้างหน้า แต่หากว่าในระหว่างนั้นเกิดเหตุการณ์ที่ต้องนำเงินออกมา หรือไม่สามารถนำเก็บเงินก้อนใหม่ได้ สิ่งที่กระทบคือเป้าหมายที่วางไว้ก็จะไม่สำเร็จ หรืออาจจะต้องเลื่อนออกไป

ดังนั้นการวางแผนเพื่อปกป้องพอร์ตลงทุน จึงควรกันเงินไว้เป็นกองทุนฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเงินที่แยกออกมาต่างหาก จะต้องไม่นำเงินก้อนนี้ไปลงทุนกับพอร์ตเพื่อเป้าหมาย วัตถุประสงค์กองทุนฉุกเฉินเพื่อไว้ใช้จ่ายของครอบครัว แม้ว่าพอร์ตที่ว่างเป้าหมายไว้อาจมีความผันผวน แล้วส่งผลให้ขาดทุนก็อย่านำเงินในกองทุนฉุกเฉินเข้าไปซื้อ ถึงแม้ราคาจะปรับลดลง

หลายคนได้มีการวางแผนการเงินมาเป็นอย่างดี ทำให้ตนเองและครอบครัวผ่านสถานการณ์มิคาดฝันในชีวิตมาได้ ถือได้ว่ามีการเตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดี และที่สำคัญต้องหมั่นตรวจสอบกองทุนฉุกเฉินด้วยตนเอง

เป็นสิ่งที่ท้าทายทางความคิดว่า COVID-19 ได้ทำลายความคิดเดิมด้านการเงินหรือไม่ แล้วมีการสร้างแนวความคิดเรื่องการเงินขึ้นมาใหม่หรือเปล่า เพราะสิ่งไม่แน่นอนในช่วงชีวิตยังมีอีกทั้งระดับเล็ก ๆ ที่กระทบแค่คนเดียว เช่น เจ็บป่วยไข้ ตกงาน หรือเป็นผลกระทบระดับกว้าง เช่น สภาพเศรษฐกิจชะลอตัว การเกิดภัยพิบัติ หรือโรคระบาด

ดังนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับการที่เราต้องย้อนกลับมาพิจารณาตัวเองอย่างจิงจังว่า การเตรียมรับมือกับสถานการณ์ทางการเงินมีมากน้อยแค่ไหน COVID-19 เองก็อาจเป็นตัว Disrupt ความคิดการเงินก็ได้

cr. prachachat

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่